กิน ดื่ม เต้นรำไปกับจังหวะชีวิต อุทิศ เหมะมูล

ผลงานของเขาไม่เคยร้างลาไปจากร้านหนังสือ

เช่นเดียวกับชื่อเขา นอกจากรางวัลซีไรต์ที่ได้จากนิยายเรื่อง “ลับแล, แก่งคอย” ผลงานเรื่องอื่นๆ ที่ทยอยตามมาก็สร้างความหนักแน่น ตอกย้ำที่อยู่ที่ยืนบนเส้นทางสายการประพันธ์

หากเป็นสินค้า ชื่อของเขาก็กลายเป็นยี่ห้อที่ผู้คนจดจำได้และให้ความเชื่อถือ

อุทิศ เหมะมูล

Advertisement

เกิดและเติบโตที่อำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี เรียบจบคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ เรื่องสั้น และนวนิยายมาอย่างต่อเนื่อง

ในวัยเลขสี่ ผลงานของเขาดูจะกลมกล่อมลงตัวขึ้น

Advertisement

ผลงานต่อๆ มาหลัง ลับแล, แก่งคอย คือ On literature: คนชำรุดหรือมนุษย์โรแมนติก (2552) Japan and I (2554) ลักษณ์อาลัย (2555) นิยมนิยาย (2556) เกียวโตซ่อนกลิ่น (Kyoto : Hindden Sense) (2557) Writer’s Taste (2557) จุติ (2558) จักรวาลในหนึ่งย่อหน้า (2559)

และเล่มล่าสุด หัวใจนักเขียน เมื่อถึงเวลาต้องเปลือยบทบันทึกประสบการณ์ในอาชีพนักประพันธ์

ผ่านงานประจำช่วงรับบทบาทบรรณาธิการนิตยสารไรท์เตอร์ที่เพิ่งปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว

“ช่วงนั้นพักพอดี หลังเขียนนิยายเรื่องจุติเสร็จ เป็น 2 ปีที่เขียนนิยายค่อนข้างเหนื่อยหนักสาหัส เป็นจังหวะพอดีที่พี่ต้อ (บินหลา สันกาลาคีรี) กับพี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ชวนไปเป็น บก.นิตยสารไรท์เตอร์ เป็นช่วงย้ายสภาพตัวเองจากนักเขียนหนังสือไปเป็นบรรณาธิการแทน”

จากไรท์เตอร์ อุทิศย้ายตัวเองกลับมาลุยนิยายเล่มใหม่ ดูจะเป็นจังหวะที่ลงตัวพอดิบพอดี

ภาพของเขาในโลกออนไลน์ คือการดื่มด่ำเบียร์นอก ใช้วันหยุดสุดสัปดาห์กับอาหารฝีมือคนรัก คั่นเวลาด้วยการสเกตช์รูปยามว่าง

นั่นเป็นทั้งงานและวิธีการพักผ่อนของเขา หนังสือของอุทิศเล่มหนึ่งถูกวางอยู่ประจำร้านคราฟต์เบียร์ “Writer’s Taste” ผลงานที่ได้รับการยอมรับในวงการคนทำเบียร์ ดำลึกลงไปในประวัติศาสตร์น้ำสีอำพัน แหวกว่ายในจักรวาลของเบียร์ บรรยายมันออกมาในภาษาของนักประพันธ์

ไลฟ์สไตล์ของเขาดูช่างน่ารื่นรมย์

และแน่นอน ภายใต้ความลงตัว ไม่เคยมีอะไรง่าย

 

ผลงานล่าสุด “หัวใจนักเขียน” ใช้เวลาเขียนนานไหม?

หัวใจนักเขียนแบ่งเป็น 2 ส่วน 1.ส่วนที่เป็นบทบันทึกสั้นๆ เริ่มทำมาได้เกือบปีควบคู่กับที่เริ่มเขียนนิยายเรื่องใหม่ บันทึกความคิดหลังการเขียนงานวันนั้นว่าระหว่างการเขียนต้องเจอกับภาวะอารมณ์แบบไหน ความรู้สึกแบบไหน 2.บทความและบทบรรยายตามที่ต่างๆ ค่ายอบรมการขียน เรื่องศิลปะกับการเขียนที่บรรยายที่

เกียวโต ซึ่งเขียนไว้แล้ว แต่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหน คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์ที่จะเล่าให้คนทำงานหรือนักเขียนคนอื่นๆ ฟังได้

เล่มนี้เป็นคัมภีร์การเขียนได้ไหม?

ไม่ๆ เป็นแค่การแบ่งปันประสบการณ์มากกว่า ผมคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่น่าจะพอมีประโยชน์กับการแบ่งปันอยู่บ้าง จริงๆแล้วมันเป็นปัญหาของนักเขียนคนหนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับการทำงานที่โดดเดี่ยว เป็นสภาวะที่นักเขียนทุกคนต้องประสบพบเจออยู่แล้วเวลาเขียนหนังสือ เราต้องอยู่กับตัวเองอยู่กับการคิดกับเรื่องเล่าที่เราสร้างขึ้น

มีหลักการขั้นตอนในการเขียนไหม?

ไม่มีหลักการในการเขียน เป็นเรื่องอิสระมากสำหรับนักเขียนทุกคนว่าจะเขียนเนื้อหาเรื่องราวอย่างไร แต่เรื่องของข้อกำหนดระเบียบวินัยการทำงานนั้นต้องกำกับควบคู่ไปกับการทำงานเขียน นักเขียนก็แทบจะทำงานเหมือนคนทำงานประจำอื่นๆ ต้องมีเวลาเข้างาน

นักเขียนเป็นอาชีพที่อิสระมาก สิทธิในการกำหนดวิธีการทำงานก็เป็นของเรา ถ้ากำหนดไม่ได้ ก็ทำให้เอ้อระเหยไปตลอดวัน ต่อให้คุณมีเรื่องที่อยากเขียนมันออกมา แต่ถ้าไม่ผลักดันตัวเอง ไม่เอาศักยภาพหรือความสามารถถ่ายทอดออกมา มันก็ไม่มีวันปรากฏให้ใครได้เห็น นักเขียนจึงต้องสร้างข้อกำหนด ระเบียบวินัยให้ตัวเองในการทำงานเขียน

ช่วงเวลาเข้างาน?

ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 10 โมงครึ่งทุกวันจันทร์-ศุกร์ พักเสาร์อาทิตย์ ที่เหลือก็ทำกิจกรรมอื่นๆ ออกกำลังกายสักหนึ่งชั่วโมง เที่ยงขึ้นมากินข้าว อาบน้ำ บ่ายก็จะสบายๆ เช่น มีนัดสัมภาษณ์จะจัดตารางเป็นช่วงบ่าย งานไหนต้องเจอใครจะจัดเวลาเป็นช่วงบ่าย

ในระยะยาวคงไม่ได้วางเป็นปี แต่จะนับเป็นทศวรรษ ช่วงอายุ 40-50 ปี ใน 10 ปีนี้อยากได้นิยายสัก 2 เรื่อง บทความ Non-fiction 1 เรื่อง ใน 10 ปี กับงาน 3-4 เล่มก็น่าจะพอแล้ว เราเห็นว่าเราทำได้ แค่ต้องทำออกมาให้มันเป็นจริง

2

ทำงานเป็นอิสระ มีหลุดจากวินัยเวลาที่วางไว้ไหม?

ไม่ ต้องตื่นเพราะแฟนเราตื่น จริงๆ เวลาชีวิตก็ตั้งตามเวลาของภรรยานั่นแหละ 6 โมงครึ่งเขาออกจากบ้าน ตีห้าครึ่งเราก็ตื่น ล้างหน้าแปรงฟัน ชงกาแฟ อ่านหนังสือ รอจนเขาออกจากบ้านก็ปิดหนังสือเปิดโน้ตบุ๊กทำงานของตัวเอง แน่นอนมีบางวันที่เขียนไม่ได้ แต่ไปไหนไม่ได้ ก็ทรมานตัวเองอยู่ตรงนั้น เขียนไม่ได้ต้องนั่งอยู่อย่างนั้นจนหมดเวลา ลงโทษตัวเองไป (หัวเราะ) วันที่เขียนไม่ได้ ทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้มีบ่อยไป แต่ไม่เป็นไร ยังไงก็ต้องเข้างาน

ความมีระเบียบแบบนี้เป็นมาตั้งแต่เด็ก?

ไม่ (หัวเราะ) มาเป็นตอนเขียนหนังสือนี่แหละ เราต้องดูแลตัวเอง สมมุติถ้าเราอยู่ตัวคนเดียวแล้วยังจัดการชีวิตไม่ได้ก็ไม่มีอนาคตนะ จะมานั่งคร่ำครวญว่าไม่มีตังค์ งานน้อย แล้วได้อะไรล่ะ คร่ำครวญได้แต่ต้องวางแผนชีวิตด้วย

พอเรามาเป็น บก.นิตยสารไรท์เตอร์ เราเคยเป็นนักเขียนที่เพิ่งเริ่มต้นมาก่อน เวลาเด็กรุ่นใหม่เขียนเรื่องสั้นส่งมา เราจะบอกทุกคนเสมอด้วยความปรารถนาดีว่า เขียนส่งนิตยสารต่างๆ แล้วอย่าเอาแต่รอว่าเขาจะตอบว่าอะไร ระหว่างนั้นคุณก็เขียนเรื่องใหม่ ไม่ใช่เขียนเสร็จแล้วมัวแต่นั่งรอคำตอบว่าผ่านหรือไม่ผ่าน จดจ่ออยู่อย่างนั้น พอไม่ผ่านก็ผิดหวัง เสียใจ คุณต้องบริหารจัดการชีวิตให้ได้ เขียนเสร็จส่งแล้วลืมมันไป ทำอันใหม่ ทำให้เป็นวงจรชีวิตแบบนี้ แล้วคุณจะรู้สึกดีมาก

สมมุติ 2 เดือนคุณเขียนเรื่องสั้นได้ 5 เรื่อง ส่งกระจายออกไป เดี๋ยวก็มีคำตอบแล้วว่าอันนี้ผ่านอันนี้ไม่ผ่าน เป็นเหมือนดอกไม้ไฟในชีวิตคุณ มีด้านบ้าง แตกเป็นประกายออกมาบ้าง ให้ชีวิตคุณมีอะไรรออยู่ข้างหน้าตลอด เพราะคุณทำงานตลอด ไม่ใช่ทำชิ้นเดียวแล้วรออยู่นั่น มันต้องเดินไปเรื่อยๆ

มีโมเมนต์ที่อยากนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไรไหม? 

อยากตลอดแหละ แต่ทำงานเสร็จแล้วดื่มเบียร์มันอร่อยกว่านะ (ยิ้ม) อร่อยกว่าตอนทำงานไม่เสร็จ เป็นหนี้ของการเฉลิมฉลองชีวิตในแต่ละวัน ทำงานเสร็จเบียร์ก็อร่อย วันนี้ทำงานได้ดี อะไรที่จะให้ความสุขกับตัวเองมันก็สุขขึ้น อร่อยขึ้น โมเมนต์อยู่กับตัวเองไม่ทำอะไรเลย ก็มี แต่ไม่นาน นานที่สุดประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นก็ต้องลุกมาทำอะไรแล้ว ต้องเขียนอะไร อยู่ว่างๆ อย่างนั้นไม่ได้ต้องเขียนอะไรสักอย่าง อาจไม่ได้เขียนนิยายแต่เขียนบทวิจารณ์หนังสือ

มีการปรึกษาเรื่องงานกับแฟน?

ไม่ เป็นปัญหาของเรานี่ (ยิ้ม) เขาเป็นคนอ่านต้นฉบับคนแรกของเราเสมออยู่แล้ว เราไม่เคยเล่าให้เขาฟังก่อน เราไม่เคยยิงทีเซอร์ (หัวเราะ) เขาคงไม่ชอบทีเซอร์หรอก ไม่ต้องโม้ เอาที่เสร็จแล้วมาดู ไม่ชอบคนโม้ เย็นวันศุกร์นั่งดื่มด้วยกัน ถ้ามันมากก็เล่าด้วยความล้นภูมิใจว่าไปถึงไหนแล้ว รออีกแป๊บนึงนะจะได้อ่าน

ไม่ได้ขอคำปรึกษา?

ไม่ เดี๋ยวมาเอง ตอนอ่านต้นฉบับครั้งแรก เขาจะคอมเมนต์เอง แล้วผมจะแก้บางกรณี บางเรื่องเรายืนยันได้ว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการ คุยถึงที่สุดแล้วเข้าใจกันได้ก็ไม่มีปัญหา แต่บางเรื่องที่เขารู้สึกอย่างรุนแรงว่าไม่ใช่ ไม่ผ่าน ก็มีมาแล้วไม่ใช่ไม่เคย และนิยายเรื่องนั้นก็ไม่ได้เผยแพร่ที่ไหน ตายอยู่ข้างบนนั้นไม่ได้เอาออกไปไหน เป็นเรื่องที่อยู่ตรงกลางระหว่าง “ลักษณ์อาลัย” กับ “จุติ” ตอนนั้นจะไม่ได้เป็นจุติแต่ออกมาเป็นเรื่องนี้ อยากเขียนอะไรผ่อนคลายสบายๆ แบล็กคอมเมดี้ แต่ม้วนเลย คิดว่าคงไม่หยิบมาทำใหม่ เขาอาจจะไม่ชอบ ท่าที ลูกเล่น ทั้งที่มันมีศักยภาพที่จะไปได้มากกว่านั้น เราถูกผลักดันในลักษณะแบบนี้ แต่มันก็ดีใช่ไหมล่ะ ตัวนั้นพับไปงอกเป็น “จุติ” ขึ้นมา

อุทิศ

กับคนรัก มีการจัดเวลาไหม?

เขาทำงานประจำ วันจันทร์-ศุกร์ เราอยู่คนเดียวที่บ้าน เสาร์อาทิตย์อยู่ด้วยกัน ก็จะให้สิทธิที่จะได้อยู่ด้วยกันกับภรรยาก่อน เช่น ถ้ามีงานเชิญไปเป็นวิทยากรวันเสาร์อาทิตย์ส่วนใหญ่จะปฏิเสธ จะบอกว่าอยู่กับครอบครัว นอกจากเป็นงานที่เราอยากไป อันนี้ก็ต้องคุยกันว่าขอไปนะ นานๆ ที (หัวเราะ)

ชอบทำอาหารกัน?

ผมทำไม่เป็น ส่วนแฟนทำเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตชีวา วันศุกร์เสาร์อยากออกไปจากการทำงานประจำ เหมือนเป็นการเติมชีวิตชีวาตัวเองสำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ เราแค่เชียร์อยู่ข้างๆ (หัวเราะ) เขาจะถามว่าวันนี้อยากกินปลาไหม หรือดูในเว็บมีเนื้อแกะแบบพิเศษมาลองดูไหม ก็ทำ เราเป็นนักชิมและนักถ่ายรูป อาจจะจับคู่อาหารกับเบียร์ บางทีเขาบอกว่าวันนี้จะเริ่มด้วยสลัดอะโวคาโด ต่อด้วยเนื้อปลากะพงย่าง เราก็นึกว่าสลัดกินกับเบียร์สไตล์ไหนดี แบบไหนไปด้วยกันได้

ดูสนุกกันคนละทาง?

ใช่ (ยิ้ม) เราก็จะตื่นเต้นกัน เป็นการทดลองเพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่อาหารจะออกมาถูกใจคนทำ อาจจะยังไม่ใช่ สัปดาห์หน้าก็เอาใหม่ การจับคู่เบียร์ก็เหมือนกัน เบียร์บางตัวไม่ได้เข้ากับอาหารบางชนิดไปทั้งหมด เหมือนส่วนผสมบางชนิดเป็นปฏิปักษ์กัน แทนที่จะได้เต้นรำไปด้วยกันก็กลายเป็นคู่แค้น เช่น เบียร์บางประเภทไม่เหมาะกับอาหารทะเล ขับความคาวของอาหารทะเลออกมามากขึ้น เบียร์ชนิดอื่นอาจไปด้วยกันได้ เป็นเคมีของอาหารแต่ละอย่าง

เบียร์ตัวไหนรู้สึกว่าสุดยอดเท่าที่ดื่มมา?

มีหลายตัวนะ แต่ตัวที่เราชอบและสนใจ ส่วนใหญ่ที่จะโดนมาก คือพวกอิมพีเรียลสเตาต์ เบียร์สีดำเข้มมากๆ ต้องเอาไปหมักในถังไม้ที่เคยใช้หมักเครื่องดื่มชนิดอื่นมาก่อน เช่นถังหมักเบอเบิน เตกีลา ไวน์ วิสกี้ เป็นสเปเชียล อิมพีเรียลสเตาต์ วงเล็บต่อท้ายว่า Barrel aged จะเพิ่มสัมผัส เพิ่มรส เพิ่มกลิ่น ให้มิติเนื้อเบียร์มากกว่าสเตาต์ที่ได้ เราจะได้กลิ่นไม้สน ซีดาร์ ไม้โอ๊กที่ใช้ทำถังหมักจะมีกลิ่นไม่เหมือนกัน

การรับรสที่ละเอียดเกิดจากอะไร?

ต้องมีประสบการณ์ ตอนแรกที่เรากินดิน มันก็คือดิน มีความสากร่วน เหมือนที่ใครกินสเตาต์แล้วชอบพูดว่า รสเหมือนซุปไก่สกัด ซีอิ๊วซอส เพราะมันคือคำที่คนส่วนใหญ่ให้คำจำกัดความ เมื่อไหร่ที่เราทะลุออกจากคำจำกัดความนั้นได้ เพราะเรามีความสนใจ ใส่ใจมัน ตามรสชาติมันไป

เวลาที่เราเห็นคนต่างประเทศรีวิว โอ้โห ตัวนี้ได้ 100 คะแนน สีเป็นยังไง ฟอง บอดี้ รสชาติ อาฟเตอร์เทสต์เป็นยังไง อื้อหือ ขนาดนั้นเลยเหรอ อยากรู้ก็ลองดู กลิ่นแบบนี้ใช้ศัพท์ใช้คำแบบนี้ ก็คือประสบการณ์นั่นแหละ

เบียร์อย่างสเตาต์ แบบเข้มหนักทางกาแฟ ก็ต้องบอกว่ากาแฟไหน เอสเพรสโซ่ มอคค่า หรือผสมนมเนยเยอะ มีแลคโตสออกหวานไปทางนม หรือวนิลา ขมแบบช็อกโกแลต สัมผัสบางเฉียบหรือเข้มข้น บางทีเขียนว่ามอเตอร์ออยล์ มันหนืดข้นเหนียวเหมือนน้ำมันดิน เราเริ่มจับคำนั้นเข้าไปแทน เริ่มมีคำของเราไปแทนคำว่าซุปไก่สกัดหรือซีอิ๊ว

อุทิศ2

ตอนเขียน Writer’s Taste ทำการบ้านเยอะไหม?

พอสมควร หนังสือที่เราเขียนเป็นความชอบส่วนตัว ใช้เวลากับมัน เสียเงินเสียทองกับมันอยู่แล้ว เป็นความบ้า ความลุ่มหลง ไม่ใช่ว่าอยากเขียนเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วทำรีเสิร์ช อะไรที่เราสนใจอยากได้ข้อมูลก็ไปสืบค้นบ้าง แต่ไม่ใช่การตั้งโจทย์แล้วไปทำวิจัยเพื่อเขียน เริ่มจากความบ้า ความชอบส่วนตัว นั่งดูนั่งอ่านจนระยะหนึ่งมั่นใจว่าเขียนแล้วเซียนเบียร์ทั้งหลายจะไม่ด่า (ยิ้ม)

เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเบียร์หรือยัง?

ไม่ และพยายามกันตัวเองออกทุกที เป็นผู้เชี่ยวชาญให้ได้อะไรขึ้นมา เรื่องพวกนี้ในท้ายที่สุดมาจบว่า ชอบหรือไม่ชอบ ไปตั้งไกลแต่กลับมาเพื่อบอกว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นแหละ ก็มันสนุกไงที่ไปตั้งไกลเพื่อกลับมาตอบว่าอยากกินอะไรก็กินเถอะ แต่จะไม่อวดเก่งปากดีทั้งที่ไม่เคยลุกไปไหนแล้วบอกว่าอยากกินอะไรก็กินเหอะ จะไม่ทำนิสัยแบบนั้น

เห็นกลับมาวาดรูป?

เพิ่งกลับมาวาดรูป เป็นส่วนที่เกี่ยวกับนิยายเรื่องใหม่ งานเล่มนี้ไม่จบที่ตัวหนังสืออย่างเดียว ก่อนหน้านั้นไม่ได้วาดเลย เหมือนกลับมาหาภาษาที่ครั้งหนึ่งตัวเองเคยถนัด เคยเชี่ยวชาญ เพราะจบมาทางสายนี้ ลองหาวิธีที่วรรณกรรมจะไปเชื่อมกับศิลปะแขนงอื่น เราจะพาวรรณกรรมไปไหนได้บ้าง

มีอะไรที่อยากทำอีกไหมนอกจากงานเขียน?

คงไม่มีแล้วแหละ คงใช้ความสามารถในการเขียนหนังสือได้ ยืนยันตัวตนของตัวเองในการมีชีวิตอยู่ที่เหลือไปจากนี้ ถ้ามีประสบการณ์อย่างอื่น อะไรที่เราไม่รู้เข้ามาท้าทายก็ไม่ปิดตัวเอง เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รู้มากที่สุด หรือเต็มตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้ามีอะไรเข้ามากระทบกระแทกจนทำให้รู้สึกว่าเปิดมุมมองใหม่ๆ สามารถก้าวไปจากขอบเขตประจำวันอันน่าเบื่อได้ เราก็พร้อมที่จะทำ พร้อมที่จะไป

มองกลับมา คนที่ชื่ออุทิศเป็นยังไง?

ก็เป็นคนเรื่อยเปื่อยนะ (หัวเราะ) ไม่หรอก มันเป็นเวลาที่สบายๆ มาก เวลามานั่งสัมภาษณ์ ช่วงเวลาที่เราเคี่ยวเข็ญกับตัวเองมากๆ ผ่านไปแล้วในแต่ละวัน ช่วงเวลาที่เราเอาเป็นเอาตายมากๆ กับตัวเอง คือช่วงเวลาที่เราเขียนหนังสือ และวันนี้ผ่านไปแล้ว ที่เหลือของวันเราก็เรื่อยเปื่อยสนุกสนานเฮฮา เติมความสุขให้ตัวเองได้ ไม่มีใครอยากเห็นตอนเราทำงานเขียนหรอก และไม่ควรมีใครเห็น เพราะมันไม่น่าดู เต็มไปด้วยสิ่งที่คาดหวัง เคี่ยวเข็ญ ทำโทษ เป็นเรื่องของความบ้ามากเวลาที่คุณเขียนหนังสืออยู่คนเดียว (หัวเราะ)

คิดว่าตัวเองโหดร้ายกับชีวิตไหม?

ก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ตราบใดที่คุณมีโอกาสเคี่ยวเข็ญกับตัวเองได้คุณก็ต้องทำ ในวันที่คุณเฉื่อยชาจนไม่สามารถจะก้าวออกไปไหนได้แล้ว คุณไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ วันที่คุณรับฟังใครไม่ได้ อยู่ในจุดที่คนอื่นตำหนิไม่ได้ หรือไม่ยอมรับฟังอะไรเลย มันไม่ควรเป็นแบบนั้น

ทุกวันนี้ก็ฝึกตัวเองอยู่ตลอดว่าอย่างน้อยเราต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งมันก็ออกมาจากผลงานของตัวเราเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image