สานศิลป์เพื่อสายน้ำเพชร : คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน

แม่น้ำเพชรบุรี (แฟ้มภาพ)

เพื่อนเก่าแก่สมัยขาสั้นชื่อ “ทอม” หรือ “จำลอง วิลัยเลิศ” เจ้าของร้านอาหารและเกสต์เฮาส์ระเบียงริมน้ำในตัวเมืองเพชร ซึ่งอยู่ติดกับเชิงสะพานจอมเกล้าฯ ส่งข่าวบอกผมในกล่องข้อความของเฟซบุ๊กว่า…ถ้าว่างเรียนเชิญนะครับ

“เรากำลังจัดงานเพื่อความเข้าใจในสายน้ำเพชร หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Phetchaburi River Arts and Music ในวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2559 ณ บริเวณลานสุนทรภู่ ท่าน้ำวัดพลับพลาชัย อ.เมือง จ.เพชรบุรี”

พร้อมกันนั้น เขาก็แนบรายละเอียดการจัดงานตลอดทั้งวันมาให้อีก 2 หน้า A4

ผมอ่านแล้วก็ให้รู้สึกดี

Advertisement

เพราะทราบมาตั้งนานแล้วว่า “ทอม” นอกจากจะทำธุรกิจร้านอาหาร เกสต์เฮาส์ เขายังทำธุรกิจกรุ๊ปทัวร์ด้วย โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ที่ชอบเที่ยวป่า แบกเป้ กางเต็นท์นอนดูดาว ดูเดือนบนเทือกเขาพะเนินทุ่ง บริเวณอุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจาน

ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นชาวต่างชาติที่ชอบการผจญภัย พวกเขาจะแวะมาพักที่เกสต์เฮาส์สักวันสองวัน ก่อนที่จะเดินทางไปพักค้างแรมที่ป่าแก่งกระจาน

หรืออาจเลยไปถึงป่าละอู

ป่าเด็งก็เคยมี

นอกจากนั้น เพื่อนผมคนนี้ยังเป็นนักอนุรักษ์แม่น้ำเพชรด้วย ดังนั้น หากมีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์แม่น้ำเพชร โดยเฉพาะสมัยที่ “ปู่เย็น” ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะคอยช่วยอยู่เบื้องหลัง

จนทำให้เขามีเครือข่ายนักอนุรักษ์แม่น้ำเพชรอยู่พอสมควร

แต่สำหรับงาน “เพื่อความเข้าใจในสายน้ำเพชร” เขาเขียนบอกในรายละเอียดของงานว่าเหตุผลในการจัดงานครั้งนี้มีอยู่สองเรื่องด้วยกัน

หนึ่ง แม่น้ำเพชรบุรีเป็นหนึ่งในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพราะตามโบราณราชประเพณีจะใช้น้ำจากแม่น้ำทั้ง 5 ในประเทศสยาม คือ แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อประกอบพระราชพิธีต่างๆ โดยเฉพาะพิธีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ก็จะนำน้ำจากที่นี่เช่นกัน

โดยเรื่องนี้มีการบันทึกไว้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2411 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามที่ปรากฏในตราสารว่า…ด้วยกำหนดพระฤกษ์การพระราชพิธีราชาภิเษกในวันพุธ เดือน 12 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ต้องการน้ำเข้าพระราชพิธี จึงให้พระยาเพชรบุรีตักน้ำจากบริเวณท่าไชยจำนวนหนึ่งหม้อ โดยเอาใบบอนปิดปากหม้อ แล้วเอาผ้าขาวหุ้มปากหม้อ ด้ายผูกติดมัดตราประจำครั่ง แต่งให้กรมการผู้ใหญ่คุมลงไปส่งยังพระนคร

ต่อมาเมื่อมีพระราชพิธีราชาภิเษกสมโภชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการจัดพระราชพิธีตามมณฑลต่างๆ สำหรับมณฑลราชบุรี จัดขึ้นที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี

โดยได้ใช้น้ำเพชรเฉพาะพระราชพิธีนี้

กระทั่งมาถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ก็ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี โดยประกอบพิธีน้ำอภิเษก ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำที่เป็นสิริมงคล ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์วัดท่าไชย ตำบลสมอพลอ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

สำหรับเรื่องน้ำเพชรเป็นน้ำเสวยนั้น มีบันทึกไว้เช่นกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2465 ดังความตอนหนึ่งว่า…

“เรื่องแม่น้ำเพชรบุรีนี้เคยทราบมา แต่ถือกันว่าเป็นน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่า นิยมกันว่ามันมีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งพระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้ว เสวยน้ำอื่นๆ ไม่อร่อยเลยต้องส่งน้ำเสวยจากเมืองเพชรบุรี และน้ำนั้นเป็นน้ำเสวยจริงๆ ตลอดมากาลปัจจุบัน”

ความตามพระราชหัตถเลขาดังกล่าว นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของชาวเมืองเพชรที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่าน้ำเพชรนั้นดี จืด อร่อย แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังโปรดเสวยน้ำเพชรที่ท่าไชย

ตรงนี้นับเป็นเกียรติภูมิที่ชาวเพชรบุรีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมาจนปัจจุบัน

แต่กระนั้น ก็มีบันทึกต่อว่า ความสำคัญของน้ำเพชรได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2465 ทั้งนี้ เพราะทางราชการพิจารณาแล้วเห็นว่าแม่น้ำเพชรบุรีตลอดสองฝั่ง มีบ้านเรือนของราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น น้ำในลำน้ำมีสิ่งปฏิกูลสกปรก ไม่เหมาะสมที่จะเป็นน้ำเสวยอีกต่อไป

จึงกราบบังคมทูลในรายงานของพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2465 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสให้งดการตักน้ำจากแม่น้ำเพชรนับแต่นั้นสืบไป

สอง เนื่องเพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พสกนิกรชาวเพชรบุรีต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เพราะตลอดเวลาผ่านมาหลายสิบปีพระองค์ทรงให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวเพชรบุรีในหลายๆ ด้าน

โดยเฉพาะเรื่องที่ทางทำกิน การเกษตร และการจัดการทรัพยากรทางน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้น ในฐานะพสกนิกรของพระองค์ คณะกรรมการจัดงานจึงจัดโครงการต่างๆ น้อมถวายความอาลัยแด่พระองค์ อาทิ นิทรรศการโครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นิทรรศการศิลปะเพื่อน้อมรำลึก และแสดงความอาลัยถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ประกวดวาดภาพในหัวข้อ “สานศิลป์เพื่อสายน้ำ”

พร้อมกับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์จากวงดนตรี Symphonic River Brand และนิทรรศการสมบัติแม่น้ำเพชร และกิจกรรมปั้นดินให้ดังมาแสดงด้วย

ส่วนอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ “ช่างทองร่วง เอมโอษฐ” ศิลปินปูนปั้นเมืองเพชร จะนำงานปั้น “พระนารายณ์ประทับบนพญานาค” ชื่อ “เทพเจ้าแห่งสายน้ำ” มาร่วมแสดงนิทรรศการศิลปะ “ครูทรัพยากรน้ำของแผ่นดิน” ด้วย โดยมาพร้อมกับศิลปินเมืองเพชรอีกหลายสิบคน

ขณะที่กิจกรรมอื่นๆ “ทอม” อธิบายต่อว่า จะมีนั่งเรือท้องแบน, พายเรือคยัคล่องแม่น้ำเพชร ในความคิดที่ว่า…ได้เห็น จึงได้คิด บริเวณท่าน้ำวัดพลับพลาชัย จนถึงท่าน้ำวังบ้านปืน

ทั้งนั้น เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนเห็นและสัมผัสแม่น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งยังเห็นความแตกต่างของระบบนิเวศลุ่มแม่น้ำเพชรสองฟากฝั่ง อันจะก่อให้เกิดขบวนการคิดที่จะนำไปสู่การดูแลรักษาแม่น้ำเพชรอย่างยั่งยืนต่อไป

โดยภายในงานทั้งหมดจะเริ่มตั้งแต่แปดโมงครึ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2559 ไปจนถึงสี่ทุ่ม แต่ทว่าเวลาหกโมงครึ่งในตอนเย็น ผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะทำพิธีจุดเทียนถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมกับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

เพราะฉะนั้น ถ้าใครสนใจ และอยากไปร่วมงาน “เพื่อความเข้าใจในสายน้ำเพชร” หรือ” Phetchaburi River Arts and Music” เรียนเชิญนะครับ

แล้วเจอกัน ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image