ติดลบ ดิ้นรน ก้าวไม่พ้น ‘จนข้ามรุ่น’ ชำแหละข้อจำกัด คนไทยสู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับ

ติดลบ ดิ้นรน ก้าวไม่พ้น ‘จนข้ามรุ่น’ ชำแหละข้อจำกัด คนไทยสู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับ
ปูแป้น ช่วยที่บ้านขายของตั้งแต่ 10 ขวบ ฝันอยากมีบ้าน มีร้านที่ไม่โดนไล่ที่ มีรายได้เลี้ยงดูพ่อแม่ให้ชีวิตดีกว่านี้

 

ติดลบ ดิ้นรน ก้าวไม่พ้น ‘จนข้ามรุ่น’

ชำแหละข้อจำกัด คนไทยสู้ชีวิต

แต่ชีวิตสู้กลับ

Advertisement

“เอาพออยู่ได้นี่ก็ลำบากแล้ว เมื่อก่อน หาเงินไม่ได้จริงๆ ก็ 2,000 นะ แต่เดี๋ยวนี้ลำบากมาก คนจนมีแต่จนลงๆ ยิ่งเจริญเท่าไหร่ มีแต่จนลงๆ”

คือเสียงในใจจากพ่อของ ‘ปูแป้น’ ชาวบ่อนไก่ที่ประกอบอาชีพหาบเร่ ขายส้มตำ ย่านสวนลุมพินี

‘ปูแป้น’ คือเด็กเปราะบางใน กทม.วัย 14 ปี เรียนโรงเรียนชื่อดัง ‘สายปัญญา’ แต่มีภารกิจหนักหน่วง ลุกจากเตียงตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง ดูแลแม่ที่ป่วยรุมเร้าเกือบ 10 โรคมานับ 10 ปี ขณะที่พ่อมีหนี้สินเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน เสียใจและเสียดาย ต้องอาศัยที่สาธารณะทำกินโดยไม่รู้ว่าจะถูกไล่เมื่อไหร่

Advertisement

ภาระอันหนักอึ้งที่แบกเอาไว้เกินวัย ยังเป็นปัญหาที่สืบเนื่องไปในหลายมิติ โดยเฉพาะการศึกษา ที่หลายวิชาต้องติด 0 การจะหลุดพ้นวงจรนี้ ‘ปูแป้น’ ต้องผ่านด่านที่อาจจะเกินกำลัง กล่าวคือ ต้องดิ้นรนให้ชีวิตมั่นคงทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย แก้หนี้สินช่วยพ่อ เรียนจบ มีรายได้ที่มั่นคง เลี้ยงชีพตนและแบ่งมารักษาแม่ได้

แต่งตัวไปเรียนริมถนน บางครั้งนั่งเรียนออนไลน์พร้อมขายของไปด้วย

ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะอยู่ในครอบครัวที่มีต้นทุนติดลบ เส้นทางชีวิตที่แสนลาดชัน บ้างก็ว่าการศึกษาอาจเป็นคำตอบของการหยุดส่งต่อความ “จนข้ามรุ่น”

ในขณะที่สังคม กำลังวุ่นวิจารณ์ปมร้อน ว่าบางพรรคที่ตั้งเป้าจะดันค่าแรงขั้นต่ำ ให้ถึง 600 บาท/วัน จะทำได้จริงหรือไม่?

ชีวิตและงานไม่สมดุล หลุดไม่พ้นวังวน ‘จนเรื้อรัง’

เมื่อไม่นานมานี้ กรุงเทพมหานคร จัดเวทีสาธารณะ “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ…คนจนเมือง” อันเป็นส่วนหนึ่งในการประชุม สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ.2565 ซึ่งชูเป้าหมาย “กรุงเทพฯ เมืองสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี…สร้างได้!”

(คนที่ 2 จากซ้าย) พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์, แสนยากร อุ่นมีศรี, นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ และ เอริกา เมษินทรีย์ ร่วมเวที “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ…คนจนเมือง” เมื่อ 25 พ.ย. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

มี 4 วิทยากร ที่เชี่ยวชาญหลากหลายมิติของคนจนเมือง ร่วมล้อมวงถกทางออก ยกกรณี ‘ปูแป้น’ ขึ้นมาชำแหละปัญหา เชื่อมโยงกับผลมติสมัชชา กทม.ครั้งล่าสุด ที่อยากเห็นผู้คนสุขภาพดี ชีวิตดี จากเศรษฐกิจที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้คนจนมีสุขภาวะที่ดีได้เทียบเท่าคนมีกำลังจ่าย ในเมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานยังไม่เพียงพอ

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า 40-50 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดปรากฏการณ์ “คนจนเรื้อรัง” กล่าวคือ จนแล้วไม่สามารถหลุดพ้นวังวนนั้นได้ ปัญหาที่คนจนเมืองต้องเผชิญ ณ ปัจจุบัน มีหลายมิติมากกว่าที่คิด

“จนซ้ำจนซ้อน จนแล้วจนอีก” คือคำจำกัดความสั้นๆ ที่ พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (มรอ.) นิยามให้กับคนจนในเมืองใหญ่

มองชีวิตครอบครัวของปูแป้น สะท้อนปม ‘หาบเร่แผงลอย’ ได้ดีมาก ซึ่งการจัดการหาบเร่ เป็นมติหนึ่งของสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 ทั้งยังสะท้อนมายาคติที่คนทั่วไปมี ว่า ‘เอาเปรียบสังคม ใช้พื้นที่ทางเท้าหากิน’ เถียงกันทั้ง 2 ฝ่าย ขณะเดียวกันถ้ามองดีๆ พ่อของปูแป้นบอกว่า ทำมา 3 เจเนอเรชั่นแล้ว แสดงว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ได้รับการศึกษา แต่รุ่นลูกได้รับ อาชีพหาบเร่ทำให้คนเลื่อนชั้นทางสังคมได้

ปูแป้น ช่วยพ่อขายส้มตำและขายขนมปังปลา ที่สวนลุมพินี

“จริงๆ พวกเขาทำงานหนักมาก ตื่นตี 4 นอน 2 ทุ่ม มาตรฐานของเราคือ 3:8 หรือ 8 ชม. ทำงาน 8 ชม. พักผ่อน และอีก 8 ชม. ศึกษาหาความรู้พัฒนาตัวเอง แต่เราไม่ได้เวลา 3:8 ด้วยความที่เป็นคนจนเมือง การจะอยู่รอดได้ต้องสูญเสียส่วนใดส่วนหนึ่งของเราไป เช่น สูญเสียเวลาพักผ่อน เวลาหาความรู้ ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจที่คุณแม่ไม่สบาย และในอนาคตคุณพ่อก็อาจจะไม่สบายด้วย เห็นได้เลยว่าเป็นความไม่เหมาะสม ‘คนไทยทำงานหนักมาก’ เราเป็นประเทศที่มีคนทำงานหนักมากที่สุดในโลกด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่คนจนเมือง เพราะสิ่งสำคัญคือ เราไม่สามารถทำให้ ‘ชีวิตและงานสมดุล’ ได้” พูลทรัพย์ฝากไว้ให้คิด

พ่อของ ‘ปูแป้น’ ตื่นมาเตรียมของขายตั้งแต่ตี 3

เสร็จนาฆ่าโคถึก การดูแลยังขาดตก

พูลทรัพย์ ค่อยๆ คลี่ปัญหา ‘หาบเร่’ ที่สะท้อนชัดว่า ‘คนจนเลี้ยงคนจน’ เพราะลูกค้าของกลุ่มหาบเร่ คือคนงานก่อสร้าง คนทำงานหนัก

“ถ้าเขาไม่มีไก่ทอด ส้มตำ ก็ลำบาก คนทำงานที่อยู่ฐานล่าง สร้างความเจริญให้กับเมือง แต่ขณะเดียวกัน สร้างเมืองเสร็จแล้วก็ ‘เสร็จนาฆ่าโคถึก’ กลายเป็นไม่เห็นค่าคนเหล่านี้ เราไม่ได้ตระหนักถึงสิ่งที่เขาได้ทำให้กับสังคม การดูแลคนใน กทม.ยังขาดไป เรามองเห็นตึก แต่มองไม่เห็นคน”

พูลทรัพย์ ยินดี ที่ตอนนี้ทราบว่า กทม.รับลูกไปบางส่วนแล้ว โดยเริ่มขยับ ปรับกฎกติกาเรื่องหาบเร่

“สมัยก่อนขายได้หลักพัน ปัจุบันได้หลักร้อย แสดงว่าสถานการณ์ของคนกลุ่มล่าง ได้รับผลกระทบเยอะมากจากทั้งวิกฤตโควิด ความขัดแย้ง โลกรวน และวิกฤตค่าครองชีพ ถ้า กทม.เร่งดำเนินการอีกนิด พวกเราอยากเห็นคณะกรรมการและกติกาที่มีการปรับเปลี่ยน เปิดพื้นที่ให้ได้ค้าขาย ซึ่งก็จะเห็นว่ามติของสมัชชาสุขภาพ กทม. ได้ขยับขึ้นไป” ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เอ่ยขึ้นกลางวง

ก่อนหันไปกระซิบผ่าน ผอ.สำนักพัฒนาสังคมฯให้ถึงหูผู้บริหาร กทม. ‘ขอเรื่องหาบเร่’ ให้เป็นของขวัญปีใหม่ได้หรือไม่?

ไม่ทันใจ แต่เร่งอยู่ กทม.ยืนยัน จะสร้างให้อยู่ที่เดิม

ในมุมของ กทม. แสนยากร อุ่นมีศรี ผอ.สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ตอบในฐานะผู้ดูแลพื้นที่สาธารณะ ซึ่งคนจนเมืองมักไปอาศัยใช้อยู่-กิน

ว่าการแก้ปัญหาในส่วน ‘ที่อยู่อาศัย’ ตอนนี้ภาครัฐ อย่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ดูแลอยู่ และ กทม.เองก็มี สถาบันพัฒนาที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานครดูแล ซึ่งในส่วนของคนมีรายได้น้อย ผู้ว่าฯกทม.มีนโยบาย พยายามจะสร้างที่อยู่อาศัย เน้นให้คนจนเมืองได้อยู่ในที่เดิม

อีกส่วนคือ ‘ที่อยู่อาศัยสำหรับคนจบใหม่’ หรือรายได้น้อย ทาง กทม.มีนโยบายจะทำให้ค่าเช่าราคาถูกลง

ส่วน ‘การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ’ ผอ.สำนักพัฒนาสังคม ยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม การที่ครอบครัว ‘ปูแป้น’ ทำหาบเร่ นโยบายผู้ว่าฯ ก็มีการสำรวจหาบเร่ใน กทม.ที่อยู่นอกเขตผ่อนผัน ปัจจุบันมีอยู่ 624 จุด ผู้ค้า 14,000 กว่าราย เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ทาง กทม.ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินมาร่วมให้ความรู้ แต่วิธีการอาจจะยังไม่ยืดหยุ่น ทันใจเหมือนเงินด่วน ซึ่งทาง กทม. หรือสถาบันการเงิน อาจจะต้องปรับรูปแบบการช่วยเหลือ

แสนยากรบอกทิศทางในการช่วยเหลือคนจนเมืองหลังจากนี้ว่า ตอนนี้ กทม.มีการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เช่น การช่วยเหลือคนพิการ ไปหาหมอสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ 5,000 บาท/ปี มีค่าแท็กซี่-ค่าอาหารให้ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว และเชื่อว่าจะช่วยในการเข้าถึงบริการภาครัฐได้

“ในส่วนการศึกษา กทม. มีโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. 10 แห่ง 102 หลักสูตร ค่าเล่าเรียน 105 บาท มีคนจนมาเรียนเพื่อประกอบอาชีพ ตกปีละเกือบ 50,000 คน มีทั้งวิชาทำอาหาร เบเกอรี่ บาริสต้า ซึ่งจะเปิดทุกเขต อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการในแต่ละพื้นที่เพื่อกำหนดหลักสูตร คาดว่าเริ่มภายในต้นปีหน้า นอกจากนี้ ยังมีทุนประกอบอาชีพให้ด้วยไม่เกิน 5,000 บาท สามารถติดต่อทางฝ่ายพัฒนาชุมชน ของเขต หรือสำนักพัฒนาสังคม เพื่อรับความช่วยเหลือได้” แสนยากรชี้ช่องทำกิน

พร้อมคอนเฟิร์มให้มั่นใจ ‘กทม.เร่งดำเนินการอยู่’

“ปีใหม่คงได้เห็นเรื่องสวัสดิการ ความช่วยเหลือ เรื่องค่าเดินทางไปหาหมอ ส่วนเรื่องหาบเร่ ผู้ว่าฯจะหาสถานที่ให้จำหน่าย พร้อมทั้งหาแหล่งเงินทุนที่จะมาช่วยสนับสนุนหาบเร่ด้วย” ผอ.สำนักพัฒนาสังคมแง้ม

ต้องปรับระบบ เพราะความจน ทำให้คนเจ็บ (ป่วย)

ในมุมของนักวิจัย อย่าง นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มองชีวิตปูแป้น เห็นทั้งเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้ และอีกหลายประเด็น เช่น การเข้าไม่ถึงสวัสดิการบางอย่าง โดยเฉพาะผู้พิการ ซึ่งการมีคนป่วย 1 คนในบ้าน ย่อมต้องพาไปหาหมอ สูญเสียรายได้ สูญเสียเวลาศึกษา

‘ปูแป้น’ หยุดเรียนบ่อยครั้ง เพราะต้องดูแลแม่ พาไปหาหมอเดือนละ 7-8 ครั้ง

แล้วที่ผ่านมามีอะไรน่ากลัวบ้างสำหรับคนจน?

นพ.อานนท์มองว่า ความจนกับสุขภาพเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก จากการศึกษาหลายงานวิจัยในประเทศไทยพบว่า เมื่อแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่มตามความรวย-จน คนที่จนที่สุดมีความต่างทางด้านค่าเฉลี่ยอายุ คือ ‘อายุสั้นกว่าคนที่รวย’ มากกว่า 10 ปี เป็นภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่อังกฤษ คนจนสุขภาพย่ำแย่กว่า

เป็นที่ถกเถียงว่า ‘เพราะจนถึงป่วย หรือป่วยถึงจน’ ?

หมออานนท์ยกกรณี ‘ปูแป้น’ ที่คุณพ่อของเขาบอกว่า ‘เงินต้องมาก่อน’ เพราะเราอยู่ได้ด้วยเงิน เรื่องป่วยเป็นเรื่องทีหลัง

“จะเห็นได้ชัดว่า แม้คนจนจะมีสิทธิในหลักประกันสุขภาพ แต่เพราะไม่มีสวัสดิการแรงงาน ที่หยุดแล้วได้เงิน ถ้าต้องสูญเสียรายได้จากการไปหาหมอ ก็เลือกที่จะไม่ไป” นพ.อานนท์ค้นเจอสาเหตุ

ยิ่งศึกษาสถิติ ยิ่งบ่งชี้ทิศทางซึ่งสวนกับสิ่งที่ควรเป็น เพราะโรคร้ายรู้ก่อนรักษาง่ายกว่า แต่คนจนเมืองส่วนมากเลือกไม่ไปหาหมอ เน้นซื้อยา กลัวเสียเวลาทำมาหากิน

คุณหมอออกไอเดียว่า ถ้าจะแก้ปัญหาคนจนเมือง สิ่งแรกคือ ‘ต้องแก้จน’ ก่อน เพราะความยากจนส่งผลต่อสุขภาพ ในระยะใกล้ต้องมุ่งแก้ไขการเข้าถึงบริการต่างๆ อย่าง ระบบประกันสุขภาพ ปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรม หรือวิถีชีวิตของคนจน

“ข่าวดี เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สวทช. เปิดนโยบายรับยาใกล้บ้าน เจ็บป่วยเล็กน้อยก็ไปรับยาจากที่ร้านยาใกล้บ้านได้ เป็นทิศทางที่ดีและน่าติดตาม ว่าอนาคตคน กทม. จะถึงบริการง่ายๆ ได้อย่างไรบ้าง”

หมออานนท์มองจากกรณีแม่ปูแป้น ที่ 1 เดือนมีนัดหมอประมาณ 7-8 ครั้ง ถ้าหากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ว่า รายไหนมีความต้องการไป รพ.เมื่อไหร่ แล้วประสานงาน วางแผนให้จัดการได้ในวันเดียวกันก็น่าจะดี ดังนั้น ระบบปฐมภูมิที่ดี จำเป็นต้องทำ

ประเด็นสุดท้าย ที่ฝากไว้คือ ‘การส่งเสริมสุขภาพ’

“ถ้าโฟกัสที่คนจน อาจจะต้องมีนโยบาย การปฏิบัติที่ต่างจากกลุ่มคนวัยทำงาน เพราะวิถีชีวิตต่างจากคนทั่วไป อาจจะต้องมีวิธีการให้เขาเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ ‘ป่วยหนัก’ ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็จะไม่ตามมา” หมออานนท์ขอเสนอ

แก้แค่เด็กไม่เพียงพอ ผุดไอเดีย ‘ตัวชี้วัดใหม่’ ขององค์กร

อีกหนึ่งความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านเยาวชนและการศึกษา เอริกา เมษินทรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และแพลตฟอร์ม Youth in Charge (YIC) มองความยากจนเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ทั้งยังตกทอดข้ามเจเนอเรชั่น คนบางกลุ่มในสังคมยังไม่พ้นขั้นแรกของปัจจัย 4 ด้วยซ้ำ อย่างเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคงของชีวิต

สิ่งที่มองเห็นในมุมการศึกษา คือ 1.ความไม่ต่อเนื่องทางการศึกษา ซึ่งดูจากภายนอก ‘ปูแป้น’ เรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เหมือนนักเรียนทั่วไป แต่ถ้าไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างจริงจังจะมองข้ามปัญหา

“เมื่อเจอเคสนี้ทำให้ฉุกคิดได้ว่า นอกจากแบ่งตามความต้องการและความสนใจตามช่วงวัยแล้ว ต้อง ‘ศึกษา ทำความเข้าใจ และปรับระบบการศึกษาให้เข้ากับบริบทและข้อจำกัดที่แตกต่างกันของเยาวชน’ มากขึ้น ไม่อย่างนั้นเยาวชนอย่างปูแป้น จะถูกผูกติดด้วยข้อจำกัด จนไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพได้อย่างเต็มที่” เอริกาชี้

เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่เด็กไทยไม่สามารถทำตามความฝันได้ เพราะชีวิตทุกวันต้องผูกอยู่กับการดิ้นรนสู้เพื่อปัจจัย 4

‘งานก็ต้องทำ รายได้เสริมก็ต้องหา การศึกษาก็ต้องมี’ ถือเป็นโจทย์ยากของระบบการศึกษาไทยที่ต้องปรับ เพื่อให้รองรับกับกลุ่มเด็กเปราะบาง

แต่ในทางปฏิบัติจะช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง?

เอริกาเชื่อว่า ปูแป้นเป็นแค่ 1 ในตัวอย่าง อาจจะมีกรณีอื่นๆ ที่หนักกว่ามาก จึงอยากให้มองเรื่องสุขภาวะเป็นองค์รวม เพราะปัญหาล้วนเชื่อมโยงกันหมด แต่ขอไฮไลต์เรื่อง ‘การศึกษาและสุขภาวะ’

“เนื่องจากต้องมุ่งหาเลี้ยงปากท้องในแต่ละวัน ทำให้พ่อแม่ของเขาละเลยสุขภาวะด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะอาหาร คุณภาพชีวิต สถานที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งที่พักอาศัย แต่มองในทางกลับกัน สุขภาวะที่ดี ก็จะส่งผลต่อการศึกษาเหมือนกัน

นอกจาก ‘ปูแป้น’ ต้องหยุดเรียนบ่อยๆ เพราะมีภาระทางสุขภาพและต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน การศึกษาจึงไม่ต่อเนื่องและมีพัฒนาการที่ช้าลงอย่างมาก ผลการเรียนตามหลังเพื่อน ดังนั้น สุขภาวะที่ดี จะนำไปสู่การศึกษาที่ดี ซึ่งนำไปสู่การปลดปล่อยศักยภาพเช่นกัน กลายเป็นตอนนี้ทั้งปูแป้นและครอบครัว ต่างเป็นอุปสรรคซึ่งกันและกัน จึงควรแก้ปัญหาการศึกษาที่ไม่ใช่แค่ปูแป้น แต่อาจจะมองไปถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือแม้กระทั่งการยกระดับอาชีพของพ่อแม่ด้วย แก้แค่เด็กไม่เพียงพอ” เอริกาเชื่ออย่างนั้น

ทั้งยังอยากให้แต่ละภาคส่วน ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน รัฐบาลแสดงบทบาทในการออกนโยบายเอื้อสิทธิ ภาคเอกชนในฐานะพี่ใหญ่ที่มีกำลัง ก็ช่วยจัดสรรทรัพยากร

“ตอนนี้ทุกบริษัทจะต้องทำเรื่องความยั่งยืน แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ต่อจากนี้เรื่องความยากจนควรจะเป็น 1 ในตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรเช่นกัน คนตัวใหญ่ควรจะมารับช่วงต่อ และทำให้เจนต่อไป ลูกหลานของเขามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่” เอริกาทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image