ก้าวแรก’สังคมไร้เงินสด’ : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

กระแส “ฟินเทค” บีบให้อุตสาหกรรมการเงินปัจจุบัน โดยเฉพาะธนาคารต้องปรับตัว จากการเข้ามาของสารพัดรูปแบบบริการทางการเงินของเหล่าบรรดา “สตาร์ตอัพ” ทั้งหลายที่ต่างต้องการนำเสนอทางเลือกใหม่ที่ สะดวกกว่า ประหยัดกว่า และตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลมากกว่า

ที่ผ่านมาธุรกรรมทางการเงินหลายอย่างต้องทำผ่านธนาคารเท่านั้น แต่วันนี้ และต่อไปอาจเหลือแค่ไม่กี่อย่าง แม้แต่ฝากเงินก็ไม่แน่ว่าจะน่าสนใจแค่ไหน เพราะดอกเบี้ยทุกวันนี้ต่ำเตี้ยมาก บ้างก็ว่าอีกหน่อยคงต้องเสียค่าฝากด้วยซ้ำ

ว่ากันที่จริงธุรกรรมทางการเงินหลายอย่างในวันนี้ก็ทำได้เองอย่างง่ายดายผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนเงิน จ่ายเงินค่าสินค้า และบริการต่างๆ เช่น ซื้อตั๋วหนัง, จ่ายค่าบริการสาธารณูปโภค, ซื้อสินค้า ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารก็ทำได้บ้างแล้ว

แค่ใส่เงินเข้าไปในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ต) ผ่านช่องทางการเติมเงินของผู้ให้บริการนั้นๆ เพียงแต่ “อี-วอลเล็ต” ของผู้ให้บริการแต่ละรายยังจำกัดวงการใช้งานอยู่ แค่บริการในเครือข่ายร้านค้าพันธมิตรของตนเองเท่านั้น เช่น อี-วอลเล็9ของร้านกาแฟดัง สตาร์บัค, ทรูมันนี่, แอร์เพย์ เป็นต้น

Advertisement

เชื่อว่าต่อไปจะมีการเชื่อมต่อกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่จะถึงขั้นไปเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ภายในเมื่อไรไม่รู้ แต่น่าจะมีการใช้งานมากขึ้นอย่างแน่นอน เริ่มจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี

ในอเมริกา มูลค่าเงินที่อยู่กระเป๋าเงินอิเล็กทอรนิกส์ของเครือข่ายร้านกาแฟดัง “สตาร์บัค” มีรวมกันมากกว่าเงินฝากในธนาคารหลายแห่งด้วยซ้ำไป

เก็บเงินไว้ในบัญชีสตาร์บัคไม่ได้ดอกเบี้ย แต่คนจำนวนมากก็ยังยินดีเติมเงินมาทิ้งไว้

Advertisement

โดยส่วนตัวก็เติมเงินไว้ในอี-วอลเล็ตของ “สตาร์บัค” เช่นกัน เพราะเห็นว่าไหนๆ ก็ใช้บริการเป็นประจำอยู่แล้ว ดีกว่าใช้เงินสดตรงที่ทุกการซื้อจะมีการบันทึกเก็บไว้ในบัญชีของเราโดยอัตโนมัติ เป็นแต้มสะสมไว้ให้ และเมื่อครบจำนวนตามโปรโมชั่นก็จะมีสิทธิพิเศษต่างๆ ให้ เช่น สิทธิดื่มฟรี 1 แก้ว เป็นต้น

ต่อไป ผู้บริโภค 1 คน น่าจะมีบัญชี “อี-วอลเล็ต” มากกว่าหนึ่งบัญชี ไม่ต่างจากที่มีโทรศัพท์มากกว่าหนึ่งเลขหมาย

นอกจาก “อี-วอลเล็ต” ของสตาร์บัคที่ได้ใช้บ่อยๆ แล้ว ก็มี “ทรูมันนี่” อีกค่าย เพราะใช้ซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่นได้ด้วย จึงสะดวกมากเวลาจ่ายเงินแต่ละทีจึงไม่ต้องเปิดกระเป๋าสตางค์หยิบแบงก์นับเหรียญให้วุ่นวาย

ในประเทศจีน การใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือประสบความสำเร็จมาก หากพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 450 ล้านคน ของ “อาลีเพย์” ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน “อาลีบาบา”

ในจีนไม่ได้มีแค่ “อาลีเพย์” รายเดียว ที่มีคนใช้งานไม่แพ้กันก็คือ “วีแชตเพย์” ของเทนเซ็นต์กรุ๊ป มีผู้ใช้บริการมากกว่า 400 ล้านคน

ทั้ง “อาลีเพย์ และวีแชตเพย์” ต่างขยายการบริการเข้ามาในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพียงแต่ในเบื้องต้น ทั้งคู่ยังคงโฟกัสการให้บริการสำหรับกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรที่จะขยับมาที่คนไทยด้วย

โดยเฉพาะ “อาลีเพย์” เนื่องจากเพิ่งประกาศความร่วมมือ ในฐานะพันธมิตรธุรกิจกับกลุ่มแอ็สเซ็นด์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เชื่อว่าทั้งคู่น่าจะอยู่ระหว่างการหารูปแบบบริการที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ในบ้านเราเองก็มีผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์อยู่หลายรายด้วยกัน

“แอร์เพย์” ของบริษัทเกมออนไลน์ ชื่อดัง “การีน่า” เป็นหนึ่งในนั้น

แม้ “แอร์เพย์” จะเพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นานแต่ก็มีฐานลูกค้ามากถึง 1.4 ล้านราย คาดว่าในสิ้นปีจะทะลุ 1.5 ล้านราย และมีเป้าภายในปีหน้าอยู่ที่ 4.5 ล้านรายถือว่าแอ๊กเกรสซีฟไม่เบา

ปัจจุบันมูลค่าการใช้จ่ายผ่านแอร์เพย์จะอยู่ที่เดือนละมากกว่า 300 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท

แรกเริ่มเดิมที่ฐานลูกค้าหลักของบริการ “แอร์เพย์” คือกลุ่มเกมเมอร์ที่ใช้บริการเพื่อเติมเงินเล่นเกมออนไลน์ของบริษัทอยู่แล้ว ต่อมาจึงขยายไปยังลูกค้าทั่วไปด้วยการเพิ่มเติมบริการด้านความบันเทิง และไลฟ์สไตล์มากขึ้น เช่น เติมเงินมือถือ, ซื้อตั๋วหนัง, ตั๋วเครื่องบิน, ดีลร้านอาหาร เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ “แอร์เพย์” ขยับอีกก้าวด้วยการเปิดบริการใหม่ “แอร์เพย์ การ์ด” (AirPay Card) เป็นบัตรเติมเงินเสมือนบัตรเครดิต (Virtual Prepaid Card) ภายใต้ความร่วมมือกับมาสเตอร์ การ์ด และธนาคารธนชาต

“มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่น “แอร์เพย์” กว่า 1,400,000 ราย พบว่ากลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ อายุ 17-24 ปี มีไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายสินค้าประเภทความบันเทิง และไลฟ์สไตล์เป็นหลัก มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ และเทคโนโลยี คุ้นชินกับการใช้จ่ายออนไลน์ แต่กว่า 70% ยังไม่มีบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตสำหรับทำธุรกรรมออนไลน์

“แอร์เพย์ การ์ด” จึงออกแบบมาสำหรับลูกค้า Gen Me (อายุระหว่าง 15-24 ปี) ที่ต้องการใช้จ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ไม่มีบัตรเครดิต และบัญชีธนาคาร

นอกจากเพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นแล้ว “ผู้บริหารการีน่า” เชื่อว่าจะทำให้การใช้จ่ายต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นกว่า 50% เป็น 4,500 บาท ต่อคนต่อเดือนด้วย

“แอร์เพย์เดิมจะจำกัดการใช้อยู่ แต่ในบริการของบริษัท เมื่อร่วมกับมาสเตอร์การ์ด และธนชาตแล้วจะทำให้ขยายบริ การไปยังเครือข่ายร้านค้ าออนไลน์ และผู้ให้บริการทั้งในประเทศและ ต่างประเทศได้มากขึ้น เช่น เว็บอีเบย์, อเมซอน และอื่นๆ ทั้งมีความปลอดภัยด้วยระบบ 3-D Secure ของมาสเตอร์การ์ดที่จะส่งรหัส OTP ยืนยันก่อนการชำระเงินทุกครั้ง ทำให้ผู้ใช้มั่นใจเรื่องความปลอ ดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิ นออนไลน์”

ประมาณว่า ตอบโจทย์ทั้งในแง่ ความสะดวกและความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งสำคัญของ “แอร์เพย์” กลับอยู่ที่จุดชำระเงินในรูปแบบเคาน์เตอร์ที่มีอยู่แล้วกว่า 85,000 จุด ทั่วประเทศ และปีหน้าจะเพิ่มให้ได้อีกเท่าตัว

“คนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังชินกับการใช้เงินสด ขณะที่ระบบเองก็ยังไม่ออนไลน์ทั้งหมด ดังนั้นการมีเคาน์เตอร์ให้บริการจึงยังคงมีความสำคัญ และเป็นจุดแข็งของเราที่ต่างไปจากคู่แข่งรายอื่นๆ”

ประมาณว่า สูงสุดคืนสู่สามัญ

ถึงกระนั้นบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ “อี-วอลเล็ต” น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน และเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิธุรกิจที่ขาใหญ่ในหลายวงการโดดเข้ามาร่วมวงชิงลูกค้าดิจิทัลกันอย่างคึกคัก และน่าจับตายิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image