คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว : ข่าวปลอม (1)

เป็นข่าวบ้านเราแบบไม่จริงจังนัก แต่ในสหรัฐอเมริกายังเป็นประเด็นที่ถูกตามต่อเนื่อง กับกรณีเฟซบุ๊กและกูเกิลประกาศจะจัดการเว็บ “ข่าวปลอม” ที่กำลังระบาดหนัก

เหตุแห่งที่มาที่ไปมาจากเฟซบุ๊กและกูเกิลนั่นเอง…

ความที่กูเกิลสร้างระบบให้ผู้ผลิตเว็บไซต์สร้างรายได้ผ่านเครือข่ายโฆษณาเน็ตเวิร์กที่เรียกว่า AdSense ของกูเกิล และการกระตุ้นการมองเห็นโพสต์ ผ่านเครือข่ายโฆษณา Audience Network ของเฟซบุ๊ก

ทำให้เกิดเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อหารายได้จากส่วนนี้มากมายทั่วโลก

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นระดับเว็บบล็อกเกอร์ ไปจนถึงเว็บไซต์ทุกประเภทบนโลกนี้ต่างสามารถหาเงินจากโฆษณาของกูเกิลนี้ได้ทั้งหมด (ถ้าอยากจะหา)

ผู้เขียนเคยคุยกับ “มือใหม่” ทำเว็บเขียนคอนเทนต์ไม่มากก็ยังได้ค่าขนมหลักพันจนถึงครึ่งหมื่นต่อเดือน

เหล่านี้ไม่ได้เป็นความผิดอะไร เป็นธุรกิจเล็กๆ ทำเองง่ายๆ ของเด็กสมัยนี้ด้วยซ้ำ ถ้าสิ่งที่นำมาใส่เว็บไซต์ไม่ไปละเมิดลิขสิทธิ์เนื้อหาและภาพ ก็เรียกว่าเป็นหนึ่งในอาชีพยุคนี้

Advertisement

แต่เรื่องมันมากกว่านั้น…

ตรงที่บางคนหารายได้เป็นกอบเป็นกำจากการสร้างเว็บปลอมขึ้นมา ชนิดจงใจตั้งชื่อคล้ายๆ เว็บดั้งเดิมดังๆ และแกล้งเขียน “กุข่าว” หลอกให้คลิก…กรณีนี้พบเห็นได้ทั่วไป

สำหรับต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่สื่อและการแสดงความเห็นมีเสรีภาพอย่างมาก เว็บไซต์ข่าวมีมากมายมหาศาล มีแม้กระทั่งเว็บที่ประกาศตัวชัดว่าเป็น “เว็บไซต์ข่าวลวง” เช่น เว็บดังอย่าง theonion.com ซึ่งคนจำนวนมากทราบกันดีว่าเป็นสาย “เว็บฮา” คาแร็กเตอร์เว็บคือนำข่าวในกระแส หรือเรื่องราวหนักและเบามาเล่าในสไตล์ล้อเลียน เสียดสี ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงเชิงข่าวให้ต้องมาเชื่อถือ

นิยามเว็บแบบข้างต้นนั้นชัดเจน…

แต่ยุคดิจิทัลเต็มขั้นแบบนี้ การกำเนิดของเว็บอีกชนิดที่ไม่ยี่หระสังคมคือ “เว็บข่าวปลอม” ที่เขียนข่าวจริงจัง สร้างเนื้อหามาแบบ “กุเรื่อง” และผิดไปจากข้อเท็จจริง พร้อมกับพาดหัวที่เร้าใจให้คนต้องคลิก

เว็บแบบนี้สร้างยอดคลิก และสร้างรายได้…

และที่ทำให้เฟซบุ๊กกับกูเกิลออกมา “รับลูก” จะจัดการเว็บเหล่านี้ เพราะถูกสงสัยว่าโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ตมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเชื่อมโยงว่าบรรดาเว็บข่าวปลอมที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊กและเสิร์ชเอ็นจิ้นกูเกิลมีส่วนช่วยกระพือข่าวลวงช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ส่งผลให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง

วิธีรับมือของเฟซบุ๊กคือ อัพเดตอัลกอริธึมวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อใช้จัดการกับเนื้อหาข่าวปลอม ส่วนกูเกิลมีแผนการจะตัดยอดรายได้โฆษณาของเว็บปลอม

“วอชิงตันโพสต์” รายงานว่า “ข่าวปลอม” นั้นสร้างรายได้ให้เจ้าของเรื่องที่เขียนถึงเดือนละ 10,000 ดอลลาร์ จากโฆษณา AdSense

ที่ตลกร้ายคือ มีการเปรียบเทียบรายได้ของ “นักเขียนข่าวปลอม” กับ “นักข่าวจริง” ที่แตกต่างกันลิบ นักข่าวปลอมทำเงินได้ปีละ 120,000 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนนักข่าว (สหรัฐ) ที่เขียนข่าวจริงๆ มีรายได้เฉลี่ย 45,560 ดอลลาร์ต่อปี

สัปดาห์หน้าจะมาดูวิธีคิดของคนทำเว็บข่าวปลอมว่าทำไมจึง “กล้ามั่ว” ขนาดนี้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image