สัมภาษณ์พิเศษ : รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คอมเมนต์ค่าแรง 600 บาท ‘เชื่อว่าทำได้ ไม่เกินจริง’

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คอมเมนต์ค่าแรง 600 บาท ‘เชื่อว่าทำได้ ไม่เกินจริง’

 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

คอมเมนต์ค่าแรง 600 บาท

‘เชื่อว่าทำได้ ไม่เกินจริง’

Advertisement

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์อย่างกว้างขวาง เมื่อพรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ตั้งเป้าทำให้ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ย้ำประเด็น ‘สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย’

บ้างเห็นด้วย บ้างคัดค้าน บ้างเย้ยหยัน พร้อมคำถามที่ว่า จะทำได้จริงหรือ?

“น่าจะสามารถทำได้ตามที่ประกาศเอาไว้เพราะกำหนดกรอบเวลาทำให้ได้ภายในปี พ.ศ.2570 แต่การดำเนินการต้องผ่านระบบไตรภาคีจะดีที่สุด”

Advertisement

คือคำตอบของ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ต่อกรณีดังกล่าว ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้ง ใกล้เข้ามาทุกขณะ แวดวงการเมืองเริ่มมีการเคลื่อนไหว รวมไปถึงการเปิดนโยบายเรียกคะแนนเสียง

ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2548 ผู้เคยเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 25 ปี โดยมุ่งหมายให้ไทยเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ภายใน พ.ศ.2575 แต่แผนดังกล่าวต้องถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง รศ.ดร.อนุสรณ์ ย้อนเล่าว่าตอนนั้นคือยุครัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้ความสำคัญกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และการทำให้ผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดูแลประชาชนได้ไม่ดีนักในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดหรือชนบท อย่างพ่อผมต้องเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่มากด้วยอาการเส้นเลือดแตกในสมอง เนื่องจากระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพที่ไม่ดีพอ ในตอนที่เห็นพ่อในวันสุดท้าย ทำให้เกิดความฝังใจในวัยเด็กว่าทำไมประเทศไทยจึงไม่มีระบบสาธารณสุขที่ดูแลประชาชนได้ดีกว่านี้ ทั้งที่ครอบครัวค่อนข้างมีฐานะแต่พ่อยังต้องเสียชีวิตตอนอายุยังน้อย ถ้าเราอยู่ในประเทศหรือสังคมที่มีระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีกว่านี้ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น จากเหตุการณ์ที่พ่อเสียชีวิตเรารู้สึกว่าเราต้องทำอะไรให้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสและคนที่อยู่ในชนบทมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

จากความฝังใจในวัย 7 ขวบ จึงใฝ่ฝันอยากเป็นนายอำเภอ ก่อนกลายเป็นนักเคลื่อนไหว และมีบทบาทในแวดวงการเงินการธนาคาร สุดท้ายเลือกเดินบนเส้นทางวิชาการ สนใจด้านการพัฒนาประเทศ นโยบายสาธารณะ สวัสดิการและแรงงาน

“ตอนเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ อยากเป็นนายอำเภอ เพราะอ่านหนังสือ นายอำเภอปฏิวัติ ของ บุญโชค เจียมวิริยะ ซึ่งเป็นเรื่องราวของนายอำเภอที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน และสนใจการเมือง เลยเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวมากมายในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย จนได้ร่วมผลักดันกฎหมายประกันสังคม ตั้งแต่ปี 2529 ร่วมกับนักวิชาการแรงงานอย่าง ศาสตราจารย์พิเศษ นิคม จันทรวิทุร ซึ่งเป็นคนจังหวัดแพร่เหมือนกัน และทำได้สำเร็จในปี 2533 ในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และได้เกิดกฎหมายประกันสังคมขึ้นมา ความโชคดีคือศาสตราจารย์พิเศษ นิคม ได้เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายแรงงานในตอนนั้น เพราะฉะนั้นรัฐบาล พล.อ.ชาติชายจะให้ความสำคัญกับนโยบายแรงงาน โดยมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ครั้งใน 1 ปี”

ชีวิตต่อจากนั้น บินข้ามทวีปไปศึกษาต่อจนจบปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Fordham University ปริญญาโท MBA Southeastern University และปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การเงินและการพัฒนา จาก Fordham University, New York สหรัฐอเมริกา รวมทั้ง หลักสูตรฝึกอบรมทางด้านการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน World Trade Center New York , Hong Kong , The Phillippines และอื่นๆ

“พอจบ กลับมาทำงานที่ซิตี้แบงก์ ได้เจอกับศาสตราจารย์พิเศษ นิคมอีกครั้ง เลยเกิดความคิดขึ้นว่า ควรรณรงค์เรื่องการประกันการว่างงาน โดยเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลออกนโยบายประกันการว่างงาน จนกระทั่งการรณรงค์ของเราไปถึงจุดที่ฝ่ายการเมืองเห็นว่าควรจะทำเรื่องนี้ และขยายสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมให้ครอบคลุมเรื่องสิทธิประโยชน์การว่างงาน”

โปรไฟล์ชีวิตนับแต่นั้นเข้มข้นอัดแน่นด้วยผลงานเพื่อสังคมและภาคประชาชน

ต่อจากนี้ คือความคิดความเห็นต่อประเด็นร้อนแรง โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ มีทั้งคอมเมนต์และคำแนะนำเพิ่มเติมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

บนตึก World Trade Center, นิวยอร์ก ช่วง ค.ศ.1995

⦁ มองนโยบายค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 600 บาท เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ขึ้นไปอย่างไร สามารถทำได้จริงหรือไม่?
น่าจะสามารถทำได้ตามที่ประกาศเอาไว้ เพราะกำหนดกรอบเวลาทำให้ได้ภายในปี พ.ศ.2570 แต่การดำเนินการต้องผ่านระบบไตรภาคีจะดีที่สุด ขณะนี้เอง แรงงานฝีมือ พวกสายช่างเทคนิค เราจ่ายเกิน 600 บาทไปแล้ว เวลาพูดถึงค่าแรงขั้นต่ำ เราหมายถึงแรงงานแรกเข้า แรงงานทักษะต่ำ ความเป็นจริงในตลาดแรงงาน ก็คือ แรงงานทักษะต่ำจำนวนไม่น้อย ทำงานมา 5-10 ปี ก็ยังได้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ เพราะเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีอำนาจต่อรอง ทั้งที่เขาไม่ใช่แรงงานแรกเข้าหรือแรงงานทักษะต่ำอีกต่อไปแล้ว

หากยังจ่ายเขาอยู่ที่ 354 บาทในเมืองใหญ่ เขาไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและดูแลครอบครัว จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจึงสูงมากๆ ตอนนี้ลดลงมาบ้างแล้วก็ยังอยู่ที่ระดับประมาณ 89% การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากหน่อยจะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ภาคธุรกิจจะขายสินค้าและบริการได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการแบ่งปันที่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ทำให้การกระจายรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนผลกระทบทางด้านต้นทุนต่อกิจการ SMEs ที่ใช้แรงงานมนุษย์เข้มข้น ก็ต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ประคับประคองปรับตัวไปได้ แนวโน้มตลาดการจ้างงานในอนาคตนั้น จะมีการใช้เทคโนโลยีจักรกลอัตโนมัติ หุ่นยนต์และเอไอ มาแทนแรงงานมนุษย์เพิ่มขึ้นตามลำดับอยู่แล้ว ฉะนั้น รัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว เอกชนก็เร่งปรับตัว ต้องหาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมปรับตัวให้ทันต่อค่าแรงขั้นต่ำในปี 2570 มีเวลาอีก 5 ปี คิดว่าทำได้ หากมีรัฐบาลที่ทำเป็น ทำอย่างมียุทธศาสตร์ และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

อัตราการว่างงานของไทยตอนนี้อยู่ที่ระดับ 1.37% เรามีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลากหลายภาคการผลิตและภาคบริการ โดยเฉพาะในบางกิจการที่อาศัยแรงงานทักษะสูงความรู้สูง เราขาดแคลนชัดเจน เราจึงสูญเสียการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม มาเลเซียในอุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้โครงสร้างประชากรไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ประชากรในวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ ต้องอาศัยแรงงานต่างชาติมากขึ้น ทั้งแรงงานฝีมือ และแรงงานทักษะต่ำ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยดึงดูดการเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น

การหาเสียงแบบนี้เกินจริงหรือไม่ หากมองจากบทเรียนที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท แต่ทำไม่ได้?
ไม่เกินจริง ทำได้ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ พอได้เป็นรัฐบาลแล้วไม่ได้ผลักดันตามที่ประกาศเอาไว้ แล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เจอวิกฤตเศรษฐกิจโควิด เลยไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลย ไม่มีการผลักดันอะไรผ่านระบบไตรภาคีจากรัฐบาล เพิ่งจะมาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปีนี้ แล้วก็ขึ้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อด้วย เป็นเรื่องความสามารถและความตั้งใจของแต่ละพรรคการเมือง ไม่สามารถเอามาเป็นบทสรุปได้ว่า

จะเหมือนกัน การให้น้ำหนักในเชิงนโยบายของแต่ละพรรคก็ไม่เหมือนกัน อย่างพรรคพลังประชารัฐอาจให้น้ำหนักกับการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC การให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนต่างชาติเพราะต้องการกระตุ้นการลงทุน น้ำหนักที่ให้กับผู้ใช้แรงงานก็อาจจะน้อยกว่า หลักเกณฑ์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล ตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น หมายถึงอัตราค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว คือตัวลูกจ้าง + ภรรยา 1 + บุตร 2 คน ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่ด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจรวมทั้งไทยมิได้ใช้คำนิยามดังกล่าวขององค์การแรงงานระหว่างประเทศมาเป็นแนวทางในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปีนั้น แต่ละประเทศก็จะมีแนวทางและหลักเกณฑ์ของตนเองแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของ ภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living) ของปีนั้นๆ
เป็นหลัก หากภาวะค่าครองชีพ ปรับเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็จะต้องปรับเพิ่มตามไปเท่านั้น เรียกว่า ปรับเพิ่มตามภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living Adjustment) เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ลูกจ้างนั้นจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิมแต่อย่างใด หากแต่ปรับเพิ่มให้รายได้มีความสมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เพื่อมิให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

กรณีของไทยนั้น เรามีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำบังคับใช้กับภาคอุตสาหกรรม และบริการของภาคเอกชน ไม่รวมภาคเกษตร และภาครัฐ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2516 จุดประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองทางสังคม และกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนา คณะกรรมการค่าจ้างประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ หรือระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณากำหนด ประเทศไทยใช้มาทั้งระบบอัตราเดียวทั่วประเทศและระบบหลายอัตรากำหนดตามพื้นที่กลุ่มจังหวัดต่างๆ

⦁ ล่าสุด สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่า หาเสียงแบบนี้ระวังจะเกิดหายนะทางเศรษฐกิจ และเหมือนเป็นการโยนภาระให้ภาคเอกชน?
ไม่น่าจะเป็นแบบนั้น พรรคเดโมแครตของ โจ ไบเดน ก็หาเสียงจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง พรรคคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนามก็เคยขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน จะเป็นการโยนภาระให้ภาคเอกชนก็ต่อเมื่อไม่มีนโยบายหรือมาตรการอื่นๆ รองรับจากผลกระทบของต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ต้องตระหนักว่า ปัจจุบันค่าจ้างของแรงงานภาคอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ คือ

1.ระบบค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างในสถานประกอบการ กำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีและการประกาศบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงแรงงาน เดิมระบบค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ.2544 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีในจังหวัดของตัวเอง

2.ระบบค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการ คือ ค่าจ้างที่นายจ้างเป็นผู้กำหนดจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนตามผลงานในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาในสถานประกอบการหลายแห่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้มีกำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน ปัญหาอีกประการหนึ่งในปัจจุบัน คือ การไม่มีความแตกต่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องการให้เป็นเพียงค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือในระยะแรกของการทำงานไม่ใช่ค่าจ้างของลูกจ้างที่ทำงานมาหลายปีจนมีทักษะฝีมือแล้ว ค่าจ้างในระบบนี้มักเป็นไปตามค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

3.ระบบค่าจ้างรายชิ้น เป็นระบบค่าจ้างที่จ่ายให้ตามจำนวนชิ้นงานโดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการผลิต ใช้กับแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งค่าจ้างถูกกำหนดโดยผู้ว่าจ้าง จากการศึกษาของ ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ และ นภาพร อติวานิชพงศ์ พบว่าค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับเมื่อคำนวณตามชั่วโมงการทำงานแล้วต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน และโดยส่วนใหญ่ลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้างรายชิ้น ยกเว้นในกรณีมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าสูงมีความจำเป็นต้องการแรงงานเพื่อเร่งผลิต อำนาจต่อรองของลูกจ้างรายชิ้นจึงสูงขึ้น

4.ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบ ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบมักยึดการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นพื้นฐานโดยไม่ใช่ค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage) แรงงานนอกระบบมักมีสภาพการจ้างที่ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นธรรม ขาดความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งมักถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานและไม่ได้ประโยชน์จากระบบประกันสังคมจากสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

ผมอยากให้ไปทำวิจัยและศึกษาเพิ่มเติมในเชิงลึกว่า หากขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 600 บาทในปี 2570 จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในมิติต่างๆ อย่างไร เช่น คุณภาพชีวิตแรงงาน ความอยู่รอดและต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำลดลงแค่ไหน และส่งผลต่อพัฒนาการประชาธิปไตยอย่างไร เป็นต้น

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยการปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติเพื่อให้เกิดผลดีต่อสวัสดิภาพต่อแรงงานอย่างแท้จริง และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ หรือเกิดปัญหาการเพิ่มขึ้นของการว่างงาน รวมทั้งเพิ่มต้นทุนของการผลิตมากเกินไป การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและใช้กลไกไตรภาคี การใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าโดยเฉพาะในมิติความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเท่าไหร่ก็อยู่ที่การเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคี ส่วนการปรับขึ้นเท่าไหร่ก็ต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและภาวะเศรษฐกิจด้วย อย่างไรก็ตาม ควรต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยสูงกว่าเงินเฟ้อ

เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวขึ้นสูงแน่เป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่นๆ อีก ที่ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัว และรัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่า ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตระดับหนึ่งแต่ไม่สูงเท่าจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ดีกว่า ลาว เขมร เมียนมา

ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนของแรงงานในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิดก็ลดลงทุกระดับการศึกษา สะท้อนปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาไทย ผลิตภาพแรงงานโดยเฉลี่ยต่อคนปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity) หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว พบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (PPP) อยู่ในระดับปานกลาง ผลิตภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเป็นตัวกำหนดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image