กลับบ้าน : คอลัมน์ ประสานักดูนก

การสำรวจเหยี่ยวอพยพ ณ เขาเรดาร์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสร็จสิ้นฤดูกาลเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อาสาสมัครที่เป็นนักดูนกชาวสิงคโปร์ มีกำหนดบินกลับบ้าน วันที่ 12 พฤศจิกายน ผมต้องเดินทางไปรับเขา มาส่งที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อมิให้เสียเที่ยว จึงนำนกนักล่าตัวหนึ่งไปปล่อยคืนป่าดิบใกล้เขาเรดาร์ด้วย 1 ตัว

“เหยี่ยวรุ้ง” ชื่อ “เขาเขียว รหัส KU361” เป็นเหยี่ยวรุ้งพันธุ์มลายู ที่สวนสัตว์เขาเขียวส่งมาให้ฟื้นฟูสุขภาพเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติด้วย สภาพขนสำหรับบินหักยับเยิน ตั้งแต่เมื่อปี 2558 เมื่อตรวจร่างกายเช็กการติดเชื้อไข้หวัดนกและโรคนิวคาสเซิล ว่าปลอดโรค ไม่พบพยาธิในเลือด เขาเขียวเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสุขภาพ ในกรงฝึกบินขนาดใหญ่ยาว 15 เมตร เพื่อฝึกบิน ออกกำลังกาย และผลัดขนชุดใหม่ เพื่อให้พร้อมกลับไปทำหน้าที่นักล่าในธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง

สายๆ ของวันที่เสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน ทีมปล่อยประกอบด้วย คุณ Wang Luan Keng อาสาสำรวจเหยี่ยว นิสิตช่วยงานและคนเขียน เดินทางนำเขาเขียวเข้าไปที่ป่าดิบใกล้หมู่บ้านคีรีล้อม ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาล้อมรอบด้วยป่าดิบ สวนยางและสวนปาล์ม ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ

ทำเลปล่อยเป็นสันเขา ที่ขนาบด้วยเทือกเขาสูงชัน ที่เป็นสันปันน้ำแบ่งป่ารอยต่อระหว่างประเทศเมียนมาและไทย มีศาลพ่อปู่เขาใหญ่ตั้งเด่นเป็นสง่า สังเกตว่าชาวบ้านขับรถหรือขี่รถมอเตอร์ไซค์เมื่อใด มักจะบีบแตรส่งสัญญาณให้ความเคารพต่อศาล ใกล้กันมีต้นกร่างขนาดใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา ปกคลุมบริเวณรอบๆ จนร่มครึ้ม พินิจดูแล้วนับเป็นสัปปายะสำหรับปล่อยเจ้าเขาเขียวคืนป่า สิ่งแวดล้อมปลอดภัยด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ป่าดิบหนาทึบ บ้านอันอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ใหญ่ ไว้เกาะพักผ่อน และอาหารมากพอ สำหรับนกนักล่าอีก 1 ตัว

Advertisement

“เหยี่ยวรุ้ง” เป็นนักล่างู และกินงูเป็นหลัก ไม่เลือกว่ามีพิษหรือไม่ เห็นเมื่อไรเป็นพุ่งเข้ามา เหยี่ยวจะใช้กรงเล็บแหลมคมขยุ้มตัวงู ไม่ให้เลื้อยหนี แล้วใช้จะงอยปากคมจิกที่หัวของงูให้ตายคากรงเล็บ ก่อนจะฉีกกินเนื้อทีละคำ

ในประเทศไทย พบเหยี่ยวรุ้ง 3 พันธุ์ “เหยี่ยวรุ้งพันธุ์มลายู” เป็นพันธุ์ประจำถิ่น ในป่าดิบภาคใต้ที่มีขนาดเล็กที่สุด ต่างจาก “พันธุ์พม่า และพันธุ์จีน” ที่จะพบอพยพผ่านประเทศไทยในช่วงต้นฤดูหนาว

แม้ว่าเหยี่ยวรุ้งพันธุ์พม่าจะทำรังวางไข่ในประเทศไทย พบได้ในภาคเหนือ อีสาน และภาคตะวันตกด้วย แต่พันธุ์พม่านี้ในประเทศอื่นๆ ของอาเซียน อาทิ ลาว เวียดนาม อพยพผ่านบ้านเรา เช่นเดียวกับพันธุ์จีนที่อพยพมาจากภาคใต้ของประเทศจีนและเวียดนามเหนือ

การปล่อยนักล่าคืนถิ่นครั้งนี้ ให้เกียรติ “หวัง หลวนเก่ง” อาสาชาวสิงคโปร์ เป็นผู้คืนอิสรภาพ First Flight ให้เจ้าเขาเขียว เพราะเธออุตส่าห์เสียสละ ขนาดเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบิน มาอาสาช่วยสำรวจเก็บข้อมูลเรื่องเหยี่ยวอพยพในบ้านเราถึง 2 สัปดาห์ทีเดียว และดูท่าจะติดใจบรรยากาศชมเหยี่ยวอพยพเขาเรดาร์ เธอเปรยไว้ก่อนบินกลับบ้าน เมื่อคืนวันเสาร์ว่าจะกลับมาช่วยนับเหยี่ยวอพยพอีกในปี 2560 แถมจะชักชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงนักดูนกสิงคโปร์ให้มาชมความมหัศจรรย์ของสายธารเหยี่ยวอพยพในบ้านเราอีกด้วย

เราในฐานะเจ้าบ้านก็พลอยปลื้มใจ และคงต้องช่วยกันอนุรักษ์รักษา ปกป้องเหยี่ยวอพยพ และถิ่นอาศัยตลอดเส้นทางอพยพ ให้คงอยู่ในธรรมชาติไปตราบนานเท่านาน เป็นมรดกทางธรรมชาติของเราและมนุษยชาติครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image