ธรรมศาสตร์และการแมว ทำหมัน หาบ้าน เปิดยุทธศาสตร์แก้สัตว์จร

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ไม่ละเลยการแมว เร่งหาบ้านให้เหมียวจรอย่างจริงจัง

ธรรมศาสตร์และการแมว

ทำหมัน หาบ้าน เปิดยุทธศาสตร์แก้สัตว์จร

นับเป็นภาพชุบชูใจในช่วงวันหยุดต่อเนื่องระหว่าง 23-24 ตุลาคมที่ผ่านมา

สำหรับการบุกรวบเหมียวจรสังกัดคณะและหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อ ‘ทำหมัน’ พร้อมๆ กับการ ‘หาบ้าน’ แสนอบอุ่นให้อิงอาศัย แม้เหล่าทาสแมวรั้วแม่โดมจะเต็มอกเต็มใจในการอุปถัมภ์อุ้มชู แต่ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในระยะยาวย่อมต้องดำเนินไป

Advertisement

23 ตุลาคม ภารกิจหลอกล่อล้อมแมวเข้ากรงเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมพบแพทย์เกิดขึ้น โดยมีอาสาสมัครพร้อมอุปกรณ์ครบมือเร่งปฏิบัติการภายใต้ฐานข้อมูลจากความทรงจำที่ว่า แมวตัวใด อยู่ตรงไหน ซ่อนที่ใด เรียกอย่างไรจึงได้พบหน้า กระทั่งสามารถจับแมวสายเชื่องงุ้งงิ้งได้จำนวนมาก ชะตากรรมในค่ำคืนคือนอนกรงคลุมผ้าม่วง สีประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

เช้าตรู่ 24 ตุลาคม กรงแล้วกรงเล่าถูกลำเลียงมาจัดวางแน่นโถงหอประชุมใหญ่ มธ. ที่เคยจัดกิจกรรมทาง ‘การเมือง’ มากมาย สู่กิจกรรมทาง ‘การแมว’ นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปที่ธรรมศาสตร์เปิดให้ลงทะเบียนร่วมทั้งสุนัขและแมวมาทำหมันฟรีก็หิ้วตะกร้า อุ้มนุ้งหมาพานุ้งเหมียวมาอย่างคับคั่ง รวมทั้งสิ้นเฉียด 300 ตัว

ประชาชนนำแมวมาร่วมโครงการทำหมันฟรี ที่ มธ.ท่าพระจันทร์

ตัดภาพมาอีกมุม ปฏิบัติการจับเหล่า ‘ตัวตึง’ ที่อยู่ระหว่างหลบหนียังคงดำเนินต่อไป สร้างความโกลาหลวุ่นวายปะปนรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในความน่าเอ็นดู

Advertisement

จับทำหมัน คุม ‘สำมะโนประชากรแมว’ แก้ปัญหาระยะยาว

ลำใย สังกัดคณะนิติศาสตร์ โดน ‘ตัดไข่’ เรียบร้อยแล้ว

ว่าแล้ว มาเจาะลึกถึงโปรเจ็กต์ดังกล่าว ซึ่ง รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า เป็นโครงการที่ต้องการดูแลทั้งคนและสัตว์ที่อยู่ในเขตของมหาวิทยาลัย โดยรับว่ารอบรั้ว มธ.นี้มี ‘แมวจร’ ค่อนข้างมาก เมื่อแมวเหล่านั้นคลอดลูกออกมาเราก็ต้องดูแลและหาคนใจบุญรับไปเลี้ยง เพื่อจำกัดจำนวนประชากรแมวที่อยู่รอบรั้วมหาวิทยาลัย และเพื่อให้กิจกรรมนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงร่วมกับ ‘มูลนิธิรักษ์แมว’ จัดโครงการทำหมัน โดยนอกจากจะเป็นการจำกัดสำมะโนประชากรแมวแล้ว ยังเป็นการบริการสังคมให้ประชาชนในชุมชนโดยรอบพาสุนัขและแมวมาทำหมันด้วย

คุมสำมะโนประชากรแมว กว่า 300 ชีวิตที่โถงหอประชุมใหญ่

“ในส่วนของแมวที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยก็มีเจ้าหน้าที่ บุคลากร และอาจารย์ร่วมกันบริจาคทั้งสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นกรง กระดาษทิชชู และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ โดยบุคลากรที่จะจับแมว จะเป็นคนที่คุ้นเคยอยู่แล้ว เราจึงให้คนจากทุกคณะมาช่วยกัน เพราะเป็นคนที่ให้อาหารแมวอยู่แล้วในเบื้องต้น แต่ละคณะก็จะมีแมวที่อยู่ประจำที่อยู่แล้ว” รศ.ดร.สุรัตน์เผย

อาสาสมัครคนรักแมวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุดทุ่มเทปีนป่ายรวบเหล่ากองกำลังแมวจรด้วยรักและห่วงใย

เมื่อถามถึงสถานการณ์แมวจรในมหาวิทยาลัย รศ.ดร.สุรัตน์บอกว่า เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่เรียบร้อย จึงไม่ค่อยได้สร้างปัญหากวนใจมาก แต่มีหลายครั้งที่อาจประสบอุบัติเหตุ เช่น ตกไปอยู่ตามท้องร่อง ซอกตึก เราก็ต้องหาคนไปช่วย ซึ่งหลายครั้งก็ทำด้วยความยากลำบาก

“การแก้ปัญหาในระยะสั้นที่เราทำไปแล้ว คือเมื่อไรก็ตามที่มีแมวคลอดลูกก็จะมีบุคลากรและส่วนกลางของมหาวิทยาลัยพยายามหาผู้ที่อยากรับแมวไปเลี้ยง ซึ่งมีผู้ใจบุญรับแมวไปเลี้ยงอยู่เรื่อยๆ แต่ตอนนี้จำนวนลูกแมวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้คิดว่าปัญหาที่เราแก้กันมาน่าจะแก้ไม่ได้แล้ว จึงจัดทำโครงการร่วมกับมูลนิธิรักษ์แมวเพื่อที่จะทำหมัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว” รศ.ดร.สุรัตน์กล่าว ก่อนเอ่ยซึ้ง

“แมวพวกนี้ก็เป็นครอบครัวธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เช่นกัน”

ผนึกเครือข่ายนอก-ในรั้ว มธ. ตัดไข่-ทำหมันเฉียด 300 ตัว

ชาร์โคล หรือปื๊ด ตัวตึง รัฐศาสตร์ สิ้นฤทธิ์หลังทำหมัน พักฟื้นในตึกโดม

สำหรับการปฏิบัติตัดไข่และทำหมัน ประกอบด้วยสัตวแพทย์จากมูลนิธิรักษ์แมว โดยมีหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยร่วมบริจาคสิ่งของ อุปกรณ์ อาหาร และสมัครเป็นจิตอาสา ได้แก่ คณะนิติศาสตร์, เจ้าหน้าที่คณะรัฐศาสตร์, เจ้าหน้าที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, เจ้าหน้าที่สำนักหอสมุด, บริษัท เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป จำกัด, เพจ Broad For Cat, สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย, งานสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน, อาจารย์และผู้ปกครองนักศึกษา นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานครยังให้คำปรึกษาด้านการจับแมว และอนุเคราะห์กรงแมวด้วย

ผศ.ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์

ผศ.ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งสวมเสื้อยืดทะมัดทะแมงพร้อมอุ้มแมว เผยว่า ผลตอบรับของโครงการค่อนข้างดี ตอนแรกเราจะทำหมันให้แค่แมวจรภายในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว เมื่อเราประสานกับมูลนิธิรักษ์แมวก็พบว่ามีทีมจิตอาสาและทีมแพทย์ จึงสามารถรับแมวเพิ่มได้ เฉพาะแมวในมหาวิทยาลัยและแมวของประชาชนทั่วไปที่เป็นแมวเลี้ยงและแมวจรมี 194 ตัว ซึ่งทางมูลนิธิรักษ์แมวเปิดรับด้วย จำนวนอยู่ที่ 289 ตัว

ในส่วนของลูกแมวที่เกิดจากแมวจรภายในมหาวิทยาลัยแล้วมีผู้สนใจนำไปเลี้ยง เราอยากได้คนที่รักแมว โดยเราจะมีช่องทางติดต่อเพื่อให้มาดูแมวตัวจริงก่อนได้ว่า ‘ถูกชะตากันหรือไม่’

“เราก็พยายามที่จะคัดเลือกคนที่จะมารับไป เราอยากจะเจอตัวจริง มีการพูดคุยกันก่อน แมวที่จะรับไปไม่ได้มีแค่แมวเด็กอย่างเดียว ถ้าใครอยากรับแมวโตไปเลี้ยงก็สามารถทำได้หากมาเจอแล้วถูกใจ ลองมาจ้องตากันก่อนได้” ผู้ช่วยอธิการบดี มธ.ชวนเล่นเกมจ้องตาแมว

‘มูลนิธิรักษ์แมว’ ปลื้มภาพรวมดีมาก อาสาสมัครคือส่วนสำคัญ

วชิรา ทวีสกุลสุข

วชิรา ทวีสกุลสุข ประธานมูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร เปิดเผยถึงกิจกรรมดังกล่าวว่า ภาพรวมดีมาก ทางทีมงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดีมาก นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ได้ดีอย่างยิ่ง คือการใช้โถงหอประชุมใหญ่ในการดำเนินการ

“หลังจากการทำหมันเราจะมียาให้ไปกินด้วย รวมถึงคำแนะนำในการดูแลแมวหลังการทำหมัน คือการทำหมันในวันนี้มีความปลอดภัยอยู่แล้ว แต่หลักๆ คือหลังจากนี้ต่างหาก ที่เจ้าของจะต้องดูในเรื่องของแผลและยา ทางทีมงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดีมาก กำลังคนช่วยเราได้เยอะ และสถานที่อำนวยความสะดวกได้ดีมาก” วชิรากล่าว

สำหรับจุดเริ่มต้นของมูลนิธิ วชิราย้อนเล่าตั้งแต่การทำโครงการเมื่อ 10 ปีก่อน โดยมีการช่วยเหลือแมวตามตรอกซอกซอยต่างๆ ต่อมาเริ่มมีปัญหาเรื่องของบัญชีส่วนตัวที่เปิดรับบริจาคจึงเป็นที่มาให้เปลี่ยนจากการทำโครงการมาเป็นการทำมูลนิธิโดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

“เราทำเป็นมูลนิธิมาได้ 5 ปี ถ้ารวมกับที่เป็นโครงการช่วยเหลือแมวมาก็ 16 ปี สำหรับใครที่สนใจทำหมันแมวสามารถติดต่อมาได้ หากผู้ที่ประสานงานมาสามารถจัดหาสถานที่ได้เราก็จะจัดคิวให้ ปกติคิวทำหมันแมวของเราจะยาว 3-4 เดือน โดยจัดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ โดยก่อนหน้านี้เราจะมีโครงการหาบ้านให้แมวโดยจัดตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่เมื่อช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเราไม่มีสถานที่ในการจัดโครงการหาบ้าน เราจึงกลับไปยังจุดเริ่มต้นของปัญหาแมวจร นั่นก็คือการแพร่พันธุ์ วิธีการแก้ปัญหาคือการทำหมัน เพื่อลดปัญหาการเกิดแมวจร ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะทำหมันแมวในวันเสาร์และอาทิตย์ เนื่องจากทีมอาสาสมัครเป็นคนที่มีงานประจำอยู่แล้วมาช่วยในการยกตะกร้าให้คนที่วางยาสลบ พาไปยังจุดโกนขน จุดผ่าตัดและจุดพักฟื้น อาสาสมัครจะทำทุกอย่าง ยกเว้นการผ่าตัด ซึ่งจะเป็นสัตวแพทย์ที่เราจ้างมา” ประธานมูลนิธิรักษ์แมวเผย

สำหรับแมวรวมถึงสุนัขที่ประชาชนลงทะเบียนพามาทำหมันกับโครงการ เจ้าของได้พากลับไปพักฟื้นที่บ้านพัก ส่วนแมวจรภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครคนรักแมวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาเข้าพักฟื้นภายในตึกโดมท่ามกลางความอบอุ่นห่วงใย

โครงการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อการแมวในวันนี้ คือหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่ช่วยแก้ปัญหาทั้งในรั้วของตัวเองและชุมชนโดยรอบอย่างเรียบง่ายทั้งยังได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

——

(น่ารักกก) เกินปุยมุ้ย

เปิด ‘ไลน์ออฟฟิเชียล’ TU For Cats หาบ้านให้แมวจร

จากการจับและทำหมัน สู่การหาบ้านซึ่ง ชัยสิทธิ์ อังคะปัญญาเดช เจ้าหน้าที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของ ‘แมวเด็ก’ เมื่อฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้วจะหาบ้านให้ด้วยการถ่ายภาพลงเพจ Thammasat University Library ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนมาก และจะมีไลน์ออฟฟิเชียลเพื่อกรอกข้อมูลก่อนจะมารับน้องแมวไป ได้แก่

1.ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทร
2.สนใจน้องตัวไหน ระบุ NO.
3.เลี้ยงแมวระบบปิดได้ไหม (ระบบปิดคือเลี้ยงภายในบ้าน/ที่พักอาศัย ไม่ปล่อยออกไปเดินข้างนอก)
4.ที่พักอาศัย อนุญาตให้เลี้ยงแมวได้
5.พาน้องไปทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ ทำหมัน เมื่อถึงเวลาอันสมควรได้
6.สามารถมารับน้องแมวได้ที่ มธ. ท่าพระจันทร์

นอกจากนี้ ทาง ‘ทีมอาสาสมัครคนรักแมวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ จะมีการคัดกรอง โดยส่วนใหญ่จะดูจากพื้นที่ในการเลี้ยงว่าสามารถเลี้ยงได้และมีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากเคยเจอกรณีที่มีนักศึกษารับไปเลี้ยงแต่ที่บ้านไม่สะดวก จึงต้องนำมาคืน จึงมีการติดตามการเลี้ยงตลอด 7 วัน, 14 วัน และ 1 เดือน

เพื่อดูว่าสามารถเลี้ยงได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image