เดจาวู “ประท้วงหลังเลือกตั้ง” หรืออเมริกาจะไม่ใช่ “ประชาธิปไตย”? อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ข่าวในเวทีการเมืองระดับโลกตอนนี้ ฮอตที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นการคว้าชัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45

ความหวาดหวั่นที่ทั้งโลกจับตาคือการแสดงออกของทรัมป์ถึงการเหยียดเชื้อชาติ เพศ สีผิว อันมีนโยบายชัดเจนเรื่องการสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโกเพื่อกีดกันผู้อพยพ

และหวาดหวั่นที่สุดคือคนอเมริกันเอง แม้ว่าท่าทีของทรัมป์จากการปราศรัยหลังชัยชนะจะลดความแข็งกร้าวลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังไม่สามารถลดอารมณ์ผิดหวังขุ่นเคืองของกลุ่มต่อต้านทรัมป์ได้

“เขาไม่ใช่ประธานาธิบดีของเรา”

Advertisement

เสียงจากกลุ่มผู้ประท้วงตะโกนดังขึ้นในหลายรัฐทันทีที่เห็นผลการเลือกตั้ง ผู้คนออกมาแสดงความไม่พอใจ บ้างเผาหุ่น เผาธงชาติ บ้างทุบทำลายสิ่งของ จนถึงรัฐแคลิฟอร์เนียที่เกิดกระแสคาลิซิต (Calexit) หวังแยกตัวเป็นอิสระจากสหรัฐ

ทั้งหมดนี้อยู่ในสายตาคนทั้งโลก ขณะที่ในไทยก็มีการหยิบยกสถานการณ์ขึ้นมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในประเทศถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้น

บางเสียงค่อนขอดถึงชื่อเรียกขาน “ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่” ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้ “สงบเรียบร้อย” ได้

Advertisement

มองสถานการณ์ไปกับ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อรรถสิทธิ์สัมผัสความผิดหวังของคนอเมริกันมาแล้วครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้งที่ได้ประธานาธิบดีชื่อ “จอร์จ ดับเบิลยู. บุช” ในช่วงที่ใช้ชีวิตในสหรัฐขณะศึกษาปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ และปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ ที่ Georgia State University สหรัฐอเมริกา

ความโกรธเกรี้ยวของชาวอเมริกันขณะนี้บ่งบอกอะไร

ปรากฏการณ์ “ทรัมป์” จะกลายเป็นกระแสลมฝ่ายขวาพัดต่อจาก เบร็กซิทไปตกที่อื่นไหม หรือเป็นเพียงความหวาดกลัวที่ไม่มีมูลเหตุ

และสุดท้าย ถึงเวลาที่อเมริกาจะตั้งคำถามกับระบบการเลือกตั้งของตัวเองหรือยัง

 

ส่วนตัวผิดคาดกับผลการเลือกตั้งไหม?

ในฐานะคนเชียร์ฮิลลารีมาตั้งแต่ปี 2008 ไม่น่าเชื่อว่าจะแพ้ แต่เอาจริงๆ แล้วฮิลลารีหรือทรัมป์เองก็ไม่ใช่ผู้สมัครที่ดึงดูดคน จะมีทั้งปีที่คนเห่อกับผู้สมัคร และปีที่คนเฉยๆ กับทั้งสองคน อย่างที่คนชอบก็เช่น โรนัลด์ เรแกน, บิล คลินตัน ส่วนจอร์จ บุช, อัล กอร์ หรือจอห์น เคอร์รี่ คนรู้สึกเฉยๆ
พอโอบามามาทุกอย่างก็เปลี่ยน เป็นวงจรการเลือกตั้งที่ช่วงนี้คนเฉยๆ กับผู้สมัครก็เลยออกไปเลือกตั้งน้อย คนที่สามารถปลุกฐานเสียงแฟนพันธุ์แท้ได้เยอะผลเลยเป็นแบบนี้

ที่สำคัญตัวฮิลลารีเองก็พลาด ไม่ยอมโฟกัสที่ฟลอริดา แต่ไปโฟกัสที่มิชิแกนกับวิสคอนซิน อาจเป็นการดำเนินเกมที่ผิดพลาด แถมยังเจอหนึ่งอาทิตย์ที่เอฟบีไอบอกว่าจะรื้อฟื้นคดีอีก

แต่ไม่ได้คิดว่าทรัมป์ไม่มีโอกาสชนะ เดี๋ยวนี้การทำแคมเปญเลือกตั้งแบบสมัยใหม่เป็นการขายของ สร้างกลุ่มเป้าหมาย หาเสียงเฉพาะกับคนที่ทำให้ชนะ ถ้าจะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้จะต้องพูดแบบนี้

การประท้วงทรัมป์หลังเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่คาดได้ไหม?

การเลือกตั้งคือการแข่งขัน พอแพ้ก็อารมณ์ค้าง อยากหาที่ระบาย ผมไม่แน่ใจว่า 1.คนประท้วงจะประท้วงเพื่อนร่วมชาติของเขาเองที่เลือกคนแบบนี้ หรือ 2.ประท้วงระบบที่เป็นอิเล็กเทอรัล คอลเลจ (Electoral College-EC) ปล่อยให้คนได้ที่สองมาชนะ 3.เขาโกรธที่ทรัมป์ได้ แต่ผมเชื่อว่าเขาไม่ได้โกรธระบอบประชาธิปไตย เขาไม่ได้ปฏิเสธว่าเลือกตั้งไม่ดี เลือกแล้วได้คนเลว เราเอาวิธีอื่นดีกว่า ต้องแยกให้ออก

ต้องมองการประท้วงนี้ว่าเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบหนึ่ง การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีทั้งแบบอยู่ในกรอบและแบบไม่อยู่ในกรอบปกติ ในระบอบประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำได้แต่ถูกกฎหมายหรือเปล่า คุณมีสิทธิที่จะแสดงออกแต่คุณไม่ควรไปรุกล้ำสิทธิของคนอื่น ไม่ไปทำลายข้าวของ ถ้าผิดกฎหมายต้องมีการลงโทษ

เขาไม่ได้ประท้วงว่าการเลือกตั้งมันโกง เขาไม่พอใจที่คนนี้ได้รับการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ไม่พอใจกับการเลือกตั้ง เขาบอกว่า “นี่ไม่ใช่ประธานาธิบดีของฉัน แต่ฉันจะทำให้เขาจะเป็นประธานาธิบดีแค่สมัยเดียว” ตีความได้ว่า เป็นก็เป็น อีก 4 ปีว่ากัน วัฒนธรรมการเมืองที่ประชาธิปไตยอยู่ตัวแล้ว คนจะไม่โหยหาทางออกที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

การออกมาประท้วงเพื่อยั้งท่าทีของทรัมป์ต่อไป?

การเรียกร้องในระบบการเมืองจะมี 2 ทาง Exit ถ้าไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยูในสังคมก็เดินออกไป หรือ Voice ส่งเสียงออกมาให้เขารู้ว่าคิดอะไร มีกระแสว่าแคลิฟอร์เนียจะ Exit หรือจะ Voice เขาพูดให้ทรัมป์ได้ยินว่าเขาไม่อยากได้คนที่พูดด้วยความเกลียดชัง พูดเรื่องการเหยียด นักการเมืองอเมริกามีข้อดีอย่างหนึ่งคือใส่ใจเสียงประชาชน จะทำอะไรถ้าโพลออกมาว่าประชาชนไม่เอาด้วย นักการเมืองจะหยุดและฉุกคิด เพราะประชาชนจะลงโทษนักการเมืองจากการกระทำ

การประท้วงเป็นอาการหงุดหงิดอยากระบายออก เขาโกรธ แล้วก็ต้องต่อรอง เดี๋ยวก็ต้องยอมรับ ยังไงโครงสร้างทางการเมืองอเมริกาดีที่มีการกระจายอำนาจทางการปกครองเยอะมากจนคนไม่ต้องไปหวังกับประธานาธิบดีอย่างเดียว คนอเมริกันมีสิทธิเลือกตั้ง 200 ล้านคน ออกไปแค่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่คนเลือกทรัมป์เป็นแค่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ

คนไทยหยิบมาพูดว่า เลือกตั้งแล้ววุ่นวาย = ไม่เป็นประชาธิปไตย?

เขาประท้วงด้วยความเสียใจของผลการเลือกตั้ง ไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งไม่ดี เขาไม่ได้ปฏิเสธประชาธิปไตย เขาปฏิเสธคนที่ได้มา แต่ไม่ได้บอกว่าจะกลับไปเป็นเผด็จการ การประท้วงหลังการเลือกตั้งเกิดได้ตลอด สมัยจอร์จ บุช กับ อัล กอร์ เมื่อปี 2000 วันที่ประธานาธิบดีบุชสาบานตนรับตำแหน่งคนเป็นหมื่นเป็นพันคนก็ไปประท้วง

อเมริกายังมองว่าประชาธิปไตยคือคำตอบ แต่ประเทศไทยมีการประท้วงบางครั้งที่ไม่มองว่าประชาธิปไตยเป็นคำตอบสุดท้าย เอาอันอื่นแทนได้ไหม

การจัดโครงสร้างทางการเมืองหรือสถาบันทางการเมืองของแต่ละประเทศ มีกลไกที่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองในระบอบประชาธิปไตย มีกลไกแนวราบขึ้นมา องค์กรอิสระ ศาล องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น องค์กรอิสระที่จัดการเลือกตั้ง หรือกระทั่งการมี ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เป็นความรับผิดชอบในแนวราบ ใน 4 ปีนี้ ถ้าเราไม่พอใจระบอบที่เป็นอยู่ เราสามารถใช้กลไกพวกนี้ได้ แต่มีคำถามในบางประเทศที่องค์กรแนวราบไม่ได้ผลแล้ว จะอยากกลับไปออกแบบองค์กรแนวราบใหม่ หรือไม่เอาประชาธิปไตยแล้ว แต่การบอกว่าเลือกตั้งวุ่นวายแล้วไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ คุณไปประท้วงแล้วยังมองว่าประชาธิปไตยเป็นคำตอบสุดท้ายหรือเปล่า ต้องมองตรงนี้มากกว่า

คนอเมริกามองเรื่องเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งหรือยัง?

มองตามสถิติแล้ว นับตั้งแต่ปี 1912 ที่เป็นการเมืองอเมริกาสมัยใหม่ จนถึง 2016 ปัญหาที่คนที่ได้ที่สองแล้วชนะนั้นมี 2 ครั้งคือ ปี 2000 กับ 2016 ก่อนหน้านั้นไม่มีเลย ส่วนการเมืองอเมริกาสมัยเก่าหลังปี 1900 มีอีก 3 ครั้ง คือปี 1824, 1876 และ 1888

จากปี 1912-2016 มีเลือกตั้ง 27 ครั้ง เป็น 2 ครั้งจาก 27 ครั้ง ที่คนที่ได้ที่สองชนะ จึงไม่ได้มาก

ตอนปี 2000 หลังเลือกตั้ง ส.ส.คนหนึ่งพูดว่าเราควรจะคุยกันเรื่องไม่เอาอิเล็กเทอรัล คอลเลจ (EC) ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมามีข้อเสนอในการปรับปรุง EC 700 กว่าครั้ง ไม่ใช่ว่าเขาไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ แต่การเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่าย 1.จะแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของรัฐซึ่งเยอะมาก จึงบอกว่าแต่ละรัฐก็แก้แล้วกัน รัฐแมรีแลนด์แก้แล้วบอกว่าเสียง EC จะมอบให้คนที่ชนะป๊อปปูลาร์โหวต กฎหมายผ่านแล้วแต่ยังไม่ใช้ เพราะรัฐอื่นยังไม่เปลี่ยน

ตอนผมไปเรียน ปี 2002 พอปี 2004 ทุกคนก็ยังพูดเรื่องนี้อยู่ว่าถ้าผลเป็นแบบปี 2000 อีกจะเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เกิดเลยเงียบกันไป การประท้วงตอนนี้อาจผิดหวังกับ EC แต่คงไม่ลามไปว่าศาลสูงเข้ามาตัดสินว่าไม่ให้ทรัมป์เป็น อย่างมากตอนนี้ทุกคนประท้วงให้คณะผู้เลือกตั้งใน EC เปลี่ยนใจได้ไหม แต่คนพวกนี้ถูกเลือกโดยพรรคที่ต้องเลือกคนมีความจงรักภักดีสูงอยู่แล้ว มีเพียงตอนปี 2000 ที่คณะผู้เลือกตั้งคนเดียวปฏิเสธที่จะไปเลือกบุช แต่เสียงเดียวไม่พอ คนพวกนี้เองไม่ได้เลือกทรัมป์เพราะทรัมป์ แต่เลือกเพราะอย่างน้อยจะทำให้รีพับลิกันเป็นคนคุมการเมืองของประเทศด้วย

เด่น

ดูแล้วฝ่ายลิเบอรัลในสหรัฐตื่นตูมมากเกินไปไหม?

อันดับแรกต้องมองก่อนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คนออกไปเลือกน้อยมาก หายไป 5 เปอร์เซ็นต์หรือราวๆ 15 ล้าน อย่าไปโทษว่าทำไมทรัมป์ได้ ต้องโทษว่าทำไมผู้สมัครของพรรคตัวเองไม่สามารถดึงให้คนที่ครั้งหนึ่งเคยเลือกโอบามาออกมาได้ กลุ่มลิเบอรัลไม่ควรที่จะไปโทษคนอื่น แต่จงโทษฮิลลารี และฮิลลารีต้องโทษตัวเอง และต้องโทษโอบามาด้วยว่า ทำอย่างไรให้ความเป็นเดโมแครตหายไป

หลังจากนี้ความกังวลเกิดขึ้นได้แน่นอน ผู้แพ้ไม่ว่านักการเมืองจะออกนโยบายอะไรยังไงก็ไม่ถูกใจ พอไม่พอใจก็หวาดกลัว หากเราชนะการเลือกตั้งเราต้องดูแลเอาใจใส่คนแพ้ให้มาก ตอนนี้มีการประท้วง เราก็ต้องรับฟัง อย่างทรัมป์เองก็มีท่าทีที่อ่อนลง เพราะถ้าตอนนี้ทรัมป์ยังสุดโต่งไปเรื่อยๆ การประท้วงจะกลายเป็นไฟลามทุ่ง ดังนั้นเขาต้องตัดไฟแต่ต้นลม

ผู้คนกลัวกระแสขวาจะมาในทั่วโลก?

ขวาคือขวาของอะไรล่ะ นี่ผมไม่ได้กวนนะ (ยิ้ม) ในอเมริกาอาจมองว่าทรัมป์ขวา แต่พอไปอยู่ยุโรปอาจบอกว่าหมอนี่ซ้ายมาก ทุกคนพยายามบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ของขวาตั้งแต่เรื่องเบร็กซิทมาทรัมป์ และไปเรื่องดูแตร์เต อีก ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ ผมคิดว่าต่อไปทรัมป์จะใช้นโยบายที่ขวามากก็ไม่ได้ แต่ละประเทศมีสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่แค่นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองฝ่ายเดียวจะเป็นคนกำหนด จะมีกลุ่มธุรกิจ กลุ่มทางประชาสังคม การต่อสู้ของคนเหล่านี้เมื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งชนะก็จะลากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจไปทางใดทางหนึ่งได้ แต่วันหนึ่งเมื่อไม่สมดุลแล้วกลุ่มอื่นก็จะต่อสู้กลับ มันยากมากที่นักการเมืองขึ้นมาแล้วจะบอกว่าเราจะไปขวาเลย แล้วกลุ่มธุรกิจเขาจะไม่พูดอะไรเลยเหรอ

ถามว่าโลกเรากำลังไปขวาหรือไม่ ก็ต้องดูว่าสมดุลของโลกจะเปลี่ยนขนาดนั้นหรือเปล่า ยิ่งถ้าบอกว่าแบบสหรัฐ จริงๆ แล้วทรัมป์ไม่ได้ชนะนะ คนส่วนใหญ่เอาแบบฮิลลารี เพราะฉะนั้นอย่าไปตีความให้มันใหญ่เกิน ยกเว้นทุกคนจะขยับไปพร้อมๆ กัน ถึงจะขยับไปในทิศทางนั้น แต่ถ้ายังมีการดึงมีการต่อสู้ ก็เป็นการเคลื่อนไปนิดหนึ่งก่อนที่จะกลับมาที่เดิม

การประท้วงที่อเมริกาต้องขออนุญาตและอยู่ในพื้นที่?

ผมว่า 1-2 วันแรกคงไม่ได้ขออนุญาต มีกฎให้ขออยู่ แม้ไม่ได้ขออนุญาตแต่หากไม่ได้รุกล้ำสิทธิของผู้อื่น ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรง ตำรวจก็จะปรามๆ ทุกคนคงเชื่อว่าคงไม่น่ามีผลร้ายเกิดขึ้นถ้าไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องการควบคุมฝูงชนด้วย ในมุมหนึ่งการประท้วงก็เป็นการระบาย การแสดงออกของผู้คนยิ่งไปปิดกั้นอาจจะระเบิดก็เป็นได้ การประท้วงในประเทศที่พัฒนาแล้วเราก็คงรู้ว่าคงไม่ถูกล้อมปราบ ถูกยิง หรือถูกใช้อาวุธมาทำร้าย ทุกคนก็ไปโดยไม่กลัว แต่ถ้าอยู่ในประเทศที่ด้อยพัฒนาก็ควรระวัง เพราะการควบคุมฝูงชนอาจไม่เป็นมืออาชีพมากนัก

คนไทยส่วนหนึ่งมองภาพคำว่า ประท้วง ต่างไป?

ใช่ คนไทยมักติดภาพ เวลามีการประท้วงไม่ได้มองว่าเขาแสดงสิทธิของเขา แต่มองว่าเขารุกล้ำสิทธิของเรา พอประท้วงปุ๊บเราไม่คิดจะที่ถามว่าเขาประท้วงอะไร แต่สิ่งแรกที่เราคิดคือประท้วงอีกแล้ว และคนไทยประท้วงทีไรเลยขอบเขตไปมาก ที่ผ่านมาเมืองไทยมีประสบการณ์ร้ายๆ เกี่ยวกับการประท้วงเลยมองว่า เดี๋ยวก็เหมือนกับที่เราเคยเป็น แต่จริงๆ แล้วคนออกมาประท้วงเยอะก็จริง แต่ไม่ได้มีความรุนแรงขนาดนั้น

ขณะที่ไทยประท้วงแล้วผู้มีอำนาจไม่ค่อยฟัง?

สังคมไทยเวลามีการประท้วงเรากลับมองว่าคนที่ออกมาประท้วงรับเงินมา ผลประโยชน์ที่เขาต้องการคือการได้เงิน ผลประโยชน์ของเขาไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น เขาก็เลยไม่เชื่อว่าการออกมาประท้วงไม่ได้เกิดจากความจริงใจที่อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลง อันนี้จึงเป็นข้ออ้างที่จะปฏิเสธทุกอย่าง การประท้วงมีราคาที่ต้องจ่าย อาจคือการโดนจับ ขาดงาน ร้อน หิว เหนื่อย แต่ผลที่ได้มันคุ้มค่า คือมีการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดผลประโยชน์ตามมา

แต่สังคมไทยไม่เชื่อว่าคนทุกคนมีเจตนาดี โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองจะมองว่าเป็นเรื่องของการชักจูงคนที่ไม่เท่าทันทางการเมือง คนทุกสีเสื้อต่างมองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นคนที่ไม่ประสีประสา ไม่เท่าทัน ถูกชักจูง ถูกซื้อ คุณถูกเอาผลประโยชน์อย่างอื่นมาล่อมาดึงคุณให้ออกมาประท้วง ไม่ใช่ความต้องการที่จะเห็นสิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นกับสังคมและประเทศ ดังนั้นการประท้วงสำหรับคนไทยจึงมองว่าเป็นเรื่องของข้างใครข้างมัน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของชาติ

ส่วนตัวหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะก้าวพ้นจากจุดนี้ เลิกมองว่าคนที่ออกมาประท้วงเป็นคนที่ถูกซื้อ ถูกหลอก รับเงินมา แต่มองว่าพวกเขาเหล่านั้นออกมาประท้วงเพื่อประโยชน์ของสังคม

 

ล้อมกรอบ

 

เขาบอกว่าทรัมป์เหมือนทักษิณ?

หนึ่งในการจับคู่การเลือกตั้งสหรัฐกับการเมืองไทย กระแสหนึ่งในโลกโซเชียลเกิดการเปรียบเทียบ “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ “ทักษิณ ชินวัตร”

หนึ่งอาจเพราะเป็นนักธุรกิจที่โดดเข้ามาในแวดวงการเมือง

หนึ่งอาจเพราะบุคลิกโผงผาง พูดจาไม่เข้าหูบางคน

อ.อรรถสิทธิ์ไม่เห็นด้วยจากการจับคู่นักการเมืองสองคนนี้นัก

“อาจมองในแง่ว่าการเป็นคนนอกวงการเมืองแล้วเข้ามาสู่การเมือง การประสบความสำเร็จของทรัมป์ถือว่าเป็นอเมริกันดรีม คุณจะเป็นอะไรก็ได้ คุณฝันเถอะแล้วทำให้ดีที่สุด ทรัมป์เกิดในตระกูลคนรวยมีข้อได้เปรียบ แต่เขาก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เป็นคนดังในแวดวงทีวี ตัดสินใจมาในระบบการเมืองและประสบความสำเร็จ

“ถามว่าเหมือนทักษิณไหม ก็ไม่เหมือนนะ ทักษิณตอนเข้าพลังธรรม เขาเป็นนักธุรกิจที่คุณจำลองชักชวนมาเป็นนายทุนพรรค แล้วลงเลือกตั้ง มาพิสูจน์ตัวเองหลังจากนั้น การเป็นนักการเมืองในไทยหรือที่อื่นง่ายกว่าการเป็นนักการเมืองในอเมริกาที่คุณต้องต่อสู้รอบไพรมารี พิสูจน์ตัวเองระดับหนึ่งก่อน”

อ.อรรถสิทธิ์บอกอีกว่า บริบททางการเมืองของสองประเทศก็ต่างกัน กลไกด้านการเมืองที่จะคานอำนาจ ผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ต่างกัน ประชาชนเองก็มองนักการมืองต่างกันด้วย

“อาจมองในแง่ว่าเป็นนักธุรกิจเล่นการเมืองเหมือนกัน ใช่ แต่อย่างอื่นไม่เหมือนเลย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image