ความไม่มี คือโอกาส แซ็ก จักรกฤษ เจริญสุข พรสวรรค์สร้างได้

“ชอบเล่นเกมอยู่แล้ว อย่างตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกซึ่งเครียดมาก ก็ได้การเล่นบอร์ดเกมกับเพื่อนที่ช่วยทำให้ผ่อนคลาย เมื่อได้มาสอนแล้วรู้สึกว่าเด็กหลังห้องไม่เรียน ส่วนตัวเชื่อว่าเด็กทุกคนเรียนได้ จึงอาจมาจากการสอนของอาจารย์ที่ไม่น่าสนใจ จึงหาว่าอะไรสนุกแล้วทำให้เด็กจดจำบทเรียนได้โดยไม่ต้องบังคับ แต่ต้องสนุกและอินกับสิ่งนั้น”

ดร.แซ็กเล่าถึงที่มาของ Chord Heroes บอร์ดเกมที่ผสาน “ความรู้+ความสนุก” เป็นหนึ่งเดียว

เขาสร้างสรรค์เกมนี้ขึ้น เพื่อให้คนไม่รู้โน้ตดนตรีได้เข้าใจดนตรีมากขึ้น และสำหรับคนที่ร่ำเรียนมาทางดนตรี เมื่อได้ลองเล่นเกมนี้แล้วสามารถจำคอร์ดต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถคิดคอร์ดใหม่ๆ ซึ่ง ดร.แซ็กยืนยันว่า การคิดจะคอร์ดขั้นสูงนั้นต้องผ่านการทำแบบฝึกหัด ซึ่งเหมือนเป็นการ “ฝืน” ธรรมชาติ แต่ว่าการได้เล่นเกมนั้นเป็นการซึมซับความรู้จากเกมโดยไม่รู้ตัว

ที่สำคัญคือทลายกรอบทางความคิด สามารถพลิกแพลงสิ่งใหม่ๆ ได้โดยไม่รู้ตัว

Advertisement

“จากที่เคยดูเกมที่เกี่ยวกับดนตรีจะยากมาก หรือบางเกมก็ง่ายมากเช่นเกมที่สอนโด เร มี”

“ผมดึงทั้งสองฝั่งเข้าหากัน คนที่ไม่รู้ทฤษฎีดนตรีสามารถเล่นและเรียนรู้ได้ ส่วนคนที่รู้ดนตรีก็สามารถพลิกแพลง สู้กันได้ มีความยาวนานในการคิดวิเคราะห์มากกว่า – เข้าใจง่าย แต่ยากที่จะชนะ”

“ตอนนี้คนที่ไม่รู้จักดนตรีมาก่อน ก็เริ่มรู้จักคอร์ดแล้ว เหมือนเพื่อนผมบางคนที่ไม่เคยรู้จักคอร์ดดนตรีมาก่อน ก็ไปโหลดแอพพ์มาแล้วมากดเปียโนเพื่อฟังเสียงว่า D major เสียงอย่างไร Augmented ต่างกับ Diminished อย่างไร หรือเวลาเห็นเด็กเล่น ก็รู้สึกว่าทำได้ อย่างหลานผม 8 ขวบก็รู้ว่า C major คือ C E G” จักรกฤษอธิบาย

Advertisement

สำหรับคอเพลงคลาสสิกในประเทศไทย อาจคุ้นหูกับคำว่า ดร.แซ็ก เนื่องจากเป็นฉายาของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข (ชื่อเล่นคือ โป้ง) ผู้ก่อตั้งและคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจบปริญญาเอกสาขาการเล่นและการสอนแซกโซโฟนจากมหาวิทยาลัย นอร์ทเทิร์น โคโลราโด สหรัฐอเมริกา

รศ.ดร.สุกรีได้ก่อตั้งวงด็อกเตอร์แซ็ก แชมเบอร์ออร์เคสตรา วงดนตรีเยาวชน เพื่อฝึกฝนความสามารถด้านดนตรีคลาสสิก ตามโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษาของโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2540 โดยมุ่งเน้นให้ผู้เล่นได้รับประสบการณ์แสดงดนตรี และได้รับการฝึกฝนจากอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีการแสดงสดและบันทึกเสียงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้เล่นสามารถนำไปประกอบอาชีพในระดับสากลได้

จักรกฤษ เจริญสุข หรือที่นักเรียนนักศึกษาเรียกติดปากว่า อ.แซ็ก ก็เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกของวง และเป็นหัวหน้ากลุ่มวิโอลาในช่วงที่วงคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดดนตรีนานาชาติ ณ เมืองอินเทอลาเคน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2548

เป็นบุตรชายคนโตของ รศ.ดร.สุกรี และ อริยา เจริญสุข อาจารย์สาขาวิชาธุรกิจดนตรี

เขาเกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2528 เริ่มเรียนไวโอลินตั้งแต่ 8 ขวบ ศึกษาชั้นประถมถึง ม.4 ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปลี่ยนมาเล่นวิโอลาตอนอายุ 15

ม.5-6 ศึกษาที่โครงการหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี ปริญญาตรีศึกษาในสาขาวิชาเครื่องสายสากลและดนตรีแชมเบอร์ (วิโอลา) เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ทุนไปศึกษา ณ โมซาร์เทอุม (Mozarteum University Salzburg) ประเทศออสเตรีย เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นได้ทุนของมหาวิทยาลัยมหิดล ไปศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนอร์เทิร์น โคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา รวม 6 ปี

เนื่องจากพ่อมีคุณูปการต่อวงการเพลงคลาสสิกในประเทศไทย นอกจากก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์แล้ว ยังรวมถึงโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข แน่นอนว่าทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต่างให้การสนับสนุนการเรียนดนตรีแก่ลูกทั้ง 3 คนอย่างเต็มที่ตั้งแต่ยังเด็ก

กมลมาศ (ฟาง) น้องสาวคนรองเริ่มเรียนไวโอลินตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ส่วนน้องสาวคนเล็กอย่างตปาลิน (ซอย) ก็เลือกเรียนเชลโล ทั้ง 3 พี่น้องเป็นเด็กในโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา ที่มีแนวคิดว่า “พรสวรรค์สร้างได้”

อ.แซ็กบอกว่า “ทุกคนเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวกับพ่อแม่ บางคนเกิดมาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ก็มี ผมว่าสังคมที่เขาอยู่ด้วยมากกว่า ที่มีอิทธิพลต่อวิธีคิด”

จากการพูดคุยและรับฟังเรื่องราวต่างๆ ทั้งจาก ดร.แซ็กและคนรอบข้าง เราสัมผัสได้ถึงความถ่อมตัว ความเป็นกันเอง การเป็นคนมีความคิดเป็นของตัวเองทั้งยังเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และเจืออารมณ์ขันอยู่เสมอ

 เป็นคนเข้าใจยาก

ผมเป็นคนเรียนไม่เก่ง เข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอนยาก เวลาดูอาจารย์เขียนบนกระดานแล้วไม่ค่อยเข้าใจ แต่ถ้าหาเอง ทำความเข้าใจด้วยตัวเองจะเข้าใจง่ายกว่า อย่างตอนเด็กชอบเขียนเลข 5 ที่ไม่เว้า ครูอนุบาลก็จะสงสัยว่าทำไมเขียนไม่ได้ บอกแม่ว่าเขียนไม่ได้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าเขียนอะไรผิด ซึ่งก็เป็นแบบนี้มาตลอด จนวันหนึ่งพยายามจะวาดไห ก็วาดเหมือนที่คนอื่นเขียนเลข 5 ตอนนั้นก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนี้นี่เอง

เข้าใจว่าผมเป็นตั้งแต่เด็กแล้ว เป็นคนเข้าใจยาก ซึ่งเมียผมก็จะปวดหัว (หัวเราะ)

ดร.แซ็ก

เริ่มเรียนไวโอลิน แต่ตกหลุมรักวิโอลา

เล่นไวโอลินมาตั้งแต่ 8 ขวบ แต่ไม่ชอบเสียงของไวโอลิน คิดว่าเสียงสรีอีแหลมเกิน เหมือนยุงบินอยู่ข้างหูตลอดเวลา แต่ผมชอบวิโอลา เพราะว่าเสียงลึกกว่าและโอกาสทางอาชีพมากกว่า ไวโอลินโอกาส 100/1 ส่วนวิโอลาโอกาส 20/1 โอกาสที่จะได้เป็นที่รับรู้ เป็นที่รู้จักจะง่ายกว่า ซึ่งแต่ก่อนวิโอลาเป็นเครื่องดนตรีหายาก ไม่มีใครเล่น

การทำในสิ่งที่ไม่ต้องแข่งขันเยอะ ชีวิตก็ดีเหมือนกัน เพราะถ้าแข่งขันเยอะก็ปวดหัว ไม่ได้หาตัวเอง

เปลี่ยนมาเล่นวิโอลาตอนอายุ 15 นอกจากความแตกต่างเรื่องขนาดของเครื่องที่วิโอลาใหญ่กว่า และเสียงลึกกว่า ยังมีเรื่องการอ่านโน้ต เพราะไวโอลินทำให้ชินกับการอ่านโน้ตกุญแจซอล พอเปลี่ยนมาเป็นวิโอลาต้องอ่านกุญแจโด ช่วงแรกคิดว่ายาก แต่ตอนนี้ชินแล้ว ให้กลับไปอ่านแบบกุญแจซอลก็จะงงๆ (หัวเราะ)

โตมากับโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา

ผมเรียนสายวิทย์มาก่อน แต่ไม่ได้ชอบนัก ตอนนั้นเหมือนเป็นค่านิยมสังคมว่าเรียนแล้วดูดี สุดท้ายแล้วผมก็มาเรียนดนตรี ไปทางด้านดนตรี การเล่นดนตรีมันมีความสุขมากกว่า

โครงการพรสวรรค์ศึกษาที่ได้ฝึก เหมือนด้านการทำซ้ำ เรียนเรื่องเกี่ยวกับทักษะ เหมือนเราเรียนเป็นช่างไม้ ยิ่งทำให้ละเอียดเท่าไหร่จะยิ่งดูดี ฉะนั้น การเข้าโครงการนี้มันช่วยให้ผมเป็นผมทุกวันนี้

ที่บ้านสอนมาตั้งแต่เด็ก เข้าใจตั้งแต่เด็ก คุณพ่อให้ฟังดนตรีตั้งแต่เด็ก เป็นการทำซ้ำ ได้ยินซ้ำๆ ที่เปลี่ยนจากความคิดเป็นสัญชาตญาณ ซึ่งการเปลี่ยนความคิดธรรมดาเป็นสัญชาตญาณทำให้เราทำอะไรง่ายขึ้น

จริงๆ การสอนแบบไทยเช่นการท่องสูตรคูณตั้งแต่เด็ก พอไปคุยกับฝรั่งว่า 2 คูณ 3 ได้เท่าไหร่ ฝรั่งจะคิดว่าเป็น 2+2+2 แต่คนไทย 2-3-6 นั่นเพราะให้ท่องจนเป็นนิสัย เกิดเป็นสัญชาตญาณ ฉะนั้น คิดว่าที่ผมเรียนพรสวรรค์ศึกษา ทำให้ผมรู้สึกว่าเกิดการฝึกให้เป็นสัญชาตญาณ แทนที่จะฝึกทางด้านความคิดเฉยๆ แต่พรสวรรค์ศึกษาได้เปลี่ยนจากความคิดให้เป็น

สัญชาตญาณที่ถูกต้องขึ้นมา

เห็นภาพตัวเองชัดขึ้นจากการไปต่างประเทศ

การไปต่างประเทศมันเปลี่ยนชีวิตเยอะนะ อย่างผมตอนอยู่โครงการพรสวรรค์ศึกษา ก็มีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศ ส่วนหนึ่งคือได้ความรู้ แต่ว่าเมื่อเห็นว่าประเทศเขาเป็นอย่างไรเราก็ได้เปรียบเทียบ ว่าเราเป็นอย่างนี้ เขาเป็นอย่างนี้ เราไม่ได้บอกว่าเขาดีกว่าหรือเราดีกว่า แต่เรารู้ข้อแตกต่างของคนทั้ง 2 แล้วทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับเรามากที่สุด ฉะนั้น นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วย อีกอย่างคือการทำซ้ำไปเรื่อยๆ มันทำให้เราพัฒนาความคิดไปเรื่อยๆ

 ไม่ปกปิดจุดด้อย แต่เน้นพัฒนาจุดเด่น

อย่างที่บอกว่าผมเรียนแล้วเป็นคนเข้าใจอะไรยาก รู้ตัวว่าอะไรที่ไม่ถนัดจะไม่อยากทำ บางคนบอกว่า ให้ปิดจุดด้อยตนเองเพื่อให้พัฒนาดีขึ้น คิดว่าจุดด้อย ปิดให้ตายเท่าไหร่ก็ปิดไม่มิด

ผมรู้ว่าผมเก่งเรื่องอะไรแล้วทำตรงนั้นดีกว่า คิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ทำในสิ่งที่ตัวเองเก่งและชอบ มันจะไปไกลกว่า อย่างบางเรื่องที่ผมไม่รู้ผมก็ยอมรับว่าไม่รู้หรือเกมคอร์ด ฮีโร่ ผมชอบทำเกม รู้ว่าพอทำแล้วก็ทำได้เรื่อยๆ อย่างนี้ก็มีความสุข แต่ถ้าทำอะไรที่ไม่ชอบ ก็รู้ตัวว่าคงไม่รอด

จุดมุ่งหวังของการคิดค้นเกมคอร์ด ฮีโร่

ทำแล้วสนุก รู้สึกว่างานวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ตอนนี้อยู่ในห้องสมุดเกือบปียังไม่มีใครอ่านเลย แล้วความรู้คืออะไร? ความรู้คือสิ่งที่คนเข้าถึงได้ เข้าถึงคนได้ อย่างเพลงคลาสสิกถ้าเล่นเพลงไทยคนก็อยากมาฟัง อย่างผมเอาสิ่งที่เข้าถึงยากมาให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น

ตอนจะจบผมเครียดมาก อาเจียนทุกวัน เล่นบอร์ดเกมกับเพื่อนก็หายเครียด อย่าคิดว่าเกมมอมเมาคน อย่างผมทำเกมขึ้นมา เล่นสนุก ได้ความรู้ ใครก็เล่นได้ ผมว่ามัน win-win แล้วงานที่เป็นงานสร้างสรรค์ คนรู้สึกว่าเข้าถึงได้ แทนที่จะเป็นหนังสือให้ฝุ่นกินในห้องสมุด การที่เราทำงานวิจัยที่ไม่มีประโยชน์มันเหมือนหลอกคน ทั้งหลอกตัวเองและหลอกคนอื่น – ความรู้ที่ดีคือความรู้ที่ได้ประโยชน์ แล้วมันต้องเข้าถึงด้วย

ลึกๆ แล้วมันก็เป็นความพยายามของตัวเองด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะไปถึงไหน ตอนที่ได้กล่องแรกมาผมร้องไห้เลยนะ เพราะสิ่งที่เรานั่งเขียนในสมุดมากว่า 200 ชั่วโมง มันออกมาเป็นผลงานได้

เกมที่ผมทำขึ้นเข้าถึงเด็กได้ และเด็กได้ความรู้ ผมว่าคุ้มกว่านะ ที่เสียเวลาเท่ากันแต่คนเข้าถึงได้ ช่วยยืนยันว่าความรู้ที่ดีคือความรู้ให้ประโยชน์กับคนทั่วไปได้ คนที่เข้าถึงได้ เขาจะรู้สึกดีกับความรู้นั้น ถ้าทำเกมแล้วได้ “ความรู้” เป็นผลพลอยได้ ผมว่ามันคุ้มกว่านะ

ดร.แซ็ก

นอกจากได้เกมซึ่งเล่นได้ทั้งคนที่รู้และไม่รู้ดนตรี คิดว่าตัวเองได้อะไร

ไม่ใช่แค่เรียนรู้จากการทำเกมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้จากการทำงาน เรียนรู้กับการเข้าหาคน เรียนรู้กับการพัฒนาคน เรียนรู้กับการทำงานกับผู้อื่น

เมื่อผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วผมก็ดีใจ อย่างในร้านบอร์ดเกมคาเฟ่ เห็นเด็กนั่งเล่นก็มีความสุขนะ แค่นั้นก็หายเหนื่อย จริงๆ สังคมบอร์ดเกมเป็นสังคมที่ดี ผมทำขึ้นมาเขาก็ช่วยสนับสนุน บางคนก็เอาเกมไปรีวิวให้ ทำให้ผมรู้ว่าเราไม่ได้อยู่แค่สังคมดนตรีอย่างเดียวแล้วนะ แต่ตัวนี้ยังสามารถพาเราไปรู้จักสังคมอื่นได้ ฉะนั้น เกมนี้จึงนำพาให้คนมารู้จักดนตรีได้

ผมสนุกกับมันนะ เวลาเห็นเด็กเล่นรู้สึกว่ามันทำได้ อย่างหลานผม 8 ขวบก็รู้ว่าซีเมเจอร์คือ C E G ยิ่งการ์ดเหลือน้อยมันก็บีบให้เด็กคิดนอกกรอบ

 3 พี่น้อง 3 สไตล์ กลายเป็นจุดแข็ง

ผมเล่นวิโอลา น้องฟางเล่นไวโอลิน ส่วนน้องซอยเล่นเชลโล ก็ทะเลาะกันมาตั้งแต่เด็ก (หัวเราะ) แต่พอโตมาทั้ง 3 คนมีแนวคิดที่ต่างกัน ซอยจะเก่งด้านการบรรเลง เป็นโซโลอิสต์ในหลายคอนเสิร์ต ส่วนฟางเก่งด้านการสอนเด็กเล็ก มีความอดทน สามารถหาอุปกรณ์มาสอนเด็ก ทั้งสองคนพื้นฐานทางดนตรีดีมาก

มานั่งคิดว่าแล้วเราล่ะ? ผมชอบคิดนอกกรอบ อย่างผมทำเกมเพราะรู้สึกว่าเกมดนตรีในประเทศนี้ยังไม่มี การเปลี่ยนมาเล่นวิโอลา เพราะชาวบ้านไม่ค่อยเล่น มองว่าจุดเด่นของตัวเองคือ คิดนอกกรอบ ชอบทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ แล้วพยายามตรงนั้น

ตอนนี้ทำโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ อีกแห่งที่พุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งจะเสร็จช่วงต้นปีหน้า ห้องซ้อมมีเยอะขึ้น และการที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์การค้า ทำให้มีสภาพแวดล้อมอีกแบบ เรา 3 พี่น้องอยู่ตรงนั้น ฉะนั้นการเข้าถึงนักดนตรีจะดีขึ้น จะมีห้องซ้อมใหญ่ขึ้น จัดคอนเสิร์ตขึ้นมาได้ง่าย

พ่อกับแม่มีอิทธิพลต่อตัวเองอย่างไร

เรื่องแนวคิด พ่อจะสอนตั้งแต่เด็กคือ ทุกคนเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวกับพ่อแม่ บางคนเกิดมาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ก็มี ผมว่าสังคมที่เขาอยู่ด้วยมากกว่า …ค่อนข้างได้รับแนวคิดจากท่านทั้ง 2 มาเยอะ แต่ไม่ใช่ว่าครอบครัวเราถูก ครอบครัวเขาผิด แค่มองก้อนอิฐคนละมุมแค่นั้นเอง

ได้ความคิดพ่อ เพราะท่านเป็นคนมีวิสัยทัศน์ การมองการณ์ไกล แต่ได้ความละเอียดของแม่ ความมีแบบแผน ซึ่งผมก็มองว่าทั้งการมองการณ์ไกลและการมีแบบแผนนั้นมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ฉะนั้นเราต้องเป็นคนพิจารณา ไม่ใช่ว่ามองการณ์ไกลแต่ไม่มีแบบแผน มันก็ได้แค่ฝัน แต่ถ้าเอาแบบแผน ไม่เอาวิสัยทัศน์ก็มัวแต่แก้

กล้าพูดว่าผมโชคดีกว่าคนอื่นเยอะ ที่ได้แนวคิดหรือสิ่งเหล่านี้ซึ่งจะอยู่กับเราตลอดไป

 ความไม่มี เป็นโอกาสที่สำคัญ

ความไม่มีคือโอกาส สิ่งที่เขายังไม่มีมันจะทำให้เราทำอย่างอื่นได้ อย่างที่มีคนพูดว่าบ้านเราการศึกษาไม่ดี ไม่เจริญ จริงๆ เป็นโอกาสให้เรา ถ้าเราเป็นครู เรามีโอกาสสร้างงานตั้งเยอะตั้งแยะ ตอนที่ผมไปอยู่อเมริกาช่วงที่เรียนปริญญาโท-เอกนาน 6 ปี ประเทศเขาวางระบบดีทุกอย่าง ผมหงุดหงิดมากเพราะสร้างงานยากมากเลย และเขาก็รักระบบเขา มองว่า แง่หนึ่งความเจริญมันถ่วงความเจริญ ความเจริญของสังคมคือการถ่วงความเจริญในการสร้างงาน จึงคิดว่าประเทศเรายังมีช่องว่างอีกหลายอย่างที่เราสามารถพัฒนาได้มากกว่าประเทศตะวันตก และผมก็สนุกที่ได้ทำตรงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image