แท็งก์ความคิด : ไอเดียปฏิรูปเกษตร

ใครเป็นแฟนมติชนทีวี คงรู้จักรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง”

สัปดาห์ที่แล้วมีช่วงสัมภาษณ์พิเศษ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ ทีมนโยบายด้านการเกษตร ของพรรคเพื่อไทย

ฟังแล้วน่าสนใจ จึงขอนำมาบอกเล่า

รายการวันนั้นเปิดรายการด้วยการมองต่างมุมเรื่องนโยบายจำนำข้าวที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต

Advertisement

คุณหมอชัยมองว่า นโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นโครงการที่ดีที่สุดสำหรับชาวนา

นโยบายจำนำข้าว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงทุนไป 5.1 แสนล้านบาท ปรากฏว่าชาวนาได้รับเงินมากขึ้นกว่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐเก็บภาษีเพิ่มอีกกว่าแสนล้าน

สรุปว่า ลงทุน 5.1 แสนล้าน ได้ประโยชน์ 5.7 แสนล้าน มากกว่าเงินที่ลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าคุ้ม

Advertisement

ที่สำคัญคือเงินตามนโยบายจำนำข้าวไปถึงมือชาวนากว่า 80 เปอร์เซ็นต์

ทั้งหมดเป็นมุมมองของคุณหมอชัย

การสัมภาษณ์พิเศษครั้งนั้น คุณหมอชัยมิได้มาตอบโต้เรื่องนโยบายจำนำข้าวเพียงอย่างเดียว หากแต่นำข้อเสนอใหม่ของพรรคเพื่อไทยมาบอกด้วย

เป็นข้อเสนอที่จะทำหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลในปี 2566

คุณหมอชัย ในฐานะกรรมการนโยบายด้านการเกษตรของพรรค บอกว่า การใช้เม็ดเงินไปรับจำนำข้าวแบบเดิมนั้น แม้จะดีแต่ไม่ยั่งยืน

นโยบายใหม่นี้ยั่งยืนกว่า นั่นคือ การใช้พื้นที่การเกษตรให้คุ้มค่า

คุณหมอชัยเล่าว่า ไทยมีพื้นที่ทำนากว่า 60 ล้านไร่ บริโภคภายในประเทศนิดเดียว ที่เหลือส่งออกขายต่างประเทศ

ตลาดส่งออกข้าวปัจจุบันมีคู่แข่งมาก เรียกว่า “เรดโอเชี่ยน” คือแข่งกันเดือด ทำให้มีความเสี่ยงสูง และทำรายได้ได้น้อย

ขณะที่พื้นที่ภาคการเกษตรของไทยทั้งประเทศมีประมาณ 140 ล้านไร่ ทำรายได้เป็นจีดีพีของประเทศ 1.4 ล้านล้านบาท

เฉลี่ย 1 ไร่ ทำจีดีพีได้ 1 หมื่นบาท

ขณะที่ญี่ปุ่น 1 ไร่ ทำจีดีพีได้ 8 หมื่นบาท เนเธอร์แลนด์ 1 ไร่ ทำจีดีพี เป็นแสน และยังมีประเทศอื่นๆ อีกที่สร้างรายได้มากกว่าไทย

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะไทยนำพื้นที่ไปผลิตสินค้าที่ตลาดไม่ดี หรือมีผลผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ ส่วนประเทศอื่นเขาใช้พื้นที่เพาะปลูกพืชพันธุ์ที่ขายได้ราคากว่า และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตด้วย

เมื่อพบความแตกต่างเช่นนี้ จึงเสนอให้ไทยปรับตัว

เบื้องต้นคุณหมอชัยตั้งเป้าหมายว่า ไทยน่าจะมีรายได้จีดีพีต่อ 1 ไร่ เพิ่มขึ้น 3 เท่า

คือเพิ่มจีดีพีของประเทศจาก 1.4 ล้านล้านบาท เป็น 4.2 ล้านล้านบาท

วิธีทำคือลดพื้นที่การปลูกข้าว ซึ่งจะทำให้ปริมาณข้าวน้อยลง และราคาเพิ่มขึ้น ตามกลไกตลาด เช่น ลดพื้นที่ปลูกข้าวไป 30 ล้านไร่ หรือลดพื้นที่ปลูกไป 50 เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวย่อมสูงขึ้นแน่

ส่วนพื้นที่ 30 ล้านไร่ ที่ไม่ปลูกข้าว เสนอให้นำไปปลูกพืชพันธุ์อย่างอื่น

คุณหมอชัยเสนอให้เกษตรกรเปลี่ยนตัวเองจากชาวนาไปเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ

นำที่นาไปให้นักการเกษตรรุ่นใหม่เช่า

รัฐบาลจ่ายค่าเช่า 2.5 พันบาทต่อไร่ แล้วนำพื้นที่นาที่เช่าไปจัดสรรให้นักการเกษตรรุ่นใหม่เพาะปลูกพืชที่สร้างรายได้

พื้นที่ไหนเหมาะปลูกพืชพันธุ์ใดก็ดำเนินการตามความต้องการของตลาด

เช่น ข้าวโพดต้องการ 3 ล้านตัน ถั่วเหลืองต้องการ 3.5 ล้านตัน หรือแม้กระทั่งทุเรียนซึ่งอนาคตจะเป็นกลายเป็นสินค้าที่ต่างชาติโดยเฉพาะจีนต้องการมาก

การคำนวณพื้นที่เพาะปลูกใช้การตลาดและนวัตกรรมนำการผลิต จะช่วยสร้างความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

ผลผลิตที่ออกขาย พอได้เงินมาแล้ว แบ่งให้นักการเกษตรผู้ประกอบการ 50 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรที่เป็นหุ้นส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ให้ท้องถิ่น

รายละเอียดอื่นๆ มีอีกเยอะ เช่นเดียวกับข้อสงสัยก็คงมีอีกมาก

ยิ่งเป็นการนำเสนอในช่วงเลือกตั้งย่อมมีผู้ออกมาท้วงติง

แต่ทุกข้อท้วงติงและชี้แจงจะอยู่ภายในสายตาของประชาชน

ตอนนี้พรรคเพื่อไทยเริ่มลงรายละเอียดในนโยบาย เหมือนกับที่พรรคไทยรักไทยเคยลงรายละเอียดในนโยบายก่อนเลือกตั้ง

เชื่อว่าตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ทุกพรรคจะนำเสนอรายละเอียดความเป็นไปได้ในนโยบายของตัวเอง

พอต้นปี 2566 หลายๆ นโยบาย หลายๆ วิธีการนำไปสู่ความสำเร็จ น่าจะกระจายเป็นข่าวสารที่ประชาชนได้รับทราบ

ระยะเวลาก่อนการเลือกตั้ง ประชาชนมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น แล้วตกผลึกกลายเป็นคำตัดสินในวันเลือกตั้ง

นั่นคือเดินไปคูหาแล้วกาบัตรเลือก ส.ส.ที่จะทำให้นโยบายที่หาเสียงเป็นจริงขึ้นมา

หากการเลือกตั้งแข่งกันเช่นนี้ได้ ประเทศไทยคงมีความหวัง

และถือเป็นอีกจังหวะก้าวในการปฏิรูปการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image