‘เอเปค’ และการต่างประเทศของไทย เราจะไปทางไหนท่ามกลางความขัดแย้ง?

‘เอเปค’ และการต่างประเทศของไทย เราจะไปทางไหนท่ามกลางความขัดแย้ง?

เดินทางมาถึงวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพภายใต้แนวคิดหลัก ‘เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ ท่ามกลางหลากม็อบที่พยายามมุ่งหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บนหลากกระแสวิพากษ์จากภาคส่วนต่างๆ

15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ฝ่ายวิชาการสโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ‘APEC และการต่างประเทศไทย : ไทยจะไปทางไหนท่ามกลางความขัดแย้ง?’ ดำเนินรายการโดย นุชชา สวัสดิชัย นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รายล้อมด้วยวิทยากรที่ร่วมให้ความเห็นในประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง

รักษาสมดุล ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

นโยบายต่างประเทศของไทย ‘ไม่ชัด’?

Advertisement

เริ่มด้วย ผศ.ดร.กษิร ชีพเป็นสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมองว่า ประเทศไทยพยายามเชื่อมความร่วมมือกับต่างชาติกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเสนอ วัตถุประสงค์ของเวทีเหล่านี้คือการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ลดความตึงเครียด แต่ในความเป็นจริงการประชุมเอเปคเป็นเครื่องมือในการใช้อิทธิพลทางการเมือง และการแสดงจุดยืนพอสมควร

อาจารย์รัฐศาสตร์ท่านนี้ ยกกรณี ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่บอกว่าสงครามความขัดแย้งไม่กระทบกับการประชุมเอเปค

Advertisement

“เขาก็เชื่อมั่นแบบนี้มาตั้งแต่ต้นปีแล้ววางสถานะทูตไทยเป็นทูตเศรษฐกิจ คือพยายามผลักดันเรื่องอื่นที่เป็นผลประโยชน์กับประเทศ อย่างการผลักดันเขตการค้าเสรี คิดว่าไทยในฐานะเจ้าภาพพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพิ่มเติม มากกว่าที่จะใช้เวทีนี้เป็นเครื่องมือในการขจัดความขัดแย้ง” ผศ.ดร.กษิรกล่าว ก่อนขยายความเพิ่มเติมในประเด็นจุดยืนของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเน้นย้ำคีย์เวิร์ดอย่างคำว่า ‘รักษาความสมดุล’ และ ‘ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง’

“ไทยจะเน้นตรงนี้มาก ว่าไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแบบนี้มันไม่เป็นแนวทางนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจน ถ้าเทียบกับต่างประเทศ สมมุติเราพูดถึงแคนาดา ญี่ปุ่น เขามีความชัดเจนในแนวทางนโยบายต่างประเทศว่าต้องการอะไร นโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ก็มีความสม่ำเสมอทั้งในเรื่องพฤติกรรมและการแสดงออก อย่างเหตุการณ์การรัฐประหารหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน จะมีการออกแถลงการณ์ ในขณะที่นโยบายการต่างประเทศของไทยเป็นแนวทางที่ดูกว้างนิดหนึ่ง” ผศ.ดร.กษิร วิเคราะห์

ทูตรัศมิ์ชี้ งดออกเสียง ‘ไม่ใช่เป็นกลาง’

เสียดายไทยใช้เอเปคหวังผลการเมือง

รัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตทูตไทย เจ้าของเพจ ‘ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns’

มองว่า การประชุมเอเปคครั้งนี้ภาพรวมยังมีประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกที่จะพูดคุยกัน ถกเถียงกัน หรือหาทางปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์และความร่วมมือต่างๆ อย่างด้านการค้า การลงทุน สิ่งแวดล้อม แต่น่าเสียดายที่การบริหารจัดการของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน คาดหวังเพื่อเป็น ‘เครดิตทางการเมือง’

“ในบางครั้งเศรษฐกิจกับการเมืองนั้นหนีกันไม่พ้น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีผลต่อเศรษฐกิจไปหมด กลับมาที่เอเปคเมื่อสงครามเข้ามาส่งผลกระทบ แต่ละประเทศสมาชิกจะทำอย่างไร ผมคิดว่ายากหลีกเลี่ยง” ทูตรัศมิ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างการที่ไทย ‘งดออกเสียง’ ลงมติการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประณามรัสเซียผนวกดินแดนยูเครน โดยมองว่า ‘เสียหายมาก’ หลายคนคิดว่าคือความเป็นกลางซึ่งในความเป็นกลาง มองได้หลายมุม มีคำกล่าวที่ว่า ถ้าคุณเป็นกลางระหว่างผู้ถูกกดขี่ กับผู้กดขี่ นั่นคือการเข้าข้างผู้กดขี่ ถ้าคุณเลือกเป็นกลางระหว่างผู้รุกรานกับผู้ถูกรุกราน คือการเข้าข้างผู้รุกราน คุณไม่ได้เป็นกลาง

ด้าน สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือ ขนุน นิสิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักกิจกรรมทางการเมือง ย้อนถึงการประชุมเอเปคปี 2546 ยุค ดร.ทักษิณ ชินวัตร นั่งเก้าอี้นายกฯ ซึ่งเชิญทั้ง วลาดิมีร์ ปูติน,หู จิ่นเทา และ จอร์จ ดับเบิลยู.บุช ซึ่งเป็นภาพที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตัดภาพมาในเอเปคครั้งล่าสุด ผู้นำคนสำคัญหลายคนไม่มา

ผู้นำมา-ไม่มา บ่งชี้ ‘เครดิต’ ผู้จัด

ซัด เอาปลากุเลาขึ้นโต๊ะ แต่เหตุรุนแรง ‘ตากใบ’ ยังไม่เคลียร์

ปิดท้ายที่ พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะและการต่างประเทศ คณะก้าวหน้า ซึ่งจัดหนักตั้งแต่ประเด็นผู้นำ ‘มา-ไม่มา’ ว่า อาจไม่ใช่เครื่องมือโจมตีทางการเมืองพร่ำเพรื่อ แต่การมา หรือไม่มาของผู้นำสูงสุดคือการ ‘บ่งชี้เครดิต’ ของผู้จัดการประชุม ดังเช่นผู้นำหลายประเทศที่พยายามมีบทบาทในเวทีระดับโลก

“มีบทบาทมากที่สุดคือ โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่จะสร้างตัวตนในการเป็นผู้นำระดับโลกแล้วก็ประสบความสำเร็จ อย่างการจัดการประชุมจี 20 ที่บาหลี น่าจะเป็นจุดสูงสุดของการรวมตัวของผู้นำโลก โดยมีบทบาทของโจโค ที่จะไปมีบทบาทในความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน มีบทบาทในสร้างเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นเจ้าภาพต่างๆ ขึ้นมามากมาย ในทางกลับกัน พอมาดูประเทศไทย ผู้นำที่ไม่สามารถสร้างเครดิตทางการระหว่างประเทศ ผลก็ออกมาเป็นแบบนี้” ช่อ พรรณิการ์กล่าว ก่อนโฟกัสไปที่การเดินทางไปยังรัสเซียของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

“ทุกคนตั้งคำถามว่าไปทำไม นำไปสู่การวิเคราะห์กันว่า ไปเพื่อล็อบบี้ให้ วลาดิมีร์ ปูติน มาประชุมเอเปค ซึ่งก็เป็นการวิเคราะห์กันแต่ไม่มีใครรู้แน่ชัด อย่างไรก็ตาม การไปเยือนรัสเซียนั้นมีการลงทุนลงแรงไป แต่สุดท้ายปูตินไม่มา แล้วไบเดนก็ไม่มาอีก สำหรับปูตินไม่มาก็เกิดความเสียหน้า อีกทั้งยังส่งรองนายกฯ รัฐมนตรีรัสเซีย ที่เป็นลำดับ 3 ของผู้นำมาร่วมการประชุม แต่เมื่อมาที่ไบเดนไม่มาร่วม ก็ส่งรองประธานาธิบดีมาแทน เป็นที่เข้าใจได้ว่ารองนายกฯรัสเซีย กับ รองประธานาธิบดีสหรัฐนั้นลำดับชั้นก็ต่างกัน แม้ว่าจะลงทุนลงแรงกับทางฝั่งสหรัฐมาก ค่อนข้างลงทุนลงแรงกับทางฝั่งรัสเซียเช่นกัน แต่ก็ได้ผลตอบรับในทางที่แย่กว่าด้วยซ้ำไป”

สำหรับผู้นำระดับโลกที่เข้ามาร่วมอย่าง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ถือว่าพอเชิดหน้าชูตาได้

“การประชุมเอเปครอบนี้ต้องเป็นการกอบกู้ทศวรรษที่ว่างเปล่าของการต่างประเทศไทย หลายสิบปีที่ผ่านมาการต่างประเทศไทยไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากการแก้ต่างว่า ทำไมต้องรัฐประหาร เสร็จแล้ว เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง ทำไมถึงต้องไปยุบพรรคนั้นพรรคนี้ ต้องคอยแบกหน้าให้กับประเทศ มันเป็นทศวรรษที่ศูนย์เปล่าของการต่างประเทศไทยที่ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์กับช่วงทศวรรษที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังเชิญผู้นำมหาอำนาจมาแต่ไม่ได้รับการตอบรับ” ช่อ พรรณิการ์วิเคราะห์

อีกประเด็นที่ช่อ พรรณิการ์ตั้งข้อสังเกตคือ การนำ ‘ปลากุเลาตากใบ’ ขึ้นโต๊ะ ทั้งที่เหตุการณ์ความรุนแรงที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสยังคงเป็น ‘ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ’

“ถ้าคิดว่าจะจัดงานแบบเวิลด์เอ็กซ์โป แต่มองกลับไปข้างหลัง ยังมีปัญหาอยู่ที่คุณยังไม่ได้แก้ อย่างกรณีเอาปลากุเลาตากใบ ขึ้นโต๊ะเอเปค แต่คุณยังไม่แก้เลยในเรื่องของการแก้ไขกฎอัยการศึก และใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เหตุการณ์ตากใบยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ คนที่ตายไปยังไม่ได้รับความเป็นธรรม คุณกล้าเอาขึ้นเวทีได้อย่างไร” ช่อ พรรณิการ์ตั้งคำถาม ก่อนย้ำปิดท้ายว่า ต้องใช้คำว่าตื่นตระหนกใจ ที่กล้าเอาปลากุลาตากใบขึ้นในเวทีกาลาดินเนอร์ของการประชุมเอเปค

ทั้งที่เป็นบาดแผลใหญ่สุดเมื่อไปเวทีโลก

พงศ์ระพี รัตนวราหะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image