คำให้การของ… ‘สมนึก ดวงประทีป’ ชาวนาธรรมดา

“ราคาข้าว” เป็นหนึ่งในปัญหาที่ชาวนาไทยต้องเผชิญกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็น “ปรากฏการณ์” ที่ถือว่าหนักหน่วงที่สุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ท่ามกลาง “เสียง” ของหลายหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ที่ออกมาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว พร้อมเสนอแนวคิดและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้เร่งออกนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบาย “จำนำยุ้งฉาง” ที่ได้ถูกนำออกมาช่วยเหลือชาวนาอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่ง “เสียง” ที่ถูกละเลย และไม่ได้ถูกบอกเล่าทั้งที่พวกเขาคือผู้ประสบปัญหา คือ เสียงของชาวนา ที่เป็นชาวนาจริงๆ ในพื้นที่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้พูด แต่ก็เป็นการพูดถึงปัญหาและความแร้นแค้นที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเปิดพื้นที่ที่จะให้พวกเขาได้มีโอกาสบอกเล่าถึงชีวิต ความเป็นอยู่ และข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างเต็มพื้นที่

สบโอกาสลงพื้นที่สำรวจใน จ.อ่างทอง พูดคุยกับชาวนาหลากหลายชีวิต รวมไปถึง “สมนึก ดวงประทีป” ชาวนาธรรมดาคนหนึ่ง ในวัย 47 ปี ที่ได้เล่าชีวิตการทำนาของตัวเองตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

จากลูกชาวนาที่เคยมีที่นาจนกลายมาเป็นไม่มีที่นา เล่าพร้อมหัวเราะเฝื่อนกับ “หนี้ผูกพัน” ที่เป็นหนึ่งมรดกที่เขาและชาวนาอีกหลายชีวิตได้รับเป็นมรดก ชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องดิ้นรนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯเพียงเพื่อหาเงินให้ลูกๆ ได้มีโอกาสมีการศึกษาที่ดีที่สุด และไม่จำเป็นที่จะต้องมาลำบากเหมือนอย่างเขา

“ผมต้องการที่จะเห็นพวกเขามีชีวิตที่ดี ได้มีโอกาสทำตามความฝัน ไม่อยากให้ความเป็นชาวนามาหยุดความฝันของลูกๆ แต่หากพวกเขาตัดสินใจที่จะมาทำนา ผมก็พร้อมสนับสนุนอย่างไม่ลังเลเช่นกัน”

ผ่านความลำบาก โศกเศร้าเคล้าน้ำตามาอย่างไร จนถึงทุกวันนี้ที่ประสบกับปัญหาราคาข้าวที่ตกต่้ำเป็นประวัติศาสตร์ สมนึกยังคงยืนยันที่ทำนาไปตลอดชีวิต ในฐานะ “ชาวนา” ธรรมดาคนหนึ่ง

Advertisement

ที่ยังเชื่อและหวังที่จะเห็นอนาคตของ “ชาวนาไทย” มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในปัจจุบัน

– เริ่มต้นชีวิตชาวนาได้อย่างไร?

คือ ผมเรียนจบแค่ ป.6 พ่อแม่มีอาชีพทำนา ก็ต้องตามพ่อตื่นแต่เช้ามาทำนาตั้งแต่ตีสาม สมัยนั้นยังใช้ควายไถนาอยู่เลย (หัวเราะ) แต่ก็ไม่ได้ทำจริงจังมากเท่าไร มาตอนหลังจากสิ้นบุญพ่อไปแล้วในปี 2536 จึงค่อยมาทำนาจริงจังด้วยตนเองเป็นครั้งแรก เริ่มจากเช่านาเขาทำ 6 ไร่ ตอนนั้นยังไร่ละ 300 บาท โดยทำเป็นนาหว่านน้ำตม ทำครั้งแรกนี่ล้มลุกคลุกคลานเลย เพราะตอนอยู่กับพ่อกับแม่เราไม่ตั้งใจทำ ก็มีกินมีใช้ ถึงเวลาก็แบมือขอสตางค์ (ยิ้ม) พอมาทำเองก็ไม่เป็น จะเอาเทคนิคสมัยพ่อมาใช้ก็ไม่ได้ เพราะเราเปลี่ยนมาทำนาหว่านน้ำตม ก็ไปเชื่อคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง 2 ปีแรกก็ขาดทุน

– แล้วหลังจากนั้นทำอย่างไรต่อ?

พอมาปี 2538 ก็เลยเริ่มต้นใหม่ เช่านาเพิ่มอีก 10 ไร่ เป็น 16 ไร่ ตอนนั้นลงทุนเยอะมากกู้เงิน ธ.ก.ส.มา แต่ก็เป็นปีที่โชคร้ายน้ำท่วมหนัก ที่ทำไปนี่ไปหมดเลย ไม่มีเหลือ แถมเป็นหนี้อีก หลังจากนั้นเลยรับจ้างไปด้วย ทำนาไปด้วย หาเงินใช้หนี้ไป เลี้ยงดูครอบครัวไป ตอนนั้นจับจุดไม่ถูกว่าจะทำนาต่อหรือจะเลิกทำแล้วไปขายแรงงานในกรุงเทพฯดี แต่ภรรยาบอกว่าทำไปเถอะ ค่อยๆ ทำไป เดี๋ยวมันก็หมดหนี้ พอน้ำลดปีต่อมาจึงเริ่มทำนาอีกครั้ง แต่เราไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ รถไถอะไรก็ไม่มี ก็ต้องจ้างเขาไถ จ้างเขาย่ำ จ้างเขาตี คือ ต้องจ้างเขาตลอด บางปีก็พอมีกำไรบ้าง บางปีก็เท่าทุน บางปีก็ขาดทุน มันเหมือนเราย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่มีอะไรงอกเงยขึ้นมา เหลือบ้าง ขาดทุนบ้าง ได้กำไรบ้าง วนอยู่แบบนี้

– แล้วทำไมไม่ทำบนที่นาของพ่อ?

(ยิ้ม) ก่อนพ่อจะเสียชีวิตก็ขายนาทั้งหมดที่มีไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. แต่สุดท้ายหนี้ก็ยังไม่หมด พอมาเริ่มทำนาแม่ก็เลยบอกว่า แม่ไม่มีสมบัติอะไรมากมายให้นะ มีบ้านหนึ่งหลัง กับหนี้ ธ.ก.ส. ของพ่ออีก 2 แสนบาทเป็นหนี้ผูกพันมา ในวันนั้นผมจึงได้สมบัติชิ้นแรกในชีวิต นั่นก็คือบ้าน พร้อมด้วยหนี้ก้อนแรกในชีวิตด้วย (หัวเราะ)

– ตอนนี้มีนาเป็นของตัวเองหรือยัง?

ตอนนี้ผมทำนา 100 ไร่ แต่ไม่ใช่นาตัวเองเลย เป็นนาเช่าทั้งหมด บางปีค่าเช่าสูงไร่ละ 1,000 บาท ปีที่ผ่านมาไม่มีน้ำ ค่าเช่าลดลงมาเหลือ 700 บาท การเช่าที่นา ต่อให้เราทำหรือไม่ทำนา ถ้าครบปีก็ต้องหาเงินไปให้ ถึงจะเเล้งถึงไม่มีน้ำ แต่สิ่งที่ต้องทำคือ จ่ายค่าเช่า บางรายก็ใจดีไม่เอาเงิน แต่บางรายก็ไม่ได้

– ตอนที่ไม่ได้ทำนา หาเงินจากไหนจ่ายค่าเช่า?

ปีที่ผ่านมาเเล้งมาก ไม่มีน้ำทำนา ผมต้องเข้ากรุงเทพฯไปรับเหมางานต่อเติม หาเงินส่งลูกเรียน ส่วนภรรยาอยู่บ้านก็ต้องปลูกผักขายไปเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในบ้านเพื่อประคองครอบครัวผ่านพ้นปีให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ ขนาดผมยังต้องดิ้นรนไปทำงาน แล้วคนรุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ที่เขาอายุมากกว่าผม เขาจะไปหาเงินจากไหน แล้วพอทำนารอบใหม่ก็ต้องมาหากู้เงินมาลงทุนใหม่ ขณะที่หนี้เก่าก็ไม่ได้ลด หนี้ใหม่ก็มาเพิ่ม

แล้วเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ปีนี้มีน้ำทำนา แต่ราคาข้าวตกต่ำ ถามว่าจะอยู่กันยังไง ถ้าเป็นแบบนี้คงอยู่กันไม่ได้

– ถามตรงๆ ว่า ทำไมคำว่าชาวนาจึงอยู่คู่กับคำว่าหนี้มาตลอด?

ถามว่าทำไมชาวนาถึงมีหนี้ คือ ชาวนาเขาจะมีหนี้ผูกพัน คือ ตั้งแต่ทำนา เริ่มจากการเป็นหนี้กู้มาลงทุน พอถึงฤดูที่จะต้องส่ง มันไม่มีต้นที่จะส่งเขา ชาวนาก็จะใช้วิธีชะลอหนี้ด้วยวิธีการส่งดอก คือส่งเงินไปใช้เฉพาะดอกเบี้ย ทำให้เงินต้นที่กู้มาก็ยังไม่หมด พอกำลังจะใช้เงินต้น บางทีเจอปัญหาอีก ก็ต้องกู้อีก เมื่อใช้หนี้ไม่หมดก็ผูกพันมารุ่นลูกต้องมาใช้หนี้ กลายเป็นหนี้ผูกพัน ซึ่งเป็นหนี้ที่ชาวนาส่วนใหญ่เผชิญกันมากที่สุด แล้วตอนหลังมีเรื่องกระแสการศึกษามาแรงด้วยก็ยิ่งทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก

– กระแสการศึกษา?

ใช่ กระแสการศึกษามาแรงมาก คือ ชาวนาทุกคนไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนกับเรา ก็ต้องส่งเสียให้ลูกได้เรียนดีๆ แต่การศึกษาที่ดีก็ต้องมีต้นทุนต้องจ่าย อย่างตัวผมเองตอนนี้มีรายจ่ายที่จะต้องส่งลูก 2 คนเรียนปริญญาตรี เดือนละ 20,000 บาท ที่ต้องหาให้ได้

– นโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลที่ผ่านมา?

สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายประกันราคาข้าว สมัยนั้นโรงสีซื้อเท่าไหร่ไม่รู้ ราคาข้าวเป็นไปตามราคาตลาดโลก แต่ละวันไม่เท่ากัน ถ้าราคาตลาดโลกสูงกว่าที่โรงสีซื้อเราไป จะคืนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีเป็นราคาที่เราเลือกจากส่วนต่างสูงสุดในช่วง 15 วัน สมัยนั้นชาวนาอยู่ได้ ผมก็อยู่ได้ มีเงินโอนเข้าบัญชีมาสูงสุด 100,000 บาท ตอนนั้นผมก็เอาเงินไปดาวน์รถไถเลย

ต่อมาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีโครงการจำนำข้าวที่รับจำนำข้าวทุกเมล็ด อันนี้ที่เห็นชัดเจนเลยคือชาวนาได้ผลประโยชน์จำนวนมาก ชาวนาเขาไม่รู้หรอกว่าเงินภาษีในคลังจะหมดหรือจะมี เพราะชาวนาไม่ได้ไปบริหารจัดการด้วย เเต่สิ่งที่ตามมาคือข้าวไม่มีคุณภาพ เพราะเมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวนาเร่งผลิตกันอย่างเดียว ยาอะไรที่เขาว่ามันดี ที่ให้ผลผลิตมากก็จะหาซื้อมาใช้กัน ทำยังไงก็ได้ให้ทำนาปีละ 3-4 รอบ เน้นปริมาณให้มากที่สุด แต่ตอนนั้นชาวนาลืมตาอ้าปากกันได้เยอะ

สำหรับรัฐบาลปัจจบุัน ผมว่าการบริหารจัดการดี เเต่ไม่เก่งเรื่องการค้า ยังทำงานช้าอยู่ อย่างโครงการจำนำยุ้งฉาง เป็นเรื่องที่ชาวนาไม่เข้าใจมาก โดยเฉพาะภาคกลางเขาไม่มียุ้งฉางกันแล้ว ชาวนาที่นี่ส่วนใหญ่ขายข้าวสด คือเกี่ยวข้าวเสร็จขึ้นรถไปขายเลย พอออกนโยบายจำนำยุ้งฉางมา ชาวนาในพื้นที่เลยไม่เข้าใจ

– ขายผ่านออนไลน์ ช่วยเหลือชาวนาได้ไหม?

ยังไม่ใช่วิธีแก้นะ ถามว่าชาวนาจริงๆ เข้าถึงโซเชียลไหม ถ้าพูดความจริงคือเข้าไม่ถึง เขาไม่รู้จักหรอก นอกจากลูกหลานชาวนา แต่เขาก็ไม่ได้มาสืบทอดมาทำนาต่อ แล้วที่รัฐบาลบอกให้แปรรูปมาขาย มันจะทำได้จริงสักกี่ครัวเรือน

– รัฐบาลควรช่วยยังไง?

ผมคิดเเบบชาวนา อยากให้ตั้งราคาข้าวมาเลยเป็นราคามาตรฐาน ไม่ต้องราคาสูง เพราะตัวชาวนาเองเขาไม่สามารถกำหนดราคากลางได้ ต้องรอพ่อค้าคนกลาง หรือถ้าเป็นไปได้รัฐบาลซื้อข้าวไว้เอง แล้วจะส่งออกหรือจะขายเท่าไหร่ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่มาช่วยที่ปลายเหตุ เเล้วไม่ว่าจะกำหนดมาตรการอะไร อยากให้ทำให้เร็ว ทำทันที ไม่ต้องรอ

เพราะตอนนี้ความช่วยเหลือกว่าจะมาถึงมือชาวนา ต้องรอผ่านขั้นตอน ผ่าน ครม. อะไรผมก็ไม่รู้ ผมเป็นชาวนา ผมไม่รู้เรื่องการเมืองหรอก แต่ว่าการที่มัวมารอแบบนี้ กว่าความช่วยเหลือจะมาถึง ตอนนั้นข้าวก็หมดทุ่งแล้ว ไปอยู่ที่นายทุนที่โรงสีหมด ชาวนาจะได้อะไร?

– ถ้าราคาตกต่ำเเบบนี้ต่อไป?

ถ้าราคาตันละ 5,000 บาทแบบนี้ อีกหน่อยการทำนาจะล่มสลาย ทุกคนเลิกหมด ไม่มีคนทำนาแล้ว ชาวนาที่อยู่ได้จะมีเฉพาะรายใหญ่ระดับ 100 ไร่ขึ้นไป คนที่ทำนาไม่ถึง 50 ไร่น่าจะไปไม่รอด สมมุติต้นทุนทำนาอยู่ไร่ละประมาณ 4,500 บาท เขาทำนา 10 ไร่ ได้กำไรประมาณ 5,000 บาท แต่ใช้เวลาทำนา 4 เดือน เฉลี่ยมีรายได้เดือนละ 1,000 กว่าบาท ไปทำงานอื่นไม่ดีกว่าเหรอ

– แล้วในพื้นที่มีชาวนารุ่นใหม่ๆ เพิ่มบ้างหรือไม่?

มีน้อยมาก ทั้งตำบลมีชาวนาอายุราว 20-30 ปี ประมาณ 10 คน นอกนั้นอายุสัก 50 ปีขึ้น แต่เขาก็มาขอคำแนะนำชาวนารุ่นก่อนๆ อยู่เสมอ อย่างที่บ้านผมเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนั้นใครที่สนใจ อยากจะปรับเปลี่ยนชีวิตการทำนา เรียนรู้ประสบการณ์ของผมที่เคยผิดพลาดมาก่อน ผมก็ยินดีที่จะถ่ายทอดให้ บางครั้งนอกจากแนะนำ ผมก็ไปช่วยดูด้วยว่านาเป็นยังไง อายุข้าวกี่วัน ถ้าอายุข้าวเท่านี้ต้องฉีดยาชีวภาพตัวนี้นะ ช่วงนี้ต้องหว่านปุ๋ย ต้องบอกเขา ให้เขาเรียนรู้และยืนด้วยตัวเองได้

– อยากเห็นคนรุ่นใหม่ทำนาต่อไปไหม?

จริงๆ แล้วอยากให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานกลับมาทำนา การเกษตรเป็นงานที่ยั่งยืนที่สุด เป็นงานอิสระ และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้มากถ้าคนรู้จักใช้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ หากคุณบอกว่าวันนี้จะทำนา แล้วไปซื้อข้าวมาโยนแช่น้ำ ทำส่งเดช ผลผลิตออกมาก็ส่งเดช แต่ถ้าทำอย่างตั้งใจ ทำด้วยหัวใจ ให้มันระเบิดออกจากข้างใน ไร่ละตันคุณก็ทำได้ คือ มันต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด

– แล้วทุกวันนี้ทำนาด้วยวิธีคิดอะไรบ้าง?

หนึ่ง อย่าทำตัวเป็นคนจบปริญญา “โทร” คือ โทรอย่างเดียว โทรให้มาฉีดยา โทรให้มาทำทุกอย่างแล้วไม่ไปดู คือ คุณต้องใส่ใจในการทำนา อันไหนทำได้เองก็ควรทำ สองคือต้องทำบัญชี ถ้าทำนาไม่ทำบัญชีฟาร์ม รับรองเจ๊ง อย่างผมทำนา ผมมีรถ มีอุปกรณ์ ผมยังต้องคิดค่าเช่า คิดค่าแรง ถ้าผมไปรับจ้างคนอื่น 300 เวลาผมทำนาตัวเองก็ต้องหักค่าต้นทุน 300 เหมือนกัน เพราะนี่คือต้นทุน แม้ว่าจะเป็นรถเราเอง ไม่อย่างนั้นคุณคิดไปเองว่าคุณมีกำไรมากเกินจริง

– สุดท้ายถามจริงๆ ว่า เคยคิดจะเลิกทำนาไหม?

อายุปูนนี้แล้วจะไปไหนได้อีก (หัวเราะ) จะให้เปลี่ยนแปลงชีวิตไปเริ่มต้นใหม่ตอนอายุ 50 คงเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องทำต่อไป ราคาข้าวตอนนี้สำหรับผมไม่ได้ขาดทุนนะ แต่มันไม่เหลือค่าแรงที่เราลงไป ถามว่าทำไมผมถึงอยู่ได้ เพราะผมทำนาเอง ไถ-หว่านเอง ปุ๋ยผมก็ทำเอง ไม่งั้นผมก็ไม่เหลืออะไรเลย คือทุกอย่างมันอยู่ที่วิธีคิด ถ้าวันนี้เรายังทำแบบเดิมๆ ผมก็รู้ว่ารัฐบาลไม่มีเงินหรอก ใครจะมาสนับสนุนชาวนาทุกคนไหว มันต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายในระยะยาว

ดังนั้นทุกวันนี้ถ้าไม่คิดจะช่วยเหลือตัวเอง จะรอให้คนอื่นมาช่วยอย่างเดียว มันอยู่ยาก (ยิ้ม)


ความเชื่อ “ชาวนา” ไทย จากคำสอน “ผู้เฒ่าผู้แก่”

หลังจากพูดคุยถึงการทำนาอย่างออกรส สมนึกก็ได้เริ่มเผยความเชื่อในการทำนาที่สืบทอดมาจาก “ผู้เฒ่าผู้แก่” ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

“ถ้าจะหว่านข้าวเอารวง ให้หว่านวันพุธ พฤหัสฯ ศุกร์ ผลผลิตรวงออกมาจะดี หลังจากนั้นที่เหลือสี่วันอย่าไปหว่าน แต่พืชเอาหัวต้องอีกอย่างหนึ่ง พืชเอาดอกเอาใบต้องอีกอย่างหนึ่ง มันเป็นความเชื่อ คนเฒ่าคนแก่เขาสอน” เขาเริ่มต้น

สมนึกเล่าพร้อมกลั้วหัวเราะว่า นอกจากนี้เวลาที่เขาจะเริ่มทำนา เขามักจะพกย่ามสีแดงไปอยู่เสมอ จนคนอื่นเรียกเขาว่าไอ้ย่ามแดง

“ในย่ามเนี่ย ผมก็จะพกเหรียญติดไปด้วย เวลาไปถึงนา แรกเริ่มผมกำเหรียญบาทในมือ พร้อมตั้งจิตว่า “เจ้าของนา ตาสีตาสา ตามีตามา ที่มีหน้าที่ปกปักรักษานานี้ ผมขอเช่าพื้นที่ทำการเกษตรปลูกข้าว ขอให้มารับเงินค่าเช่าจากผมด้วย” หลังจากนั้นเขาก็จะโยนเหรียญไปกลางนา และจึงเริ่มต้นทำนาตามปกติ”

จากนั้นพอถึงวันพุธ พฤหัสฯ ศุกร์ ที่เป็นวันหว่านข้าว สมนึกบอกว่าจะมีอีกความเชื่อหนึ่งที่เขาจะทำเป็นประจำ

“พอถึงวัน ผมจะเอาธูปมา 9 ดอก ปักบนกองข้าวที่เราใส่กระบุงเตรียมจะหว่าน บูชาพระแม่โพสพ 9 รอบ แล้วค่อยหว่าน

“กำแรกหว่านไป หว่านเผื่อนกเผื่อหนู กำที่สองหว่านให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย กำที่สามให้มันเหลือกินเหลือใช้ ก็หว่านให้มากๆ หน่อย มากกว่าสองกำแรก เอาเคล็ด ให้เหลือกินเหลือใช้ กินไม่ไหวใช้ไม่หมด ทั้งอนาคตและปัจจุบัน” เขาเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“อธิษฐานไปแล้วเราก็ทำตามปกติ มันเป็นความเชื่อ”

แต่สุดท้ายแล้ว การทำนาจะได้ผลดีหรือไม่ดี มันต้องอยู่ที่เราใส่ใจ สมนึกกล่าวทิ้งท้าย

ชาวนา ไถ นา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image