นวัคคหายุสมธัมม์ ธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์ พระนิพนธ์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว)

พิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิต มหาสีมาราม 16 ธันวาคมที่ผ่านมา

นวัคคหายุสมธัมม์

ธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์

พระนิพนธ์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว)

ตามที่ สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวร ความทราบแล้วนั้น

Advertisement

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ทรงมีพระบัญชาโปรดให้สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม แจ้งวัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักร และวัดไทยในต่างประเทศ ให้คณะสงฆ์พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาเป็นพิเศษ ต่อจากการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นประจำทุกวัน

วัดวาอารามทั่วประเทศ รวมถึงวัดไทยในต่างแดน ต่างร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล ขอทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน

16 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร และสังฆทานถวายในการที่คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามโดย พระเดชพระคุณพระพรหมวัชราจารย์ ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานพิธีฝ่ายฆราวาส ร่วมกันจัดพิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัยแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ

Advertisement

นวัคคหายุสมธัมม์ (อ่าน นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ) แปลว่า ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกำหนดด้วยองค์เก้า หรือธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์ เป็นบทเฉพาะที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปฐมเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงพระนิพนธ์ขึ้นโดยรวบรวมพระธรรมต่างๆ ในหลายพระสูตร อันมีข้อธรรมเท่าจำนวนเกณฑ์กำลังเทวดานพเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์ไทย เมื่อคราวบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 50 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ พุทธศักราช 2412 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์’ โดย พระมหารังสี ปี่แก้ว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 50 ปี ใคร่จะทรงทำพิธีพิเศษ จึงได้ตรัสปรึกษาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) เพื่อจัดพิธีขึ้นใหม่

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงนิพนธ์ ‘นวัคคหายุสมธัมม์’
คณะสงฆ์ 5 รูป วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เจริญพระพุทธมนต์ นวัคคหายุสมธัมม์
อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานฝ่ายฆราวาส จุดเทียนในพิธี

สมเด็จพระสังฆราชสา ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย จึงทรงจัดรูปแบบพิธีสวดนพเคราะห์ขึ้นถวายใหม่ เรียกว่า ‘นวัคคหายุสมธัมม์’ โดยให้พระสงฆ์ 5 รูป สวดพระธรรมต่างๆ ที่มีข้อธรรมเท่าจำนวนเกณฑ์กำลังของเทวดานพเคราะห์เฉพาะองค์ๆ คือ อนุตตริยะ 6 สำหรับวันอาทิตย์ จรณะ 15 สำหรับวันจันทร์ มรรค 8 สำหรับวันอังคาร อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 รวม 17 สำหรับวันพุธ ทสพลญาณ 10 สำหรับวันเสาร์ สัญญา 10 อนุปุพพวิหาร 9 รวม 19 สำหรับวันพฤหัสบดี สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 รวม 12 สำหรับพระราหู สัปปุริสธรรม 7 อริยทรัพย์ 7 สัมมาสมาธิปริกขาร 7 รวม 21 สำหรับวันศุกร์ และอาฆาตวัตถุปฏิวินย 9 สำหรับพระเกตุ

การเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ จึงเป็นธรรมเนียมที่มีปฏิบัติครั้งแรกในคราวนั้นเอง

ครั้นเมื่อ พ.ศ.2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 25 พรรษา มีพระราชปรารภว่าจะทรงจัดพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาให้พิเศษกว่าที่เคยทำมาแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงกราบบังคมทูลให้ทรงทำพิธีสวดนวัคคหายุสมธัมม์ จึงเป็นธรรมเนียมที่มีการสวดถวายในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับสถานที่ประกอบพิธีในช่วงแรกมักถูกกำหนดให้กระทำ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสสำคัญของพระบรมวงศานุวงศ์

นวัคคหายุสมธัมม์ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2471 (ภาพจากเพจ ‘จตุรเวทวิทยาคม’)
สมุดไทย ‘บูชานพเคราะห์ ว่าด้วยคำบูชา’ สมัยรัชกาลที่ 6 (ภาพจากวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์)
สมุดไทย ‘ตําราโหราศาสตร์ มีประกาศเทวดาเป็นวัน’ ปรากฏพระนาม สมเด็จพระบุรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบําราบปรปักษ์ (ภาพจาก
วิทยานิพนธ์ วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์)

พิธีในยุคแรกใช้เวลายาวนานราว 4-5 ชั่วโมง กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริตัดทอนข้อความที่มีเนื้อหาซ้ำกันออกไป คงไว้แต่หัวข้อธรรม ปัจจุบันจึงใช้เวลาสวดราว 1-2 ชั่วโมง

ย้อนกลับไปที่ความหมายของคำว่า นวัคคหายุสมธัมม์ มีที่มาจากศัพท์ 5 คำ ได้แก่ 1.นว แปลว่า ใหม่ จำนวนเก้า 2.คห แปลว่า เรือน, ยึด 3.อายุ แปลว่า เวลาที่ดำรงชีวิตอยู่ 4.สม แปลว่า เหมาะสม, ควรแก่, เข้ากันกับ, เสมอ, รับกัน, พอดีกัน 5.ธมม แปลว่า คุณความดี, คำสั่งสอน, หลักประพฤติปฏิบัติ, ความจริง

ทั้งนี้ นวคห มีความหมายตรงกับคำว่า นวรห หรือ นวารห มาจากศัพท์เต็มว่า นวรหคุณ หรือ นวารหาทิคุณ หมายถึง พุทธคุณ 9 หรือคุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ 9 ประการ นอกจากนี้ นวคห ยังมีอีกความหมายหนึ่งว่า นวเคราะห์ หรือดาวพระเคราะห์ทั้ง 9

เนื้อหาและข้อธรรมส่วนใหญ่ในบทเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ มุ่งเน้นคุณธรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ควรประพฤติให้เกิดมีในตน และชักนำให้บุคคลเข้าสู่เขตบุญพุทธศาสนา

พรรณราย เรือนอินทร์

เอกสารอ้างอิง

-‘วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์’ โดย พระมหารังสี ปี่แก้ว วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พุทธศาสนศึกษา) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562.

-บทเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน จัดพิมพ์โดย สำนักงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ พระมหาอนุลักษ์ ชุตินันโท บรรณาธิการ, พิมพ์ครั้งที่ 7 พฤษภาคม 2565

ตัวอย่างช่วงตอนต้นของ ‘นวัคคหายุสมธัมม์’

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหันตัสสะ ตาทิโน

วิสุทธิเทวะภูตัสสะ สัมมา สามัญจะ โพธิโน

นะโม ธัมมัสสะ เตเนวะ สุอักขาตัสสะ สัพพะโส

ราคัสสะ เจวะ โทสัสสะ โมหัสสะ จาภิฆาฏิโน

นะโม สุปุญญักเขตตัสสะ สังฆัสสะ ธัมมะธาริโน

สัตถุสาสะนะการิสสะ สัจจาภิสะมิตาวิโน

อุตตะมัง วันทะเนยยานัง วันทันตา ระตะนัตตะยัง

เจโตปะสาทะสัมภูตัง ยัง ปุญญัง ปะสะวามะ เส

หัญญันตูปัททะวา สัพเพ ตัสสานุภาวะสิทธิยา

สะมิชฌันตุ จะ สังกัปปา อัมหากัง ธัมมะนิสสิตา

เย เต นะวัคคะหา นามะ คะหัญญูภิวะวัตถิตา

ระวิ จันโท ภุมโม วุโธ โสโร ชีโว จะ ราหุ จะ

สุกโร เกตุติญาเยนะ โหระสัตถานุโลมินา

เตสัง อายุสะเม ธัมมะ- ปะริยาเย กะถัญจิปิ

ภะณิสสามะ, มะยันทานิ กะมะนิกเข ปะตันติยาฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image