การประชุมสุดยอดระดับมัธยม ‘วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก’ ณ เมืองคุโรชิโอะ จังหวัดโคชิ

ภาพจาก AFP

วันที่ 5 พฤศจิกายน ถูกกำหนดให้เป็น “วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก” โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เป็นวันที่ระลึกถึงเรื่องสั้นของญี่ปุ่นที่โด่งดัง ชื่อว่า “อินามูระ โน ฮิ” ซึ่งหมายถึง “ไฟมัดข้าว”

ในปี พ.ศ.2397 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่จังหวัดวากายามะ ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของข้าพเจ้า หัวหน้าหมู่บ้านคนหนึ่งชื่อ โคเรียว ฮามากูจิ ซึ่งได้เคยเรียนรู้จากการเล่าสืบต่อกันมาว่าแผ่นดินไหวที่รุนแรงจะทำให้เกิดสึนามิที่ก่อให้เกิดหายนะใหญ่หลวง เมื่อเห็นว่าชาวบ้านคนอื่นไม่ได้ตระหนักถึงหายนะใหญ่หลวงที่จะตามมา ฮามากูจิจึงจุดไฟเผาข้าวเปลือกที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาวางกองอยู่บนลานซึ่งเป็นเนินเพื่อเป็นดวงไฟส่งสัญญาณให้คนทั่วไปไดัรับรู้ แม้ว่าข้าวเปลือกจะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเขาก็ตาม แต่ไฟที่เขาจุดขึ้นได้ชี้นำแนวทางให้ชาวบ้านหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูงทำให้พวกเขารอดจากภัยสึนามิที่ตามมา

สึนามิเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับภัยพิบัติอื่นๆ แต่มันก็ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง ถึงกระนั้น ความทุกข์ยากของมวลมนุษย์ก็สามารถทำให้บรรเทาเบาบางลงได้ โดยอาศัยความรู้ระดับง่ายๆ ที่ว่าแผ่นดินไหวจะทำให้เกิดสึนามิตามมา

อินามูระ โน ฮิ หรือ “ไฟมัดข้าว” เรื่องสั้นที่โด่งดังของญี่ปุ่น
อินามูระ โน ฮิ หรือ “ไฟมัดข้าว” เรื่องสั้นที่โด่งดังของญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวที่เกิดทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2554 ทำให้คนตายมากกว่า 15,000 คน โดยยังมีผู้สูญหายอีกประมาณ 3,000 คน และสิ่งที่ทำให้เราเสียใจมากที่สุดก็คือ เด็กๆ จำนวนมากหลบหนีภัยได้ช้า จึงทำให้พวกเขาเสียชีวิต อันที่จริง ดูจากประวัติศาสตร์ ภูมิภาคนี้ก็เคยเกิดแผ่นดินไหว และมีสึนามิเกิดตามมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่ง ซันริกุ สมัยเมจิ ในปี พ.ศ.2439 และแผ่นดินไหวแถบชายฝั่งซันริกุ ในปี พ.ศ.2476 อย่างไรก็ตาม พอผ่านไปหลายทศวรรษ คนรุ่นหลังๆ ต่างก็พากันลืม

Advertisement

ในปี พ.ศ.2553 ภัยสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวในประเทศชิลีได้ข้ามฝั่งมหาสมุทรมาส่งผลกระทบต่อประเทศญี่ปุ่น เมื่อเสียงเตือนภัยสึนามิดังขึ้น ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังปราศรัยให้สาธารณชนฟังอยู่ เสียงเตือนภัยกระตุ้นเตือนให้คนในท้องถิ่นนั้นอพยพออกจากพื้นที่ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครแสดงอาการว่าจะออกจากพื้นที่ ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องวิกฤต และต้องการจะสร้างระบบให้มีการตอบสนองระดับชาติขึ้นในที่นั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ข้าพเจ้าจึงได้เตรียมร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที แต่ในฐานะที่ยังเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถบัญญัติกฎหมายนั้นออกมาได้ในตอนนั้น แผ่นดินไหวในภาคตะวันออกของญี่ปุ่นเกิดในเดือนมีนาคม พ.ศ.2554 ข้าพเจ้าไม่รู้จะบรรยายถึงความเสียดายที่ตนเองรู้สึกยังไงในตอนนั้น เมื่อคิดถึงจำนวนคนมากมายที่สามารถช่วยให้ปลอดภัยได้ หากเพียงแค่เราได้บัญญัติกฎหมายออกมาก่อนที่ภัยพิบัตินั้นจะเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องบอกเลยว่าญี่ปุ่นไม่ใช่เพียงประเทศเดียวที่เสี่ยงต่อภัยสึนามิ ดังตัวอย่างเช่น มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายจำนวนกว่า 200,000 คน จากการเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดียในปี พ.ศ.2547

ภาพจาก AFP
ภาพจาก AFP

หากเพียงแค่คนทั่วไปรู้มากขึ้นเกี่ยวกับภัยสึนามิในตอนนั้น คงมีคนรอดชีวิตได้อีกจำนวนมาก ในฐานะเป็นนักการเมือง และพลเมืองของญี่ปุ่น ที่เคยประสบและฟื้นฟูจากหายนะภัยธรรมชาตินับไม่ถ้วน ข้าพเจ้าจึงปรารถนาที่จะเผยแพร่ความรู้เรื่องสึนามิไปทั่วโลก และทำให้ผู้คนอีกจำนวนมากรอดชีวิตเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเชื่อว่าการทำให้พวกเขาตระหนักรู้ผ่านเหตุการณ์สำคัญ อย่าง “วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก” สามารถบรรเทาความร้ายแรงที่เกิดจากสึนามิได้ นอกจากนั้น การส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ก็เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันผู้คนให้รอดชีวิตจากภัยสึนามิและภัยพิบัติอื่นๆ ด้วย เรื่องสั้นที่นำมาเล่าข้างต้นทำให้เราเกิดความรู้พิเศษในตัวเอง หลังจากภัยพิบัติครั้งนั้น คุณฮามากูจิก็ได้ช่วยให้ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายร้ายแรง ได้รับอุปกรณ์ในการทำไร่นา และการประมง ยิ่งกว่านั้น เขายังหามาตรการให้หมู่บ้านได้เกิดสภาพมั่นคงและฟื้นคืนสภาพได้เร็วจากภัยธรรมชาติ เรียกว่า “การเพิ่มประสิทธิภาพและฟื้นฟูอย่างยั่งยืน” โดยให้มีการลงทุนสร้างกำแพงในทะเลที่จะช่วยป้องกันชาวบ้านจากภัยสึนามิ

ญี่ปุ่นทุกวันนี้ เป็นผู้นำในแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสำคัญๆ ในระดับโลก การสนองตอบต่อการเกิดภัยพิบัติของประชาคมโลก ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้เน้นการใช้มาตรการปัองกันหลังเกิดภัยพิบัติ และปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปใช้แนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การประชุมระดับโลกของสหประชาชาติว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ถูกจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ.2558 ที่เมืองเซ็นไดในตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นที่เคยถูกสึนามิถล่ม โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ยกเอาวาระที่ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ ซึ่งได้ประกาศให้มีการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนา

Advertisement

ข้าพเจ้าอยากจะเน้นว่า แง่มุมที่สำคัญที่สุดในการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ คือ การบ่มเพาะความเข้าใจในภยันตรายของสึนามิ และการสนองตอบต่อภยันตรายดังกล่าวจากคนจำนวนมากเท่าที่จะมากได้ โดยเฉพาะเด็กๆ และกระตุ้นให้พวกเขาร่วมกันทำหน้าที่เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยสึนามิ ยกตัวอย่างในญี่ปุ่น จะมีการซ้อมหนีภัยนี้ทุกปีโดยการริเริ่มของรัฐบาลและชุมชนท้องถิ่น ในการซ้อมหนีภัยดังกล่าว แม้เด็กนักเรียนชั้นประถมก็เข้าร่วม โดยได้เรียนรู้ถึงภัยคุกคามจากสึนามิรวมทั้งมาตรการที่ต้องใช้เมื่อถูกสึนามิโจมตี

เพื่อสร้างมาตรการการมีส่วนร่วมกับเด็กๆ ทั่วโลก ซึ่งมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมในอนาคต ญี่ปุ่นกำลังร่วมมือทำงานกับสำนักงานการลดความเสี่ยงภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ โดยญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมสุดยอดระดับโรงเรียนมัธยมเกี่ยวกับ “วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก” ที่ตำบลคุโรชิโอะ จังหวัดโคชิ ในวันที่ 25-26 พฤศจิกายน โดยเชิญนักเรียนมัธยมประมาณ 250 คน จากทั่วโลกเข้าร่วม ข้าพเจ้าหวังว่าทูตเยาวชนตระหนักรู้เรื่องสึนามิโลกเหล่านี้ จะได้ร่วมแบ่งปันความรู้เรื่องการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติระหว่างออกภาคสนาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งสรุปข้อมูลที่ค้นพบในแถลงการณ์

ข้าพเจ้าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เราควรทำทุกวิถีทางเพื่อจะหยุดภัยสึนามิ และภัยแผ่นดินไหว ไม่ให้คร่าชีวิตผู้คนไป แม้แต่หนึ่งชีวิต จากที่มีความเชื่อดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าหวังว่าโลกจะร่วมมือกันทำงานเพื่อใช้ความพยายามให้เต็มที่ในการปกป้องชีวิตอันมีค่าต่อไป

วันสึนามิ ญีปุ่่น

โตชิฮิโร นิคาอิ เลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น
โตชิฮิโร นิคาอิ เลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image