ไม่มีอะไรให้ปล่อยวาง : คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น

เราได้ยินคำว่า “ไม่ยึดติด” และคำว่า “ปล่อยวาง”

หมายถึงไม่ยึดติด ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งตัวตนของเรา

และว่าไปถึง หากไม่ปล่อยวางตัวตนของเรา ก็จะปล่อยวางอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเมื่อยังมีความเป็นเรา จะเป็นต้นเชื้อของความคิดต้องการอย่างโน้น ไม่ต้องการอย่างนี้ เพื่อให้ตัวตนของเราได้อย่างโน้นได้อย่างนี้

ขยายการยึดติดและกระทั่งยึดติดความคิดที่ไม่ยึดติดขึ้นมา

Advertisement

การยึดติด “ความคิดว่าไม่ยึดติด” นี่แหละที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจในเรื่อง “การยึดติด”

และ “ความคิดว่าไม่ยึดติด” นี่ก็เป็น “การยึดติด” อีกแบบหนึ่งเพียงแต่ซับซ้อนขึ้น

กระทั่งวันหนึ่งเกิดตระหนักรู้ขึ้นในจิตเองว่า “ไม่ยึดติด” นั้นเป็นเพียงคำอธิบายการได้ตระหนักรู้ว่า “สรรพสิ่งเกิดขึ้นในโลก หรือในจักรวาลนี้ด้วยการประกอบกันขึ้นของปัจจัยต่างๆ มากมาย และแต่ละปัจจัยมีความแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา แต่ขึ้นอยู่กับการจัดการของเราบ้าง ขึ้นอยู่กับการจัดการของคนอื่นบ้าง ขึ้นอยู่กับการผสมผสานระหว่างการจัดการของใครต่อใครมากมายหลายคนบ้าง หรือไม่ขึ้นกับการจัดการของใครเลย แต่แปรเปลี่ยนเป็นไปตามแรงผลักดันของสิ่งต่างๆ เมื่อประกอบขึ้นมาแล้วก็เป็นไปอย่างนั้น บางครั้งเป็นไปเหมือนกับที่เราอยากให้เป็น บางครั้งไม่เหมือน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วจะเหมือนหรือไม่เหมือนเป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปเช่นนั้นเอง”

Advertisement

เพราะตระหนักรู้ความเป็นไปเช่นนี้ จึงเกิดความตระหนักรู้ต่อไปว่า “ไม่ยึดติด” หรือ “ปล่อยวาง” นั้นไม่ตรงกับ “ความคิดต้องไม่ยึดติดหรือต้องปล่อยวาง” แต่เกิดขึ้นเพราะความตระหนักรู้ว่า “ในความแปรเปลี่ยนด้วยการประกอบขึ้นของเหตุปัจจัยสารพัดตามที่กล่าวมาแล้ว”

และความตระหนักรู้เช่นนั้น จะเกิดความรู้ขึ้นมาเองว่า “ไม่มีอะไรที่จะยึดถือเป็นความแน่นอนได้” เป็นความเข้าใจใน “ปล่อยวาง” ว่าคือ “ไม่มีอะไรให้ยึดถือ” นั่นเอง

มิใช่เรื่องของการ “วางอะไร” แต่ที่แท้แล้วคือ “มันไม่มีอะไรให้ต้องถือหรือต้องวางตั้งแต่ต้นแล้ว”

ความยุ่งยากเกิดจากการไปหลงว่า “มันมี” หรือ “มันต้องวาง”

เมื่อเกิดความตระหนักรู้ถึงความแปรเปลี่ยนนี้ จะเข้าใจในภารกิจของชีวิตว่ามีเพียงอยู่กับ “สติ” ตระหนักถึงปัจจุบันขณะ และเมื่อสตินั้นมั่นคงจนเกิดสมาธิหนักแน่น จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่าจะจัดการอย่างไรให้ชีวิตสอดคล้องกับความเป็นไปของปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบันขณะได้ เข้าใจถึงความเป็นไปของสรรพสิ่งว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะผลจากเหตุปัจจัยที่มาประกอบกันขึ้น”

เพราะเหตุปัจจัยที่มีมาสารพัด มีการคำนวณมากมายที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะแปรเปลี่ยนไปด้วยแรงผลักของอะไร หรือกระทั่งแรงผลัก แรงเหวี่ยงนั้นก็ยังไม่คงที่แน่นอน แปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่มาประกอบเป็นแรงนั้นด้วยเช่นกัน

ด้วยความตระหนักรู้ จึงทำให้รู้ต่อเนื่องไปว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”

และความเข้าใจ “ภาวะมันเป็นเช่นนันเอง” จะก่อให้เกิดความรู้ว่า “ไม่มีอะไรที่ยึดถือได้”

ซึ่งรวมถึงความรู้ว่า “วางลงเสีย” ในความหมายที่แท้

เป็นความหมายที่เกิดจากการตระหนักรู้ ไม่ใช่ที่เกิดจากความคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image