สุวรรณภูมิในอาเซียน : โบราณคดี ‘ไม่มีน้ำตา’ แต่ต้องมีมนุษย์และสังคม

โบราณคดีต้องมีมนุษย์และสังคม ถ้าไม่มีก็อยู่นอกความรับรู้ของมนุษย์และสังคม

สรุปจากงานเสวนา “ล้อมวงคุยว่าด้วยตำรา โบราณคดี: อดีต มนุษย์ และสังคม
ณ ห้องประชุม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ.2565

คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ (นักวิชาการอิสระ)

โบราณคดีกับสังคมร่วมสมัย เป็นบทสั้นๆ แต่ผู้เขียนสามารถสกัดเอาประเด็นและสาระหลักๆ มาได้ และสามารถบอกได้ว่าโจทย์ของโบราณคดีคืออะไร โบราณคดีไปเกี่ยวข้องกับใครต่อใครมากมายมหาศาล

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้จักกับงานเขียนที่ผมไม่รู้มาก่อน โดยเฉพาะงานเขียนด้าน ‘มรดก’ ผู้เขียนได้อ้างอิงงานเขียน ซึ่งมีข้อความที่ผมชอบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของบทนี้ “…มรดกยังไม่ใช่เรื่องไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันและต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะประวัติศาสตร์และโบราณคดีคือความรู้เกี่ยวกับอดีตที่มีความซับซ้อนยืดยาวและดำเนินเรื่องไปอย่างราบเรียบ หากไม่มีมรดกการศึกษาอดีตที่ว่าก็คงจะมีน้อยคนนักที่จะสนใจ…”

Advertisement

สะท้อนให้เห็นว่า โบราณคดีถูกเรียกร้องให้มันหันหน้าบางหน้าออกมา engage กับสังคม ซึ่งสิ่งที่โดดเด่นมากในกรณีนี้ก็คือหน้าของความเป็น “มรดก” หรือที่เรียกว่า ทรัพยากรทางโบราณคดี ที่ถูกสังคมให้ค่า และนับวันมันจะกลายเป็นประเด็นที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่ไม่มีศาสตร์ใดสามารถอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง หรือคงความเป็นศาสตร์ที่บริสุทธิ์ได้อีกต่อไป เพราะสาธารณชนจะเข้ามาอยากมีส่วนร่วม อาจมาตั้งคำถามกับการตีความและการให้คุณค่าของนักวิชาการ ประโยคจบของหนังสือเล่มนี้คือ “…อนาคตของอดีตอยู่ในมือปัจจุบัน” อดีตจะมีคุณค่าและมีความหมายก็เพราะคำถามของปัจจุบัน คำถามที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันก็ทำให้คุณค่าของอดีตเปลี่ยนไป อดีตส่วนไหนจะถูกหยิบมาก็อยู่กับการตั้งคำถามของปัจจุบัน

สุภมาศ ดวงสกุล (กองโบราณคดี กรมศิลปากร)

คุณูปการของหนังสือเล่มนี้อีกประการก็คือ เรื่องบางเรื่องที่รู้แต่เพียงผิวเผินเราก็ได้อ่านจากเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่แนะนำสำหรับนักโบราณคดีและผู้ที่ทำงานทางด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดี หรือแม้กระทั่งสายสังคมศาสตร์อื่นๆ เพราะว่ามีการรวบรวมข้อมูลสารพันเกี่ยวกับการศึกษาอดีต

Advertisement

หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้ลงลึกถึงเรื่องข้อมูลทางวิชาการและเป็นการปูพื้นฐานที่แน่น การเรียนการสอนโบราณคดีสมัยก่อนจะไม่ค่อยเน้นเรื่องประวัติโบราณคดีโลก หรือเรื่องแนวคิดทฤษฎีมากนัก แต่ปัจจุบันนี้อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว หนังสือเล่มนี้ช่วยเปิดมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้

หนังสือเล่มนี้เป็นยานหรือเป็นเครื่องมือที่ทำให้นักโบราณคดีไปดำดิ่งหรือขุดที่มาของตัวเรา หมายถึงคนที่ทำงานโบราณคดีทั้งหลายต้องกลับไปมองว่า กว่าองค์ความรู้และแนวคิดในการทำงานทางโบราณคดีพัฒนามาทุกวันนี้ มันผ่านกระบวนการสั่งสมกลั่นกรองมาอย่างไรบ้าง หนังสือก็จะให้คำตอบนี้กับเรา

สิ่งที่ชอบในหนังสือเล่มนี้อีกอย่างก็คือ กลเม็ดในการเขียนคือในขณะที่กล่าวถึงกระบวนการศึกษาทางโบราณคดีต่างๆ ผู้เขียนก็ได้ยกกรณีศึกษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมีทั้งเคสจากไทยและต่างประเทศ รวมทั้งกรณีศึกษาที่ผู้เขียนได้เดินทางไปชมด้วยตนเอง ซึ่งก็ทำให้หนังสือเล่มนี้มีบุคลิกเฉพาะตัวของผู้เขียนเอง

วิธีการนำเสนอของผู้เขียนน่าสนใจ เพราะนอกจากการยกตัวอย่างประกอบแล้ว เวลาอ่านก็ทำให้จินตนาการถึงงานที่เราทำไปด้วย แต่ผู้เขียนก็มักมีการหักมุมโดยการบอกว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิดทั้งหมดก็ได้ คือเป็นการสะกิดบอกว่าอย่าเพิ่งตีความไปไกลนัก

แต่ละบทของหนังสือเล่มนี้ จะมีสรุปใจความสำคัญและคำถามท้ายบท ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้ทบทวนสิ่งที่ได้อ่านและทำความเข้าใจมาทั้งหมด

นอกจากนี้ เนื้อหาที่กล่าวถึงเรื่องการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกระบวนการศึกษาที่มีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่จะให้ข้อมูลเชิงลึก นักโบราณคดีบางคนส่งตัวอย่างไปก็รอผลวิเคราะห์อย่างเดียว โดยอาจไม่ได้สนใจกระบวนการของเทคนิคที่ใช้วิเคราะห์ หนังสือเล่มนี้อธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย และทำให้เข้าใจว่าทำไมจึงเลือกใช้วิธีนั้นๆ ในการศึกษา หนังสือเล่มนี้ทำให้ฉุกคิดในเรื่องการคัดเลือกตัวอย่างหรือเลือกวิธีการวิเคราะห์ซึ่งมีผลต่อการทำงานเพราะอาจส่งผลต่อการแปลความ ดังนั้นการปฏิบัติงานทางโบราณคดีต้องเพิ่มความระมัดระวัง อีกทั้งต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเวลาทำงานเรามีความรอบด้านมากพอหรือยัง

ภีร์ เวณุนันทน์ (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนทำให้เรากลับมาคุยกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตั้งคำถามทางโบราณคดีหรือการทำงานโบราณคดี หรือว่านักโบราณคดีทำงานทุกอย่างด้วยความเคยชิน

สิ่งที่อยากจะกล่าวถึงเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ก็คือ พัฒนาการของความรู้โบราณคดีในระดับสากลและในระดับประเทศ กว่าที่ความรู้ทางโบราณคดีจะเป็นแบบที่เห็นทุกวันนี้มันได้ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างไรบ้าง

หนังสือเล่มนี้ได้แจกแจงกระบวนการศึกษาของนักโบราณคดี ว่ามีวิธีการทำงานและได้คำตอบมาอธิบายมนุษย์และสังคมในอดีตอย่างไร สิ่งสำคัญของงานโบราณคดีก็คือ การตั้งคำถามของงานศึกษาโบราณคดีที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการค้นหาหลักฐานที่เหมาะสม แล้วจากนั้นก็เป็นวิเคราะห์หลักฐานโดยเล่าเรื่องให้เป็นเหตุเป็นผลได้อย่างไร

ในบทที่ 6 ว่าด้วยการศึกษาหลักฐาน มีการอธิบายกระบวนการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ โดยการย่อยซับซ้อนของเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจได้ง่าย แม้แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีพื้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ หนังสือเล่มนี้นำเสนอในส่วนนี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ และผู้อ่านสามารถค้นคว้าต่อจากแหล่งอ้างอิงเองได้

บทที่ 7 วิชาโบราณคดีศึกษาเรื่องอะไร โบราณคดีไม่ได้ศึกษาหรือเกี่ยวข้องเฉพาะกับอดีตเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับปัจจุบันด้วย โบราณคดีคือสิ่งที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันทำให้คนรู้ว่าตัวเองเป็นใครมีที่มาอย่างไร โบราณคดีสนทนากับคนอื่นตลอดเวลา โบราณคดีพูดถึงคนซึ่งมีอยู่มากมายหลากหลาย

ดังนั้นโบราณคดีต้องคุยกับเศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งคนทั่วไป เพราะโบราณคดีคือเรื่องของทุกคน โบราณคดีไม่ใช่เรื่องของคณะโบราณคดี ทุกคนมีอดีตหรือความทรงจำของตัวเอง ทำอย่างไรให้วิชาการโบราณคดีสามารถสนทนากับคนทั่วไปที่มีความทรงจำของตัวเองด้วย โดยที่เราไม่หักหาญน้ำใจกัน ดังนั้นโบราณคดีไม่ได้เป็นการสร้างมรดกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่มันเป็นเครื่องมือในการสร้างที่ทางให้กับคนในสังคม หนังสือเล่มนี้มีการตั้งข้อสังเกตและทำให้เราหยุดคิด เช่น เรื่องระบบสามยุค ที่ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความไว้ หรือหลายเรื่องที่นักโบราณคดีทำเป็นอาจิณแต่ไม่เคยหยุดคิดกับมัน

ผู้ร่วมเสวนา (จากซ้ายไปขวา) ดร.อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ (นักวิชาการอิสระ), สุภมาศ ดวงสกุล (กองโบราณคดี กรมศิลปากร) และ ดร.ภีร์ เวณุนันทน์ (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ในงานเสวนา “ล้อมวงคุยว่าด้วยตำรา โบราณคดี: อดีต มนุษย์ และสังคม” ณ ห้องประชุม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ.2565 (14.00-16.30 น.)

ห้องเสวนาที่ห้องประชุมชั้น 4 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โบราณคดีไทย ถูกผูกขาดโดยรัฐ

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต
[อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

โบราณคดี: อดีต มนุษย์และสังคม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พจนก กาญจนจันทร มีโครงสร้างประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญของวิชาโบราณคดีสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจในโบราณคดีทั่วไป มีทั้งบทนิยามและความหมายของโบราณคดีซึ่งถกเถียงกันในหมู่นักโบราณคดีไม่รู้จบ ประวัติความเป็นมาของโบราณคดีทั้งในไทยและต่างประเทศ กระบวนการศึกษาและวิจัย งานเทคนิคภาคสนามว่าด้วยการสำรวจ ขุดค้น รวมทั้งการวิเคราะหลักฐานที่นำไปสู่กระบวนการวิเคราะห์หลักฐานหลากหลายประเภท นำไปสังเคราะห์ตามประเด็นศึกษา ที่อาจารย์นำเสนออย่างหลากหลายซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่สำคัญในปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ สองบทที่ว่าด้วยประวัติโบราณคดี เพราะหนังสือหรือตำราที่กล่าวถึงประวัติวิชาโบราณคดีส่วนมากเน้นการค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญหรือแหล่งที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันโดยทั่วไป

หนังสือหรือตำราที่กล่าวถึงประวัติเชิงพัฒนาการหาได้ไม่ง่ายนักเมื่อเทียบกับหนังสือที่กล่าวถึงวิธีการทำงานเทคนิคภาคสนาม แนวคิด แนวทางการวิจัย หรือประเด็นเฉพาะเรื่อง การเรียบเรียงประวัติเชิงพัฒนาการเป็นเรื่องยาก ต้องค้นและอ่านหนังสือ จำนวนมหาศาลเพื่อเรียงตามลำดับเวลา เน้นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงและต้องเข้าใจเพดานความรู้และแนวคิดในแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญคือรู้ชื่อหนังสือหรือบทความแต่หาอ่านไม่ได้

เพดานความคิดและเนื้อหาประวัติโบราณคดีที่อาจารย์พจนกนำเสนอย้อนกลับไกลไปกว่า ค.ศ.1840 ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นช่วงต้นของการกำเนิดโบราณคดี ผู้เขียนประวัติโบราณคดีน้อยคนจะกล่าวถึง “โบราณวิทยา” (Antiquarian) ซึ่งผมเห็นว่าเป็นต้นตอแห่งศาสตร์ทั้งหลายที่ศึกษาอดีตของมนุษย์ ไม่เฉพาะแต่วิชาโบราณคดี ย้อนเวลากลับไปนานกว่าที่เราเคยเข้าใจ

ปัจจุบันประวัติโบราณคดีแนวประวัติศาสตร์นิพนธ์โบราณคดี (Historiography of Archaeology) ได้กลายเป็นสาขาวิชาไปแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ช่วง ค.ศ.2000 ที่มิใช่เป็นเพียงเนื้อหาเล็กๆ ส่วนหนึ่งของรายวิชาโบราณคดีเบื้องต้นอีกต่อไป และเห็นได้ว่าตั้งแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ได้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยหัวข้อนี้มากมายหลายครั้ง รวมทั้งการเสวนาออนไลน์อีกนับครั้งไม่ถ้วน

ตั้งแต่บทที่ 4 ถึงบทที่ 6 เป็นส่วนที่ว่าด้วยวิธีการศึกษาทางโบราณคดี ซึ่งอาจารย์เรียบเรียงได้รวบรัดครอบคลุมด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ในหนังสือตำราโบราณคดีทั่วไปมักเน้นเนื้อหาในส่วนงานเทคนิคและวิธีการทำงานภาคสนามอย่างมาก ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อและปวดหัวเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ไม่ใช่นักศึกษาโบราณคดี

การอ่านตำราสอนว่ายน้ำไม่อาจทำให้เราว่ายน้ำเป็นฉันใด การอ่านเทคนิคภาคสนามอย่างเดียวก็ไม่อาจบรรลุถึงเป้าหมายทางโบราณคดีได้ฉันนั้น อีกทั้งเทคนิควิธีการมีมากมายและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตามวิธีคิด และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้นทุกวัน ตรงกันข้าม ผมกลับเห็นว่าความถนัดคุ้นชินในการทำงานสนามและการเลือกใช้เครื่องมือและเทคนิควิธีการให้เหมาะตามสถานการณ์เป็นไปตามกลวิธีวิจัย (research strategy) ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการลงมือปฏิบัติและใช้เวลาฝึกฝนสร้างประสบการณ์อย่างต่อเนื่องของแต่ละคน

สิ่งที่ยังขาดอย่างมากในงานโบราณคดีไทย คือ การสอนและอบรมเรื่องการวางแผนการวิจัยหรือระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) และการวิเคราะห์หลักฐานที่เป็นวัตถุซึ่งได้จากงานสนาม

เรายังขาดทั้งการสอน ผู้สอน เครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม ตราบใดที่งานโบราณคดีไทยยังถูกผูกขาดโดยรัฐ ผ่านทางหลักสูตร เนื้อหารายวิชา และโครงการวิจัย โดยมีทุนศึกษาวิจัย ฝึกงาน และงบประมาณ เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุม

โบราณคดี อดีต มนุษย์ และสังคม โดย พจนก กาญจนจันทร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศยาม พ.ศ.2565 ราคา 430 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image