‘ชาติ’ บนความหลากหลาย อินโดนีเซีย ‘ร่วมสมัย’ ใน Bridge of Colors

‘ชาติ’บนความหลากหลาย อินโดนีเซีย‘ร่วมสมัย’ ใน Bridge of Colors

ศิลปะ นับเป็นวิธีการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาตินั้นๆ ได้อย่างไร้พรมแดน สามารถหล่อหลอมให้เกิดความรู้สึกรับรู้ร่วมกันได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ตกผลึกกลายเป็นความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และอัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละท้องที่ สร้างสายสัมพันธ์ที่เชื่อมผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน

ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเปิดนิทรรศการ Bridge of Colors หรือสะพานแห่งสีสัน ร่วมกับกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือหอศิลป์ เจ้าฟ้าเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 77 ปี วันชาติสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ถ่ายทอดความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และสีสันจากอดีตกาลสู่ยุคร่วมสมัยที่หลอมรวมเป็น ‘ชาติ’ ในวันนี้

ผ่านงานจิตรกรรมด้วยเทคนิคสร้างสรรค์เฉพาะตัวของศิลปินชาวอินโดนีเซียทั้ง 11 คน ได้แก่ Bambang Heru Sunarko (Bambang Herrras), Erica Hestu Wahyuni, Galuh Taji Malela, Gatot Pujiarto, Hari Budiono, Jumaldi Alfi, Nasirun, Putu Sutawijaya, Rendra Santana, Dr.Tisna Sanjaya M.Sch. และ Zico Al Baiquni

Advertisement

ถ่ายทอดหัวใจสู่ผลงาน
สื่อสารสัมพันธ์ ‘อินโด-ไทย’

ระห์หมัด บูดีมัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ที่กำลังสะบัดพู่กันวาดภาพบนผ้าแคนวาส เนื่องด้วยเคยเป็นศิลปินตัวจริง กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดกิจกรรม “Trade, Tourism, Investment and Cultural Forum (TTICF)” ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการส่งเสริมและความร่วมมือระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย โดยเฉพาะในสนามการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านความร่วมมือทางวัฒนธรรม

นับเป็นนิทรรศการครั้งแรกหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ท่านทูตเผยว่า ไม่ใช่เพียงรู้สึกยินดีอย่างยิ่ง แต่คาดหวังว่าผลงานศิลปะเหล่านี้จะช่วยสื่อสารกับคนไทยให้สัมผัสและเข้าใจในวิถีชีวิต อีกทั้งวัฒนธรรมของชาวอินโดนีเซีย

Advertisement

“ศิลปะเป็นวิธีการหนึ่งสำหรับการเชื่อมสัมพันธ์ของผู้คนและแนวคิดระหว่างคนทั้ง 2 ชาติ ผมอยากเชิญคนไทยทุกคนมาเยี่ยมชมและเพลิดเพลินไปกับงานแสดงศิลปะที่มีสไตล์หลากหลาย เราหวังว่าคนไทยจะเข้าใจชีวิตและเรื่องเล่าของศิลปิน การเข้าใจถึงจิตใจ ย่อมเข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวอินโดนีเซีย ศิลปินก็เสมือนเป็นผู้สื่อข่าวที่ถ่ายทอดถึงหัวใจของผลงานของพวกเขา” ท่านทูตกล่าว

(จากซ้าย) นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, สถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร, อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, Erica Hestu Wahyuni ศิลปินชาวอินโดนีเซีย และระห์หมัด บูดีมัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

ความร่วมมือ 2 ชาติ
บนมิติวัฒนธรรม (ร่วม) อาเซียน

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เล่าถึงที่มาและความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศที่เคยจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องว่า อินโดนีเซียเป็นสมาชิกอาเซียน ทั้งยังเป็นเพื่อนบ้านกับไทยที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน มี ‘วัฒนธรรมร่วม’ ที่น่าสนใจ ดังเช่น รามเกียรติ์ ซึ่งต่างรับอิทธิพลจากภายนอกแล้วปรับเปลี่ยนจนมีอัตลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งอินโดนีเซียและไทยเคยจัดการแสดงร่วมกันแม้กระทั่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการถ่ายทอดจากประเทศอินโดนีเซียและถ่ายทำจากประเทศไทยที่โรงละครแห่งชาติ

ส่วนนิทรรศการครั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยจัดขึ้นโดยนำผลงานจากศิลปิน 11 ราย รวม 53 ผลงานจากจังหวัดต่างๆ มานำเสนอให้ชมกันถึงเมืองไทย นับเป็นความร่วมมือด้านวัฒนธรรมที่กระทรวงวัฒนธรรมยินดีให้การสนับสนุน

“อินโดนีเซียมีความหลากหลายในมิติวัฒนธรรม เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ภาพวาดในมุมมองของชาวอินโดนีเซียที่นำมาจัดแสดงสื่อมุมมองของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ปรัชญาทางศาสนาในอดีต เรื่องราวของชีวิต สีสันและความเจริญรุ่งเรือง” เจ้ากระทรวงวัฒนธรรมกล่าว ก่อนไปถึงประเด็นที่นอกเหนือจากสุนทรียะ นั่นคือการต่อยอดสู่มูลค่าจากการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยก็มีการส่งออกทางวัฒนธรรมไปยังนานาชาติเช่นกัน ทั้งในรูปแบบของดนตรีและศิลปะการแสดง อาทิ เทศกาลศิลปะนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ ที่กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี

ชุดภาพ Anoman Duta (Ambassador Anoman) โดย Putu Sutawijaya
Dharma โดย Bambang Herras
Dasamuka โดย Hari Budiono

เทคนิคร่วมสมัย สอดไส้อัตลักษณ์
จากดินแดนแห่งความหลากหลาย

ด้าน นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กล่าวในมุมมองด้านงานศิลป์ว่า นิทรรศการครั้งนี้สะท้อนถึงความหลากหลายสไตล์ของศิลปินร่วมสมัยที่ถ่ายทอดความคิด วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวอินโดนีเซียได้อย่างดียิ่ง

“อินโดนีเซียถือเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความก้าวหน้าในเรื่องงานศิลปะร่วมสมัย ทั้งยังมีความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยเทคนิคที่เรียนรู้จากตะวันตก แต่สอดไส้ความรู้สึก ความคิด ปรัชญาและการสะท้อนสังคมอินโดนีเซียปัจจุบันผ่านภาพที่หลากหลายสไตล์และเทคนิค ทั้ง แนวเรียลลิสติก
คอลลาจ กราฟฟิก สื่อสารผ่านงานแต่ละชิ้นได้อย่างน่าสนใจ”

ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังถอดรหัสงานศิลปะของศิลปินแต่ละราย อาทิ ภาพสตรี 4 ภาพของแต่ละเมืองในอินโดนีเซีย ซึ่งมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่าง เนื่องจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ผลงานของ ของ Rendra Santana

ชุดภาพ Imaji Bidadari (Angel Imagination) โดย Nasirun

ส่วนภาพของ Nasirun ซึ่งใช้คำว่า Angel Imagination สื่อถึงทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงที่มีเกียรติบนความหลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงมุมคิดของคนอินโดนีเซียในการให้ความสำคัญผู้หญิงซึ่งเปรียบเสมือนนางฟ้า

 

ขณะที่ภาพของ Erica Hestu Wahyuni ใช้คำว่าดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งใช้สีสันอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังใส่รูปช้างเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารกับคนไทยด้วย

นิตยา เผยด้วยว่า ศิลปินชาวอินโดนีเซียที่จัดแสดงผลงานในครั้งนี้ ได้เข้ามาพำนักในไทยเป็นเวลา 1 เดือน โดยจะทำงานร่วมกับ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินสีน้ำชื่อดังและครูศิลปะนานาชาติ อีกทั้งได้ร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปกับนักเรียนนักศึกษาศิลปะและนักเรียนชาวอินโดนีเซียในประเทศไทย โดยผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นที่นี่ จะนำกลับไปแสดงยังประเทศอินโดนีเซียต่อไป นับเป็นอีกความร่วมมือเชิงวัฒนธรรมผ่านศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาคอาเซียนที่ไม่อาจตัดขาดจากกันได้

“คิดว่าทุกวันนี้ศิลปินไทยก็ก้าวหน้า ไปทำงานในยุโรปและโลกตะวันตกเป็นจำนวนมาก ได้แสดงผลงานเยอะ ภูมิภาคอาเซียนก็กำลังจับมือรวมกันเป็นหนึ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่โลก แม้แยกประเทศ แต่ในเชิงวัฒนธรรม เราตัดกันไม่ขาด ยังคงมีกลิ่นอายซึ่งกันและกัน ศิลปะร่วมสมัยก็เช่นเดียวกัน” ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกล่าว

นับเป็นอีกนิทรรศการที่ห้ามพลาดชม ในช่วงเวลาที่ความหลากหลายไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม หากแต่เป็นความงดงามอย่างน่าอัศจรรย์

ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย


นิทรรศการพิเศษ Bridge of Colors

ณ ห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน 6 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป เจ้าฟ้า)
ถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ตุลาคม
ระหว่างวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. หยุดวันจันทร์และอังคาร
ค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0-2281-2224
www.finearts.go.th/museumnationalgallery
เฟซบุ๊ก : The National Gallery of Thailand

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image