ผู้เขียน | สุกรี เจริญสุข |
---|
การได้มีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมดนตรีตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วไทย ล่าสุด พ.ศ.2562-2565 ได้สำรวจเพลงที่เชียงแสน เชียงใหม่ ลำปาง สกลนคร บุรีรัมย์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช เพลงในพื้นที่เกาะลันตาซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงของรองเง็ง ได้พบสิ่งที่เป็นอมตะในเพลง อันประกอบด้วย สำเนียงเสียง ทำนองเพลง ฝีมือของนักดนตรี ศักยภาพความเป็นเลิศของศิลปิน เสน่ห์ของเครื่องดนตรี ทั้งนี้ได้เลือกเพลงที่ชอบนำมาเรียบเรียงเพื่อบันทึกเสียงและเพื่อแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2566

โดยส่วนตัวหลงรักเพลงสายสมรกับเพลงสุดใจมาก เป็นเพลงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ.2230 จึงได้มอบให้พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ นำเพลงมาเรียบเรียงใหม่เพื่อบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา ให้รักษาสำเนียงและภาษาของเพลงไว้ มอบให้อาจารย์กมลพร หุ่นเจริญ ขับร้องโดยใช้สำเนียงไทย แล้วต่อด้วยทางบรรเลงแนวพระเจนดุริยางค์ (ศรีอโยธยา) ในภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก พ.ศ.2484 ใช้ชื่อใหม่ว่า ศรีอยุธยา
เพลงบุหลันลอยเลื่อนเป็นเพลงสำเนียงแขก พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 นำมาเรียบเรียงบรรเลงไว้ทั้งทางไทยและทางสากล ชื่อเพลงสรรเสริญเสือป่า เป็นบรรยากาศเสียงดนตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้คิดถึงครูมีแขก (พระประดิษฐไพเราะ) นักซอสามสายและสุดยอดนักปี่ ซึ่งท่านเป็นพระอภัยมณีตัวจริง ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ ครูมีแขกเป็นคนเก่งและคนดีที่โลกลืม
เพลงเชิดจีนของครูมีแขก มีอยู่ 4 ตัว ที่เรียกเป็นตัวเพราะว่าใช้เพื่อเล่นประกอบละคร เพลงเชิดจีนเป็นสุดยอดของเพลงไทย ทั้งทำนองเพลงและฝีมือของนักดนตรี โดยมีการ เดี่ยวรอบวง ถือเป็นวิธีใหม่และเป็นความยิ่งใหญ่สมัยนั้น ครูมีแขกเป็นผู้คิดขึ้นและนำมาใช้ ในชีวิตนี้ก็ควรได้ฟังเพลงเชิดจีนของครูมีแขกก่อนตาย

เพลงลาวแพนน้อยออกซุ้ม โดยมีนักขลุ่ยที่เป็นสุดยอดฝีมือ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ถือเป็นนักขลุ่ยอมตะแห่งยุค เป่าขลุ่ยแล้วห่อด้วยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา เรียบเรียงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ซึ่งถือว่าเป็นนักเรียบเรียงเสียงเพลงอมตะที่สุดยอดอีกคนหนึ่ง
เพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล เพลงรับเสด็จเฉพาะรัชกาลที่ 5 เรียบเรียงจากต้นฉบับเดิมผลงานครูฟุสโก (Michael Fusco) โดยพันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ เพลงนี้หายไปจากประวัติศาสตร์เพลงของสยาม ซึ่งครูฟุสโกนั้นเป็นหัวหน้าวงดนตรี ตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ไปยุโรปและอาเซียน วงดนตรีของครูฟุสโกถือว่าสุดยอด
เพลงเขมรไทรโยคถือเป็นเพลงการท่องเที่ยวเพลงแรกของสยาม บรรยายน้ำตกไทรโยคด้วยเสียงเพลง โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แสดงครั้งแรกพร้อมกับเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่หน้ากรมยุทธนาธิการ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2431 เพลงนี้เรียบเรียงโดย ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล ซึ่งเป็นเพลงในบรรยากาศโรแมนติกแบบเพลงไทย

โหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 7 บรรยายระลอกคลื่นริมฝั่งวังไกลกังวล เรียบเรียงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ หัวหินกลายเป็นเมืองตากอากาศคล้ายๆ เมืองริเวียร่า (Riviera) ตอนใต้ในฝรั่งเศส
เพลงราตรีประดับดาว เพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 7 เรียบเรียงโดย ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล เป็นมิติใหม่ที่แตกต่างไปจากเพลงไทยเดิม ซึ่งจะได้ยินทำนองจากวงแตรวงชาวบ้าน แต่เมื่อเปลี่ยนมาบรรเลงโดยวงออเคสตราที่ใช้หน้าทับไทยและมีสำเนียงออกไปทางเพลงโรแมนติก โดยจบแบบเพลงไทยที่รักษาลูกหมดของเพลงเอาไว้
วอลซ์ปลื้มจิตร เป็นเพลงของทูนกระหม่อมบริพัตร ถือเป็นเพลงยอดนิยมเพลงแรก เกิดขึ้น พ.ศ.2446 และเป็นเพลงในจังหวะวอลซ์เพลงแรก เรียบเรียงโดย ดร.ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ ซึ่งได้เริ่มต้นด้วยความเคารพเพลงโบราณ แต่เมื่อฟังไปเรื่อยๆ ก็จะพบความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะองค์ประกอบเพลงไปสู่โลกอนาคตได้อย่างสวยงาม
นักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ ดร.ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนการประพันธ์เพลงที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ได้มอบหมายเพลงแขกมอญบางขุนพรหม ซึ่งเป็นเพลงเมื่อ 100 ปีมาแล้ว โดยบอกโจทย์ว่า ให้ทำเพลงเก่า เพื่อจะฟังในโลกอนาคตอีก 100 ปี
เพลงวอลซ์ปลื้มจิตรใช้มิติของเวลาซ่อนอยู่ในเพลง ใช้ซออู้เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นทำนองเดิม หุ้มด้วยวงไทยซิมโฟนีออเคสตราด้วยเสียงอนาคต ใช้ฝีมือสีซออู้ของอาจารย์สหรัฐ จันทร์เฉลิม ซึ่งเป็นมือซออู้สุดยอดแห่งยุค บรรเลงเดี่ยวสู้กับวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา โครงสร้างของเสียงวงออเคสตราถูกทำลายไปหมดสิ้นในเพลงนี้
เพลงชุดอมตะสยามชุดนี้ ได้ซ้อมวงระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม พ.ศ.2565 ที่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เข้าห้องบันทึกเสียงที่สตูดิโอ 28 วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2565 โดยมี ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล เป็นผู้ควบคุมวง เมื่อบันทึกเสียงเพลงเสร็จก็ส่งไปห้องแล็บเสียงที่ออสเตรเลียเพื่อลงไวนิล และเตรียมแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นักดนตรีทุกคนได้ทำหน้าที่อย่างตั้งใจและใช้พลังอย่างมาก บันทึกเสียงต่อเนื่อง (13 ชั่วโมง) เพลงทำใหม่นั้นท้าทายความสามารถของนักดนตรีทุกคน หากคิดว่าเล่นดนตรีโดยไม่ฝึกซ้อมก็คงไม่เสร็จ แม้ว่าจะเป็นเพลงไทย เรียบเรียงเสียงโดยคนไทย ซึ่งก็ไม่ได้หมูอีกต่อไป เพลงไม่ได้เล่นง่ายๆ อย่างที่คิด นักดนตรีต้องซ้อมส่วนตัวอย่างหนัก ขณะเดียวกันเสียงดนตรีที่ออกมามีพลังสูง ช่วยเติมพลังให้นักดนตรีทุกคนมุ่งมั่นทำงานจนสำเร็จลงได้
อมตะคือการดำรงอยู่ ยังรักษาไว้ และยังไม่ตาย เป็นสมบัติที่ไม่สูญสิ้น เป็นมรดกวัฒนธรรมเพลงที่ยังนิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย เพลงอมตะเป็นบทเพลงเก่าและยังมีความไพเราะ นำมาเสนอเพื่อจะสืบทอดในรูปแบบใหม่ จุดประกายให้มีพลังโดยอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ฝีมือนักดนตรี ที่สำคัญคือ บทเพลงที่เป็นอมตะ ต้องใช้ฝีมือนักดนตรีที่เป็นอมตะด้วย งานเพลงชิ้นนี้ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นต้นแบบที่แตกต่างไปจากขนบดั้งเดิม สร้างสรรค์บทเพลงโดยการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันและสร้างสรรค์ใหม่ เพื่อสร้างให้เป็นปรากฏการณ์ทางดนตรี เป็นรูปธรรม และสามารถที่จะสัมผัสได้
การบันทึกเสียงเพลงอมตะสยามใช้ห้องบันทึกเสียงที่สตูดิโอ 28 ซึ่งเป็นห้องบันทึกเสียงที่ดีที่สุดในยุคนี้ มีความทันสมัย มีเทคโนโลยีพร้อม มีบุคลากรที่มีความสามารถสูง สามารถรองรับงานที่เป็นมาตรฐานสากลได้ เป็นห้องบันทึกเสียงที่เชิดหน้าชูตาของภูมิภาคเลยทีเดียว และมีงานมาตรฐานเข้ามาบันทึกเสียงจำนวนมาก
เพลงอมตะสยามเป็นมิติที่ก้าวข้ามพรมแดน ข้ามเงื่อนไขข้อจำกัด ไร้ขอบเขต เพลงอมตะสยามเป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่บนพื้นฐานเดิม เป็นการสร้างอาชีพใหม่ที่แหกคอกออกจากข้อจำกัด ออกจากวัฒนธรรมดนตรีดั้งเดิม อาศัยฝีมือนักดนตรีที่มีศักยภาพสูง มุ่งสร้างผลงานที่มีคุณภาพ แสวงหาทิศทางใหม่ เสียงใหม่ และเป็นเพลงสำหรับคนรุ่นใหม่
มูลนิธิเลือกนักดนตรีที่มีศักยภาพเป็นเลิศ เลือกนักเรียบเรียงเสียงดนตรีที่มีประสบการณ์สูง เลือกนักร้องสำเนียงไทยและมีความสามารถแบบสากล บันทึกเสียงร้องไทยด้วยสำเนียงเสียงไทยแล้วห่อเสียงด้วยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา เลือกนักดนตรีไทยเพื่อการเดี่ยว อาทิ ซออู้ ขลุ่ย ที่มีความสามารถยอดเยี่ยม เพื่อบรรเลงร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา บันทึกเสียงเก็บไว้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ (Vinyl, USB, YouTube) บรรจุลงกล่องเพลงอมตะสยาม เพื่อเป็นของที่ระลึกมอบให้แก่ผู้นำ บุคคลสำคัญของชาติ และมอบให้แก่ผู้มีเกียรติที่สนใจ
การค้นหาความรู้เรื่องดนตรีในท้องถิ่น โดยนำเพลงดั้งเดิม ทำนองเสียงไทย สำเนียงพื้นบ้าน มาเรียบเรียงใหม่ โดยใช้บันไดเสียงและเล่นด้วยเครื่องดนตรีสากล อาศัยสำเนียงเพลงเดิมเป็นกลิ่นบอกความเป็นตัวตน ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ในรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2465 มีการบันทึกเสียงดนตรีไทยใช้เครื่องสายผสมเปียโน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ.2473-2474 พระเจนดุริยางค์ได้บันทึกเพลงไทยด้วยโน้ตสากล เป็นหลักฐานว่าเสียงดนตรีไทยและเสียงดนตรีสากลไม่เท่ากัน ใช้บันไดเสียงที่แตกต่าง ไม่สามารถจะเล่นด้วยกันได้ พระเจนดุริยางค์ได้นำเพลงไทยมาเรียบเรียงบรรเลงโดยวงซิมโฟนีออเคสตรา อาทิ เพลงพม่ารำขวาน ลาวกระทบไม้ ศรีอยุธยา ต้นบรเทศ พม่าแปลง ธรณีกรรแสง เพลงปฐม เป็นต้น
เดวิด มอร์ตัน (David Morton) เข้ามาศึกษาดนตรีไทย พ.ศ.2501-2503 เมื่อได้ทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ก็ได้ศึกษาดนตรีไทยอีก พ.ศ.2512-2513 ได้ตีพิมพ์หนังสือดนตรีไทย พ.ศ.2519 (The Traditional Music of Thailand) ยังคงยืนยันว่า บันไดเสียงดนตรีไทยและบันไดเสียงดนตรีสากลไม่เท่ากัน
มีเพลงลูกทุ่ง (ทหารเรือมาแล้ว) โดยยอดรัก สลักใจ ดนตรีใช้ระนาดผสมกับวงดนตรีสากล เล่นออกมาอย่างสนุกสนาน ต่อมาอาจารย์บรูซ แกสตัน (Bruce Gaston) ได้จัดตั้งวงดนตรีฟองน้ำ พ.ศ.2522 โดยตั้งเสียงดนตรีไทยและดนตรีสากลให้สามารถเล่นด้วยกันได้
พ.ศ.2527 มีวงคาราบาว โดยธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้นำขลุ่ยไทยมาเป่ากับเพลงชื่อเพลงเมดอินไทยแลนด์ (Made in Thailand) ตั้งเสียงขลุ่ยเท่ากับเสียงเครื่องดนตรีสากล ได้สร้างพลังเสียงไทยและกลายเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะผู้ฟังเพลงทั่วไป เพราะชอบและชื่นชมเสียงขลุ่ยในเพลงเมดอินไทยแลนด์ กระทั่งนักขลุ่ยได้เป็นศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2559 เสียงขลุ่ยมีอิทธิพลต่อเพลงไทยในยุคต่อมา
เพลงอมตะสยามได้บันทึกโดยใช้เพลงดั้งเดิม ใช้เครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากลผสมกัน อาศัยนักดนตรีที่มีฝีมือสูง มีนักเรียบเรียงเสียงประสาน 3 คน เพื่อจะนำทางไปสู่โลกอนาคต อาศัยเสียงร้อง เสียงขลุ่ย และเสียงซออู้ เพื่อรักษาความเป็นอมตะสยามไว้ การนำเพลงอดีตมาชุบชีวิตใหม่เพื่อให้สามารถอยู่กับโลกใหม่และอยู่ในโลกอนาคตได้ ถือว่าได้ทำหน้าที่สำเร็จแล้ว เพื่อให้เพลงอมตะสยามมีชีวิตอยู่ต่อไป