เศร้าแค่ไหนจึงจะเรียกโรคซึมเศร้า : คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน

คุณสุภาพสตรีท่านหนึ่งพาลูกสาวมาพบจิตแพทย์เนื่องจากลูกสาวเครียดหลังทะเลาะกับเพื่อนสนิท ฟังแล้วเป็นปัญหาวัยรุ่นโดยทั่วไป แต่กรณีนี้ซับซ้อนนิดหน่อยตรงที่เพื่อนสาวที่เพิ่งคบกันหลังเข้ามหาวิทยาลัยคนนี้ สนิทมากถึงขนาดคุณแม่สงสัยว่าอาจจะเป็นแฟนสาวของลูกสาวมากกว่าแค่เพื่อน คุณแม่เป็นคนหัวสมัยใหม่จึงไม่ได้ต่อต้าน แต่ก็ยอมรับว่ารับมือไม่ถูกเหมือนกัน เรื่องนี้ยังไม่น่าห่วงมากเท่าหลังทะเลาะกับเพื่อนคนนี้ ลูกสาวก็ร้องไห้เกือบทุกคืนหลังกลับจากมหาวิทยาลัย กินได้น้อยลง เริ่มไม่อยากไปเรียนและไม่เข้าห้องเรียนทั้งที่เดิมไม่เคยโดดเรียน ไม่ส่งงานตามกำหนด

ทั้งหมดนี้ยังไม่น่ากลัวเท่ากับเมื่อลูกสาวเครียดมากจึงไปคุยกับเพื่อนสนิทว่าเธอทำตัวให้แม่ผิดหวัง เพื่อนสนิทก็มาทิ้งเธอไป เธอไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไรอีก ถึงตรงนี้ก็รีบพามาพบจิตแพทย์และรักษาโรคซึมเศร้าเลยค่ะ

“หลังลูกสาวกินยารักษาซึมเศร้ามาช่วงนึงก็ดีขึ้นมากเลยค่ะ แต่พอเขารู้ผลสอบว่าคะแนนออกมาเกือบตกทุกวิชาเขาก็เศร้าลงไปอีก ร้องไห้มา 2 คืนแล้ว บอกกับแม่ว่าเขาจะขอหยุดเรียนเทอมหน้าเพื่อพักใจให้หายก่อน แม่ไม่รู้ว่าตกลงอาการซึมเศร้ากำเริบขึ้นมาอีกหรือเปล่าคะ”

“เรื่องการกินการนอนของน้องกลับมาปกติหรือยังคะ แล้วช่วงที่ขอหยุดเรียนเขาวางแผนจะทำอะไร เขายังพูดเรื่องไม่อยากมีชีวิตต่อไปอีกไหมคะ”

Advertisement

“กินได้ดีขึ้นมากค่ะ น้ำหนักขึ้นมาแล้ว นอนได้ปกติ เขาบอกว่าตอนหยุดเรียนอยากไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศแต่ก็รอดูก่อน บางทีอาจจะกลับมาเรียนต่อเทอมหน้าก็ได้ถ้าทำใจเรื่องเกรดได้แล้ว ไม่คิดเรื่องตายแล้วค่ะ”

เมื่อคุณแม่ออกจากห้องตรวจ นักศึกษาแพทย์ที่มาเรียนในห้องตรวจก็ยกมือถามอย่างสงสัย คำถามน่าสนใจมาก คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการเสียใจของผู้ป่วยเกิดจากโรคกำเริบซึ่งหลักการรักษาอาจต้องเพิ่มปริมาณยาอีก กรณีนี้จากคนเรียนดีกลับเกือบสอบตกก็ต้องเศร้าเป็นธรรมดา แล้วเราจะประเมินได้อย่างไรว่าเป็นความเศร้าปกติที่ไม่ต้องปรับยาหรือเศร้าเพราะโรคกำเริบจึงต้องปรับยา

ย้อนกลับไปที่ “Yuri!!! on ICE” แอนิเมชั่นซีซั่นล่าสุดนี้ ว่าด้วยเด็กหนุ่มที่เคยเป็นนักกีฬาฟิกเกอร์สเก๊ตชั้นนำความหวังของญี่ปุ่น หลัง “ยูริ” แพ้ในการแข่งขันติดต่อกันหลายครั้ง เขากลับมาบ้านเกิดด้วยความท้อแท้และรู้สึกละอายใจที่ทุกคนในเมืองคาดหวังว่าเขาจะกลับไปรุ่งเรืองและสร้างชื่อเสียงให้บ้านเกิดในฐานะตัวแทนของญี่ปุ่นอีก กระทั่งโปสเตอร์โปรโมตการท่องเที่ยวของเมืองยังมีรูปเขาเมื่อครั้งอดีตติดอยู่ด้วย ยูริมีหลายอาการที่ดูคล้ายโรคซึมเศร้าซึ่งซึมเศร้าในวัยรุ่นอาจไม่ได้มีความเศร้าโศกเสียใจแบบในผู้ใหญ่ก็ได้

Advertisement

โรคซึมเศร้ามักจะมีอาการดังต่อไปนี้ต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาการทางอารมณ์ ได้แก่ รู้สึกว่าชีวิตไม่สนุกหรือไม่มีความสุข วัยรุ่นหลายคนไม่ได้เศร้าแต่ “เบื่อ” รู้สึกว่าสิ่งที่เคยชอบทำกลับทำแล้วไม่สนุกเหมือนเคย ยูริเองเคยชอบสเก๊ตแต่ตอนนี้เล่นเท่าไรก็ไม่สนุกค่ะ สมาธิความจำมักจะแย่ลงแต่วัยรุ่นมักบอกว่า “ขี้หลงขี้ลืม” หรือ “ขาดความมั่นใจ” ซึ่งยูริเองก็ไม่กล้าตัดสินใจว่าควรจะแข่งหรือไม่แข่งต่อไปดี เขาลังเลจนน่าโมโหหลายครั้งเลยค่ะ ความรู้สึกสิ้นหวังต่อทุกสิ่งและไม่เชื่อว่าจะมีทางไหนช่วยให้ดีขึ้น

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะให้กำลังใจยูริว่าถ้าตั้งใจฝึกซ้อมก็จะกลับมายิ่งใหญ่ได้ ยูริก็ไม่เคยเชื่อ ความภาคภูมิใจในตัวเองหายไปทำให้วัยรุ่นมักจะรู้สึกว่าตัวเอง “เฟล” หรือล้มเหลวในทุกเรื่อง จริงอยู่ว่าคนธรรมดาก็รู้สึกล้มเหลวและเฟลได้แต่คนซึมเศร้าจะจมอยู่กับความรู้สึกไร้ค่าและแทบมองไม่เห็นข้อดีใดๆ ของตัวเองเลยซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าคนเราจะไม่มีอะไรดีสักอย่าง

อาการทางกายในโรคซึมเศร้า ได้แก่ นอนไม่หลับ มีตั้งแต่เข้านอนแล้วหลับยากหรือตื่นตี 2 แล้วไม่หลับต่อจนเช้า วัยรุ่นหลายคนพอนอนไม่หลับก็จะอึดอัดทรมานจึงเล่นโซเชียลจนถึงตี 3-4 ให้เพลียหลับไปเอง บางคนก็ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้หลับ พลังงานจะน้อยลงทำให้วัยรุ่นหลายคนบ่นว่าเหนื่อยง่ายจึงมีปัญหาไม่เข้าเรียนเพราะลุกจากเตียงไปเรียนไม่ไหว ยูริก็ไม่ซ้อมเพราะบอกว่าเหนื่อยเร็ว การกินเปลี่ยนไปโดยวัยรุ่นอาจจะไม่ได้เบื่ออาหารจนผอมเหมือนผู้ใหญ่แต่จะกินเยอะขึ้นเพื่อให้อาหารเป็นเครื่องบรรเทาความรู้สึกเบื่อเศร้าโดยเฉพาะ comfort food บางคนจึงอ้วนขึ้นเหมือนที่ยูริเป็น บ่อยครั้งที่มีอาการไม่สบายตัวหลายอย่างปรากฏขึ้นโดยตรวจไม่พบความผิดปกติ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง วิงเวียน อ่อนเพลีย จึงดูเหมือนเป็นคนป่วยกระเสาะกระแสะ

ถ้าอาการเหล่านี้เป็นนานกว่า 2 สัปดาห์และทำให้ชีวิตปั่นป่วน เช่น เรียนแย่ลงมาก ทำงานผิดพลาดมากขึ้นเห็นได้ชัด หรือมีปัญหากับคนรอบข้างมากขึ้น ต่อให้ความเศร้าจะมีสาเหตุที่สมเหตุสมผลอย่างสอบตก อกหัก ญาติเสียชีวิต เราก็จะนึกถึงอาการของโรคซึมเศร้ามากกว่าความเศร้าปกติค่ะ นักศึกษาสาวและยูริดูจะหายเศร้าแล้วทั้งคู่เพราะเธอกลับไปกินนอนและใช้ชีวิตได้ปกติและมีความหวัง ส่วนยูริก็กลับไปฮึดฟิตซ้อมร่างกายเพื่อลงแข่งอีกครั้ง

คนที่ต้องได้รับการดูแลต่อไปคือคุณแม่นี่ล่ะค่ะ ผู้ที่ใกล้ชิดผู้มีปัญหาสุขภาพจิตก็อาจจะป่วยเองสักวันเหมือนกัน ดังนั้น หน้าที่ของเหล่าจิตแพทย์นอกจากดูแลผู้ป่วยแล้วก็ต้องดูแลญาติผู้ป่วยด้วยค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image