เช็กอินเทอร์มินอล 4 ชางงี คุย‘สันติสุข คล่องใช้ยา’ ซีอีโอไทยแอร์เอเชีย ‘สิ้นปีนี้เราจะคัมแบ๊ก 100%’

เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ทั่วโลกเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจการบินหยุดชะงักไปหลายปี จนกระทั่งกลับมาฟื้นตัวกันอย่างเต็มที่ในปีนี้

หนึ่งในนั้นคือ “แอร์เอเชีย” สายการบินราคาประหยัด ที่ประกาศจะกลับมาบิน 100% ในสิ้นปีนี้ ในงานแถลงข่าวเฉลิมฉลองการกลับมาให้บริการเที่ยวบินของสายการบิน ที่สนามบินชางงี อาคารผู้โดยสาร 4 ประเทศสิงคโปร์ สนามบินที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 16 ล้านต่อปี และประตูทางออกขึ้นเครื่องรวม 21 ช่องทาง

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นสนามบินที่ใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติขั้นสูง และได้รับรางวัล President’s Design Award Singapore สำหรับนวัตกรรมการออกแบบใหม่ของประสบการณ์สนามบิน เป็นรางวัลที่เป็นเกียรติสูงสุดของสิงคโปร์ สำหรับนักออกแบบและการออกแบบในทุกสาขาวิชา โดยตระหนักถึงความสำเร็จของกลุ่มคนเฉพาะที่สร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของชาวสิงคโปร์และชุมชนทั่วโลกผ่านการออกแบบที่ยอดเยี่ยม และการเช็กอินแบบรวดเร็วและไร้รอยต่อ [Fast and Seamless Travel (Fast)] ที่ได้รางวัล Techblazer Award สำหรับการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดสำหรับสนามบินอัจฉริยะ

ในฐานะกลุ่มสายการบินต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดตามสัดส่วนการให้บริการในสิงคโปร์กลุ่มแอร์เอเชียให้บริการเที่ยวบินเข้าออกสิงคโปร์ โดยสายการบินทั้ง 4 สายในเครือ ได้แก่ แอร์เอเชียมาเลเซีย (รหัสเที่ยวบิน AK) แอร์เอเชียอินโดนีเซีย (รหัสเที่ยวบิน QZ) ไทยแอร์เอเชีย (รหัสเที่ยวบิน FD) และแอร์เอเชียฟิลิปปินส์ (รหัสเที่ยวบิน Z2) โดยให้บริการเชื่อมต่อทั้งหมด 168 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ไปยัง 12 จุดหมายปลายทางทั่วอาเซียน โดยปัจจุบันความถี่รายสัปดาห์ที่กลับมาให้บริการนี้นับเป็นประมาณ 60% ของการดำเนินงานของสายการบินที่ให้บริการ ณ อาคารผู้โดยสาร 4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 และมีแผนที่จะกลับมาฟื้นตัวสูงสุด 96% ภายในสิ้นปีนี้

Advertisement

ด้าน “ไทยแอร์เอเชีย” ที่มี สันติสุข คล่องใช้ยา เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในวัย 56 ปี สวมเสื้อสีแดงสดใส สกรีนข้อความ WE’RE BACK ร่วมงานเฉลิมฉลองนี้เพื่อต้อนรับและเล่าถึงแนวทางของการกลับมาฟื้นธุรกิจการบินให้เฟื่องฟูอีกครั้ง

โดยช่วงเวลาสำคัญในการฟื้นตัวของแอร์เอเชียนี้ สิงคโปร์ถือเป็นตลาดที่คุ้มค่าในการลงทุนที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยจุดหมายยอดนิยม พร้อมผลักดันเทคโนโลยีในทุกขั้นตอนของการเดินทางตั้งแต่การจองตั๋ว เช็กอิน พร้อมเดินทางลากกระเป๋าเข้าประเทศจุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นอย่างไร้รอยต่อ

ภาพรวมการกลับมาคึกคักของสนามบินชางงีในวันนี้ ส่งผลต่อธุรกิจการบินอย่างไร โดยเฉพาะแอร์เอเชีย?

Advertisement

สนามบินชางงี เพิ่งเริ่มกลับมาบินใหม่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังการแพร่ระบาดของโควิด ตอนนี้ Capacity (สมรรถนะ) หรือปริมาณการรับผู้โดยสารก็มากขึ้น จาก 30% ช่วงกลางปี ตอนนี้เริ่มเป็น 60% แล้ว ภายในปีนี้สนามบินชางงีน่าจะเปิดได้ครบ 100%

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อศักยภาพของสนามบินรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เราก็ทำเที่ยวบินได้มากขึ้น จากปัจจุบันเรามี 2 เที่ยวบินต่อวัน จากกรุงเทพฯมาสิงคโปร์ เพิ่มเป็น 4 เที่ยวบินต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น และเพิ่มศักยภาพด้วยอาคารผู้โดยสาร 4 ซึ่งมีความทันสมัยและสะดวกสบาย ต้อนรับและให้บริการผู้โดยสารเป็นอย่างดี

วันนี้ผมมาทำหน้าที่ชวนชาวสิงคโปร์ไปเที่ยวกรุงเทพฯ เพราะเที่ยวบินกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ มีผู้โดยสารใกล้เคียงกันระหว่างคนไทยกับคนสิงคโปร์ เมืองไทยยังเป็นจุดหมายยอดนิยมในช่วงวันหยุดของคนสิงคโปร์รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์

•เที่ยวบินของแอร์เอเชีย จากไทยสู่สิงคโปร์ ตอนนี้กลับมาเปิดแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ แผนในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไรต่อ?

ก่อนโควิด แอร์เอเชียมีเที่ยวบินจากไทยมาสิงคโปร์วันละ 5 เที่ยว เครื่องบินขนาด 320 ประมาณ 180 ที่นั่ง ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน เป็นต้นมาเราปรับให้เป็น 4 เที่ยวบินต่อวัน เพราะฉะนั้นก็ 80% แล้ว และในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ เราน่าจะเพิ่มได้เป็น 5 เที่ยวบิน ซึ่งกลับเป็น 100% เท่ากับช่วงก่อนโควิด

นอกจากเที่ยวบินสิงคโปร์-กรุงเทพฯ เรายังมีเที่ยวบินสิงคโปร์-ภูเก็ต 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ภายในพฤศจิกายนนี้ หรือไตรมาสที่ 4 จะเพิ่มเป็น 7 วันต่อสัปดาห์ หรือบินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน เหมือนช่วงก่อนโควิด และเรายังมองหาศักยภาพของการท่องเที่ยวในที่อื่นๆ ด้วย เช่น เชียงใหม่ ซึ่งเคยมีเที่ยวบินแล้วเลิกไป เพราะฉะนั้น จุดหมายปลายทางต่อไปที่เราจะเชื่อมประเทศไทยกับสิงคโปร์ คือ เชียงใหม่ ซึ่งผมจะทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อดูว่าจะสามารถทำการตลาดเพื่อดึงดูดคนสิงคโปร์ให้ไปเที่ยวเชียงใหม่ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะเปิดเที่ยวบินเร็วๆ นี้ ต้องคุยว่าเราจะวางแผนกันอย่างไรดี เชียงใหม่พร้อมหรือยังที่จะรับนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ คงคุยกันในเรื่องของแผนงาน

•เที่ยวบินสิงคโปร์-เชียงใหม่ที่เคยมีในช่วงปี 2011 ทำไมเลิกไป?

เข้าใจว่าอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารตอนนั้นยังไม่ดีเท่าไหร่ บินไปเชียงใหม่ก็ค่อนข้างไกลสำหรับคนสิงคโปร์ คือ ไปกรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง ไปเชียงใหม่เพิ่มอีก 1 ชั่วโมง รวมเป็น 3 ชั่วโมง ซึ่งถ้าใช้เวลาเท่านี้ เขาจะมีเที่ยวบินให้เลือกเยอะ อาจจะบินไปฮ่องกงแทน ซึ่งเราก็จะเสียเปรียบเล็กน้อย

นอกจากนี้ อาจเป็นเหตุผลเรื่องไลฟ์สไตล์ ด้วยความที่คนสิงคโปร์เป็นคนเมือง ก็จะชอบบรรยากาศแบบกรุงเทพฯ กับภูเก็ตที่มีแหล่งช้อปปิ้ง มีสีสัน แต่เชียงใหม่เป็นอีกแบบหนึ่ง เหมาะสำหรับคนชอบธรรมชาติ แต่เราก็จะหารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อหาจุดขายของเชียงใหม่ซึ่งช่วงหลังมีร้านอาหารมิชลินสตาร์ ร้านค้าและพวกสปาเพื่อสุขภาพต่างๆ ซึ่งอาจดึงคนสิงคโปร์ไปเชียงใหม่ได้

•ยอดนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์สู่ไทย แนวโน้มเป็นอย่างไร?

ดีขึ้นตามลำดับ เที่ยวบินที่เราเปิดครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม หลังปิดจากสถานการณ์โควิด ตอนนั้นยังโหลดไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พอเดือนเมษายน พฤษภาคม ที่มีการยกเลิก Thailand Pass เที่ยวบินก็ดีมาก อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) เกือบ 90% ตอนนี้คือ 50:50 ระหว่างคนไทยมาสิงคโปร์ กับคนสิงคโปร์มาไทย ตอนที่ยังบินวันละ 2 เที่ยว รวมกว่า 300 คน เพราะฉะนั้นเดือนหนึ่งก็ประมาณ 18,000 คน เมื่อเพิ่มเป็น 4 เที่ยวบิน ผู้โดยสารก็น่าจะเพิ่มคูณ 2 เดือนหน้าอย่างน้อยน่าจะวันละ 20,000 คน ยังไม่รวมเที่ยวบินที่ไปภูเก็ต

•ตอนนี้ถือว่ากลับมาคึกคัก?

คึกคัก คนสิงคโปร์ไม่รู้จะไปไหนเสาร์-อาทิตย์ บางทีเขาก็บินไปเมืองไทย 2 ชั่วโมงกว่าๆ กินข้าว ทำผม ทำเล็บ คนไทยเองไม่รู้จะไปไหนก็ไปสิงคโปร์ ช้อปปิ้ง กินอาหาร ไปเที่ยวสวนสนุก Universal Studios

(ที่ 5 จากขวา) สันติสุข คล่องใช้ยา ร่วมงานแถลงข่าว ที่สนามบินชางงี สิงคโปร์

•เทอร์มินอลหมายเลขที่ 4 แห่งสนามบินชางงี มีความพิเศษหรือแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร?

ที่นี่ใช้ระบบอัตโนมัติเยอะ หมายถึงการเดินทางเข้าไปโดยแปะพาสปอร์ตและสามารถผ่านได้เลย การใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกเหล่านี้ 1.ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย 2.ใช้สต๊าฟ (เจ้าหน้าที่) น้อยลง ประหยัด

•แอร์เอเชียเหมาเทอร์มินอล 4 ทั้งหมดหรือไม่ หรือมีสายการบินอื่นด้วย?

สายการบินอื่นมีอยู่ 2-3 สายการบิน ถ้าเห็นป้าย FIDS (Flight information display system หรือระบบแสดงข้อมูลเที่ยวบิน) จะเห็นว่า 90% หรือ 99% ผมเห็นมีอยู่เที่ยวบินเดียวที่ไม่ใช่แอร์เอเชีย นอกนั้นประมาณ 20 เที่ยวบินเป็นแอร์เอเชียหมดเลย มาจากทุกที่ ทั้งประเทศไทย มาเลเชีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

•แสดงว่าตรงนี้เป็นจุดหมายสำคัญของแอร์เอเชีย?

ใช่ ตลาดใหญ่ที่สุดเป็นมาเลเซีย เนื่องจากเขาอยู่ใกล้กัน และมีการเดินทางไปทำงาน เยี่ยมญาติกันเยอะ ที่มาเลเซียน่าจะมีไฟลต์เยอะกว่า อันดับที่ 2 ลงมาเป็นกรุงเทพฯ นอกจากนั้นเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่รวมๆ แล้ว ทำให้เรามีเที่ยวบินเข้าสิงคโปร์ประมาณ 180 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ก่อนโควิดมีกว่า 300 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

•ความพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดสายการบินที่แลนดิ้งสิงคโปร์ มีมากน้อยแค่ไหน?

คู่แข่งเราบินมาสิงคโปร์เยอะ มี Scoot, Singapore Airline ส่วนการบินไทยราคาสูง Low Cost จริงๆ น่าจะมีแค่ Scoot ซึ่งก็ไม่ได้ถูกมาก แต่ออกที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนดอนเมืองมีไลอ้อนแอร์ที่จะกลับมา แต่นัยสำคัญคือใครมีความพร้อมแค่ไหนอยู่ที่จำนวนเครื่องบิน และสมรรถนะ (capacity) ทุกคนอาจมีเส้นทางที่บินมาได้ แต่อย่าลืมว่าเรามีเที่ยวบินมากกว่าคนอื่น ตอนนี้แอร์เอเชียมีใช้อยู่ 33 ลำ มากกว่าคนอื่นเป็น 10 ลำ และปลายปีถ้าเราใช้ 43 ลำ เท่ากับว่าเรามากกว่าคนอื่นเป็น 2 เท่า เรามีทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ สายการบินที่มีสมรรถนะจำกัด เครื่องบินจำกัด ก็ต้องเลือกว่าเอาตลาดไหน ตลาดในประเทศก็ยังมีการแข่งขัน รวมถึงตลาดต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเขาต้องจัดสรรเครื่องบินให้ถูกต้อง แต่ของเรามีทั้งเครื่องบินและบุคลากรเพียงพอที่จะทำตลาดทั้งในประเทศและโตกับตลาดต่างประเทศได้ด้วย

คู่แข่งเจ้าอื่นๆ ถ้าไม่ใช่ Singaporian based airline แข่งกับเราลำบาก เพราะเรามีทีมอยู่ที่นี่ มีทีมการตลาด มีซีอีโอของสิงคโปร์คอยวิ่งเรื่องการจัดสรรเวลาการบิน (Slot) และกระบวนการต่างๆ เรามีการทำตลาดทั้งฝั่งไทยและสิงคโปร์ มีความคุ้มค่าที่จะลงทุน เพราะมีเที่ยวบินทางกรุ๊ปเข้ามาเยอะ เราตั้งสิงคโปร์เป็นเหมือน Virtual hub ของแอร์เอเชีย เพราะฉะนั้น แม้เราไม่มีการบินภายในประเทศ (Domestic) ก็สามารถทุ่มเททรัพยากรมาลงที่นี่และผลักดันอุปสงค์จากฝั่งนี้ไป ซึ่งจะได้เปรียบคู่แข่งขัน

•แรงกดดันเรื่องราคาเที่ยวบินไป-กลับสิงคโปร์เป็นอย่างไรบ้าง?

ราคาขณะนี้คิดว่ายังพอจัดการได้ ถ้าดูจำนวนผู้โดยสารจะเห็นว่าถ้าจำนวนผู้โดยสารดีขณะนี้ ค่าโดยสารจะขึ้นมาอยู่แล้ว ถ้าจำนวนผู้โดยสารไม่ดี ค่าโดยสารก็จะลง ถ้าจำนวนผู้โดยสาร 90 คนขึ้นไป แสดงว่าเราสามารถทำเรื่องราคาได้ดีพอสมควร คนสิงคโปร์ค่อนข้างมีเงิน และมีฝรั่งที่ทำงานในสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นเรื่องค่าโดยสารไม่มีแรงกดดันเท่าไร

•นโยบายของแอร์เอเชียในเรื่องนวัตกรรมและการลงทุนในอนาคตเป็นอย่างไร?

ความจริงเรามีระบบ Faces หรือการจดจำใบหน้า เราเอาหน้าไปลงทะเบียนไว้กับแอพพ์ของแอร์เอเชียก็สามารถเช็กอิน และผ่านที่ Gate หรืออะไรได้ ซึ่งที่มาเลเซียทดลองใช้แล้ว

ที่เมืองไทยเองเราเคยทำโปรเจ็กต์นี้ โดยคุยกับ AOT หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จนกระทั่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ก็เคยได้ทำงานร่วมกันประมาณหนึ่ง แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา

ความจริงแล้วส่วนใหญ่ในโลก สนามบินจะเป็นคนทำระบบนี้ เราเป็นสายการบินเพียงไม่กี่สายที่ริเริ่มการเช็กอินแบบจดจำใบหน้า เพราะฉะนั้นเราต้องคุยกับเจ้าของบ้านอย่าง AOT ซึ่งเขาก็มีระบบของเขา ซึ่ง AOT ก็มีโปรเจ็กต์อยู่เหมือนกัน ทีนี้จะทำอย่างไรให้ระบบมันเข้ากันได้ หรือถ้าระบบของ AOT ดีอยู่แล้ว เราก็อาจจะใช้ระบบ AOT หรือถ้าใช้ระบบของเราก็แชร์ข้อมูลกัน ตอนนี้กำลังศึกษาหาวิธีที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี

เราเป็นเจ้าแรกๆ ในสนามบินที่นำระบบตู้อัตโนมัติ (Kiosks) มาใช้ เช็กอินผ่านตู้ โดยนำตู้ไปเอง ไม่ได้ใช้ของสนามบิน เพราะเราทำเรื่องเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกตั้งแต่การจอง อย่าลืมว่าสายการบินราคาประหยัดอย่างเราทำเรื่องตั๋วดิจิทัล (E-ticket) หรือการจองออนไลน์มาตั้งแต่เปิดสายการบิน

ล่าสุด ทำเรื่องของการเช็กอินออนไลน์ ผ่านตู้ Kiosks เช็กอินจากที่บ้านก็ได้ พรินต์ตั๋วโดยสารมา และสุดท้ายเราทำถึงเครื่องโหลดสัมภาระอัตโนมัติ (Self bag drop) แล้ว ไม่ต้องรอคิวเพื่อจะเอากระเป๋าไปโหลด แต่สามารถโหลดกระเป๋า แท็กกระเป๋าด้วยตนเองก็ส่งเข้าสายพานได้

•ระบบ‘Faces’ของไทยแอร์เอเชียใช้ร่วมกันทุกพื้นที่เลยหรือไม่?

ใช่ครับ สมมุติว่าเราลงทะเบียน Faces ไว้ก็ใช้ได้ในทุกสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือที่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แต่ละสนามบินอาจมีระบบที่แตกต่างกัน ก็ต้องทำงานร่วมกับสนามบินด้วย

•จากที่เคยมีแผนทดลองนำร่องใช้ระบบ ‘Faces’ ในต่างจังหวัดตอนนี้คืบหน้าไปถึงไหน?

มีแผน แต่มีขั้นตอนการใช้ข้อมูลอยู่ และต้องไปถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อขออนุญาต ทางกระทรวงดิจิทัลบอกว่าจะต้องมีเรื่องของกระทรวงมหาดไทยด้วย คือความจริงมีระบบที่ค่อนข้างซับซ้อน เขาอนุญาตให้ทำ Self bag drop แต่เรื่อง Faces ยังคุยกันอยู่ เพราะผมเชื่อว่า AOT เขาคงมีระบบที่กำลังพัฒนาหาทางว่าจะเชื่อมโยง (Sync) กันอย่างไรบ้าง ตอนนี้ที่มาเลเซียทำแล้ว

เราก็ไม่อยากโทษเรื่องของระบบ ต้องรอบคอบเพราะข้อมูลของผู้โดยสารเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นทางฝ่ายความมั่นคง ทางฝ่ายดูแลผู้บริโภคก็ต้องให้ความสำคัญ เรื่องเก็บข้อมูลก็ยังติดอยู่ที่ขั้นตอนแต่เชื่อว่าในอนาคตน่าจะชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เรามีกฎหมายคุ้มครองเรื่องของ PDPA สิทธิส่วนบุคคลต่างๆ
เมื่อทุกอย่างผ่านก็จะหาทางทำให้มันเกิดขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image