เปิดคัมภีร์สยบ’ดราม่า’ กับนันทวิช เหล่าวิชยา How To ทำให้ ‘ข่าวเงียบ’ หรือ ‘งานงอก’

#กราบรถกู แฮชแท็กอันดับต้นๆ ที่คนต่างพูดถึงในโลกโซเชียลช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากเหตุการณ์ที่ อัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล หรือ “น็อต เวคคลับ” ดาราหนุ่มทำร้ายร่างกายหนุ่มมอเตอร์ไซค์ที่มาชนรถมินิคูเปอร์คู่ใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องดราม่าเป็นข่าวที่คนชอบเสพ โดยเฉพาะเมื่อโลกหมุนมาถึงยุคโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู คลิปเหตุการณ์และประเด็นดราม่าต่างๆ ถูกส่งต่อกันอย่างรวดเร็วในพริบตา

ความสนใจของคนจะถูกขยายต่อ จากคนต้นเรื่องสู่พื้นที่สาธารณะทางเว็บบอร์ดหรือแฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อดัง แล้วปะติดปะต่อเรื่องราวโดยเหล่านักสืบออนไลน์ เมื่อการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตทำได้อย่างง่ายดาย

Advertisement

ขยายต่อสู่วงกว้างโดยสำนักข่าวซึ่งหยิบเรื่องที่สังคมสนใจมาเป็นประเด็น

มองในเชิงภาพรวม ข่าวดราม่าที่ลุกลามใหญ่โตนั้นจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน

โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ของ “คนในข่าว” หากขัดแย้งจากคลิปหรือเรื่องเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์จะยิ่งสร้างอารมณ์ให้คนอ่านข่าว

Advertisement

อารมณ์ของสังคมที่พลุ่งพล่านจนล้น ในบางกรณีนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมาะสมอันเข้าข่ายการรังแกทางออนไลน์ จนถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนในข่าว

วิเคราะห์เรื่องจากข่าวไปกับ นันทวิช เหล่าวิชยา หัวหน้าภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

กระตุกต่อมคิด เสพข่าวกันอย่างมีสติ

เรื่องราวแบบไหนที่มีองค์ประกอบครบถ้วนจนกลายเป็นข่าวดราม่ายอดฮิตในโลกออนไลน์ได้

ท่าทีของคนในข่าวแบบไหนที่จะสยบดราม่าให้ข่าวปลิวไปจากโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว

หรือแบบไหนที่จะสุมเชื้อไฟให้ขยายประเด็นต่อได้ไม่รู้จบ

หลายคนชอบที่จะเป็นคนดัง แต่ “ชื่อเสีย” จากเรื่องดราม่านั้นไม่มีใครต้องการแน่

เพราะนาทีนี้ใครก็ตกเป็น “คนในข่าว” ได้ ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

 

– สังเกตได้ว่าช่วงหลังมีดราม่าเกิดบ่อยขึ้น?

เรื่องดราม่ามีมานานแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องที่ขายได้ คนอ่านแล้วเข้าใจง่าย มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ เหมือนดูละครเรื่องหนึ่ง แต่เป็นชีวิตจริงจึงสนุกกว่าละคร

แต่ก่อนนานๆ ทีเราจะเห็นดราม่าเพราะยังไม่ใช่ยุคโซเชียลมีเดีย การทะเลาะกันขับรถปาดหน้าแล้วชักปืนขู่มีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ประเด็นดราม่าหลายครั้งก็มาจากกล้องติดหน้ารถ หรือมาจากคนที่ไม่ใช่ผู้สื่อข่าว มาจากนักข่าวพลเมือง จากประชาชนทั่วๆ ไป เขามีความสามารถที่จะส่งสารมากขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อนที่มีแต่นักข่าวเป็นคนส่งสาร แต่เดี๋ยวนี้ประชาชนเป็นผู้ส่งข้อมูลได้ นักข่าวส่วนหนึ่งออกมาทำข่าว แต่อีกส่วนหนึ่งก็ดึงเอาประเด็นเหล่านี้ไปทำ เพราะเป็นประเด็นที่คนสนใจ สมมุติคุณบอกว่าสำนักข่าวคุณไม่เล่นเรื่องนี้ แต่อีกสิบที่เล่นกันหมด ก็กลายเป็นตกข่าว

ไปดูตามแฟนเพจเฟซบุ๊ก คลิปแปลกๆ เจ๋งๆ จะมีเยอะมาก ทั้งคลิปสร้างสรรรค์สังคมและคลิปดราม่า แต่คลิปที่คนจะพูดถึงและได้รับความนิยมคือคลิปที่ดราม่า สอดคล้องกับหลักการของข่าวที่เรารู้ว่า ข่าวร้ายมักได้รับการโปรโมตมากกว่าข่าวดี เป็นเรื่องธรรมดา

– ทำไมดราม่าน็อต เวคคลับ จึงบูมขึ้นมา?

เรื่องนี้มี 3 องค์ประกอบ 1.บท 2.ตัวละคร 3.คำที่เป็นแฮชแท็ก ยิ่งทำให้เกิดอิมแพคจนบูมขึ้นมา ถ้าเทียบว่าคลิปนี้เป็นไวรัลจะเป็นไวรัลที่เจ๋งมาก องค์ประกอบครบ แต่ถ้ามองในมุมชีวิตจริงก็อีกเรื่องหนึ่ง

ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะรถถูกมอเตอร์ไซค์มาชนนั้นไม่ใช่เหตุการณ์แปลกแต่อย่างใด แต่ที่ดังขึ้นมาได้เพราะการกระทำของตัวละคร เราดูคลิปช่วงสั้นๆ ยังรู้สึกว่าถ้าเทียบเป็นไวรัลจะเป็นไวรัลที่เจ๋งมาก เปิดเรื่องมาแล้วคนจะไม่ปิด คนดูต่อเพราะอยากรู้ว่าจะเป็นยังไง สุดท้ายบทสรุปยิ่งเจ๋งด้วยคำของเขา อย่างผมดูรอบแรกต้องกลับไปดูอีกรอบ รอบแรกเราอยากดูว่าเกิดอะไรขึ้น รอบที่สองเราอยากดูแบบเก็บรายละเอียด จนถึงสภาพแวดล้อมที่มีคนตะโกนว่าให้ไปแจ้งตำรวจ อย่าทำร้ายร่างกาย

– คนสนใจเพราะเป็นคนดัง?

ประกอบกับตัวละครเป็นคนดัง ไม่ใช่นาย ก. นาย ข. นาย ค. คล้ายกรณีดีเจเก่งถอยรถชนยาริสซึ่งมีหลายคลิป ถูกปล่อยออกมาเป็นลำดับ อันนั้นส่วนหนึ่งดังได้เพราะตัวละคร แต่อันนี้ที่ดังได้เพราะทั้งบทและตัวละครที่เป็นคนมีชื่อเสียง เหมือนหนังเรื่องหนึ่งบทเจ๋งมาก ขายด้วยตัวเองได้อยู่แล้ว แต่พอมีดาราแม่เหล็กทำให้คนยิ่งอยากเข้าไปดูหนังเรื่องนี้

สุดท้ายบทสรุปจบที่คำ มีเวิร์ดดิ้ง ทำให้เกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #กราบรถกู เป็นเทรนด์ขึ้นมาเลย เป็นคำที่คนอื่นเข้าใจตรงกันหมดไม่ต้องคิดมากมาย บางเคสเราต้องมานั่งคิดว่าจะเสิร์ชคำว่าอะไร แต่ละคนอาจคิดแฮชแท็กได้แตกต่างกัน เพราะไม่ได้มีบทสรุปออกมาเป็นคำที่คมอย่างกรณีนี้ จนมีแฮชแท็กชัดเจน

– คนยังคาดหวังว่าดาราต้องเป็นตัวอย่างที่ดี?

คนคาดหวังว่าดาราต้องเป็นแบบอย่าง แต่ภาพลักษณ์ของดาราส่วนใหญ่จะไม่ตรงกับความจริง อาจเพราะดาราที่ประพฤติดีก็ไม่เป็นข่าว แต่พอทำตัวไม่ดีครั้งเดียวกลายเป็นว่าความคาดหวังไม่ตรงกับภาพที่คนมอง ต้องยอมรับว่าการเป็นดาราก็เหมือนคนอยู่บนเวทีที่มีไฟส่องลงมา คนก็จะมองแต่ตรงนั้น ดาราก็รู้แหละว่าไฟส่อง แต่เราสามารถอยู่อย่างนี้ได้ตลอดโดยที่ไม่หลุดเลยเหรอ

ทุกคนก็คือคน ไม่มีใครดี 100 เปอร์เซ็นต์หรอก อยู่ที่ว่าจะไปด้านมืดหรือด้านสว่างแค่ไหน แต่สื่อก็เลือกที่จะเปิดด้านมืด เพราะขายได้ พระเอกหลายคนทำตัวดีเยอะแยะ แต่มีเรื่องไม่ดีเรื่องเดียวโดนไปยาวไม่รู้เท่าไหร่

– การตอบคำถามแบบไหนที่จะไม่ไปเติมเชื้อไฟให้คนโกรธมากขึ้น?

ดีที่สุดคือการยอมรับ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาอาจบอกว่าเหตุการณ์มี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คลิปมีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ การที่เขาออกมาให้สัมภาษณ์แบบนี้ทำให้คนส่วนใหญ่ที่เห็นแค่ 5 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกระทำ เวลาให้สัมภาษณ์ต้องคิดว่าใน 5 เปอร์เซ็นต์นี้เราผิด เราต้องยอมรับ เหตุการณ์ที่เหลือให้เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมาย

ส่วนการให้สัมภาษณ์ เข้าใจว่าในภาวะแบบนี้คนอาจจะทำอะไรไม่ถูก แค่ครึ่งวันจากอารมณ์ชั่ววูบทำให้คนตั้งตัวไม่ติดกับเหตุการณ์แบบนี้ เป็นเรื่องของอารมณ์ สภาพจิตใจที่ไม่พร้อมให้สัมภาษณ์ แต่จะไม่ให้สัมภาษณ์เลยก็ไม่ได้ เพราะสื่อติดตามอยู่ พอให้สัมภาษณ์ด้วยภาวะที่ไม่เต็มร้อยก็โดน โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

ถ้าเลือกได้ควรจะเลี่ยงก่อน โดนแน่ๆ แต่โดนน้อยหน่อย ไม่ควรต่อความยาวสาวความยืด แต่อีกฝ่ายก็ควรเปิดพื้นที่ให้เขาบ้าง เพราะก็มีกระแสสงสารคุณน็อตที่ทำผิดครั้งเดียวแต่โดนตัดสินทั้งชีวิต

– ท่าทีแบบไหนจะหยุดกระแสข่าวได้ผล?

สิ่งสำคัญที่สุดคือตอนนี้โซเซียลมีเดียเร็วมาก ถ้าเราเลือกที่จะเงียบ ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น ทุกคนก็ยังจะส่งข่าวนี้กันต่อไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าหากเราทำผิดแค่ 100 พอผ่านคนที่สอง คนที่สาม จากผิด 100 ก็จะเพิ่มเป็น 120-130 ในความเห็นของผม ถ้าตั้งตัวได้ตั้งสติได้ ก็ต้องออกมาขอโทษ ยอมรับผิด ถามว่าจะโดนด่าอยู่ไหม ต้องยอมรับให้ได้ว่ายังไงก็ต้องโดน แต่ทุกอย่างมันจะจบ จะเป็นการตัดวงจรข่าว

ถ้าเขาบอกว่า “ผมขอโทษแล้วครับ ยอมรับผิดทุกอย่างที่ผมได้ทำ ผมทำเพราะว่าผมโมโหจริงๆ ผมควบคุมตัวเองไม่ได้” แบบนี้ประเด็นหายไปเยอะ ถามว่าเล่นต่อได้ไหม ก็ยังมีประเด็นให้เล่นได้ แต่ว่าจาก 10 ประเด็นอาจเหลือเพียง 5 ประเด็น 3 ประเด็น ถ้าเราไม่ขอโทษ ประเด็นมันอาจจะเพิ่ม จะมีการขุด การแฉ อย่างกรณีนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เลือกที่จะเงียบแต่มีการให้สัมภาษณ์ที่เหมือนการเอาน้ำมันราดเข้ากองไฟ จะยิ่งไปกันใหญ่ ก็เอาไปเล่นเป็นประเด็นต่อไปได้

– การขอโทษตัดวงจรข่าวได้?

การแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตสำคัญที่สุดคือการให้ข้อเท็จจริง เพราะเดี๋ยวนี้สืบได้หมด ต้องตัดปัญหา เลือกที่จะยอมรับให้มันจบ แล้วอารมณ์ของคนก็จะเบาบางลง ยอมรับผิดในความจริง 5 เปอร์เซ็นต์ที่คนอื่นเห็น และในส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมต่อไป หากคุณคิดว่าไม่ผิดก็พูดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พอ ถ้าในสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นนั้นเราทำผิดจริงก็ต้องยอมรับผิดในตรงนั้น เป็นการลดอารมณ์ของคน ลดวงจรข่าว

– เวลามีดราม่ามักมีคนขุดคุ้ยเรื่องในอดีตตามมา คิดว่าจำเป็นไหม?

บางคนชอบเสพสื่อในลักษณะที่เหยียบซ้ำคน ยิ่งอ่านยิ่งมัน กับคนอีกประเภทเลือกที่จะพอแล้ว การขุดอะไรต่างๆ ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของคนที่ต้องการอ่าน เหมือนเวลาทะเลาะกับเพื่อนบ้าน เราก็อยากรู้เรื่องไม่ดีของเพื่อนบ้านคนนั้นเพื่อความสะใจ

การขุด การแฉ มีมาช่วงหนึ่งอาจเริ่มจากเว็บบอร์ด แต่ทุกวันนี้มีเยอะขึ้นเพราะมีหลายช่องทาง แต่ส่วนตัวมองว่าหากจะมีการแฉก็ควรเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประเทศ ถ้าเป็นเรื่องกรณีในลักษณะนี้ก็ไม่ควรจะล่วงละเมิด ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว เรื่องกิจการต่างๆ เป็นการออกนอกเหนือประเด็น ออกนอกเหนือบทบาทที่ควรจะทำไม่ว่าสื่อหลักหรือสื่อรอง ต้องคิดถึงผลประโยชน์ที่คนส่วนใหญ่จะได้รับ ได้เสพข้อมูลตรงนี้ อย่างเช่นการไปรู้ว่าแม่เขาทำอะไร ไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อชีวิต ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอีกด้วย

– ทำไมแบรนด์สินค้า จนถึงดาราด้วยกันเองจึงกล้าเล่น กล้าวิจารณ์ประเด็นนี้?

คนพวกนี้เป็นคนที่สังคมจับตามอง ดังนั้น เขาจึงทำตัวเองไม่ให้ตกกระแส การเป็นคนดัง หรือผู้นำทางความคิดเห็นได้จะต้องเป็นคนที่อยู่ในกระแส ดาราที่พร้อมใจกันออกมาเล่นเรื่องนี้ พวกเขาต่างต้องการอยู่ในกระแส ต้องการมีพื้นที่ เมื่อมีคนเริ่มทำแล้ว หากคุณไม่ทำคุณก็จะตกกระแส ไม่ทันคนอื่น ภาพจึงออกมาอย่างที่เห็น

อีกส่วนเป็นความพยายามในการดึงภาพลักษณ์ของดาราด้วยกันเองให้กลับมาดีขึ้น หากยังนิ่งๆ อยู่คงโดนกันทั้งแผง ดังนั้น จึงต้องออกมาทำอะไรให้คนมองว่า ดาราดีๆ ก็มี ซึ่งก็คือตัวเองนั่นแหละที่มีส่วนกับการเทกแอ๊กชั่นแบบนี้ (ยิ้ม)

การเข้ามาอยู่ในกระแสมีประโยชน์กับคนที่โดดเข้ามา เป็นการทำให้มีตัวตน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง คนที่ออกมาแสดงความเห็นบ่อยๆ รายการก็อยากได้มาเป็นพิธีกรเพราะเขามีตัวตน หากอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น คนก็ไม่นึกถึง

– บทสรุปของเรื่องราว หากอนาคตมีดราม่าอีกต้องทำอย่างไร?

อันดับหนึ่ง ต้องยอมรับผิด ยอมรับความจริงที่คนอื่นๆ ในสังคมเห็นชัดเจน ส่วนที่เหลือไปว่ากันในกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องพูดถึง บอกอย่างเดียวว่าจะให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ในส่วนที่คนอื่นเห็นว่าเราทำผิดก็ต้องขอโทษในส่วนนั้น ยอมรับ และรับผิดชอบ แบบนี้จะเป็นทางออกที่ดี

แต่การออกมาพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น หรือพยายามแก้ในสิ่งที่คนอื่นเห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ก็เหมือนกับการออกมาต่อยหน้าตัวเอง

นันทวิช เหล่าวิชยา


ข่าวลบในแวดวง ‘การเมือง’ ไม่ต้อง ‘ขอโทษ’ ก็หยุดได้

หลังพูดคุยกันถึงวิธีตัดวงจรข่าวเชิงลบไม่ให้ลุกลามใหญ่โต ซึ่งอาจารย์นันทวิชแนะนำว่า ให้ยอมรับผิดในส่วนที่สังคมรับรู้ ตอบคำถามอย่างมีสติ และรับผิดชอบถึงผลที่เกิดขึ้น จะเป็นการลดประเด็นไม่ให้เรื่องยืดยาวออกไปได้อีก

หากลองเปลี่ยนตัวละครจากดาราหรือคนทั่วไป เป็นผู้มีตำแหน่งทางการเมือง วิธีการเดียวกันนี้จะใช้ได้ผลหรือไม่?

แน่นอนว่าข่าวเชิงลบของผู้มีตำแหน่งทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประเทศ

ทั้งเรื่องการคอร์รัปชั่น กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กระทำผิดกฎหมาย จนถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เที่ยงธรรม

“อันดับแรก ในเรื่องนี้ต้องมองก่อนว่านักการเมืองหรือผู้มีตำแหน่งทางการเมือง เวลามีข่าวลบหลายครั้งเป็นไปได้ยากที่จะหาหลักฐาน เพราะฉะนั้น นักการเมืองจึงไม่เลือกวิธีที่จะขอโทษ เพราะไม่มีหลักฐาน”

แน่นอนข่าวเชิงลบหลายกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนก็มีทั้งประเภทที่สืบสาวได้ต่อ และประเภทที่วงจรข่าวหยุดไปเงียบๆ

“บางคนขนาดมีเอกสารข้อมูลหลักฐานชัดเจน ก็เลือกที่จะไม่ขอโทษ”

เป็นความเห็นของอาจารย์นันทวิชจากการสังเกตสถานการณ์ข่าวที่ผ่านมา

“ที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยไม่สนในเรื่องการเมืองเท่าไหร่นัก หากเทียบกับเรื่องดราม่าเล็กน้อยๆ แล้ว ความสนใจเทียบกันแทบไม่ได้เลย คนจะสนใจเรื่องดราม่าเล็กน้อยมากกว่า ทั้งที่การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ แต่คนกลับไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่”

อาจารย์นันทวิชอธิบาย และบอกว่า เมื่อเทียบผลกระทบจากการขุดคุ้ยเรื่องของดารากับนักการเมืองหรือผู้มีตำแหน่งทางการเมืองแล้ว “คงเป็นเหมือนยักษ์กับมดตัวกระจิ๊ด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image