ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง แต่ “ความเป็นไทย” ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง

แต่ “ความเป็นไทย”

ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ศิริวุฒิ บุญชื่น

Advertisement

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปก “ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง”

Advertisement

ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในคำนำที่ชื่อ “คำนิยมที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ของหนังสือ “ศาสนาผีใต้ชะเงื้อมเขาพระสุเมรุ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เขียนเล่าว่า

ผมได้อ่านงานเขียนของอาจารย์ศิริพจน์ครั้งแรกจากหนังสือ ‘ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง’ จำได้ว่าครั้งนั้นประทับใจจนถึงต้องไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือของอาจารย์ที่ร้าน The Bar Has No Name ร้านคราฟต์เบียร์บาร์ชิลๆ ริมถนนสามเสน เมื่อเดือนเมษายน 60 โดยมีท่านปรมาจารย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ มาบรรยายให้ฟังในงาน จากนั้นก็ได้ติดตามอ่านผลงานของอาจารย์มาตลอด เวลาผมอ่านงานของอาจารย์ รู้สึกเหมือนกับที่อาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ พูดกับคุณคมกฤช อุ่ยเต็กเค็ง มหากูรูอินเดียว่า ‘ฉันชอบงานที่พาฉันไปที่ใหม่ๆ และงานเธอก็เป็นแบบนั้น’ งานของอาจารย์ศิริพจน์ก็พาผมไปที่ใหม่ๆ อยู่เสมอ…”

หลังจากงานเปิดตัวหนังสือไม่นาน อ. ชัชชาติ ก็ได้แนะนำหนังสือดังกล่าวผ่านบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ส่งผลให้หนังสือ “ไทยๆ” ขายดีเป็นอย่างมาก และเมื่อ อ. ชัชชาติ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กระแสอ่านหนังสือตาม อ. ชัชชาติ ก็ยิ่งทำให้หนังสือ “ไทยๆ” ทั้งมือหนึ่งและมือสอง ขาดตลาดไปในที่สุด นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้ศิริพจน์จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งที่ 2

ในงานเปิดตัวหนังสือเดียวกันนั้น “ท่านปรมาจารย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ” ได้เล่าที่มาของชื่อหนังสือไว้ว่า “หนังสือชื่อ ‘ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง’ ล้อมาจาก ‘ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง’ มันก็เลียนแบบมาอีก มันก็ล้อมาอีก เพราะเขาจำมาผิด จากโคลงพระลอที่ว่า ‘สิ่งใดในโลกล้วนอนิจจัง’ แล้วคนมันจำผิดว่า ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง ‘สิ่งใดในโลกล้วนอนิจจัง ล้วนแต่บาปบุญยังเที่ยงแท้’ เป็นงานอยู่ในโคลงพระลอ ซึ่งทุกคนถูกครอบงำมาว่าเป็นวรรณคดีโบราณ สมัยกรุงศรีอยุธยา มาจากพระยาแสนหลวง ภาคเหนือ ล้านนา ขอประทานโทษ ไปอ่านโคลงทั้งเล่มดู เป็นโคลงกรุงเทพฯ กรุงรัตนโกสินทร์ แต่งเมื่อวานนี้เอง เมื่อวานนี้คือต้นรัตนโกสินทร์นะครับ…”

ข้อมูลที่ อ. สุจิตต์ ได้เล่าไว้นี้ ดูราวกับต้องการจะบอกว่าความเป็นไทยต่างๆ ที่ ศิริพจน์ได้เขียนถึงไว้ในหนังสือเล่มนี้ ล้วนแล้วแต่เพิ่งถูกแต่งขึ้นมาเมื่อวานนี้เองเช่นกัน

ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” เป็นงานรวบรวมบทความออนไลน์จากเพจ The Matter ที่ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ได้เคยเขียนไว้ภายใต้คอลัมน์ชื่อเดียวกัน ซึ่งในคราวพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกเมื่อปี 2560 นั้น สำนักพิมพ์ได้เขียนคำนำโปรยไว้ว่า

ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง เป็นคอลัมน์สำหรับอธิบายปรากฏการณ์ของสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ ศิริพจน์จับข่าวที่กำลังอยู่บนกระแสความสนใจรายสัปดาห์มาเป็นโจทย์ในการเล่าเรื่องเมืองไทย ย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ เป็นตัวแทนอธิบายตัวตนของบางสิ่งที่ผู้คนกำลังสนใจ บอกว่าทุกสิ่งล้วนถูกสร้างมาด้วยวันเวลา ก่อนสิ่งนั้นจะมาถึงตรงนี้ ไม่ใช่ปรากฏขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ขลุ่ย ขนาดแสงอาทิตย์ต้องเดินทาง จะประสาอะไรกับปรากฏการณ์ในข่าวต่างๆ ที่เราเห็น เพียงแต่นี่มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ศาสนา สังคม การปกครอง วงการบันเทิง พุทธศาสน์ ไสยศาสน์ และอะไรอีกมากที่ ศิริพจน์ยืนยันกับเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าทุกสิ่งมีรอยเท้าของตัวมันเอง เป็นการสำรวจเข้าไปในประวัติศาสตร์ ที่หลายอย่างทำให้เราต้องสะอึก ถึงขั้นล้มนิยามความเชื่อของบางอย่างลงไป สำหรับบางคนก็อาจถึงขั้นหวาดระแวงระแวดระวังในความปักใจเชื่อเรื่องอื่นต่อไป ซึ่งสำหรับเรา นั่นคือคุณสมบัติหนึ่งในความเป็นสังคมอุดมคติ…”

จะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการอธิบายเพื่อหักโค่นความเชื่อเดิมต่อประเด็นว่าด้วยความเป็นไทยต่างๆ ที่ได้ถูกทำให้เป็นกระแสในช่วงปี 2560 และก่อนหน้า จำนวนทั้งสิ้น 28 ประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ยิ้มสยาม, เทือกเขาอัลไต, ผีแม่นาก, อาหารเผ็ด, การตัดผมเกรียน, คนไท(), การเคารพธงชาติ, ชาวนาในฐานะกระดูกสันหลัง, กะหรี่และดอกทองในฐานะคำด่า, ระบบ SOTUS, เสื้อ Topless, เครื่องแบบนักเรียน, ต้นกำเนิดนิทานซินเดอเรลล่าในจีน, การทำงานแบบผักชีโรยหน้า, การกราบ, ทศกัณฐ์สำนวนต่างๆ, การสวดศพ, การทำแท้ง, ภาษาอังกฤษของคนไทยๆ, การขึ้นภาษีเหล้าเบียร์, การสวดมนต์ข้ามปี, ภาษากลาง, การเป็นไทยแท้, ชุดประจำชาติในการประกวดนางสาวไทย, การฝึก รด., การทำบุญของพุทธแท้, ผัดไทย, และลายสือไท เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าบทความที่กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ ต่างมีชื่อบทความเป็นประโยคคำถามทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งคำถามต่อประเด็นความเป็นไทยเหล่านั้น เช่น “‘ยิ้มสยาม’ คือยิ้มให้ใคร? แล้ว ‘สวัสดี’ นี่คำเก่าไทย หรือว่าใครเพิ่งประดิษฐ์?ที่ศิริพจน์ได้ตั้งคำถามกับวลี “ยิ้มสยาม” ที่คนไทยถูกทำให้ภาคภูมิใจ โดยยกคำของ อ. สุจิตต์ วงษ์เทศ มาใช้อธิบายว่าแท้ที่จริงแล้ว “ยิ้มสยาม” เป็นอาการยิ้มสู้แหะๆ ของคนไทย เวลาฟังฝรั่งพูดไม่ออก หรือฟังออกแต่ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ในขณะที่คำว่า “สวัสดี” ก็เพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เพิ่งได้มีการประกาศให้เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการเมื่อ 22 มกราคม 2486 นี่เอง

อีกตัวอย่างหนึ่งในบทความ “พุทธแท้ เขาว่าใช้เงินทำบุญ แล้วไม่ได้บุญจริงหรือ?ที่ศิริพจน์ต้องการตอบโต้กลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็น “พุทธแท้” ผู้มักปฏิเสธการทำบุญด้วยการใช้เงิน โดยศิริพจน์ได้อ้างถึงบุคคลสำคัญในคัมภีร์พุทธศาสนาที่ต่างก็ใช้เงินทำบุญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนางสุชาดา ที่ทำบุญด้วยเงินเมื่อเทียบกับมูลค่าในปัจจุบันเป็นจำนวน 400,000 บาท นางวิสาขาผู้ทำบุญด้วยทรัพย์สินมูลค่า 360 ล้านบาท และอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ทำบุญด้วยการใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างวัดให้พระพุทธเจ้า ซึ่งแต้มบุญที่แต่ละคนได้ใช้เงินแลกมานี้ ล้วนส่งผลให้ทั้งสามคนได้บรรลุเป็นโสดาบันในที่สุด

นิทานเรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่าศาสนาพุทธไม่ได้ปฏิเสธการรับเงิน ดังที่ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น “พุทธแท้” ได้พยายามเสนอแต่อย่างใด

นอกจาก 2 ตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นคำถามที่น่าสนใจอยู่อีกมาก ดังตัวอย่างของชื่อบทความในเล่มดังนี้

“‘เทือกเขาอัลไต’ เคยมี ‘คนไทย’ อยู่ซะเมื่อไหร่? แล้วทำไมถึงไม่เลิกเชื่อกันเสียที?”, “‘แม่นาก’ มาจากไหน? เซเล็บผีไทย หรือลูกครึ่งผีเขมร?”, “เผ็ดมาตั้งแต่รุ่นแม่ หรือที่แท้ฝรั่งเอามาให้?”, “‘เกรียนไทย’ มาจากไหน และทำไมทรงผมถึงกลายเป็นเครื่องแบบ?”, “ไทยมี ‘ย’ มาจากไหน? ใช่ ไท เดียวกับที่ไม่มี ‘ย’ หรือคนละ ไท() กันแน่?”, “ธงชาติต้องเคารพทำไม? เพราะรัฐว่าขลังไง คนไทยเลยต้องเคารพ”, “ชาวนาไทย ไหนใครบอกว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ?”, “จะ ‘กะหรี่’ จะ ‘ดอกทอง’ ก็ไม่ไทย แล้วทำไมต้องใช้เป็นคำด่า?”, “SOTUS ความรุนแรง หรือฝึกวินัย? ความเป็นไทย หรือลอกฝรั่ง?”, “Topless ยุคย่าทวด ‘สไบ’ จะใส่ไปทำไมหว่า”, “‘เครื่องแบบนักเรียนชาย’ คือชุดฝึกหัดความเป็นไทย ผู้หญิงจะมาสวมทำไม? ปั๊ดโธ่!”, “ซินเดอเรลล่า ใต้เกือกแก้วแบบไทยๆ”, “‘ผักชี’ ไม่ใช่ ‘ผักไทย’ แล้วทำไมความเป็นไทยชอบโรยหน้าด้วยผักชี”, “กราบงามอย่างไทยมาจากอินเดีย แขกใช้แสดงความเคารพ แล้วทำไมพี่ไทยเอามาใช้กันพร่ำเพรื่อ?”, “ทศกัณฐ์เป็นยักษ์มือสอง ไม่ได้เป็นรองใครคนใดคนหนึ่ง”, “พระสวดงานศพไทย ใครว่าพุทธ”, “ทำท้อง ทำแท้งตั้งแต่เยาว์วัย มีในไทยมาตั้งแต่ยุคขุนแผน”, “ภาษาอังกฤษแบบไทยๆ เรียนยังไงก็ไม่ได้เรื่อง (จริงดิ?)”, “เหล้าเบียร์ ทำไมขึ้นภาษีได้ แต่เลิกผลิตไม่ได้”, “สวดมนต์ข้ามปี เดิมทีมีที่ไหน”, “ภาษากลาง หรือภาษาใคร ทำยังไง ไทยจะเป็นมหาอำนาจ”, “เฆี่ยนด้วยความเป็นไทย ทำโทษแบบไหนถึงจะเป็นไทยแท้”, “ชุดประจำชาติ ‘นางสาวไทย’ กกกอดต้นกำเนิดไว้ เหมือนประกวดครั้งแรก เมื่อแปดสิบกว่าปีก่อน”, “ต้นกำเนิด รด. ไทย ฝึกไว้ไปรบ แล้วพอสงครามจบจะฝึกไว้รบกับใคร?”, “ผัดไทย ไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นสมัยจอมพล ป. เพราะสมัยนั้นเขารณรงค์ให้กินก๋วยเตี๋ยวเจ๊ก”, และ “ลายสือไท เป็นอักษรชนิดเดียวในโลก ที่ประกาศตนว่าเป็นอักษรของชนชาติไหน”

ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามคำตอบต่อคำถามเหล่านี้ได้ภายในเล่ม

อย่างไรก็ตาม แม้ความเป็นไทยต่างๆ จะได้ถูกท้าท้าย แต่ความเป็นไทยเหล่านั้น ก็จะยังคงดำรงอยู่ดังเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซึ่ง อ. สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้อธิบายเอาไว้ว่า “วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งสร้างใหม่ของชนชั้นนำ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสร้างใหม่ของชนชั้นนำเพื่อค้ำจุนโครงสร้างที่เป็นอยู่ของตน จึงเน้นความเหลื่อมล้ำ ที่ต่ำที่สูง ผู้ใหญ่ผู้น้อย แล้วอ้างว่าสิ่งนี้คือลักษณะพิเศษจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะไม่เหมือนใครในโลก เดิมไม่เคยมีวัฒนธรรมแบบนี้ ไม่ใช่นะครับ นี่เป็นสิ่งสร้างใหม่ เข้าใจว่าช่วงรัตนโกสินทร์นี่เท่านั้นเพื่อค้ำจุนอำนาจของชนชั้นนำ แล้วก็บอกว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพื่อที่ตัวเองจะได้มีอำนาจอยู่ตลอดไป เพราะฉะนั้น ชนชั้นนำกับชนชั้นกลางบางพวก จึงมีอาการโวยวายฟาดงวงฟาดงาว่าวัฒนธรรมไทยถูกครอบงำ ทำลายโดยวัฒนธรรมต่างชาติ สุดแต่จะหาชาติอะไร เช่น ฝรั่ง เกาหลี ญี่ปุ่น ตามสะดวก…”

ผู้ที่สนใจหนังสือ “ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่เพจ https://www.facebook.com/ituibooks าคาปก 320 บาท

คํานิยมที่แข็งแกร่งที่สุุดในปฐพี

ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

[คำนิยมในหนังสือ “ศาสนาผีใต้ชะเงื้อมเขาพระสุเมรุ” ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ]

รองศาสตราจารย์ ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ในงานเปิดตัวหนังสือเมื่อปี 2560

ผมได้อ่านงานเขียนของอาจารย์ศิริพจน์ครั้งแรกจากหนังสือ “ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” จําได้ว่าครั้งนั้นประทับใจจนถึงต้องไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือของอาจารย์ที่ร้านThe Bar Has No Name ร้านคราฟต์เบียร์บาร์ชิลๆ ริมถนนสามเสน เมื่อเดือนเมษายน 60 โดยมีท่านปรมาจารย์ สุุจิตต์ วงษ์เทศ มาบรรยายให้ฟังในงาน จากนั้นก็ได้ติดตามอ่านผลงานของอาจารย์มาตลอดเวลา

ผมอ่านงานของอาจารย์รู้สึกเหมือนกับที่อาจารย์สุุวรรณา สถาอานันท์ พูดกับ คุณคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง มหากูรูด้านอินเดียว่า “ฉันชอบงานที่พาฉันไปที่ใหม่ๆ และงานเธอก็เป็นแบบนั้น” งานของอาจารย์ศิริพจน์ก็พาผมไปที่ใหม่ๆ อยู่เสมอ

คุณสมบัติที่สำคัญสองอย่างสำหรับการอยู่รอดในยุคจักรวาลนฤมิต (Metaverse) (จริงๆ แล้ว ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเห็นว่าคนสมัยก่อนเขามีจักรวาลนฤมิตมาต้้งนานแล้วนะครับ) คือ ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) และการคิดใหม่ (Think Again) ความอยากรู้อยากเห็นทำให้เราไม่หยุดการเรียนรู้ ไม่ยึดติดความเชื่อเดิม หาความรู้ในหลากหลายศาสตร์ ช่วยให้การวิเคราะห์ ตัดสินใจของเราดีขึ้น ส่วนการคิดใหม่คือการไม่ปักใจเชื่อในสิ่งที่เรารู้ ขวนขวายหาสิ่งที่เราไม่รู้และปรับความคิดให้ตรงกับข้อมูลใหม่ เราต้องหัด “เอ๊ะ” บ้าง ไม่ใช่ “อือ” อย่างเดียว ซึ่งงานชิ้นนี้ของอาจารย์สะท้อนให้เห็นถึงคุณสมบัติทั้งสองของอาจารย์ และช่วยให้คนอ่านอย่างเราได้อยากรู้อยากเห็นและได้คิดใหม่ตามไปกับอาจารย์ด้วย

การเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิด ความเชื่อ ไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนกับการเป็นนักสืบเก่งๆ ที่ต้องเรียบเรียงหลักฐานที่มีกระจัดกระจาย วิเคราะห์ เชื่อมโยงคิดใหม่ และที่สำคัญเขียนให้คนที่ไม่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์อย่างผม สามารถอ่านเข้าใจ สนุก มีหลายเรื่องที่ผมอ่านแล้วต้องถามตัวเองว่า ต้องค้นคว้ามากขนาดไหนถึงจะสามารถเอาข้อมูลต่างๆ มาประมวลเป็นข้อสรุปที่น่าสนใจได้ขนาดนี้ และหลายๆ เรื่องก็พาผมไปยังที่ที่ผมไม่เคยไปมาก่อน

จริงหรือที่สุุวรรณภูมิ หมายถึงเมืองแห่งทองแดง ไม่ใช่ทองคํา?

จริงหรือที่ศาสนาผีมีมาช้านานก่อนที่พิธีกรรมบางอย่างจะถูกสถาปนาร่วมกับศาสนาพุทธ?

จริงหรือที่พิธีไหว้ครูเริ่มมาจากการไหว้ผี ไม่ใช่ไหว้คน?

จริงหรือที่แนิวคิดหลักเมืองมาจากศาสนาผี?

จริงหรือที่พระแม่โพสพมาจากศาสนาผีท้องถิ่น ก่อนจะถูกบวชเข้าศาสนาพราหมณ์?

อ่านหนังสือของอาจารย์ศิริพจน์เล่มนี้แล้ว นอกจากจะได้รู้เรื่องราวต่างๆ ที่สนุกและน่าสนใจแล้ว ย้งช่วยให้เราได้ฝึก skill ที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม คือ ต้อง “เอ๊ะ” บ้าง อย่า “อือ” อย่างเดียว เมื่อเราตั้งคําถามกับสิ่งต่างๆ ก็จะตามมาด้วยการค้นหาความรู้ วิเคราะห์ หาคําตอบ และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้

ขอบพระคุณอาจารย์ศิริพจน์สำหรับหนังสือเล่มนี้ ขอเป็นกําลังใจให้อาจารย์สร้างผลงานดีๆ อย่างต่อเนื่องครับ

4 ธันวาคม 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image