ภารกิจสุดท้าทายของ ‘ทวารัฐ สูตะบุตร’ ผู้อำนวยการ OKMD ‘ลดช่องว่างการเรียนรู้ สร้างสังคมแห่งโอกาส’

ภารกิจสุดท้าทายของ ‘ทวารัฐ สูตะบุตร’ ผู้อำนวยการ OKMD ‘ลดช่องว่างการเรียนรู้ สร้างสังคมแห่งโอกาส’

ก้าวสู่เดือนที่ 3 สำหรับ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ป้ายแดง ผู้ซึ่งตัดสินใจลาออกจากงานราชการ ทั้งๆ ที่ตำแหน่งหน้าที่การงานในกระทรวงพลังงานกำลังไปได้สวย กลับมาสมัครเป็นผู้อำนวยการ OKMD และได้รับการคัดเลือกในที่สุด

ถือเป็นการเปลี่ยนบทบาทของตัวเองครั้งใหญ่ จากที่นั่งบริหารงานราชการ มาบริหารงานในองค์การมหาชนแทน โดย OKMD เป็นองค์การมหาชน ที่มีเป้าหมายขยายโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรม แหล่งเรียนรู้ และองค์ความรู้ตามแนวโน้มเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้แก่คนไทยทุกช่วงวัย โดยจัดระบบการเรียนรู้สาธารณะ และการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ภูมิปัญญาของประชาชน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัย

หลายคนอาจจะไม่คุ้นกับ “OKMD” แต่หากเราพูดถึง สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park และ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม ทุกคนคงจะร้องอ๋อทันที

เพราะ OKMD เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้ง TK Park และมิวเซียมสยาม สถาบันที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เปิดกว้างให้ทุกคน ทุกช่วงวัย เข้ามาแสวงหาตัวตน ตามความสนใจ และมุ่งหาความรู้ให้ตนเอง

Advertisement

ส่วนสาเหตุที่ ดร.ทวารัฐ ยอมทิ้งอนาคตในเส้นทางชีวิตรับราชการ ทั้งๆ ที่กำลังไปได้สวย จากตำแหน่งโฆษกกระทรวงพลังงาน ก้าวขึ้นมาเป็นรองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ก่อนจะขยับขึ้นนั่งรองปลัดกระทรวงพลังงาน และได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แต่กลับเปลี่ยนเส้นทางเดินมานั่งบริหารงานในบทบาทหน้าที่ใหม่ เป็นผู้อำนวยการ OKMD เพราะมองเห็นอะไรบางอย่างในถนนสายนี้

“เมื่อรับราชการมาถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว เห็นว่าความท้าทายในสังคมไทยค่อนข้างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นด้านการศึกษา เลยสนใจประเด็นการศึกษาเป็นพิเศษ จึงอยากจะเข้ามา ผลักดันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้สังคมไทย”

⦁ อยากให้เล่าจุดเริ่มต้นของการทำงาน จนยอมมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ OKMD?
ผมเป็นข้าราชการมา 23 ปี ก่อนหน้านี้รับทุนรัฐบาล ซึ่งเป็นทุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2536 จนเรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา กลับมารับราชการ และอยู่ในแวดวงราชการมานาน

Advertisement

ที่จริงตระกูลผมเป็นข้าราชการมายาวนาน ผมอยากจะรับใช้ชาติ และอยากเปลี่ยนแปลงสังคมไทย อยากจะทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง

ในอดีต ผมเองก็มีพี่ๆ น้องๆ ที่เคยทำงานอยู่ในกระทรวงพลังงาน ได้ไปทำงานใน OKMD แล้วเล่าให้ฟังว่างานที่ OKMD มีความท้าทายแบบไหนบ้าง และในปีที่ผ่านมา ได้ทราบว่าทาง OKMD อยู่ระหว่างการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ เลยตัดสินใจลาออกจากราชการมาลงสมัคร และได้รับการสรรหาให้มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ OKMD แม้จะเปลี่ยนบทบาท แต่ผมยังรับใช้ชาติ รับใช้ประชาชนอยู่ แม้ OKMD เป็นองค์การมหาชน แต่เงินเดือนที่ผมได้รับ จ่ายด้วยภาษีของพี่น้องประชาชนทุกคน

⦁ เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่เลยหรือไม่ เพราะต้องลาออกจากราชการ ที่อยู่มายาวนานถึง 23 ปี?
ใช่ครับ ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งหนึ่ง เพราะระบบราชการ การทำงานอีกแบบหนึ่ง มีระเบียบแบบแผน มีการทำงานที่ชัดเจน แต่องค์การมหาชน จะมีวิธีการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่ามีความท้าทายมากกว่า โจทย์ค่อนข้างชัด แต่ต้องทำงาน เชื่อมโยงนโยบายเข้ากับหน่วยงานหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง เมื่อมีความยืดหยุ่น ก็ทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับชุมชน และเอกชนได้

⦁ มาเป็นผู้อำนวยการ OKMD ถือเป็นการพลิกบทบาทของตัวเอง เพราะทำงานด้านพลังงานมาตลอดหรือไม่?

ไม่ถึงกับพลิกบทบาท เพราะยังทำงานที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ตอนผมทำงานอยู่กระทรวงพลังงาน โจทย์ใหญ่ของกระทรวงพลังงาน คือความรับรู้ที่อาจจะคลาดเคลื่อนในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้เรื่องระบบพลังงานในไทย กลไกนโยบาย กลไกราคา มีมายาคติเยอะ ว่าเรื่องนั้นน่าจะเป็นเรื่องนี้เรื่องนี้น่าจะมีเรื่องนั้นซ่อนอยู่ เพราะฉะนั้น หน้าที่หลักอีกหน้าที่หนึ่งของกระทรวงพลังงาน คือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การสร้างกระบวนเรียนรู้ อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเห็นว่าที่หน่วยในกระทรวงพลังงาน จะมีกลไกในการให้ความรู้อยู่ หากเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็จะมีศูนย์เรียนรู้ มีพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการด้านพลังงานของประเทศอยู่แทบจะทุกที่ เป็นต้น

ตัวผมเองตอนที่รับราชการในกระทรวงพลังงาน ก็มีโอกาสเป็นโฆษกกระทรวงอยู่หลายโอกาส เคยทำงานใกล้ชิดกับชุมชนผ่านโครงการที่ชื่อว่าพลังงาน ชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่ชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น การผลิตพลังงานใช้เอง เป็นต้น จึงถือเป็นการพลิกในระดับหนึ่ง แต่ว่าผมยังทำงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ และเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความรับรู้ที่ถูกต้อง

⦁ อะไรคือความท้าทายในการทำงานของ OKMD?

ในภาพใหญ่ สังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ ประเด็นเหลื่อมล้ำที่ใหญ่ที่สุด คือความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการเรียนรู้ พูดง่ายๆ ก็คือ สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ถ้าหากเป็นผู้มีอันจะกิน หรืออยู่ในสังคมชั้นสูง หรือสังคมที่ดูแลตัวเองได้ จะมีโอกาสเรียนมากกว่าคนอื่น รู้มากกว่าคนอื่น เรียนสูงกว่าคนอื่น แต่ถ้าอยู่ในชั้นพีระมิดของคนที่ลำบาก การเรียนรู้ก็จำกัด ทางเลือกก็น้อย โอกาสที่จะได้เรียนสูงๆ หรือรู้มากๆ ก็น้อยกว่าคนอื่น

ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น ปณิธานของผม และความตั้งใจของ OKMD คืออยากจะขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมไทยลดช่องว่างของการเรียนรู้ลง ซึ่งนำไปสู่การที่สังคมไทยเป็นสังคมแห่งโอกาส เพราะคนรู้มากขึ้น โอกาสย่อมมากขึ้น เราเชื่อว่าความรู้สร้าง GDP ได้

OKMD อยากให้สังคมไทยเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น สามารถเข้าถึงในต้นทุนที่ต่ำ เข้าถึงทุกช่วงวัย เป็น Lifelong Learning คือเป็นการเรียนรู้รูปแบบใด เหมาะกับช่วงวัยใด OKMD ก็พร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริม เช่น การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ ไม่ได้เรียนรู้ผ่านตัวหนังสือเท่านั้น การเรียนรู้ที่สำคัญของเด็กปฐมวัย คือการเล่น โครงการที่ OKMD ผลักดันและโปรโมตอยู่เสมอ คือการพัฒนาสนามเด็กเล่น โดยเน้นการเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) จะมีคู่มือให้เลยว่า หากโรงเรียนใด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใด สนใจที่จะพัฒนาสนามเด็กเล่น ที่เน้นพัฒนาสมอง สามารถนำคู่มือที่ OKMD ออกแบบไว้ไปใช้ได้ เรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีหนังสือ ห้องสมุด หรือพิพิธภัณฑ์ ให้ดูสิ่งแปลกใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ถ้าช่วงวัยไหนต้องการเล่น เราต้องส่งเสริมให้เด็กได้เล่นในทิศทางที่สามารถพัฒนาสมองได้ ซึ่งพบว่ามีโรงเรียนสนใจนำคู่มือของ OKMD ไปใช้จำนวนมาก

นอกจากสนามเด็กเล่นแล้ว การพัฒนาสมองที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ บอร์ดเกม ในความจริงแล้วบอร์ดเกมอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน หลายคนอาจจะคุ้นเกมเศรษฐี หมากรุก เป็นต้น เกมเหล่านี้มีส่วนช่วยในการพัฒนา และฝึกสมองทั้งสิ้น ฉะนั้น การพัฒนาให้บอร์ดเกม หรือการเล่นเกม เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ เป็นหน้าที่ และภารกิจหนึ่งของ OKMD ซึ่งปัจจุบัน OKMD ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ผ่าน TK Park

⦁ อะไรคือจุดอ่อน จุดแข็ง ของ OKMD?
จุดแข็ง และโอกาสของ OKMD คือเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมา มีเป้าหมายที่ชัดเจน คือมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป หรือการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้ของสังคมไทย ที่นอกเหนือจากรั้วโรงเรียน และมหาวิทยาลัย เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะพยายามขับเคลื่อนองคาพยพของเราในการทำโครงการ หรือกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้

จุดแข็งอีกอย่างของ OKMD คือเรามีหน่วยงานย่อยที่ทำภารกิจนี้อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด หน่วยงานย่อยที่สำคัญคือ TK Park และ Museum Siam ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน ถือว่าเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ

TK Park ได้พลิกโฉมห้องสมุด จากเดิมที่คิดว่าน่าเบื่อ เก่าคร่ำครึ เข้าไปเจอบรรณารักษ์สูงวัย กับบรรยายกาศหลอน ตั้งแต่ TK Park จัดตั้งขึ้นประมาณ 15-16 ปีที่แล้ว ได้เปลี่ยนความคิดของห้องสมุดใหม่ ว่าที่จริงแล้วห้องสมุดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่พื้นที่อ่านเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ขายฝัน สร้างฝัน และสานฝัน ทำให้เกิดความฝันใหม่ๆ และทำให้ความฝันที่ว่านั้นเป็นจริงได้ โดยการบริการของ TK Park ค่อนข้างกว้างขวาง แม้จะอยู่ในรูปของห้องสมุด แต่ยังมีบอร์ดเกมให้เล่น มีห้องสมุดเสียง ให้ยืมอุปกรณ์ดนตรี ดังนั้น TK Park ถือเป็นแบรนด์หลักที่ทำให้เห็นว่าการเรียนรู้ได้ถูกพลิกโฉมไปแล้ว

หน่วยย่อยที่สำคัญต่อมา คือมิวเซียมสยาม สมัยก่อนคนคิดถึงพิพิธภัณฑ์ ก็จะเห็นภาพหยากไย่เข้ามาในหัวก่อน แต่มิวเซียมสยามถือเป็นต้นแบบใหม่ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการค้นพบด้วยตนเอง ที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ หรือ Discovery Museum คือเน้นเล่าเรื่อง และให้คนรู้สึกสนุกกับเรื่องเล่านั้นๆ ไม่ได้เน้นโชว์ของ ของมีโชว์จริง แต่ไม่ใช่จุดหลัก และการเล่าเรื่องนั้น เป็นการเล่าเรื่องไปในทิศทางที่อยากให้เห็นภาพสู่อนาคต ตลอด 16-17 ปี ของมิวเซียมสยาม ได้ให้ความสำคัญกับรากเหง้าความเป็นไทย คือความเป็นคนไทย วัฒนธรรมไทย สังคมไทย มีประวัติศาสตร์ที่สามารถเล่าเรื่องได้ แต่ในอนาคต ก็ได้ชี้ให้เห็นเช่นกันว่ารากเหง้าของความเป็นไทย สามารถต่อยอดอะไรได้บ้าง สามารถทำให้เกิด Soft Power อะไรได้อีก ทิศทางที่มิวเซียมสยามต้องการให้ผู้คนรับรู้คือ หนึ่ง รับรู้รากเหง้าความเป็นไทย และสอง สามารถต่อยอดความเป็นไทยสู่เศรษฐกิจในอนาคตได้

ส่วนข้อจำกัด หรือจุดอ่อนของ OKMD จะคล้ายองค์การมหาชนอื่นๆ ทั่วไป คืออาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ได้รับสนับสนุน เพราะ OKMD เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา หรือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของคน ซึ่งรัฐต้องเป็นหลักลงทุน ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่เข้าใจ เพราะรัฐมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้น OKMD ต้องปรับตัว สร้างศักยภาพของตนเองเพื่อหารายได้เพิ่ม ต้องมีพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศ จากเอกชน และจากชุมชนเข้ามาช่วยกัน

⦁ OKMD ก่อตั้งมา 18 ปีแล้ว ปัจจุบันได้ขยายฐานการเรียนรู้ทั่วประเทศ?
ใช่ครับ ปัจจุบัน OKMD ได้ขยายศูนย์การเรียนรู้ไปทั่วประเทศ มี TK Park 31 แห่ง ใน 24 จังหวัด มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ห้องสมุดชุมชนกระจาย 200 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ความรู้กินได้ 16 แห่ง ใน 15 จังหวัด ส่วน Museum Siam ได้กระจายตัวในหลายพื้นที่ โดยใช้กลไกหลัก คือให้มีพิพิธภัณฑ์หลักประจำแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ มิวเซียมลำปาง ภาคใต้ มิวเซียมภูเก็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาเปิดมิวเซียมภาคกลางที่สิงห์บุรี และภาคอีสานอยู่ระหว่างผลักดันเช่นกัน

ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ TK Park และมิวเซียมสยาม 332,040 คน และตั้งแต่ต้นปี 2565 มีประชาชนที่เข้าถึงและได้รับการถ่ายทอดนวัตกรรม และองค์ความรู้ ผ่านสื่อออนไลน์ไปแล้ว 92,308,526 ครั้ง

⦁ สิ่งที่อยากผลักดันในฐานะผู้อำนวยการ OKMD?
ผมไม่อยากทำอะไรใหม่ เพราะมั่นใจว่าที่นี่พัฒนาต้นแบบมาอย่างดีอยู่แล้ว แต่มีสิ่งที่ต้องการขับเคลื่อนต่อเนื่อง คือการผลักดันเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Lifelong Learning โดยจับกระแสความต้องการความรู้ของคนไทยในอนาคต 5-10 ปีต่อจากนี้ คนไทยควรต้องรู้อะไร เท่าที่ผมทำรีเสิร์ช และมีโอกาสพบปะกับผู้รับบริการหลากหลายรูปแบบ มีสิ่งที่อยากให้คนไทยรู้มากที่สุดคือ 1.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเทคโนโลยี 2.ความรู้ด้านการเงิน การลงทุน ซึ่งไม่ใช่ความรู้เรื่องที่เกี่ยวกับธนาคาร การลงทุน และการออมเท่านั้น จะเป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย การลงทุนรูปแบบใหม่อย่างไรไม่ให้ถูกหลอก 3.ความรู้ด้านสุขภาพ ทำอย่างไรให้ไม่เจ็บป่วย ถ้าเจ็บป่วยจะทำอย่างไรให้พลิกฟื้นเร็วที่สุด และ 4.ความยั่งยืน เช่น พลังงานสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จากนี้ไปผมจะพยายามขับเคลื่อนให้ OKMD สามารถถ่ายทอดความรู้ หรือรวบรวมเรียบเรียงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ 4 เรื่องนี้ ให้อยู่ในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอด

⦁ ได้รวบรวมข้อมูลหรือไม่ ว่ามีคนช่วงวัยใดเข้ามาใช้บริการมากที่สุด?
ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ TK Park และมิวเซียมสยาม ส่วนใหญ่จะเป็นนิสิต นักศึกษา จนถึงวัยทำงานต้นๆ แต่ในอนาคตเราอยากจะเพิ่มการให้บริการไปสู่วัยที่หลากหลาย เช่น เด็กปฐมวัย วัยผู้ใหญ่เต็มตัว หรือคนที่ทำงานแล้วมาใช้บริการ เพราะทิศทางในอนาคต มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ใหญ่หลายคนที่ทำงานมาพักหนึ่ง อาจจะต้องเปลี่ยนวิถีการทำงาน ไปอัพสกิล รีสกิล

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ในอดีตช่างกล ช่างไฟฟ้า ที่ทำงานในโรงงาน ถ้านายจ้างไม่เป็นคนไทย ก็เป็นนายจ้างฝรั่ง หรือไม่ก็นายจ้างญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันนายจ้างจีน และมีโรงงานที่มาจากจีนมากขึ้น จำเป็นต้องเรียนภาษาจีน เพราะต้องรู้ศัพท์เทคนิคด้านภาษาด้วย ซึ่งผมมีความตั้งใจว่าจะต้องอัพสกิล รีสกิลบางส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีโรงงานจากจีนมาตั้งเยอะขึ้น เรื่องภาษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น หากเป็นการพัฒนาด้านภาษา หรือด้านคอมพิวเตอร์ ถ้า OKMD สามารถทำได้ ก็พร้อมที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะ

⦁ ช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด TK Park และมิวเซียมสยาม ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?
ได้รับผลกระทบเยอะมาก ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ เดินทางไม่ได้ เราพยายามจัดกิจกรรม และปรับวิถีใหม่โดยใช้ออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ เข้ามา TK Park ได้พัฒนาบริการใหม่ คือสร้างแอพพลิเคชั่น TK Read เป็นห้องสมุดดิจิทัล มี E-book ให้คนเข้ามาอ่านกว่า 10,000 เล่ม มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด TK Read ได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น หากประชาชนยังติดอ่านหนังสือเล่ม ก็มีบริการส่ง TK Book Delivery โดยร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย จัดส่งหนังสือให้สมาชิกถึงบ้านในราคาที่พิเศษ และ TK Book Delivery ก็ได้รับความนิยม เพราะทำให้คนที่ห่างไกลได้เข้าถึงหนังสือที่อยู่ในกรุงเทพฯ และขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาเครือข่ายฐานของมูลเชื่อมโยงห้องสมุดทุกที่ ที่เป็นพันธมิตรของ TK Park เพื่อที่จะหาข้อมูลหนังสือได้จากห้องสมุดทุกห้อง และจัดทำการส่งผ่าน Delivery ดังนั้น ในอนาคตคนที่อยู่ จ.นราธิวาส อาจจะยืมหนังสือในห้องสมุด จ.ขอนแก่น ได้ และเมื่อต้องการคืนหนังสือ ก็สามารถคืนหนังสือในห้องสมุดของ TK Park ใน จ.นราธิวาส เป็นต้น คาดว่าจะผลักดันระบบดังกล่าวให้เสร็จภายใน 3-5 ปี

ส่วนมิวเซียมสยาม ได้รับผลกระทบเช่นกัน คือล็อกดาวน์ เดินทางไม่ได้ จัดกิจกรรมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา Museum Digital เป็นการเข้ามิวเซียมสยามผ่านระบบ Virtual Reality (VR) Augmented Reality (AR) และผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลธรรมดา ซึ่งจะทำให้คนเรียนรู้ผ่านโบราณวัตถุอย่างลึกซึ้ง โดยที่ไม่ต้องมาถึงพิพิธภัณฑ์นั้นๆ

⦁ คติในการทำงาน?
ผมเชื่อเรื่องการทำงานเป็มทีม ผมเป็นนักฟุตบอล เล่นกีฬามาตลอดชีวิต คุณพ่อผมเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ แต่ผมไม่ถึงขั้นนั้นนะ ผมแค่แข่งกีฬาสี กีฬาโรงเรียน กีฬามหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ผมเชื่อในความเป็นทีม ความเป็นทีมแปลว่าในเกมเกมหนึ่ง ถ้าเราต้องไปให้ถึงจุดหมาย ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในทีม ที่สำคัญ ทุกคนในทีมต้องรู้หน้าที่ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ฉะนั้น การทำงานเป็นทีม เป็นคติประจำใจผม

ไม่ว่าผมจะไปทำงานที่ไหน ผมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทีม คือพัฒนาให้เกิดความสามัคคี และทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน การที่ทีมใดทีมหนึ่ง ทุกคนเห็นเป้าหมายชัด จะทำให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถือว่าเราประสบความสำเร็จ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image