พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯต้องมี ‘คลองบางพรม’ ‘มันเป็นสตอรี่ที่ขายได้’

พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯต้องมี ‘คลองบางพรม’ ‘มันเป็นสตอรี่ที่ขายได้’
วัดอินทราวาส หรือวัดประดู่ ริมคลองบางพรม ตลิ่งชัน อีกย่านสำคัญในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ

 

พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯต้องมี

‘คลองบางพรม’

‘มันเป็นสตอรี่ที่ขายได้’

Advertisement

คืบหน้าไปตามลำดับ สำหรับโปรเจ็กต์ย้ายศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า สู่ศาลาฯ กทม.ดินแดง โดยล่าสุด มีการตั้งอนุกรรมการอีกชุดเพื่อทำการศึกษา ใช้เวลา 2 ปี ส่วนศาลาฯ เสาชิงช้า จ่อรีโนเวตเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ ที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า ไม่เอาพิพิธภัณฑ์แบบไร้ชีวิตชีวา ทว่า ต้องสื่อสารกับผู้คน ผลักดันให้เป็น ‘แลนด์มาร์ก’ ที่ใครๆ ก็ต้องมาเช็กอิน

14 ธันวาคมที่ผ่านมา ครบรอบ 50 ปีการสถาปนา ‘กรุงเทพมหานคร’ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลชาวกรุง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ตั้งแต่เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว จวบจนยุค ชัชชาติ ที่มีสโลแกนย้ำชัด ทำงาน ทำงาน ทำงาน

“แนะนำชัชชาติให้มาวิ่งที่ย่านคลองบางพรม ฝั่งธนบุรี ท่านผู้ว่าฯควรมารู้จักก่อนทำพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ มีเรื่องสำคัญต้องรู้ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง มีหมด เป็นสตอรี่ที่ขายได้ เป็นบ้านเกิดของ ก.ศ.ร.กุหลาบ นักหนังสือพิมพ์คนแรกของไทย ตั้งสำนักพิมพ์แรกของสยามในกรุงเทพมหานคร”

Advertisement

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวไว้เมื่อครั้งเดินทางไปถ่ายทำรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ร่วมกับ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในตอน ‘ก.ศ.ร.กุหลาบ สื่อสามัญชนมีวิชา ถูกใส่ร้าย จากอีลีตรัตนโกสินทร์ เปิด-ขุมกำลังบางกอกของ ร.1’

ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องริมคลองบางพรม ในรายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว

หลายช่วงหลายตอน เล่าถึงความสำคัญของคลองบางพรม แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน โดยชี้เป้าให้ #ทีมชัชชาติ ขีดเส้นใต้ ไม่ลืมย่านดังกล่าวซึ่งมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ

 

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ นั่งลงในศาลาท่าน้ำ วัดอินทราวาส ริมคลองบางพรมอันเงียบสงบ เล่าเรื่องราวชวนฟังมากมายที่อาจถูกหลงลืมหรือมองข้าม หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สามัญชนคนกรุงเทพฯ อย่าง ก.ศ.ร.กุหลาบ นักปราชญ์ตัวจริงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

‘สยามประเภท’ หนังสือรายเดือน โดย ก.ศ.ร.กุหลาบ

“วัดอินทราวาส เป็นชื่อใหม่ เดิมชื่อวัดประดู่ ตั้งอยู่ริมคลองบางพรมซึ่งแยกจากคลองชักพระไปทางทิศตะวันตก มีความเกี่ยวข้องกับ ก.ศ.ร.กุหลาบ เอดิเตอร์ (บรรณาธิการ) คนแรกของไทย เป็นสื่อที่เป็นคนไทยรุ่นแรก ท่านเขียนไว้เองว่า เกิดในโรงนาข้างวัดประดู่ เป็นสื่อสามัญชน มีวิชาจากการศึกษาเล่าเรียนในสำนักเรียนสำคัญๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ มีประสบการณ์ในการเดินทางต่างประเทศ เป็นนักอ่านตัวยง เป็นนักสะสมหนังสือ เป็นที่รับรู้ในหมู่อีลีต เจ้านาย เจ้าพระยานาหมื่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยอมรับทั่วกันว่า ก.ศ.ร.กุหลาบมีความรู้

คลองบางพรม คลองชักพระ คลองบางกอกใหญ่ เหมือนใยแมงมุมเชื่อมถึงกัน
เรือขายกุยช่าย หน้าวัดเงิน วัดทอง ปากคลองบางพรม วิถีชีวิตของชาวคลองที่ยังคงอยู่

อาชีพที่ทำจนวาระสุดท้าย เรียกว่าตายในกองหนังสือ คือ สื่อมวลชน โดยแต่งหนังสือ ก่อตั้งสำนักพิมพ์ ออกนิตยสาร แบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ ไม่ได้หวังผลกำไร เพราะยังไงก็ไม่มีกำไรอยู่ดี” สุจิตต์เล่า

จากนั้นลงลึกถึงประวัติ นายกุหลาบ ว่าเกิดใน พ.ศ.2377 สมัยรัชกาลที่ 3 เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2464 สมัยรัชกาลที่ 6 เผาศพที่วัดสระเกศ เขตพระนคร

เป็นบุตรคนที่ 13 ซึ่งเป็นคนสุดท้ายของ ‘พ่อตรุษ แม่เส็ง’ เกิดที่โรงนา ตำบลบางพรม ใกล้วัดประดู่คลองบางพรม บวชเรียนที่สำนักวัดพระเชตุพน ลูกศิษย์กรมฯ สมเด็จพระปรมานุชิต ชิโนรส ผู้ประทานนามให้ตอนบวชว่า ‘เกศโร’ อันเป็นที่มาของ ‘ก.ศ.ร.’ หลังจากนั้น ไปเรียนภาษาละติน อังกฤษ ฝรั่งเศสกับสังฆราชปัลเลอกัวส์ ที่วัดอัสสัมชัญบางรัก

เคยรับราชการ แต่ไม่พอใจ จึงลาออกไปเป็นเสมียนตามห้างฝรั่งถึง 5 แห่ง นายห้างพาไปตรวจสินค้าต่างประเทศทั้งใกล้และไกล ขนาดยุโรป ก็ไปมาแล้ว

เรียกได้ว่าเป็นปัญญาชนตัวจริง

ส่วนประเด็นที่ว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ กลับกลายเป็นชาว ‘กุ’ กุเรื่องไม่จริง ปลอมแปลงพงศาวดารนั้น สุจิตต์ไขปริศนาคาใจโดยเชื่อว่าเพราะเกรงเป็น ‘ภัยความมั่นคง’

“สิ่งที่ ก.ศ.ร.กุหลาบทำ คือการขุดค้นพงศาวดารมาเขียนใหม่ให้ง่ายเพื่อสู่สาธารณะ เพราะใครจะไปอ่านพงศาวดารรู้เรื่อง ท่านก็เอามาทำให้ง่าย กลายเป็นถูกมองว่าโกหก อวดอ้าง สร้างเรื่องไม่จริง ลักคัดเรื่องพงศาวดารและเรื่องเก่าแก่จากหอหลวงแล้วนำไปแทรกข้อความปลอมแปลงให้แตกต่างจากต้นฉบับก่อนนำไปพิมพ์จำหน่าย สร้างความรู้ที่ผิดให้สังคม แต่ถูกค้นคว้าพบในภายหลังว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวคลาดเคลื่อน

ประวัติศาสตร์ โบราณคดีถูกผูกขาดอย่างเหนียวแน่นจากคนที่กุมอำนาจในสมัยนั้น และยังทรงพลังฝืนกระแสโลกมาจนปัจจุบัน ก.ศ.ร.กุหลาบซึ่งทำหน้าที่สื่อมวลชน บังอาจมีวิชาความรู้ ข้อมูล รู้เท่าทัน ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงในการผูกขาดความรู้ของชนชั้นนำ ก็อยู่ไม่ได้” สุจิตต์เล่า ก่อนกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ ก.ศ.ร.กุหลาบทำและเป็นที่รับรู้ในชื่อเสียงเกียรติยศ คือ ‘โรงพิมพ์สยามประเภท’ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ล่าสุดเป็นโรงพิมพ์ไทยเกษม ตรงข้ามวัดราชบพิธ

 

“คุณขรรค์ชัยเคยทำงานตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ไปรับจ้างทำหนังสือช่อฟ้าอยู่ที่โรงพิมพ์ตรงข้าม ตรงนั้นคือย่านโรงพิมพ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5” สุจิตต์กล่าว ขรรค์ชัยนั่งยิ้ม เมื่อถูกพาดพิงความหลังครั้งวัยหนุ่ม

จากนั้นหยิบยกมุมมองของนักวิชาการอย่าง รศ.ดร.สุทธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ล่วงลับ ที่ว่า ในสมัยแรกของการเกิดวิชาประวัติศาสตร์ในประเทศสยาม ต้องถือว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นสามัญชนคนหนึ่งที่โดดเด่นมาก แต่ชื่อเสียงของเขาถูกทำลายจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นนักกุหรือปลอมแปลงประวัติศาสตร์

เช่นเดียวกับ รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ซึ่งระบุว่า ช่วงที่สังคมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5 ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ช่วงที่มีชีวิตอยู่ ผลงานอันสะท้อนสังคมการเมืองวัฒนรรมที่แหวกขนบถูกจับจ้องตรวจสอบจากอำนาจรัฐอย่างใกล้ชิด

จากนั้น ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องโยกย้ายไปอีกวัดใกล้ๆ นั่นคือ วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร หรือ ‘วัดเงิน’ โดยมี วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร หรือ ‘วัดทอง’ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามคู่กันบริเวณปากคลองบางพรมซึ่งเชื่อมกับคลองชักพระ

แผนที่ภาพรวมแม่น้ำลำคลองที่แยกสายจากเจ้าพระยา เห็นคลองบางพรมอยู่ฝั่งซ้าย แยกจาก คลองชักพระ
แผนที่วัดประดู่ วัดเงิน วัดทอง วัดแก้ว ย่านคลองบางพรม

“วัดเงินกับวัดทอง เกี่ยวข้องกับราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัย ร.1 โดยตรง จริงๆ มีวัดแก้วด้วย อยู่ไม่ไกลกันนัก นักวิชาการบอกว่าหลักฐานเก่าถึงอยุธยาตอนต้น ส่วนวัดเงินวัดทองมาสร้างทีหลัง” ขรรค์ชัย-สุจิตต์เล่า

จากนั้นกล่าวถึงประเด็นที่ว่า นางตรุษ มารดาของ ก.ศ.ร.กุหลาบนั้นมีต้นตระกูลเป็น ขุนนางเมืองโคราช ตั้งแต่ยุคอยุธยา กระทั่งมารับราชการในรัชกาลที่ 1 ตัวนางตรุษ เป็นสามัญชน มีเรือกสวนไร่นา ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองบางพรม

“ผมเดาเอาว่าน่าจะใกล้วัดเงินวัดทอง ค่อนไปทางตะวันตก ประเด็นคือ ขุนนางโคราช มีความสัมพันธ์พิเศษกับเจ้านายชั้นสูงของกรุงรัตนโกสินทร์ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนเองว่า นางตรุษ มารดา อยู่ไฟมาในเรือ ก็พาทารกเพิ่งคลอดกลับเรือนด้วยเรือชะล่าท้องแบนกินน้ำตื้น ขณะนั้น มีนกแร้งตัวหนึ่งโผบินจับกราบเรือตรงเบาะทารก แร้งนั้น ก้มศีรษะดมที่ทารกแล้วก็บินไปจากเรือ ถือเป็นลางไม่ดี ญาติทั้งหลายพร้อมใจลงความเห็นว่า ทารกเป็นบุตรอุบาทว์ วาสนาบิดามารดาเลี้ยงไม่ได้เป็นแน่ เว้นเสียแต่ผู้มีบรรดาศักดิ์สูง เลยบอกแม่ว่า ต้องไปให้เจ้านายเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม จึงพาไปถวายตัวกับพระองค์เจ้าหญิงกินรี ธิดา รัชกาลที่ 3 ทรงเลี้ยงดูนายกุหลาบตั้งแต่ยังเยาว์” สุจิตต์เล่า แล้วเข้าสู่ประเด็นสังคมการเมืองเรื่องชุมชนและวัดวาอาราม

“ก่อนสร้างวัดแสดงว่ามีชุมชนหนาแน่น ชุมชนแถบนี้เป็นเครือข่าย บริวาร เจ้านายในวังหลวงมาอาศัยผลหมากรากไม้ที่นี่ ขณะเดียวกันก็มีแปลงนาอยู่ต่อจากสวนไป มีการทำนา ส่งข้าวเข้าวัง

การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ถ้าเห็นแต่วัด เห็นแต่ลวดลาย ก็ไม่เห็นคน การมาสร้างวัดตรงนี้ มันต้องมีชุมชนใหญ่ที่ดูแลได้ ต้องใส่บาตรให้พระ ดูเสนาสนะ ต้องมีไพร่เป็นแรงงาน นี่คือประวัติศาสตร์สังคม ถ้าพูดไปสตอรี่มันเต็มไปหมด”

แม่น้ำลำคลองอุดมสมบูรณ์ เพียบ ยังกะใยแมงมุม ถ้าพูดโดยสรุปย่านบางพรม หรือคลองบางพรม เหมาะแก่การท่องเที่ยว บริเวณตรงนี้ 1.มันอยู่ในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ไม่ไกลจากตลาดน้ำคลองลัดมะยม 2.เข้าถึงสะดวกทั้งทางบก ทางน้ำ ทางเชื่อมถึงกัน ถนนสายหลักคือบรมราชชนนี พุทธมณฑล ราชพฤกษ์มาได้หมด ซอกซอยต่างๆ นานา เหมาะขี่จักรยาน ร่มรื่น ทางเรือ ผ่านคลองบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ เข้าคลองชักพระ สู่คลองบางพรม ผ่านวัดเงิน วัดทอง วัดอินทราวาส ไปตลาดน้ำคลองลัดมะยม ได้หมด” ขรรค์ชัย-สุจิตต์ อธิบาย พร้อมชวนมาเที่ยวบ้านเกิด ก.ศ.ร.กุหลาบ

ชาวฝั่งธนฯ คนกรุงเทพฯ นักปราชญ์คนสำคัญแห่งรัตนโกสินทร์ที่ต้องปรากฏนามในพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ

พรรณราย เรือนอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image