‘เพราะปีศาจ อยู่ในรายละเอียด’ เปิดมุมใหม่ 6 ตุลา ผ่านม้วนฟิล์มอดีตช่างภาพผู้เป็นประจักษ์พยาน

ผ่านมาเป็นเวลากว่า 46 ปีแล้วกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม ปี 2519 ซึ่งที่ผ่านมามิได้มีพื้นที่ให้พูดถึงและทวงคืนความยุติธรรมอย่างแพร่หลายในสังคมไทยมากนัก

กระทั่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ‘โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา’ หวังที่จะสร้างการรับรู้และแง่คิดถึงความรุนแรงทางการเมืองจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

มีการรวบรวมหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาในทุกๆ ปี อาทิ “ประตูแดง” อันเป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 6 ตุลา, กางเกงยีนส์ของนายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา และลำโพงกระจายเสียงที่มีร่องรอยกระสุนปืนซึ่งถูกนักศึกษาใช้ปราศรัยในเหตุการณ์ 6 ตุลา

และในปีนี้ ทางโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เลือกที่จะเปิดแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาในรูปแบบใหม่ ภายใต้โครงการนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ” ปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด ผ่านหลักฐานม้วนฟิล์มและคำบอกเล่าของอดีตช่างภาพผู้เป็นประจักษ์พยานของเหตุการณ์ล้อมปราบในครั้งนั้น ได้แก่ สมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพสยามรัฐ, ปวิตร โสรจชนะ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์, สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์ และปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพ นสพ.เดลินิวส์

Advertisement

ทั้ง 4 ท่านได้เป็นส่วนหนึ่งของประจักษ์พยานที่ได้พบเห็นความโหดเหี้ยมของอำนาจรัฐ ความแตกตื่นหวาดกลัวของฝูงชน การยุยงปลุกปั่นและการทารุณกรรมที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

โครงการนิทรรศการครั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “ซูมอิน 6 ตุลา สนทนากับช่างภาพ” 2.กิจกรรมนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ” ซึ่งจัดขึ้น ณ แกลเลอรี่ “คินใจ คอนเทมโพรารี” แยกบางพลัด กรุงเทพมหานคร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กดชัตเตอร์ร่ำไห้ ปากคำจาก 4 ช่างภาพ
‘คิดไม่ถึงว่าโหดร้ายได้ขนาดนี้’

สำหรับเสวนา “ซูมอิน 6 ตุลา สนทนากับช่างภาพ” เหล่าช่างภาพร่วมเปิดใจ เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ณ Doc Club & Pub. อาคาร Woof Pack ซอยศาลาแดง 1 บอกเล่าประสบการณ์และสิ่งที่พบเจอในเหตุการณ์ 6 ตุลา ผ่านการเล่ารายละเอียดที่ปรากฏและบริบทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของภาพจากม้วนฟิล์มที่ตนได้ถ่ายไว้

ส่วนหนึ่งในไฮไลต์ มาจากม้วนฟิล์มอันปรากฏให้เห็นภาพของหญิงสาวนุ่งผ้าถุงกำลังนอนพิงอยู่บนหน้าตักของชายผู้หนึ่งในบริเวณสนามหญ้าผลงานของ สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์ ซึ่งได้เล่าถึงเหตุการณ์อันเป็นช่วงเวลาของภาพถ่ายนี้ว่า หลายวันก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลา ภายหลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้เข้าบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร เกิดการประท้วงกันที่บริเวณลานโพธิ์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหล่าช่างภาพสื่อมวลชนจึงได้รับมอบหมายให้ไปบันทึกภาพและสังเกตการณ์ แต่การประท้วงครั้งนั้น ไม่ได้มีเพียงกลุ่มนักศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงกลุ่มภาคประชาชน อาทิ กลุ่มชาวนา กลุ่มแรงงาน กลุ่มสตรีที่เป็นแรงงานในโรงงานเย็บผ้า เนื่องจากในช่วงหลังเหตุการณ์ประท้วงของขบวนการนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2516 เพื่อขับไล่รัฐบาลของจอมพล ถนอม จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการประท้วงเกิดขึ้นอยู่มากมายหลายจุด ทั้งเรื่องค่าแรง ค่าครองชีพ การไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนผลประกอบการประจำปี (โบนัส) และเมื่อเกิดการประท้วงที่ลานโพธิ์ คนเหล่านี้ก็ได้เข้ามาร่วมประท้วงกับเหล่านักศึกษาด้วย จึงเป็นที่มาของภาพถ่ายภาพนี้ อันเป็นหลักฐานชั้นต้นที่แสดงให้เราเห็นว่า เหตุการณ์ 6 ตุลานั้นไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มขบวนการนักศึกษาที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนอีกภาพ เป็นส่วนหนึ่งของม้วนฟิล์มที่ปรากฏภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มมวลชนฝ่ายขวา (กลุ่มขบวนการกระทิงแดง, กลุ่มขบวนการนวพล) ซึ่งกระทำกับผู้ที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพเดลินิวส์ ได้กล่าวถึงเบื้องหลังของภาพถ่ายเหล่านั้นผ่านสิ่งที่ตนประสบพบเจอจากการปฏิบัติหน้าที่ช่างภาพสื่อมวลชนในวันนั้นว่า อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือทารุณกรรมได้ ทำได้เพียงแค่ถ่ายภาพ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แย่มากๆ

“เขาฆ่ากันต่อหน้าเรา วันนั้นคนที่ถูกตำรวจจับออกจากหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่างอยู่ในสภาพที่ถูกทุบตี ตายกันหมดไม่มีเหลือ ตำรวจจับมาก็นำมาให้มวลชนหน้าหอประชุม และก็ทุบตีกันไปตลอดทาง เขาก็เอาเก้าอี้และขวดทุบตีกัน

หลังจากที่เขาเอารถเมล์ชนประตูธรรมศาสตร์เข้าไปแล้ว มวลชนก็ฮือกันไปอยู่หน้าประตู ตำรวจก็เข้าไปค้นในหอประชุมธรรมศาสตร์ และไปคว้าตัวเด็กออกมา พอมาถึงหน้าประตูแล้วมวลชนก็มารุมแย่งตัวไปแล้วก็มาทุบตี ตีไปจนกระทั่งลากหายเข้าไปในสนามหลวง ประมาณ 4-5 คนเหมือนกันหมด” ปรีชาย้อนเล่าอย่างเจ็บปวด พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วตอนที่ถ่ายภาพ ตนก็ร้องไห้ไปด้วย รู้สึกแย่มากเมื่อดูแววตาของแต่ละคน คิดไม่ถึงว่าทำไมคนเราถึงโหดขนาดนี้ พอตามเข้าไปในสนามหลวงบริเวณตรงข้ามศาลฎีกาก็ได้เจอชายผู้หนึ่งกำลังถูกตอกหน้าอก ตนก็ไม่ทราบว่าผู้ที่ถูกตอกนั้นตายหรือยัง ถ่ายได้แค่เพียง 2 ภาพ เพราะไม่กล้าอยู่นาน เพราะไม่แน่ใจว่าผู้ที่มุงดูอยู่นั้นเมื่อเห็นตนแล้วจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จึงรีบสอดกล้องเข้าไปถ่ายได้แค่ 2 ภาพ แล้วออกจากจุดนั้น

เปิดโอกาส‘ตีความ’นอกรูปถ่าย
เหยียบย่างบนกระดาษ เสมือนอยู่ใน‘วันสอบ’

 

 

 

 

ภาพเหล่านี้ ถูกจัดไว้ในคินใจ คอนเทมโพรารี โดยเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการซึ่งมีจำนวน 5 ชั้นด้วยกัน แต่ละชั้นจะทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้มาเยี่ยมชม ประหนึ่งกับว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลา ผ่านสายตาและการรับรู้เสียง

ทุกชั้นมีภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่มาจากม้วนฟิล์มของอดีตช่างภาพประจักษ์พยานทั้ง 4 ท่าน แปะอยู่ตามผนังห้องจัดแสดงในแต่ละชั้น พร้อมกับคำบรรยายภาพที่อธิบายให้เห็นถึงรายละเอียดของภาพ บริบทและสถานที่ของภาพถ่าย อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในภาพ ดั่งคำโปรยของงานนิทรรศการที่ใช้คำว่า “ปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด” (The devil is in the details.) เมื่อเพ่งมองภาพความโหดร้ายต่างๆ โฟกัสที่แต่ละจุดของภาพ จะเห็นรายละเอียดของผู้คน เช่น อารมณ์และการกระทำชั่วขณะนั้น สิ่งของ และอาวุธ

ปีศาจเหล่านี้เปิดโอกาสให้ตีความได้มากกว่ามุมมองของช่างภาพที่ถ่ายทอดออกมา รวมไปถึงวัตถุพยานหลักฐานชั้นต้นต่างๆ อาทิ เอกสารคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการในวันนั้น, สำเนาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ที่ถูกเผยแพร่ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา, ผ้าพันคอของกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน และเลนส์กล้องที่อดีตช่างภาพใช้ในเหตุการณ์วันนั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการได้สัมผัสประสบการณ์ดั่งตัวเองได้ร่วมสัมผัสและเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ของวันดังกล่าวผ่านสายตาของผู้เข้าชม

บริเวณชั้น 3 ของนิทรรศการ นอกจากที่จะมีภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา จัดแสดงอยู่ตามบริเวณฝาผนังแล้ว ยังมีการโปรยแผ่นกระดาษทั่วทั้งพื้นห้องจัดแสดง จากการสอบถามหนึ่งในทีมงานของนิทรรศการ แผ่นกระดาษเหล่านี้ต้องการจะสะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลาของเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ตรงกับช่วงสอบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เหตุการณ์ในวันนั้นเต็มไปด้วยกระดาษจากห้องสอบปลิวว่อนกระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด ทางนิทรรศการจึงต้องการให้ผู้เข้าชมสัมผัสประสบการณ์ด้วยการเหยียบสัมผัสและรับรู้เสียงแผ่นกระดาษที่ตกอยู่บนพื้น เพื่อให้เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา นอกจากนี้ ในบริเวณชั้น 4 ของนิทรรศการ ได้มีการฉายสารคดีที่ประกอบไปด้วยภาพถ่ายและเสียงคำบอกเล่าของอดีตช่างภาพและประจักษ์พยานคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการได้รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ที่เป็นพยานของการกระทำอันโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ผ่านถ้อยเสียงคำบอกเล่าดังกล่าว

สาธิตให้ตั้งคําถาม ส่องหารายละเอียด
สืบค้นข้อมูลจากสิ่งที่เห็น

 

 

 

 

 

สุภาภรณ์ อัษฎมงคล ผู้ประสานงานนิทรรศการ กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดนิทรรศการครั้งนี้ว่า อยากให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงความรุนแรงทางการเมืองในสังคมไทย แม้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาจะผ่านมา 46 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีมิติหลายๆ ด้านที่คนรุ่นใหม่สามารถที่จะเรียนรู้และศึกษาจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ นอกจากการศึกษาว่าใครเป็นผู้สั่งการให้เกิดการล้อมปราบเหตุการณ์ชุมนุมในธรรมศาสตร์ เพื่อทวงถามถึงความยุติธรรม แต่นิทรรศการครั้งนี้เป็นเหมือนการสาธิตให้เกิดการตั้งคําถาม ส่องหารายละเอียด และสืบค้นข้อมูลจากสิ่งที่ได้พบ นั่นคือ ฟิล์มภาพถ่ายในเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อน

“เราคิดว่าเวลาที่เราพูดถึงประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลา สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ไม่ค่อยเป็นที่ถูกเผยแพร่และเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ในระยะหลังที่มีการชุมนุมของเยาวชนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการหันไปเรียนรู้เรื่องเหล่านี้มากขึ้น แต่อะไรที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ ยังมีค่อนข้างน้อย ทางโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา จึงเล็งเห็นความสำคัญในการที่จะรวบรวมวัตถุทางประวัติศาสตร์ สําหรับปีนี้ เราได้รับฟิล์มต้นฉบับมาทําสําเนา จํานวน 14 ม้วน

ตอนแรกที่เราได้รับมาก็ไม่ได้คิดที่จะจัดนิทรรศการ แต่เมื่อเราได้ขยายภาพดูแล้วพบเห็นรายละเอียดต่างๆ ด้วยการประสานงานกันของทีมงานทําให้ฟิล์มที่เราได้รับมามีความชัดขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นเรื่องราว ‘ปีศาจอยู่ในรายละเอียด’ เพราะเมื่อเราขยายภาพก็ได้เห็นรายละเอียดที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนั้นมากขึ้น” สุภาภรณ์กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ” รับชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 13 พฤศจิกายน (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 11.00 น. ถึง 21.00 น. ณ แกลเลอรี่ “คินใจ คอนเทมโพรารี” แยกบางพลัด กรุงเทพมหานคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image