ดินแดนอุษาคเนย์ : คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

อ่านแล้วอยากแนะนำต่อ

หนังสือดีอีกเล่มชื่อ “วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน” เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความที่สุจิตต์เขียนลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ในปี 2558 แล้วรวบรวมมาเป็นเล่ม

หนังสือเล่มนี้ ตัวอักษรน้อย รูปประกอบมีพอสมควร

Advertisement

ขณะที่ความรู้เรื่องอุษาคเนย์เต็มเปี่ยม

เนื้อหาภายในเล่มบรรจุสิ่งที่คนไทยควรรู้เข้าไป อย่างน้อยก็ควรรู้ว่าบรรพบุรุษของผู้คนแถบถิ่นนี้เป็นมาอย่างไร

เมื่อผืนดินโลกยังปะติดปะต่อกันอยู่…อาเซียนเป็นแผ่นเดียวกัน

Advertisement

แต่ภายหลังแผ่นดินที่เชื่อมต่อได้แยกออกเป็น 2 ส่วนใหญ่

ส่วนหนึ่งเรียกว่า แผ่นดินใหญ่

อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า หมู่เกาะ

แผ่นดินใหญ่มีเขตแดนกว้างไกล ทิศเหนือถึงทะเลสาบเตียนฉือที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน จีน

ทิศตะวันออก ถึงมณฑลกวางสี-กวางตุ้ง จีน ทิศตะวันตก ถึงลุ่มน้ำพรหมบุตร แคว้นอัสสัม อินเดีย

และทิศใต้ ถึงมาเลเซีย-สิงคโปร์ ปัจจุบัน

ขณะที่หมู่เกาะ นอกจากหมู่เกาะอันดามันกับหมู่เกาะนิโคบาร์ในทะเลอันดามันแล้ว

ยังมีขอบเขตครอบคลุมถึงฟิลิปปินส์และหมู่เกาะทางทะเลใต้ เช่น อินโดนีเซีย ติมอร์ และบรูไน เป็นต้น

สำหรับไทยอยู่กึ่งกลางอุษาคเนย์พอดี

แผ่นดินไทยในปัจจุบันคือจุดศูนย์กลางของภูมิภาคนี้มาตั้งแต่อดีต

แผ่นดินนี้มีทะเลขนาบ 2 ด้าน คือ ทะเลจีนและทะเลอันดามัน

ภูมิประเทศแบบนี้ ทำให้มีฝน มนุษย์ดำรงชีพด้วยกสิกรรม

ภูมิประเทศเช่นนี้จึงเป็นศูนย์กลางการเดินทาง และศูนย์กลางการค้าด้วย

แผ่นดินผืนนี้จึงแบ่งโลกออกเป็นโลกตะวันออก และโลกตะวันตก ไปโดยปริยาย

โลกตะวันออกมี จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นอาทิ โลกตะวันตกมี อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย ยุโรป เป็นต้น

ขณะที่วัฒนธรรมอุษาคเนย์นั้นเป็นวัฒนธรรมร่วม

หนังสือเล่มนี้แบ่งวัฒนธรรมดังกล่าวออกเป็น 2 ระยะ

ระยะก่อนอินเดีย คือ ก่อนรับอารยธรรมจากอินเดีย ตั้งแต่หลายแสนปีจนถึงราว พ.ศ.1000

และระยะหลังอินเดีย หมายถึง หลังรับอารยธรรมจากอินเดีย ตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000 เป็นต้นมา

อารยธรรมอินเดียที่เข้ามาได้ประสมประสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิม แล้วก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่

มีทั้งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน

แบ่งออกได้อีก 3 ระยะ คือ ระยะที่รับศาสนาพราหมณ์-พุทธ ระยะรับศาสนาอิสลามและอื่นๆ

และระยะรับอาณานิคม

พอย้อนกลับไประยะก่อนอินเดีย สุจิตต์ได้อธิบายด้วยถ้อยคำและข้อความที่มองเห็นภาพ เข้าใจง่าย

เช่น เป็นช่วงที่ คนน้อย พื้นที่มาก ชายแดนไม่มี อยู่กันแบบบ้านพี่เมืองน้อง

มีความหลากหลายแต่คล้ายคลึง

นับถือศาสนาผี ยกย่องเพศแม่ ผู้หญิงเป็นหัวหน้าเผ่า สืบสายตระกูลทางฝ่ายหญิง

มีความเชื่อว่า คนเกิดจากน้ำเต้า มีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ”

มีวิธีการทำศพ เก็บศพ และฝังศพ

ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อเรื่องสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น หมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี

งู-กบ-คางคก เป็นสัตว์ผู้บันดาลน้ำ

ตะกวด-แลน-เหี้ย ก็เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในยุคดึกดำบรรพ์

รวมไปถึงจระเข้ ซึ่งยุคต่อๆ มาได้นำมาทำเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “จะเข้”

เชื่อว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ส่งเสียงศักดิ์สิทธิ์ มีพลังในการสื่อสารกับผี

บรรพชนให้ปกปักคุ้มครองลูกหลาน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้น

คนอุษาคเนย์กินข้าวเป็นอาหารหลัก เคี้ยวหมาก นอบน้อมถ่อมตน

ขณะที่วัฒนธรรมหลังอินเดีย ได้เปลี่ยนการนำจากหญิงเป็นยุคที่ชายเป็นใหญ่

เป็นการเปลี่ยนแปลงหลังจากรับเอาศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ เข้ามา

จากนั้นได้ผนวก 2 ศาสนาเข้ารวมกับความเชื่อเดิม

กลายเป็นต้นกำเนิดการบวชนาค การทำขวัญนาคในพิธีบวช

เกิดตัวอักษรทวารวดี อักษรเขมร อักษรมอง อักษรกวิ ท้ายสุดเป็นอักษรไทย

ปรากฏเรื่องแต่งมหากาพย์รามายนะ มหาภารตะ หนัง โขน ละคร

ประเพณีสงกรานต์ ศิลปะลายกนก

และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นเนื้อหาของหนังสือเล่มที่กล่าวถึง

อ่านแล้วหลายเรื่องที่เคยนึกไปว่าเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของไทย

แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีพบว่าไม่ได้เป็นวัฒนธรรมเฉพาะ

หากแต่เป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์

เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน

หนังสือเล่มนี้มีคุณค่า เป็นหนังสือที่คนไทยควรอ่านกันทุกคน

อ่านหนังสือเล่มนี้จบ คิดถึงสมัยเรียนที่มีหนังสืออ่านนอกเวลา

นึกในใจว่า “วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ควรเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา

หนังสืออ่านในเวลา กระทรวงศึกษาธิการจะบอกกล่าวอะไรก็ว่าไป

แต่ควรมีหนังสือประเภทนี้ไว้ให้ “อ่านนอกเวลา”

อ่านแล้วสนุก อ่านแล้วเข้าใจง่าย และที่สำคัญคือช่วยเปิดโลกทรรศน์

ทำให้มองเห็นบางสิ่งที่ก่อนหน้านี้มองไม่เห็น หรืออาจเห็นเพียงด้านเดียว

แต่เล่มนี้ช่วยมองให้เห็นอีกด้านอีกมุม

มองเห็นมนุษย์ มองเห็นการดำรงชีวิต “ร่วมกัน” ของไทยและอาเซียน

มองเห็นพัฒนาการของคนในดินแดนแห่งนี้…

ดินแดน “อุษาคเนย์”

สั่งซื้อได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Ituibooks 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image