อาศรมมิวสิก : วงปล่อยแก่และวงเด็กภูมิดี ของเทศบาลนครยะลา

เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมโครงการวงปล่อยแก่ ซึ่งเป็นวงขับร้องเพลงประสานเสียงของผู้สูงอายุและโครงการวงขับร้องประสานเสียงของเด็กภูมิดี โรงเรียนอนุบาลยะลา ซึ่งดำเนินกิจกรรมโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากนายกเทศมนตรีนครยะลา กิจกรรมจัดขึ้นที่อาคารพระเศวตสุรคชาธาร มีนายกเทศมนตรี นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ เป็นผู้ให้การสนับสนุนโครงการดนตรีเยาวชนยะลา โดยจัดตั้งวงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา เมื่อ พ.ศ.2549 เทศบาลนครยะลาถือเป็นเมืองแนวหน้าในการใช้ “พลังเย็น” มาพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ขณะที่ยะลามีอุณหภูมิที่ร้อนระอุจากสนามรบ มีเสียงระเบิด มีเสียงปืน และมีผู้เสียชีวิตใน 3 จังหวัดภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) จำนวนมาก มีสงครามอย่างต่อเนื่อง 10-20 ปี ชีวิตตายไปปีละ 1,000 คน รวมๆ กันแล้วก็หลายชีวิต

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ได้รับเลือกเมื่อ พ.ศ.2546 เป็นนายกเทศมนตรีนครยะลา 5 สมัยต่อเนื่อง ได้เข้ามาพัฒนาเมืองยะลาโดยใช้พลังเย็น ทำให้เทศบาลนครยะลามีอุณหภูมิที่เย็นลงอย่างเห็นได้ชัด ยะลาได้กลายเป็นเมืองที่สงบและน่าอยู่มากขึ้น ยะลาเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยว มีผลไม้ ส้มโชกุน ลองกอง ทุเรียน กาแฟ เป็นเมืองที่มีโอกาสและมีศักยภาพในการแข่งขันสูง เป็นเมืองที่คนเก่งอยากไปอยู่ การปลูกต้นไม้ทำให้เมืองมีสีเขียว มีอากาศดี เป็นเมืองที่ใช้พลังงานสะอาด ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสร้างเมือง เทศบาลนครยะลาได้นำสายสื่อสาร สายเครือข่าย และสายไฟฟ้าลงดิน ดูแล้วสะอาดตาและไม่รกรุงรัง

ยะลาเป็นเมืองที่จัดเทศกาลและทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น อาทิ ยะลามาราธอน การออกแบบแฟชั่น ประกวดเรือพระในงานทอดกฐิน ประกวดกาแฟ ประกวดนกเขาชวา เมืองที่ใช้ศิลปะสร้างคนและสร้างเมือง เป็นเมืองที่เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี ทุกคนมีความหวังและมีโอกาสได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพที่ดี ทำให้เมืองยะลาก้าวสู่การเป็นเมืองต้นแบบของอาเซียน เพราะมีผู้บริหารในระดับต่างๆ จากทั่วโลกไปดูงาน

หัวใจสำคัญอยู่ที่นายกเทศมนตรีพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ที่ได้ใช้หัวใจ สมอง สองมือ และจิตวิญญาณลงไปทำงาน ทำงานด้วยความทุ่มเท เอาใจใส่และตั้งใจทำ มอบน้ำใจให้แก่ทุกคน สร้างเมืองยะลาด้วยใจ ทำให้คนยะลามอบหัวใจและให้ใจกับการพัฒนาเมือง ยะลาจึงมีบรรยากาศที่ดีขึ้นและน่าอยู่ในทุกๆ มิติ

Advertisement

แม้ว่าความฝันที่จะสร้างนครยะลาให้น่าอยู่ยังไม่สมบูรณ์ทุกเรื่อง แต่ความฝันของนายกเทศมนตรีพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ได้กลายเป็นความฝันของคนยะลาทั้งเมืองไปแล้ว ที่น่าตกใจมากก็คือ รัฐได้ลงไปพัฒนาโดยสร้างสนามบินที่อำเภอเบตง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาไป 143 กิโลเมตร รัฐเชื่อว่าเป็นการพัฒนาเมืองให้เจริญโดยไม่ได้ศึกษาให้รอบคอบหรือไม่รับฟังความเห็นของคนในพื้นที่ เมื่อสนามบินที่เบตงสร้างเสร็จแล้ว ก็ไม่มีผู้โดยสารไปใช้บริการ ในที่สุดก็คงเจ๊งไปในเร็ววัน เนื่องจากเครื่องบินใหญ่ไม่สามารถไปลงที่เบตงได้ การตีวงโค้งของเครื่องบินจะไปล้ำน่านฟ้าที่อยู่ในเขตน่านฟ้าของมาเลเซีย ที่สำคัญคือผู้โดยสารไม่เลือกเดินทางไปลงที่เบตง

ความนิยมใช้บริการของสนามบินหาดใหญ่ดีกว่าและสะดวกกว่า แม้จะต้องนั่งรถต่ออีก 2-3 ชั่วโมง ทั้งคนยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จึงได้เรียกร้องให้สร้างสนามบินขึ้นใหม่ที่ตัวเมืองยะลาแทน หากทำสำเร็จ เมื่อนั้นยะลาก็จะมีความสะดวกในการเดินทาง สามารถที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ทั้งกิจกรรมในระดับชาติและกิจกรรมระดับนานาชาติ

วงปล่อยแก่ที่เทศบาลนครยะลาเป็นวงขับร้องประสานเสียงผู้สูงอายุกว่า 30 คน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายแต่งตัวได้เปรี้ยวมาก มีความกระฉับกระเฉงในการขับร้อง และทุกคนมีความตั้งใจอย่างยิ่ง โดยมีอาจารย์วีระศักดิ์ อักษรถึง เป็นผู้ฝึกสอนร่วมกับอาจารย์ศุภฤกษ์ หงอสกุล ครูดนตรีของโรงเรียนอนุบาลยะลา และมีอาจารย์ชยพล สุขดี จากมูลนิธิ ลงไปช่วยฝึกสอนและร่วมกันทำงานสอนดนตรีในค่าย

Advertisement

สังคมไทยนับวันก็จะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนแก่ในวัย 60-69 ปี เป็นคนแก่ที่ยังพอมีร่างกายแข็งแรงและมีสติสัมปชัญญะครบช่วยตัวเองได้ ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ในวัย 70-79 ปี เป็นช่วงวัยที่ร่างกายถดถอยอ่อนล้า กำลังวังชาและเงินทองก็เริ่มร่อยหรอ เพราะมีแต่รายจ่ายโดยไม่มีรายได้ ส่วนผู้สูงอายุในวัย 80 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่จิตใจห่อเหี่ยว ร่างกายเสื่อมสภาพไปสู่การหมดอายุขัย ทรัพย์สินเงินทองก็ทยอยมอบให้ผู้ที่ดูแลพยาบาล

วงปล่อยแก่เป็นวงขับร้องเพื่อสร้างพลังผู้สูงอายุให้สามารถช่วยตัวเองได้ เมื่อกำลังเริ่มถดถอยลงก็ต้องสร้างพลังบวกจากภายในให้เข้มแข็งขึ้น เมื่อได้ร้องเพลงเลือดลมจะสูบฉีดไปทั่วร่างกาย ได้ปล่อยความเจ็บปวดที่มีอยู่ภายในให้ออกไปแล้วช่วยเติมความสุขเข้ามาแทน การเปล่งเสียงจึงเป็นการออกกำลังกายของคนแก่

กายกับจิตทำงานร่วมกันเป็นฝาแฝด เมื่อกายป่วย จิตก็จะป่วยตาม หากจิตป่วย กายก็ป่วยตามไปด้วย การร้องเพลงจึงเป็นโอกาสที่จะบำรุงจิตให้สดใสสวยงาม เพื่อจะช่วยพยุงกายให้กระปรี้กระเปร่าขึ้น หากได้ร้องเพลงสัปดาห์ละครั้ง ก็จะช่วยเรื่องคุณภาพชีวิตของคนแก่ได้มากขึ้น สภาพของคนแก่ในปัจจุบันจะเหงาและว้าเหว่ เพราะลูกหลานใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับมือถือ หากคนแก่มีเพลงเป็นเพื่อนก็สามารถร้องเพลงได้ทุกวันทุกเวลาและทุกเมื่อ เพลงสามารถชดเชยความทุกข์ ความเหงา ความเศร้า การร้องเพลงเป็นการสร้างความสุขได้ด้วยตัวเอง

เมื่อได้ฟังวงคนแก่และวงเด็กที่ยะลาร้องเพลงแล้ว ตกกลางคืนทำให้นอนไม่หลับ สมัยก่อนได้แต่นอนฟังเสียงระเบิด เสียงปืน และเสียงรถหวอ แต่วันนี้กลับได้ยินเสียงร้องเพลงอัดแน่นรูหู วงปล่อยแก่กว่า 30 คน เข้าค่ายฝึกซ้อมเพลง 2 วัน ส่วนวงเด็กจากโรงเรียนอนุบาลยะลา 60 คน เข้าค่าย 3 วัน โดยมีครูดนตรีและครูขับร้องทั้งในพื้นที่และครูดนตรีที่ไปจากมูลนิธิ ช่วยกันทำงานควบคุมการร้องเพลง ที่นอนไม่หลับเพราะรู้สึกว่า “มันดีจังเลยจนดีเกินไป” นอนไม่หลับเพราะคิดว่าจะต้องทำต่อไป ทำให้เป็นต้นแบบ แล้วนำความสุขไปมอบให้แก่ชุมชนและเทศบาลอื่นๆ ได้ชื่นชม เพื่อจะได้จุดประกายและจุดไฟในดวงใจดวงอื่นๆ ต่อไป

เทศบาลนครยะลา กำลังสร้างอาคารใหม่ (TK Park) ซึ่งหาเงินและดำเนินโครงการโดยนายกเทศมนตรี การก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 ในอาคารมีพื้นที่สำหรับการแสดงดนตรีและศิลปะต่างๆ เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ของผู้คนทุกวัย อาคารใหม่มี 5 ชั้น อยู่กลางเมืองยะลา ซึ่งจะเป็นพื้นที่ของการเปลี่ยนวิถีชีวิต

การสร้างพื้นที่เพื่อการศึกษาเรียนรู้ของประชาชนโดยเฉพาะ เป็นเรื่องวิถีชีวิตใหม่ การฟื้นจากโควิด การฟื้นจากสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้ยะลาฟื้นและมีพื้นที่สำหรับการแสดงของคนทุกวัย เป็นอาคารทันสมัย มีระบบเสียงและระบบการสื่อสารอย่างดี สามารถใช้เป็นพื้นที่รองรับการแสดงจากต่างถิ่นและต่างประเทศได้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้สัมผัสกับงานระดับนานาชาติ โดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ ที่สำคัญก็จะกลายเป็นหน้าตาของเมืองยะลาต่อไป เพราะยะลาจะเป็นศูนย์กลางการแสดงของ 3 จังหวัดภาคใต้

นายกเทศมนตรีมีโครงการเปิดโรงเรียนดนตรีหรือศิลปะสำหรับเด็กอายุ 7 ขวบ โดยให้เด็กที่สนใจจะเรียนดนตรีหรือศิลปะได้เรียนในภาคเช้า ส่วนวิชาสามัญเรียนในภาคบ่าย นายกเทศมนตรียังมีโครงการจะสร้างโรงพยาบาลที่ครบวงจรเพื่อชาวยะลา เมื่อคนเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ต้องวิ่งไปหาโรงพยาบาล หมอสามารถแนะนำรักษาออนไลน์ได้ อาศัยเทคโนโลยีสร้างฐานข้อมูลตรวจสอบความเจ็บป่วย ช่วยดูแลสุขภาพทุกคนในยะลาได้โดยไม่ต้องเข้าไปโรงพยาบาล

เทศบาลนครยะลาเป็นต้นแบบของการใช้ศักยภาพทางดนตรีให้เป็นต้นทุนในการพัฒนาเมือง ขยายจากวงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา เป็นวงปล่อยแก่ ซึ่งเป็นวงขับร้องประสานเสียงของผู้สูงอายุ และวงขับร้องประสานเสียงของเด็กภูมิดี
โดยโรงเรียนอนุบาลยะลา ในขณะเดียวกันนายกเทศมนตรีก็ได้พัฒนาอาชีพวิถีชีวิตโดยเน้นสิ่งที่มีจากรากฐานของชุมชน ร้านอาหารของชุมชน อาชีพของชาวบ้าน คุณภาพชีวิตของทุกคน มุ่งให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและสุขภาพเป็นเบื้องต้น การสร้างอาชีพและพัฒนารายได้โดยสร้างกิจกรรมพลังบวก ใช้พลังเย็นและความสงบ ใช้เทคโนโลยีให้เป็นเมืองที่มีปัญญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้คนในเมืองยะลา

วงปล่อยแก่ วงเด็กภูมิดี และวงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา จึงเป็นโครงการที่จะหล่อเลี้ยงความรู้สึกของทุกคนให้เชื่อมั่นและมีความอบอุ่น ทำให้ทุกคนรู้สึกว่า “ดีจังเลย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image