เปิดบ้านช่างหล่อหลวง สืบต้นทาง เครื่องประดับพระเมรุมาศ และของที่ระลึกงานพระศพ’พระนางเรือล่ม’

งานพระบรมศพเจ้าฟ้ามหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์นับเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญที่ต้องกระทำอย่างสมพระเกียรติ ทั้งเครื่องประกอบพระอิสริยยศ การประดับตกแต่งพระเมรุมาศอย่างอลังการ ล้วนพิถีพิถัน วิจิตรบรรจง และมีความหมาย เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ได้กลายเป็นงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

หนึ่งในนั้น คืองานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ซึ่งสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุเรือล่ม เมื่อ พ.ศ.2423 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ที่ทุ่งพระเมรุ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2424

ก่อนหน้านั้น มีการเตรียมงานอย่างสุดกำลัง ช่างฝีมือแห่งแผ่นดินต่างทุ่มเทในการออกแบบ ร่างลวดลายประดับ กระทั่งเป็นผลงานเลอค่า ทว่าหลักฐานเหล่านั้นอยู่ที่ไหน?

และนี่คือครั้งแรกของการเปิดเผยส่วนหนึ่งของเรื่องราวเล็กๆ ในเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ในอดีต

Advertisement
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ซึ่งสิ้นพระชนม์พร้อมกันจากเหตุเรือล่ม เมื่อปี 2423
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ซึ่งสิ้นพระชนม์พร้อมกันจากเหตุเรือล่ม เมื่อปี 2423
งานออกพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
งานออกพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

แม่พิมพ์ ภาพจับ เรื่อง (ไม่) ลับ ที่เพิ่งเปิดเผย

เบาะแสในเรื่องนี้ ต้องเริ่มต้นที่ย่านบ้านช่างหล่อ แหล่งหล่อโลหะสำคัญในอดีต อันเป็นที่ตั้งของโรงหล่อ “พัฒนช่าง” ของตระกูลพัฒนางกูร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเอกอุอย่างแท้จริง

สุรพันธ์ อติชาตนันท์ หรือ “อาจารย์แดง” เล่าวว่า ตระกูลพัฒนางกูร สืบเชื้อสายมาจากพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ นายช่างหลวงคนสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ออกแบบพระสยามเทวาธิราช โดยตนถือเป็น “รุ่นโหลน”

สุรพันธ์ อติชาตนันท์ (อาจารย์แดง) ผู้รับมรดกชุดแม่พิมพ์หินเก่าแก่และสืบทอดสกุลช่างพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ
สุรพันธ์ อติชาตนันท์ (อาจารย์แดง) ผู้รับมรดกชุดแม่พิมพ์หินเก่าแก่และสืบทอดสกุลช่างพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ

นอกจากจะได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาและ “สูตรลับ” ในการผสมทองจากคุณตาแล้ว มรดกสำคัญที่ประเมินค่าไม่ได้ ก็คือ “ชุดแม่พิมพ์หินสบู่” แกะเป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่เป็นลายประดับพระพุทธรูปทรงเครื่องตามความนิยมในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ทว่า มีแม่พิมพ์หินจำนวนหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าเป็นลายอะไรกันแน่ กระทั่ง เมื่อสังเกตพบตัวหนังสือบนแม่พิมพ์ 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งว่า “การพระสพสมเดจพระนางเจ้าสุนันทากุมา (รี) รัตนแลสมเดจพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ปีจุลศักราช ๑๒๔๒”
อีกชิ้นหนึ่งข้อความขาดหายไปบางส่วนเนื่องจากแม่พิมพ์แตกหัก ระบุว่า “ในการพระสพสมเดจพระนาง…แลสมเดจพระเจ้าลูกเธอเจาฟ้า…”

Advertisement

บนแม่พิมพ์ทั้งสอง ยังมีลวดลายหลากหลายคล้ายใช้ในการประดับวัตถุบางสิ่งที่มีความสำคัญ

เรื่องราวจึงเริ่มกระจ่าง

 

แม่พิมพ์หินและตู้ครอบในการพระศพอีกชุดหนึ่ง
แม่พิมพ์หินและตู้ครอบในการพระศพอีกชุดหนึ่ง

อาจารย์แดง เริ่มนำลวดลายบนแม่พิมพ์ต้องสงสัยชิ้นอื่นๆ ทำออกมาเป็นชิ้นงาน จึงพบว่า น่าจะเป็นลวดลายเครื่องแต่งกายของตัวละครเรื่องรามเกียรติ์ใน “ภาพจับ” ขนาดเล็กซึ่งจะทำด้วยไม้ระกำ ไม่ใช่การหล่อโลหะ จากนั้นจึงทดลองทำออกมาทั้งชุด ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบแม่พิมพ์ลายกงล้อรถที่ตรงกันกับลายราชรถของพระลักษมณ์จาก “ตู้หุ่นแสดงภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์” ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งระบุชัดเจนว่าสร้างขึ้นสำหรับประดับในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

ทุกอย่างจึงแจ่มชัดขึ้นทุกที ว่าแม่พิมพ์ปริศนาเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับงานพระเมรุอย่างแน่นอน

“เล่ากันมาในตระกูลว่า มาจากในวัง สืบเชื้อสายจากพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ จากนั้นก็มาเป็นปู่เจริญ ตาหลุย ตาหลัด ตาลืม และแม่ แล้วมาเป็นรุ่นผม แม่พิมพ์พวกนี้ เห็นมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร พอตามเรื่องถึงเพิ่งรู้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ช่างชาวบ้านจะมีได้ เพราะเป็นแม่พิมพ์หินสบู่จากเมืองจีน ในไทยไม่มี ข้อความก็ระบุพระนามชัดเจน และยังมีแม่พิมพ์ลวดลายสำหรับติดตัวละครเรื่องรามเกียรติ์และสัตว์หิมพานต์ ซึ่งลายตรงกับชุดที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระนคร ทั้งเครื่องแต่งตัวหรือแม้แต่กงล้อราชรถของพระลักษมณ์ตอนถูกศรพรหมมาสตร์ของพระอินทร์และหนุมานหักคอช้างเอราวัณ มั่นใจว่าแม่พิมพ์หินสบู่ลายแบบนี้ ไม่มีที่อื่นแน่นอน” อาจารย์แดงเล่า พร้อมเปิดตู้ที่เต็มไปด้วยแม่พิมพ์หินลวดลายตระการตาให้ได้ชม

แม่พิมพ์หินสบู่ สำหรับเทตะกั่ว ใช้สำหรับติด "ครอบแก้วรูปสัตว์" แจกในงานพระศพ
แม่พิมพ์หินสบู่ สำหรับเทตะกั่ว ใช้สำหรับติด “ครอบแก้วรูปสัตว์” แจกในงานพระศพ
แม่พิมพ์หินสบู่ แกะลายเป็นเครื่องประดับพระเมรุ
แม่พิมพ์หินสบู่ แกะลายเป็นเครื่องประดับพระเมรุ

พลิกจดหมายเหตุ รัชกาลที่ 5

จากหลักฐานข้างต้น ลองมาค้นเอกสารประวัติศาสตร์กันบ้าง

ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีความสนใจส่วนตัวในด้านงานช่างหลวง ทุ่มเทค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับสายตระกูลและงานช่างของพระองค์เจ้าประดิษฐวรการเป็นเวลาหลายปี

เมื่อคุณหมอได้พบแม่พิมพ์หินสบู่ชุดนี้ จึงค้นคว้าเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 อาทิ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน และราชกิจจานุเบกษาในช่วงเวลาหลังการสวรรคตของทั้งสองพระองค์ พบข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมงานพระบรมศพ ซึ่งทำให้ทราบถึงการจัดหาของที่ระลึก โดย “หม่อมเจ้าจร” เป็นผู้ถวาย “ครอบแก้ว” กับ “ตัวรูปสัตว์” คือ กวาง รัชกาลที่ 5 โปรดให้ “พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ” ไปทำเป็นตู้ครอบ ภายในมีสวน จำลองขนาดเล็ก ประกอบขึ้นจากต้นไม้แห้ง และตัวรูปสัตว์

ข้อความส่วนหนึ่งจากจดหมายเหตุฯ มีดังนี้

“วันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง โทศก จุลศักราช 1242

เวลาเช้า 5 โมงเสด็จหอธรรมสังเวชเลี้ยงพระแล้ว เวลาเที่ยงเศษก็เสด็จขึ้น

หม่อมเจ้าจรถวายอย่างครอบรูปสัตว์ที่จะแจก…”

(จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค 10)

หม่อมเจ้าจรผู้นี้ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์อธิบดีบัญชาการช่างสิบหมู่ ต่อจากพระองค์เจ้าประดิษฐวรการนั่นเอง

ภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ประดับในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ลวดลายตรงกับแม่พิมพ์หิน
ภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ประดับในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ลวดลายตรงกับแม่พิมพ์หิน
ตู้แสดงภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ จัดแสดงที่ห้องประณีตศิลป์ ตึกประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ตู้แสดงภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ จัดแสดงที่ห้องประณีตศิลป์ ตึกประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ลวดลายบนกงล้อ ตรงกับลายแม่พิมพ์ที่อาจารย์แดงได่รับตกทอด
ลวดลายบนกงล้อ ตรงกับลายแม่พิมพ์ที่อาจารย์แดงได่รับตกทอด

หลักฐานจาก “ตูริน”

รัชดา โชติพานิช คือนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์อีกรายที่ร่วมค้นคว้าเรื่องนี้ โดยพบหลักฐานที่ชวนตื่นเต้น คือ ภาพถ่ายตู้ครอบรูปสัตว์ ตรงตามเอกสาร ที่สำคัญคือแผ่นป้ายโลหะระบุข้อความตรงกับแม่พิมพ์หินสบู่ ซึ่งมีรูปแบบอักษรเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน

ตู้ครอบนี้ ถูกระบุว่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี

สอดคล้องกับข้อมูลที่รัชดาค้นพบว่า เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อมอบเป็นที่ระลึกสำหรับแจกชาวต่างประเทศ

ภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ประดับในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ลวดลายตรงกับแม่พิมพ์หิน
ภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ประดับในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ลวดลายตรงกับแม่พิมพ์หิน

ปริศนาแห่งลวดลาย…ใครกันแน่?

จากร่องรอยหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ว่าผู้ลงมือแกะหินสบู่เหล่านี้ ต้องเป็นช่างที่มีฝีมือขั้นสูง ทั้งตัวอักษรที่งดงามซึ่งต้องแกะกลับด้านเหมือนมองผ่านกระจก รวมถึงลวดลายภาพจับรามเกียรติ์ ซึ่งตัวลายตื้นมาก มือต้องเบา แกะยากที่สุด

“ผมไปเจอหนังสือกราบบังคมทูลของพระองค์เจ้าประดิษฐ์ เมื่อปี 2422 ท่านกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ว่าขอเอา มจ.และ มรว.เข้ารับราชการ พูดถึง มจ.อลังการและ มรว.เสนาะ โดยบอกว่า ทำของเล็กอย่างละเอียดได้ดี ตอนนั้น พระองค์เจ้าประดิษฐ์อายุ 60 กว่าๆ ท่านสายตายาว ไม่น่าจะแกะของแบบนี้ได้แล้ว เลยเชื่อว่าทั้ง 2 คือคนแกะ พอค้นข้อมูลลึกลงไปอีก จึงพบว่า มรว.เสนาะ แท้จริงคือ ลูกเขยของท่านเอง” นพ.ถนอมวิเคราะห์

แม่พิมพ์หินจากบ้านช่างหล่อหลวงแห่งนี้ ไม่ใช่เพียงหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือโบราณวัตถุล้ำค่าเท่านั้น หากแต่เป็นมรดกความทรงจำของสายตระกูล ของย่านเก่า และของพวกเราชาวไทยทุกคนภายใต้ร่มพระบารมีแห่งราชจักรีวงศ์อันร่มเย็น

นายแพทย์ ถนอม บรรณประเสริฐ
นายแพทย์ ถนอม บรรณประเสริฐ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image