วัฒนธรรมดนตรีของเมืองพระนคร วิญญาณกลับขึ้นสู่สวรรค์ด้วยเสียงดนตรี

วัฒนธรรมดนตรีของเมืองพระนคร วิญญาณกลับขึ้นสู่สวรรค์ด้วยเสียงดนตรี

วัฒนธรรมดนตรีของเมืองพระนคร
วิญญาณกลับขึ้นสู่สวรรค์ด้วยเสียงดนตรี

 

ครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ และนางอัปสร

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ผมได้รับเชิญไปเป็นเจ้าภาพงานศพ (พ่อลา จินดา) ที่วัดป่าศาลาธรรมาราม บ้านกระทม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ไปด้วยความเต็มใจ มีโอกาสชักชวนครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ หมอผีเขมรตัวจริง ไปช่วยทำพิธีในงานศพด้วย ตั้งใจไว้ว่าปีหน้า (พ.ศ.2566) หากได้ทำงานวิจัยดนตรีพื้นบ้านต่อ ก็จะนำวงไทยซิมโฟนีออเคสตราไปแสดงที่นครวัด ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากจังหวัดสุรินทร์เพียงไม่กี่กิโลเมตร เมื่อครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ทำหน้าที่หมอผีจริงๆ ร้องรำหน้าศพ มีวงเจรียงกล่อม ก็ได้เห็นความยิ่งใหญ่และพลังของเพลงและพิธีกรรมเขมร ซึ่งไม่แพ้ความยิ่งใหญ่ของนครวัด ฝรั่งได้เคยพูดเอาไว้ว่า “ได้เห็นนครวัดแล้วค่อยตาย”

เมืองพระนคร เป็นคำเรียกราชธานียุคหนึ่งของอาณาจักรเขมรโบราณ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มโตนเลสาบ ที่เมืองเสียมราฐ กัมพูชา บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งเมืองหลวงมาตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นเวลากว่า 600 ปี ชื่อเรียกและตำแหน่งที่ตั้งเปลี่ยนไปตามสมัยผู้มีอำนาจ อยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 250,000 ไร่ ศูนย์กลางสำคัญคือปราสาทนครวัดและปราสาทบายนในนครธม ศาสนสถานอายุเกือบพันปี หลังการบูรณะและอนุรักษ์เมืองพระนครซึ่งเรียกรวมว่า “นครวัด” กลายเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก สร้างรายได้มหาศาลด้านการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศกัมพูชา

ครูกิ่ง วิชา นิลกระยา

เมืองโบราณของอาณาจักรเขมรสร้างผังเมืองแบบสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยกำแพงและคูน้ำหลายชั้น มีสะพานเชื่อมต่อถึงกัน มีสระเก็บน้ำอยู่ทั้งในและนอกกำแพง ภายในกำแพงเมืองนอกจากวังแล้ว หัวใจสำคัญคือ ศาสนสถานหรือปราสาท กำหนดให้ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของเมือง ตามคติความเชื่อเรื่องศูนย์กลางจักรวาลที่รับมาจากอินเดีย เป็นเขาไกรลาสหรือเขาพระสุเมรุ ตามแต่ลัทธิศาสนาที่เปลี่ยนไปมาตามเจ้าผู้ครองนคร พราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกายกับไวษณพนิกายหรือเป็นพุทธมหายาน ท้ายสุดเปลี่ยนเป็นพุทธหินยาน

ADVERTISMENT

ปราสาทนครวัดเป็นวัดหลวงเริ่มสร้างสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 พ.ศ.1665 ใช้เวลาสร้างราวๆ 30 ปี เดิมเป็นเทวสถานอุทิศแด่พระวิษณุ (พระนารายณ์) มีขนาดสูงใหญ่กินพื้นที่เป็นพันไร่ ตามจารึกว่าใช้แรงงาน 300,000 คน ช้าง 6,000 เชือก ประเมินว่าต้องขนหินทรายขนาดใหญ่สิบล้านก้อน กระทั่งมาถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พ.ศ.1724-1761 ทรงย้ายพระนครที่เรียกว่านครธม ขึ้นไปสร้างเหนือนครวัด มีขนาดใหญ่กว่านครวัด 5 เท่า ในปลายสมัยทรงสร้างปราสาทบายนเป็นวัดหลวงพุทธมหายาน ยอดปราสาทหินในนครธมซึ่งมีอยู่หลายสิบยอดเป็นหินสลักขนาดใหญ่รูปหน้าคนสี่ด้าน (จตุรพักตร์) ทั้งยอดบนซุ้มประตูเมืองด้วย ปราสาทนครวัดจึงถูกเปลี่ยนเป็นวัดพุทธในสมัยนี้

ในเมืองไทยมีปราสาทแบบขอม สร้างโดยรับอิทธิพลจากเขมรโบราณอยู่หลายแห่ง ทั้งในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสาน ส่วนใหญ่อยู่ในอีสานใต้ อาทิ ปราสาทเมืองสิงห์อยู่ที่กาญจนบุรี พระปรางค์แขกอยู่ที่ลพบุรี ปราสาทสด๊กก๊อกธมอยู่ที่สระแก้ว กู่เปือยน้อยอยู่ที่ขอนแก่น ปราสาทพนมรุ้งอยู่ที่บุรีรัมย์ ปราสาทหินพิมายอยู่ที่นครราชสีมา เป็นต้น ที่ปราสาทหินพิมายมีร่องรอยถนนโบราณตัดตรงไปถึงเมืองพระนคร ชาวเมืองพิมายแต่งเกวียนค้าขายขึ้นลงไปตามเมืองในที่ราบลุ่มโตนเลสาบ รวมทั้งเมืองเสียมราฐ ชาวบ้านเดินทางลงไปจับปลาที่โตนเลสาบ ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักโบราณคดี นักปราชญ์ผู้มีความรู้เรื่องอุษาคเนย์เขียนไว้ว่า ไทย ลาว กัมพูชา มีผู้คนปะปนเป็นเครือญาติทั้งชาติภาษาและชาติพันธุ์เดียวกัน มีดินแดนต่อเนื่องกัน มีแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตก มีแม่น้ำโขงอยู่ทางตะวันออก มีทิวเขาดงพญาเย็นกับทิวเขาพนมดงรักพาดเป็นแกนหลัก จากตะวันตกไปทางตะวันออก แบ่งดินแดนเป็น 2 บริเวณ คือที่ราบสูงตอนบนทิวเขา ปัจจุบันอยู่ในเขตไทย-ลาว กับที่ราบลุ่มตอนล่างทิวเขา ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำโตนเลสาบ ปัจจุบันอยู่ในเขตไทย-กัมพูชา

ความน่าสนใจของนครวัดด้านวัฒนธรรมดนตรีคือ เป็นเสมือนสมุดบันทึกภาพของเครื่องดนตรีและวงดนตรีที่ใช้เมื่อพันปีที่แล้ว ตามผนังภายในปราสาทนครวัด ปราสาทบายน รอบระเบียงคด และอีกหลายปราสาท มีภาพสลักหินขนาดใหญ่สวยงามวิจิตร เล่าเรื่องราวเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องราชสำนัก ขบวนทัพ ศาสนพิธี ความเป็นอยู่ มีวงดนตรีเข้าไปเป็นส่วนประกอบของเรื่อง เช่น ขบวนแห่ประโคมแตร สังข์ ฆ้อง กลอง ทหารเดินทัพแบกฆ้องขนาดต่างๆ วงกลอง วงพิณพาทย์ เป็นต้น

เมื่อครั้งที่ทำงานวิจัยได้เดินทางสำรวจดนตรีที่กัมพูชา (เสียงใหม่ในอุษาคเนย์ พ.ศ.2561) มีนักดนตรีและนักวิชาการดนตรีของกัมพูชาช่วยกันรื้อฟื้นการดนตรีของชาติ เนื่องจากในช่วงเวลาที่เขมรแดงเรืองอำนาจ (พ.ศ.2518-2522) ได้ทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับดนตรี รวมทั้งชีวิตนักดนตรี การตามหาเพลงและการฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีใหม่ ต้องใช้วิธีต่อเพลงจากนักดนตรีรุ่นเก่าที่จำบทเพลงเอาไว้

นักดนตรีรุ่นเก่าที่เหลือมีชีวิตรอดมามีอยู่ไม่มาก ส่วนนักดนตรีรุ่นใหม่ที่อ่านโน้ตแบบสากลได้ ก็ค้นหาจากโน้ตเพลงที่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเคยบันทึกไว้ การรวบรวมวงดนตรีประเภทต่างๆ อาทิ วงอารักษ์เชิญเจ้าเข้าทรง วงเพลงการ์ในพิธีแต่งงาน (เพลงกล่อมหอ) วงกงสะโกในงานศพหรือกันตวมมีง เพลงในพิธีกรรมส่งวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์ ใช้ฆ้อง กลอง ปี่ วงเจรียงจาเป็ยหรือดีดกระจับปี่เล่าเรื่อง วงอาไยเพลงร้องปฏิพากย์ วงเปินเพียต (พิณพาทย์) เล่นในงานบุญต่างๆ และใช้เล่นประกอบการแสดง

ภาพสลักหินเครื่องดนตรีหลายชนิดที่นครวัด เป็นอีกแหล่งสำคัญที่นักดนตรีใช้ในการรื้อฟื้นวัฒนธรรมดนตรีเขมร มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีขึ้นใหม่จากหลักฐานภาพสลักหิน เช่น พิณเขมรหรือเปิน ซึ่งนักดนตรีในปัจจุบันก็ไม่เคยเห็น รู้จักแต่ชื่อเรียกวงเปินเพียต หัวหน้าวงพิณพาทย์แก้บนที่กรุงพนมเปญ (แกว เกวย) ซึ่งเป็นช่างทำเครื่องดนตรีและร่วมสร้างพิณเขมรขึ้นใหม่ เขาได้ทำวงพิณพาทย์โบราณตามอย่างหลักฐานภาพสลักหิน ประกอบด้วยพิณเขมร ฆ้องเพียต (ฆ้อง 8-9 ลูก) ตะโพน ขลุ่ย ฉิ่ง ที่บ้านเล่นวงพิณพาทย์แก้บนมาตั้งแต่รุ่นพ่อ (พ.ศ.2503) อยู่หน้าวิหารพระโลเกศวรริมน้ำโตนเลสาบบรรจบกับแม่น้ำโขง

วงรุ่นพ่อเล่นวงพิณพาทย์เครื่องสิบ ส่วนในปัจจุบันเล่นวงเครื่องเจ็ด มีระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ฆ้องวงใหญ่ กลองทัด ตะโพน ฉิ่ง เพลงที่เล่นเป็นมาตรฐานดั้งเดิมของวงพิณพาทย์มีอยู่ 250 เพลง รวมทั้งเพลงที่ขอยืมมาจากวงมโหรีด้วย

เครื่องดนตรีอีกชนิดที่รื้อฟื้นคือ พิณน้ำเต้าสายเดียวหรือขะแซเดียว เชื่อกันว่าเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ที่สุดของกัมพูชา ใช้ในวงเพลงการ์โบราณ รวมวงกับซอเขมร กระจับปี่ด้ามยาว ปี่อ้อ กลอง ส่วนวง
เพลงการ์สมัยใหม่ใช้ซอโส ซออู้ จะเข้ ขิม ขลุ่ย กลอง วงเพลงการ์เป็นแหล่งที่ค้นพบเพลงได้มาก ชาวกัมพูชาถือว่าพิธีแต่งงานที่ถูกต้องตามประเพณีต้องมีวงเพลงการ์บรรเลง

ชาวไทยเชื้อสายเขมรดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อีสานใต้ น่าจะเป็นอีกแหล่งสำคัญที่ได้รักษาบทเพลงเก่าแก่และพิธีกรรมของกัมพูชาเอาไว้ ตัวอย่างวงกันตรึมครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ซึ่งได้ร่วมแสดงในงานวิจัยตอน “พงศาวดารกระซิบ บูชาปราสาทพนมรุ้งด้วยวงซิมโฟนี” เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2564 วงกันตรึมใช้บรรเลงในพิธีกรรมเพื่อบวงสรวง เข้าทรง รักษาไข้ ส่งดวงวิญญาณ กล่อมหอแต่งงาน และเพื่อความบันเทิง
น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ เป็นหมอผีตัวจริง (แม่หมอ) เป็นหัวหน้าวงได้ขับร้องเพลงอะไยจ๊ะกร๊าบ แอกแครง แฮปปียา โดยมีวิชา นิลกระยา (ครูกิ่ง) เป็นนักซอเขมรผู้ที่มีฝีมือฉกาจมาก ซึ่งกลุ่มนักดนตรีเหล่านี้ยังรักษาเพลงเขมรดั้งเดิมเอาไว้ ทั้งตัวเพลงและจิตวิญญาณ

ที่งานเผาศพวัดป่าศาลาธรรมาราม บ้านกระทม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งยังใช้ป่าช้าอยู่ ป่าช้าเป็นสถานที่เผาศพอยู่ในป่า แต่ก่อนเรียกว่า “เปลว” ประดุจมีเปลวไฟเผาศพ เปลวเผาศพนั้นจะอยู่ตรงไหนก็ได้ที่ยังเปลี่ยวอยู่ในป่าที่ห่างไปจากชุมชน เปลวเปลี่ยนที่ได้ ส่วนป่าช้านั้นได้ปักหลักไว้ชัดเจนว่า บริเวณนี้คือ “ป่าช้า” เป็นสถานที่เผาศพ ป่าช้าเผาด้วยไม้ฟืน

จากป่าช้า ชุมชนได้พัฒนาสร้างเป็น “เชิงตะกอน” ขึ้นแทนป่าช้า เพราะเมื่อชุมชนเจริญขึ้น สามารถจะสร้างสถานที่เผาศพให้ถาวรโดยก่ออิฐเทปูนเป็น “เชิงตะกอน” ใช้เป็นที่เผาศพที่มั่นคง เมื่อสังคมเจริญขึ้นก็ได้พัฒนาไปเป็นเมรุเผาศพอยู่ตามวัดต่างๆ ในเมือง เมรุมาศสำหรับเจ้านายเผาพระบรมศพที่ท้องสนามหลวง

การเผาศพในป่าช้าวันนั้น เป็นพิธีกรรมเขมรโบราณของงานศพ มีวงกันตรึมของครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ วงเล่นเพลงลาวครวญไหว้ครู ชื่อเพลงลาวครวญ สำเนียงลาว ใช้หน้าทับเขมร เล่นในพิธีกรรมสำคัญคืองานศพ เพราะผู้ตายเป็นศพ (ผี) ก็มีหมอผีประจำบ้านดูแล ระหว่างพิธีครูน้ำผึ้งกระซิบว่า “อาจารย์เห็นไหมวิญญาณยืนใส่เสื้อขาวอยู่ข้างๆ รูป” ก็ได้ตอบไปว่าไม่เห็น แต่ก็ขนลุกทีเดียว

เชื่อว่าวิญญาณกลับขึ้นสู่สวรรค์ด้วยเสียงดนตรี ขณะเดียวกันเสียงดนตรีก็ได้เชื่อมความรักความสามัคคีของปวงชนไว้ ในพิธีกรรมงานศพจึงใช้ดนตรีทั้งร้องและบรรเลงเพื่อส่งวิญญาณสู่สวรรค์ ใช้พิธีงานศพเพื่อผูกใจของผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยห่อด้วยเสียงดนตรีมัดจิตใจ “คนเป็น” เอาไว้ เพื่อให้อยู่ร่วมกันต่อไป

วันนั้น ครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ร้องเพลงกล่อมผีด้วยภาษาเขมรดั้งเดิม นายซอ (ครูกิ่ง) วิชา นิลกระยา ได้สีเพลงจำปีจำปา ลาวครวญ ถือว่าเป็นเพลงครู ซึ่งได้ต่อเพลงมาจากดาร์กี้ (สมชาย คงสุขดี พ.ศ.2511-2546) ราชากันตรึม เมืองสุรินทร์ วงกันตรึมนิยมเล่นเพลงเพื่อส่งดวงวิญญาณสู่สวรรค์ เคล้ากล่อมล้อกับเสียงร้อง

สำหรับชุดของนางรำไม่ใช่ชุดของชาวบ้าน แต่เป็นชุดของนางอัปสราที่ใช้ในราชสำนักเขมร ตั้งแต่ศิราภรณ์ประดับศีรษะจรดเท้า ร่ายรำแขนอ่อน ก้นงอนเหมือนนางอัปสรที่จำหลักไว้ในปราสาทนครวัด

เชื่อว่าชาวบ้านแถวเมืองศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ยังสืบทอดวัฒนธรรมเพลง วิถีชีวิต พิธีกรรมความเชื่อแบบดั้งเดิมยุคนครวัดเอาไว้อยู่ ในเมื่อเมืองเขมรเองบทเพลงและเครื่องดนตรีได้สูญหายไปสิ้นแล้ว ครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ จึงกลายเป็นทั้งดาราและเป็นตำราของเพลงเขมรในปัจจุบัน