ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ซีอีโอ GC เปิดกลยุทธ์ธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล กระโดดข้ามขั้นสู่ Food Grade ครั้งแรกในไทย

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ซีอีโอ GC เปิดกลยุทธ์ธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล กระโดดข้ามขั้นสู่ Food Grade ครั้งแรกในไทย

 

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

ซีอีโอ GC เปิดกลยุทธ์ธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล

กระโดดข้ามขั้นสู่ Food Grade ครั้งแรกในไทย

Advertisement

ปัญหาขยะพลาสติกยังคงเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญ รวมถึงประเทศไทย

จากข้อมูลสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ไทยมีขยะพลาสติกร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือราวปีละ 2 ล้านตัน

การนำขยะพลาสติกเหล่านี้กลับมารีไซเคิลเป็นแนวทางหนึ่งที่แก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างดี ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจ

Advertisement

หนึ่งในบริษัทเอกชนที่เดินหน้าธุรกิจโดยให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero เจ้าแรกๆ ของไทย คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่มี ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง วัย 55 ปี เป็นแม่ทัพใหญ่ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลุยยกระดับเทคโนโลยีรีไซเคิลของไทยสู่ระดับสากล ด้วยการข้ามขั้นการรีไซเคิลพลาสติกไปยังระดับ Food Grade ที่ในประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน

โดย GC และ ALPLA ผู้นำระดับโลกในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกรีไซเคิล ได้ร่วมทุนกันแจ้งเกิด ENVICCO โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ระดับ Food Grade มาตรฐานระดับโลก ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (U.S. Food and Drug Administration : US FDA) โดยมีฐานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง

โรงงานดังกล่าว มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 45,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นเม็ดพลาสติกชนิด rPET จำนวน 30,000 ตันต่อปี และเม็ดพลาสติกชนิด rHDPE จำนวน 15,000 ตันต่อปี

ช่วยลดขยะพลาสติกในไทยได้ถึงปีละ 60,000 ตัน ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่ หรือปลูกต้นไม้ใหญ่กว่า 8.32 ล้านตัน

พร้อมส่งต่อโลกน่าอยู่ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ด้วยความภาคภูมิใจ

นี่คือหนึ่งในแผนกลยุทธ์ระยะยาวของ GC ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ครบสมบูรณ์ และยังช่วยให้เกิดการสร้างงานในชุมชน สอดคล้อง นโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG Model) ของประเทศไทย

ไม่เพียงเท่านั้น GC ยังริเริ่ม YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ระบบบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจรด้วยหลักเศรษฐกิจ หมุนเวียน ตั้งแต่การรวบรวมและคัดแยกพลาสติกใช้แล้ว การขนส่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ที่วัตถุดิบทั้งหมด 100% เป็นพลาสติกใช้แล้วในประเทศ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยขั้นสูงจากยุโรป เพื่อคืนคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าอีกครั้งมีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกใหม่ ที่ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงสม่ำเสมอ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย และมีระบบควบคุมคุณภาพตลอดกระบวนการผลิต

ล่าสุด ในทริปเยี่ยมชม ENVICCO โรงงานพลาสติกรีไซเคิลมาตรฐานโลก *ดร.คงกระพัน* เปิดเผยแผนงานน่าสนใจอย่างยิ่ง

⦁ ทำไม GC จึงสนใจเรื่องพลาสติกรีไซเคิล?
ตลาดที่สนใจคือพลาสติกรีไซเคิล ซึ่ง GC อยู่ทั่วโลก ที่ไหนดีเราก็มีโอกาส ที่อเมริกาออกกฎหมายใหม่เรียกว่า Inflation Reduction Act ชื่อเป็นเงินเฟ้อแต่ไม่ใช่ เป็นการนำเงินมาทำเรื่องคาร์บอน ทำรีไซเคิลที่อเมริการีเทิร์นเพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ เพราะเขาช่วย Subsidize (อุดหนุน) ช่วยสนับสนุนโครงการที่ลดคาร์บอน เราก็สนใจ เรามีทีมในอเมริกาเยอะแยะ ลงทุนเรื่องรีไซเคิลก็จะได้ประโยชน์เรื่องคาร์บอนด้วย ซึ่งตรงกับเรื่อง ESG (แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance) และเรื่อง Decarbonization (การลดการปล่อยคาร์บอน) อเมริกามีโอกาสดี แต่เราสนใจเรื่องคาร์บอนมากกว่า เพราะอเมริกาเขาเก่ง เขาไม่ได้ใช้วิธีห้าม หรือทางยุโรปจะใช้วิธีคิดภาษี แต่อเมริกาใช้ Incentive (แรงจูงใจ) ก็ลงไปแต่เศรษฐกิจก็ยังดีอยู่ อย่างรีไซเคิลก็ได้คาร์บอนเครดิต แต่โครงการไม่ได้ใหญ่แบบโอไฮโอขนาดนั้น (โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐ)

⦁ แนวทางการให้ความรู้เรื่องการรีไซเคิลจะเป็นอย่างไร?
ตอนนี้เรื่องรีไซเคิล เราก็เอาลูกค้าหรือสื่อมาดูโรงงานเยอะแยะ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าต้องทำ การทำพลาสติกรีไซเคิลการทำพลาสติกธรรมดา คาร์บอนน้อยกว่าพลาสติกชีวภาพ แต่พลาสติกชีวภาพไปได้เครดิตตรง Feedstock (การผลิตวัตถุดิบตั้งต้น) แต่ที่ดีที่สุดคือรีไซเคิล ที่คาร์บอนต่ำสุด สมมุติ GC ปล่อยคาร์บอน 100 เราก็จะลดครึ่งหนึ่งด้วยตัวเอง ด้วยการลดการใช้พลังงาน และใช้พลังงานสะอาดแทน และทำเทคโนโลยีที่ลดคาร์บอน แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะลดทั้งหมด ถ้าลดทั้งหมดคือต้องเลิก แต่ Chemical (สารเคมี) คนใช้อยู่ทั่วโลก อีก 50% เราก็ใช้วิธีดึงน้ำจากอากาศลงมา ทำ Carbon Capture (การกักเก็บคาร์บอน) หรือปลูกป่าทำทุกอย่าง เลียนแบบธรรมชาติก็เอาลงมา ที่เรียกว่า Net Zero หมายถึงว่าไม่ได้ปล่อยเป็นศูนย์ คือปล่อยเท่าไหร่ก็ตามที่เหลือต้องนำกลับลงมาให้ได้ สำหรับ GC ถ้าทำ Net Zero นั้นเข้ม ตอนนี้คาร์บอนเครดิตยังข้ามประเทศกันไม่ได้ มาตรฐานยังไม่ถึง เพราะฉะนั้นเรามีการดำเนินการอย่างอเมริกาในการไปทำรีไซเคิล ทำคาร์บอนเครดิตในอเมริกาก็ช่วยลดการดำเนินการเราในอเมริกา เพื่อให้โลกสมดุล ซึ่งวิธีการนี้นำมาลดในเมืองไทยไม่ได้ แต่ GC บริษัทนั้นอยู่ทั่วโลก ประเทศไหนก็ประเทศนั้นอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าในอนาคตเทรดข้ามได้ ก็คงได้บ้าง แต่ละที่ก็มีการสร้างแรงจูงใจต่างกัน แต่อเมริกานี้
ดี

⦁ยืนยันว่าพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตมา ผู้บริโภคสามารถได้ใช้อย่างแน่นอน?
เรื่องนั้นผมไม่ค่อยห่วง เพราะทั่วโลกเขาใช้อยู่แล้ว เรื่อง Food Grade พลาสติกนำไปอบจนสะอาด เรื่องอุปสงค์ไม่ถึงกับไม่ห่วง คือ GC เราจะไม่ได้ไปทางใดทางหนึ่ง เราก็สร้างหลายๆ อย่างทั้งพลาสติกปกติ พลาสติกรีไซเคิล พลาสติกชีวภาพ

⦁แผนการทำพลาสติกรีไซเคิล Food Grade สำหรับ GC ในปี 2566 จะเป็นอย่างไร?
อยากทำให้ครบวงจร การทำเป็นอุตสาหกรรมไม่ยาก แต่เราอยากทำให้ครบวงจร ให้ชาวบ้าน ให้ชุมชนเขามาร่วม เหนื่อยหน่อยแต่ก็จะสร้างความเข้าใจ ครอบครัวเขาก็มีงาน เด็กๆ ช่วยกันเก็บก็มีรายได้ ช่วยสร้างนิสัยในการช่วยสิ่งแวดล้อม แต่ก็ช่วยเรื่องเศรษฐกิจของตนเองได้ด้วย เราไปซื้อมาง่ายจะตาย แต่ก็ให้ชุมชนเขาได้ประโยชน์ เราก็จะดำเนินการให้เต็มที่มากขึ้น ปีนี้เพิ่งเริ่มเราก็ต้องได้รับ Approve (รับรอง) ซึ่ง FDA ที่อเมริการับรองแล้ว เหลือ อย.ปีหน้าก็น่าจะได้ พลาสติกรีไซเคิลก็น่าจะขายได้ และเป็น Food Contact (วัสดุสัมผัสอาหาร) ได้ ซึ่งจะเป็นผลดีก็จะรันให้เต็มที่ ส่วนเรื่องวัตถุดิบ ชุมชนเราก็ช่วยกันขยาย ที่ระยองที่หลายจังหวัดตอนนี้เราก็มีกว่า 30 จังหวัดแล้วที่ทำ ก็จะทำให้ทั่วเลย ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ตอนนี้โรงงานกำลังทดสอบอยู่เพราะบางอย่างเมืองไทยยังขายไม่ได้ ปีหน้าตั้งเป้าหมายว่าจะรันขึ้นไปให้ได้มากที่สุด

⦁จากสภาพเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อ GC อย่างไรบ้าง?
เรื่องเศรษฐกิจโลกก็น่าเป็นห่วงเรื่อง recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย) เนื่องจาก 1.เศรษฐกิจไม่ดี 2.ค่าพลังงานแพงทั่วโลกต่อเนื่อง เงินที่ควรจะไปใช้สอย ปกติซื้อน้ำมัน 50 เหรียญ ก็มาซื้อ 100 กว่าเหรียญ เงินหายไปเยอะจากระบบจากการเอาไปเผา เพราะฉะนั้นเงินจับจ่ายใช้สอยสร้างตึก สร้างอุปสงค์ก็ลดลงทั่วโลกจะช้าจะเร็วก็แล้วแต่ ส่วนเรื่องที่จีนเปิดหรือปิดประเทศก็มีผลเยอะ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ทำในสิ่งที่เราทำได้ เราก็ลดต้นทุนเราไปเรื่อยๆ เราก็มีของใหม่ๆ อย่างโรงงานที่เข้าไปซื้อใหม่ๆ ที่ดีหมดเลย เช่น NatureWorks Bio-plastic (บริษัทนานาชาติที่ผลิตพลาสติกชีวภาพ) ปีนี้ก็กำไรเยอะ สร้างขายไม่พอ พวกชีวภาพ หรือพวกที่ในต่างประเทศที่ทำยากจะดี ปีนี้ที่ไม่ดีก็พวก commodity (โภคภัณฑ์) ซึ่งที่ไม่ดีเพราะ 1.Over Supply (อุปทานส่วนเกิน) 2.เศรษฐกิจไม่ดี คือ GC ดูง่ายๆ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกเพราะเราขายทั่วโลก ถ้าเศรษฐกิจดีก็ดี
ส่วนเรื่องท่าเรืออย่างฮิวสตัน ในการส่งออกก๊าซ ซึ่งก๊าซอเมริกาแทบจะถูกที่สุดในโลก เป็นท่าเรือที่มีอยู่แล้วเราก็เขาไปร่วมเป็นการเพิ่มโอกาส เผื่อเขาส่งกลับมาใช้เมืองไทยได้ ส่วนเรื่องความไกลก็คิดแล้วว่าคุ้ม เพราะบางช่วงได้ ท่าเรือเป็นโอกาส บ้านเราเป็นเจ้าของท่าก็มีกำไร เผลอๆ บางช่วงก็เอาไว้ใช้ได้

⦁เรื่องตัวเงินบริหารจัดการอย่างไร?
ล่าสุด เพิ่งไปเซ็นสัญญากับธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) เป็นเจ้าแรกๆ ไทยพาณิชย์ให้เรา 15,000 ล้านบาท ก็มี KPI ว่าเราต้องลดคาร์บอนเท่านี้ แล้วเขาจะลดดอกเบี้ยให้บ้าง

⦁ธุรกิจใหม่ของ GC จะมีอะไรอีกบ้าง?
ผมแบ่งธุรกิจตอนนี้เป็น 5 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่ากลุ่ม Base-Chemical เช่น โรงกลั่น อะโรเมติกส์ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่ม intermediate (สารมัธยันตร์) เช่น ฟีนอล กลุ่มที่ 3 คือ โพลิเมอร์ หรือพวกโพลีทั้งหลาย พวกนี้จะต้องใกล้ลูกค้า ทำ R&D (การวิจัยและพัฒนา) เยอะๆ กลุ่มที่ 4 เรียกว่ากลุ่ม Bio &Circularity กลุ่มที่ 5 Performance Chemicals (เคมีภัณฑ์ประสิทธิภาพ) เช่น Kuraray (ผู้ผลิตสารเคมี เส้นใย และวัสดุอื่นๆ ของญี่ปุ่น) ส่วนรายได้พูดยากเพราะขึ้นลงและกระจายตัว เราตั้งเป้าปี 2030 ที่เป็น กลุ่ม 4-5 สัก 35%

⦁ปีหน้าเราจะเห็นภาพอะไรเกี่ยวกับ GC บ้าง?
ปีหน้าเห็นว่า Volume (ปริมาณการซื้อขาย) ก็น่าจะเพิ่มขึ้น ในตลาดของโลกมีความไม่แน่นอนเยอะ ส่วนโปรแกรมใหญ่ๆ คงไม่ได้ M&A (Mergers and Acquisitions:การควบรวมกิจการ) เยอะ เพราะว่าช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เราก็ต้องระมัดระวังเรื่องเงินสด (Cash) เรื่องสภาพคล่อง (liquidity) ก็ต้องดูแลดีๆ

ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image