อาศรมมิวสิก : เสนอโครงสร้างใหม่ สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง ด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เสนอโครงสร้างใหม่

สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง

ด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ลงนามหนังสือที่ 125/2565 แต่งตั้งคณะกรรมการให้จัดทำข้อเสนอเพื่อจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีหน้าที่จัดทำร่างกฎหมาย เสนอข้อแนะนำ หาหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วรายงานผลต่อรัฐมนตรี ถือเป็นนโยบายสำคัญของงานศิลปะ สุนทรียะ และอารยะ

Advertisement

ความจริงสถาบันการศึกษาเฉพาะทางในสถาบันอุดมศึกษาไทยมีอยู่แล้ว เพียงแต่โครงสร้างและการบริหารจัดการในสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้สร้างคุณภาพ ไม่มีความชัดเจนในหน้าที่การทำงานและการบริหารบุคคล โดยเฉพาะเรื่องของคนที่มีความรู้อาชีพเฉพาะทาง

ประเด็นของค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม ทำให้บุคลากรวิ่งเต้นกันมั่ว โดยไม่มีใครรู้หน้าที่ของตัวเองที่แท้จริง เพราะว่าอัตราเงินเดือนมีใช้อยู่ช่องเดียว ตั้งแต่เสมียนยันผู้บริหารสูงสุด อยู่ในลู่วิ่งเงินเดือนเดียวกัน ความเป็นเฉพาะทางและมืออาชีพก็ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ ขาดความภูมิใจในอาชีพที่มีความเป็นเฉพาะทาง

โครงสร้างของสถาบันอุดมศึกษามีบุคลากรอยู่ 2 ประเภท คือ ฝ่ายสนับสนุนที่มีผู้บริหาร มีฝ่ายธุรการ เสมียน เลขานุการ หน้าห้อง ผู้ติดตาม นักวิชาการ นักวิจัย อีกฝ่ายทำหน้าที่เป็นผู้สอน มีอาจารย์ ผู้ช่วยอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ แต่ละฝ่ายก็มีเงินเดือนตั้งแต่แรกรับตามวุฒิ ไต่เต้าขึ้นไป ถ้าหากว่าบุคลากรอยู่มานานก็สามารถจะปีนสายกันได้ เพราะทุกคนต้องการปีนสายไปหาขั้วอำนาจ

Advertisement

มีสายพันทางเกิดขึ้น สายนี้ไม่อยู่ในระบบอาชีพแต่เป็นระบบเส้นสาย เมื่อฝ่ายเสมียนอยากเป็นใหญ่ ทุกคนอยากได้ตำแหน่งผู้บริหาร เพราะผู้บริหารมีอำนาจสั่งการและจัดการได้ตามที่ต้องการ ดังนั้น การเข้าสู่ตำแหน่งและการประเมินก็ใช้วิธีพวกมากลากไป ใครมีพวกมากกว่าผู้นั้นก็ได้เป็นผู้บริหาร ทั้งนี้ ต้องอาศัยนิติบริกรช่วยเขียนนวนิยายให้ไพเราะสวยงาม

สายพันทางเป็นความล้มเหลวในการบริหารอุดมศึกษา ความล้มเหลวอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักการ เกิดมีอาชีพอธิการบดี อาชีพผู้บริหาร อาชีพกรรมการสภา เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยใช้สถาบันและการศึกษาเป็นข้ออ้าง

ความล้มเหลวของสายพันทางก็คือ บุคลากรที่ไม่ได้ทำงานเพื่อรักษาคุณภาพ กระโดดข้ามสายพันทาง เสมียนวิ่งเป็นผู้บริหาร ศาสตราจารย์อยากเป็นอธิการบดี จับกังไปเป็นผู้จัดการ เลขาคุมการเงิน ประชาสัมพันธ์ไปทำงานบุคคล แต่ละคนที่ได้ตำแหน่งไม่มีความรู้ในหน้าที่ แต่สามารถเอื้ออำนวยความต้องการของผู้บริหาร

ฝ่ายนโยบายที่เป็นกรรมการสภาเป็นพวกเดียวกัน คือเป็นพวกที่ไม่มีงานทำ เกษียณและแก่แล้ว ว้าเหว่อยากมีเพื่อนหาเบี้ยประชุม พวกดึงให้เป็นกรรมการสภา บางคนก็ต้องการหน้าตาที่ดูดีในสังคม กรรมการสภากลายเป็นกลุ่มบำบัด (Group Therapy) ผลัดกันเกาหลังและเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น

ผู้บริหารและกรรมการสภามีอาชีพประชุม ประชุมทั้งวัน ประชุมทุกวัน เนื้อหาคือรายงานการประชุม แก้ไขและรับรองการประชุม แล้วก็นัดประชุมครั้งต่อไป โดยที่ไม่มีใครลงมือไปทำงาน แต่ทุกคนได้เบี้ยประชุม

ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในช่วง 20 ปี มีหลักสูตรวิชาเครือข่าย หลักสูตรอุปถัมภ์ หลักสูตรดื่มไวน์ตีกอล์ฟ หลักสูตรร้องเพลง หลักสูตรสังสรรค์ หลักสูตรดูงานกินเที่ยวช้อป เพื่อจะสร้างเครือข่ายใช้พวกพ้องที่เอื้อต่อกัน ใครจะเป็นผู้บริหารก็ต้องผ่านหลักสูตรเหล่านี้ จึงจะมีคุณสมบัติครบ

วันนี้อุดมศึกษามาถึงทางตันคือไม่มีคุณภาพ ฝ่ายนโยบายต้องการแก้ปัญหาโดยจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ จึงถือโอกาสนี้นำเสนอโครงสร้างต่อฝ่ายนโยบายสถาบันเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเสนอให้แบ่งบุคลากรเป็น 4 สาย แต่ละสายมีบุคคลที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ทับเส้นกัน
จ้างงานโดยให้เงินเดือนเฉพาะตัว ตามความรู้ความสามารถและตามความต้องการ มีเงินเดือนที่ตกลงกัน (ม้วนใส่กระดาษให้กรรมการ) ซึ่งทุกตำแหน่งสามารถเติบโตในหน้าที่ได้สูงสุดทุกตำแหน่ง ดังนี้

สายที่หนึ่ง เป็นสายธุรการ เสมียน เลขานุการ หน้าห้อง ผู้ติดตาม โดยมีค่าตอบแทนตามหน้าที่และมีความรู้ความสามารถตามที่องค์กรกำหนด เป็นทั้งฝ่ายแรงงานและผู้ที่มีความชำนาญ จ้างในอัตราที่พอใจซึ่งกันและกัน มีสวัสดิการที่เหมาะสม เป็นอาชีพในตำแหน่งที่ภูมิใจและมีเกียรติเชื่อถือได้

สายที่สอง เป็นฝ่ายบริหาร อธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ มีเงินเดือนในราคาธุรกิจ เป็นพวกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง อาคารสถานที่ สาธารณูปโภค การเงินการคลัง ฝ่ายบุคคล ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ฝ่ายบริหารจัดการซึ่งต้องตัดสินใจและนำสถาบันไปสู่ความเจริญ

สายที่สาม ผู้มีความรู้ความสามารถสายอาชีพขององค์กร หาคนที่เก่งเพื่อแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ ให้ศาสตราจารย์ไปหารองศาสตราจารย์ หาผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ให้เป็นอาจารย์ ให้อาจารย์ไปหาผู้ช่วยอาจารย์ แต่งตั้งให้เป็นนักวิจัยแล้วให้นักวิจัยไปหาผู้ช่วยวิจัย ซึ่งนักวิชาการแต่ละคนสามารถไต่เต้าในตำแหน่งมีเงินเดือนไปสูงสุดในอาชีพ เป็นการจ้างตามความสามารถ ทำหน้าที่ตามความต้องการขององค์กร หากใครต้องการจะย้ายสายงานไปเป็นผู้บริหาร ก็ไปสมัครในสายบริหารเริ่มต้นที่สายงานใหม่

สายที่สี่ พวกเหนือชั้น พวกติดลมบน เป็นดารา พระเอก ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินนานาชาติ ถือเป็นผู้ที่มีราคาความน่าเชื่อถือสูง ราคาค่าจ้างตกลงกันตามความพอใจทั้งสองฝ่าย ดาราหรือพระเอกแต่ละคนมีค่าจ้างไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการต่อรองและตกลงกัน กลุ่มนี้มีหน้าที่สร้างงาน มีหน้าที่เดินทางไปแสดงทำการตลาด เป็นหน้าตาขององค์กร เป็นความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือขององค์กร เมื่อใดหมดราคาตกลำดับชั้น หมดค่าราคาเสื่อม ก็ให้ยกเลิกการจ้าง สถาบันก็ต้องไปหาดาวดวงใหม่ เพื่อจะเสริมความน่าเชื่อถือของสถาบัน

สมัยรัชกาลที่ 2 ถือเป็นยุคทองของวรรณคดี สมัยนั้นมีสุนทรภู่ มีพระประดิษฐไพเราะ (ครูมีแขก) ศิลปินและกวีมีโอกาสสร้างงานวรรณคดีและดนตรีให้รุ่งเรือง สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นยุคทองของนักดนตรี โดยนักดนตรีได้รับตำแหน่งมีบรรดาศักดิ์ อาทิ หมื่นขับคำหวาน ขุนดนตรีบรรเลง หลวงไพเราะเสียงซอ พระเจนดุริยางค์ พระยาประสานดุริยศัพท์ เป็นต้น สถาบันเฉพาะทางใหม่ควรได้หาข้อมูล ข้อตกลงวิธีการจ้าง การเข้าสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์ โดยดูตัวอย่างของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์ ว่ามีข้อตกลงในการจ้างงานเป็นอย่างไร

ปัญหาของสถาบันการศึกษาคือ มีสายงานความก้าวหน้าแค่ 2 สาย ใช้ตารางเงินเดือนเดียวกัน การมีอำนาจคือความเจริญก้าวหน้า จึงเกิดการวิ่งเต้นใช้เส้นสายข้ามห้วย วิ่งเต้นไปเป็นผู้บริหาร เป็นผู้จัดการ เลขาอยากเป็นผู้อำนวยการ อยากได้ตำแหน่งหัวหน้างาน เพราะผู้บริหารหรือหัวหน้างานไม่ต้องทำงานแต่สั่งคนอื่น

ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันคือ การเอาผู้เชี่ยวชาญไปเป็นผู้บริหาร เอาหมอกระดูกไปเป็นอธิการบดี เอานักวิจัยไปเป็นคณบดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้นเป็นผู้ที่รู้เรื่องแคบๆ แล้วไปทำงานที่กว้างๆ คนแคบเป็นคนที่ขาดโลกทัศน์ ขาดวิสัยทัศน์ ทำให้สถาบันขาดโอกาสและมองไม่เห็นอนาคต สุดท้ายสถาบันได้พัฒนาบุคลากรให้เป็นศาสตราจารย์กระดาษ ศาสตราจารย์น้ำลาย อุดมศึกษาจึงถึงทางตันและแข่งขันก็ไม่ได้

สถาบันการศึกษาใหม่ที่จะผลิตและสร้างคนศิลปะ สุนทรียะ อารยะ ต้องประกอบด้วยผู้นำที่มีความรู้ มีความสามารถ มีความรู้สึก สุนทรียะที่มีพลังสามารถสร้างแรงบันดาลใจ การยอมรับความจริงความดีความงาม ความไพเราะ สามารถสร้างความเจริญ (อารยะ) เป็นผู้ที่มีรสนิยม มีเสน่ห์ มองเห็นคุณค่างานศิลปะ สามารถสร้างบรรยากาศ มีราคาความน่าเชื่อถือซึ่งประมาณค่าไม่ได้ ทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

คณะกรรมการสภาของสถาบันใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องถอดบทเรียนถอดองค์ความรู้ว่าสมัยรัชกาลที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการสร้างยุคทองของวรรณคดี ศิลปะและดนตรี ทรงมีวิสัยทัศน์แบบไหน การคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งเป็นอย่างไร เป้าหมายคือคนที่มีความสามารถที่ได้ใช้ศักยภาพความเป็นเลิศ โดยไม่มีเงื่อนไขและไม่มีข้อจำกัด มีค่าจ้างที่สมราคา จึงเกิดความเป็นเฉพาะทางขึ้น อาทิ มีพระประดิษฐไพเราะ พระยาเสนาะดุริยางค์ หลวงชาญเชิงระนาด ขุนฉลาดวงฆ้อง ขุนบรรจงทุ้มเลิศ หลวงไพเราะเสียงซอ หลวงคลอขลุ่ยคล่อง เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวอย่างตำแหน่งของความเป็นเลิศเฉพาะทาง

สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง ต้องสามารถแต่งตั้งตำแหน่งเฉพาะทางได้ อาทิ ศาสตราจารย์พระราม ศาสตราจารย์ทศกัณฐ์ ศาสตราจารย์นางสีดา ศาสตราจารย์หนุมาน ศาสตราจารย์สีน้ำ ศาสตราจารย์ลายไทย เพราะบุคคลเหล่านี้มีความภูมิใจ ไม่มีใครอยากไปเป็นอธิการบดี ส่วนฝ่ายอธิการบดีให้ทำหน้าที่ไปหางบประมาณมาบริหารจัดการองค์กรให้มีความเจริญก้าวหน้า อย่าทำให้เงินเป็นอุปสรรคในการสร้างงาน จึงจะแข่งขันอยู่ในเวทีโลกได้ สามารถที่จะผลิตงานให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้

สำหรับกรรมการสภาชุดใหม่ ให้เลือกบุคคลที่เป็นสุดยอดของอาชีพที่เปิดสอนในสถาบัน ให้มีอาชีพละ 1 คน หากสอน 6 อาชีพก็มีกรรมการสภาอาชีพ 6 คน จ่ายเบี้ยประชุมแพงเพื่อให้ทำประโยชน์ หากกรรมการสภาหาประโยชน์อันใดไม่ได้ก็ขอให้ปลดออก เช่นเดียวกับตำแหน่งอื่นๆ ในสถาบันที่ทำงานไม่ได้ ทำงานไม่สำเร็จ มีคุณภาพต่ำ ก็ขอเชิญออกไปแล้วหาคนใหม่มาทำงานแทน ใหม่ๆ อาจจะทำยาก เมื่อทำได้ คุณภาพก็จะเกิดขึ้น

สถาบันใหม่จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้การศึกษาของชาติ สามารถที่จะสร้างการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ โดยเฉพาะการสร้างงานที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image