อุณหภูมิ (ร้อน) เดือนตุลา จากรำลึกสู่วิวาทะ กลางขบวน ‘ประชาธิปไตย’

วันนี้ครบรอบ 49 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เป็นช่วงเวลาที่พ้นผ่านจากวาระครบรอบ 46 ปี 6 ตุลา 2519 เพียงราว 1 สัปดาห์

ทว่า หมอกควันจาก “วิวาทะ” ของฟากฝั่งประชาธิปไตย ยังไม่จาง

เป็นอุณหภูมิร้อนปลายฤดูฝนของคนร่วมอุดมการณ์

Advertisement

หลังเกิดเหตุกลางงานรำลึก 6 ตุลา “หวังว่าเสียงลมจะพาล่องไป” ณ ลานคนเมือง เสาชิงช้า ในวันฝนพรำ เมื่อกลุ่มนักกิจกรรมนำป้ายรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 และจำลองการทำร้ายนักศึกษามาแสดง แต่ถูกทางเวทีประกาศให้เอาป้ายลง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีการแสดงต่อ ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมฟังดนตรีไม่พอใจ ตะโกนให้เอาป้ายลง ทั้งยังกระชากแขนผู้ชูป้าย

สุดท้าย นักกิจกรรมต้องขยับออกมาชูป้ายยืนเรียงแถวนอกรั้วเหล็กขนานไปกับพื้นที่หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หันข้อความประจันหน้ากับเวทีการแสดงที่มีเสียงดนตรีขับกล่อม

⦁ลาก่อน…เพื่อนร่วมสู้
แถลงร้อน ‘เพลงกลบศพ’ คืนรางวัล ‘จารุพงษ์’

Advertisement

“ใครตาย ไม่สน จะดูคอนเสิร์ต” คือหนึ่งในถ้อยคำที่อ้างกันว่ามีผู้ตะโกนก้อง จนสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ตั้งใจร่วมรำลึก ก่อเกิดคำถามตามมาถึง “รูปแบบงาน” ซึ่งมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย บ้างก็ว่าดูคล้ายกลายเป็นอีเวนต์ “ฉลอง” มากกว่า ระลึกถึงโศกนาฏกรรม บ้างก็ว่า เป็นการขยายฐานสู่คนอีกกลุ่มอีกรุ่นใหม่ (ที่ใหม่กว่าเดิม) โดยใช้ดนตรีสื่อสาร แล้วสอดแทรกด้วยศิลปะอีกทั้งสารคดีอันมีเนื้อหาเข้มข้น

ไม่ว่าเหตุและผลจะเป็นเช่นไร ที่แน่ๆ เหตุการณ์นี้ สร้างแรงกระเพื่อมที่ชัดเจนในขบวนการประชาธิปไตย ผู้มีบทบาทในแฟลชม็อบคนรุ่นใหม่ในยุครุ่งโรจน์ประกาศ “ลาก่อน เพื่อนร่วมสู้” ผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีทั้งผู้คอมเมนต์ให้กำลังใจ และตรงกันข้าม

นักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักบางรายดีดตัวเองออกจาก “ไลน์กรุ๊ป” ที่สื่อสารกับสื่อมวลชน

ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในแกนนำม็อบอย่าง ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก ประกาศคืน “รางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์” ที่ตัวเองได้รับเมื่อปี 2563 จากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังสภาดังกล่าวออกแถลงการณ์เผ็ดร้อน “เพลงกลบศพ” เนื่องด้วยเป็นหนึ่งในทีมผู้จัดงาน ซึ่งปรากฏตามโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ว่าจัดโดยกลุ่ม October to Remember และศิลปะปลดแอก

แถลงการณ์ดังกล่าว มีเนื้อหา ประณามการกระทำดังกล่าว นอกจากนี้ ยังชี้ว่าการกระทำของผู้จัด เปรียบเสมือนการโหนศพวีรชนที่ได้สละชีวิตตัวเองในเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งยังทำให้จุดประสงค์และจิตวิญญาณของเหตุการณ์ 6 ตุลาถูกบิดเบือนไป จึงไม่อาจยอมรับได้ ทั้งยังหยิบยกวาทะนักเขียนนักต่อสู้ผู้ล่วงลับ อย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร มาทิ้งท้าย

ความว่า

“…รำลึกไป ได้แค่ งานเช็งเม้ง
ร้องบรรเลง เพลงกวี ไม่มีความหมาย…”

นับเป็นหนึ่งในหลายเหตุการณ์ที่แม้แต่ฝ่ายไม่เอาเผด็จการก็หยิบมายั่วล้อในทำนองว่า “ดราม่ามีได้ทุกอีเวนต์ สมเป็นฝ่ายประชาธิปไตย”

⦁ขอโทษ ‘สื่อสารผิดพลาด’ กระทบกระทั่ง ปมสั่ง ‘เอาป้ายลง’

จากเหตุดังกล่าว เพจ October to remember เผยแพร่แถลงการณ์ในฐานะผู้จัด โดย “ขอโทษ” และชี้แจงว่าอนุญาตให้ถือป้ายรณรรงค์ได้ ยืนยันว่าเคารพสิทธิ ไร้เจตนาหวงห้าม แต่เมื่อเริ่มเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างนักกิจกรรมและผู้ร่วมงานคอนเสิร์ต จึงขอให้ลดป้ายลง เนื่องจากยึดความปลอดภัยเป็นสำคัญ

“ทางเรามีการอนุญาตให้ถือป้ายเป็นเวลานานและมีความพยายามจัดสถานที่ในการชูป้ายที่ไม่รบกวนผู้อื่นให้ แต่เนื่องจากทีมงานเห็นว่าเริ่มมีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ถือป้ายและผู้เข้าร่วมงานจนอาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้ จึงถือเอาความปลอดภัยของทุกคนเป็นสำคัญและเข้าไปขอให้มีการลดป้าย”

ข้อความในแถลงการณ์ระบุ

ส่วนประเด็นที่อ้างถึงวงดังอย่าง “ไททศมิตร” และ “ค็อกเทล” ว่าจะไม่ขึ้นเล่นหากยังมีการชูป้าย ว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดของผู้จัดเอง เนื่องจากวงดังกล่าวมีงานที่จำเป็นต้องไปแสดงต่อ ทำให้ไม่สามารถหยุดเวทีได้เป็นเวลานาน ทำให้เข้าใจผิดว่าวงไม่ต้องการเล่น ซึ่งผู้จัดได้กล่าวขออภัยศิลปิน ค่ายเพลงและแฟนเพลง

ด้าน จ๋าย ไททศมิตร ใช้โซเชียลมีเดียส่วนตัวยืนยันว่า เพดานสูงกว่านี้ก็พูดมาตลอด ไม่ได้ห้ามเอาป้ายรณรงค์ลงแน่นอน ต่อให้มีหรือไม่มีป้าย ก็ขึ้นเล่น เช่นเดียวกับ โอม ค็อกเทล ทวีตข้อความว่า

“สำหรับงานในวันนี้, ตามที่จ๋ายพูดครับ เราทั้งสองวงรับที่จะมาแสดงในงาน เรารู้บริบท ยังไงเราก็ขึ้นเล่นครับ ไม่มีทางที่เราจะไม่ขึ้นเวทีเด็ดขาดครับ”

อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้าไปสอบถามว่า แล้วคิดอย่างไรจึงไปร้องเพลง “คุกเข่า” ในงานรำลึกคนตาย ?

โอม ตอบว่า

“ตามที่ผมพูดบนเวทีในงาน เราทั้งสองวงเลือกเล่นเพลงที่มีความหมาย คือ ปรารถนาสิ่งใดฤา กาลเวลาพิสูจน์คน ยุติธรรม และ 5 ตุลา และอีกส่วนเลือกเพลงที่ไม่มีความหมาย hello mama และคุกเข่า โดยคิดว่าอยากส่งแรงผ่อนคลายให้ต่อสู้กันต่อไป ซึ่งผมและทีมไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทางความคิดพอ ขออภัยครับ”

ครั้นเมื่อย้อนกลับไปในงานคืนนั้น ยังมีช่วงที่ โอม ขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมยืนสงบนิ่งไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นเวลา 1 นาที ส่งผลให้ลานคนเมืองเงียบเสียงลงชั่วขณะ

ต่อมา โอม ยังกล่าวถึงประเด็นการสร้างสังคมที่เป็นธรรม อย่าให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นอีก ทั้งยังย้ำว่า เชื่อในวันพรุ่งนี้ ชีวิตเป็นของเรา อย่าให้ใครมาเลือกให้ เพราะนี่คือเสรีภาพ และอิสรภาพของตัวเอง

⦁‘บกพร่องทั้ง 2 ฝ่าย’? เข้าใจผู้จัด เห็นใจคนชูป้าย

ด้าน ตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมและผู้ต้องหามาตรา 112 เล่าเหตุการณ์ในสายตาตัวเองที่ประสบในวันดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กว่า ตอนที่พวกตนชูป้ายและหุ่นในงาน มีการ์ดของงานคอนเสิร์ตเดินเข้ามาคุยจริงๆ แต่เหตุผลที่ให้ ยิ่งทำให้ “ไม่เข้าใจ” นั่นคือ “มีเจ้าหน้าที่กดดันมา” และขอให้เอาป้ายลง ถ้าไม่เอาลงคอนเสิร์ตจะจัดต่อไม่ได้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ขอแสดงความเคารพนับถือ คนที่ยืนหยัดข้อเรียกร้องนี้ท่ามกลางแรงเสียดทานทุกทางอย่างไม่หวาดหวั่น และขอแสดงความเห็นใจเข้าใจคนจัดงานที่ทุ่มเทเตรียมงานอย่างหนักมาหลายเดือน จนกระทั่งผ่านไปแบบ “มีดราม่าติดค้าง”

ในขณะที่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอบคำถามหลังร่วมกิจกรรม “รถไฟฟ้าสายสีดำ” ซึ่งจัดโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ความจริงแล้วงาน 6 ตุลา 2519 นั้นเป็นงานที่ถูกตีความและถูกนำไปพูดในหลายความหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะท้ายที่สุดประเด็นแรกที่เราพูดถึงกันคือการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่มีการสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่การที่มีหลายกลุ่มนำไปขยาย เช่น การนำศิลปะหลายอย่างเข้ามาเพื่อเป็นการจูงใจให้คนได้รับรู้ และเข้าถึงประเด็นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะทำ ทำให้คนเข้าถึงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลับกลายเป็นประเด็นความขัดแย้ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

“สังคมไทยเรานั้นหากเราพูดกันอย่างไม่หลงอยู่ในอัลกอริทึมของตัวเอง ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ได้สนใจประเด็นทางการเมืองมากนัก ดังนั้น การนำศิลปะหลายอย่างเข้ามาเพื่อเป็นการจูงใจให้คนได้รับรู้และเข้าถึงประเด็นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะทำ ทำให้คนเข้าถึงมากขึ้น แต่ก็กลายเป็นประเด็นความขัดแย้ง

ความเห็นผมในเรื่องนั้น โดยเฉพาะเรื่องการถือป้ายมันไม่ใช่ประเด็นเรื่องเกี่ยวกับ 112 แล้ว เพราะในงานก็ไม่มีใครปิดปากว่าประเด็น 112 มันพูดถึงไม่ได้ ปัญหาคือ ในฐานะที่เราเป็นนักเคลื่อนไหว บางทีต้องเข้าใจว่าคนหน้างานต้องจัดการ ควบคุมสถานการณ์ในหลายๆ เรื่อง มันไม่ใช่กิจกรรมการแสดงออกแบบแฟลชม็อบ หรือเชิงสัญลักษณ์ทั่วไป

บางครั้งคนจัดงานต้องมีการเตรียมการ ประสานงานหลายทิศทาง ก็ต้องเข้าใจเขาด้วย หลายคนอาจจะมองว่าผู้จัดงาน 6 ตุลาที่หน้าศาลาว่าการ กทม.มีการแสดงออกที่รุนแรงเกินไปในบางประเด็น แต่ในแง่หนึ่งก็ต้องเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าคุณเข้าไปขัดจังหวะบางอย่างคนต้องไม่พอใจอยู่แล้ว มันไม่เกี่ยวว่าจะเป็นประเด็นเรื่องอะไร คนเราถ้าเจออะไรที่มันเกินจากเหตุการณ์ อารมณ์มันก็ต้องมีอยู่แล้ว อย่างการดีเบตเรื่อง 112 ซึ่งมันไม่เกี่ยว มันเกี่ยวที่ว่าผู้จัดงานจะรับมืออย่างไร เขาก็ต้องมีแผนการรับมือกับฝ่ายนักกิจกรรมไม่ให้การจัดการงานระดับใหญ่อย่างนั้นมีปัญหา” จ่านิว สิรวิชญ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่า หากอยากให้คนอื่นเข้าใจเรา เราก็ต้องเข้าใจคนอื่นด้วย ส่วนตัวคิดว่าบกพร่องทั้ง 2 ฝ่าย

“อันนี้พูดไปก็กลัวโดนทัวร์ลง แต่ผมว่าเราต้องแยกประเด็นให้ออก ผมคิดว่ามีความบกพร่องทั้งสองฝ่าย แต่บางอย่างก็ต้องเข้าใจเขาว่าเขาไม่ได้ห้ามในการแสดงออก เพียงแต่ว่าบางอย่างต้องมีการจัดการดูแล ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความคิดความเห็นแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมไม่อยากให้กลายเป็นว่าเอาประเด็น 112 ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นประเด็นที่หนัก มันทำได้ แต่ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน” จ่านิวทิ้งท้าย

⦁ขบวนประชาธิปไตยกระทบกระทั่ง ‘ปกติ’
อย่าขยายเป็นเรื่องใหญ่ ติงได้ในฐานะเพื่อนร่วมสู้

ในประเด็นเดียวกันนี้ เมื่อจ่อไมค์ถาม บก.ลายจุด ได้คำตอบว่า ผู้ที่สนใจในทางการเมืองมีความหลากหลายมาก การกระทบกระทั่งเป็นเรื่องปกติ ต้องยึดเป้าหมายเป็นหลัก ขอให้มีวัฒนธรรมกัลยาณมิตร หากแตกแยก โอกาสถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ย่อมเป็นไปได้ยาก

“การกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องปกติ หนึ่ง ขอให้มีวัฒนธรรมกัลยาณมิตร การทักกันการเตือนกันเป็นความจำเป็น แต่เราต้องหาวิธีการทักกัน เตือนกันในฐานะกัลยาณมิตร ประการที่ 2 หากเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผมคิดว่านักประชาธิปไตยควรรับฟัง ที่สำคัญคือ การให้อภัยกัน ไม่ขยายเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ แต่เรื่องที่ต้องบอกกล่าวกัน ต้องมีพื้นที่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สาธารณะ อาจจะเป็นการบอกกล่าวกันในพื้นที่ปิด เปิดอกคุยกัน
ให้เรารักษาบรรยากาศของเสรีภาพ เสนอความคิดกัน โต้แย้งกัน ในหมู่ของเราต้องรักษาขบวนด้วย ปกติผมจะมีแต้มต่อให้พิเศษ เวลาเพื่อนที่ต่อสู้ด้วยกัน เวลาเกิดผมเห็นต่างจากเขา ผมจะอ่อนให้ 1 สเต็ป เพื่อเป็นการให้เกียรติเพื่อนที่ร่วมกันต่อสู้ เพื่อเป็นการรักษาขบวน” บก.ลายจุดกล่าว พร้อมย้ำว่า

การแตกแยกกันโอกาสที่จะไปสู่เป้าหมายยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image