คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง: WHEN THE SAINTS GO MARCHING IN มวลเทวายาตราสู่สรวงสวรรค์

ร่วมหกปีมาแล้ว เมื่อวงแจ๊ซ Dixieland มาประเทศไทยเพื่อบรรเลงดนตรีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า When the Saints Go Marching In เป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกเลือกมาบรรเลง เพราะเป็นเพลงที่พระองค์ทรงโปรดปรานมาเนิ่นนาน

ในครั้งนั้น ได้เขียนถึงเพลงนี้เอาไว้ว่า

หากสามารถนำบรรดาเพลงเอกของแจ๊ซมา “ชักรูปหมู่” ร่วมกันแบบคน เราจะเห็น When the Saints Go Marching In ยืนอยู่แถวหน้า

หลุยส์ อาร์มสตรอง เป็นนักดนตรีคนแรกๆ ที่นำเพลงนี้มาบรรเลงด้วยลีลาแบบแจ๊ซ แม้จะมีคนใกล้ชิดเห็นว่าการนำเพลงจิตวิญญาณมาบรรเลงแบบนี้อาจทำให้คลายความขลังลง แต่หลุยส์ อาร์มสตรอง ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าท่วงทำนองเพลงที่เลิศอยู่แล้ว สามารถคงความน่าฟังได้ในทุกรูปแบบ

Advertisement

The Saints (ชื่อเล่นของเพลงซึ่งนักดนตรีแจ๊ซเรียกกัน) ไม่ใช่เพลงกอสเปลที่ร้องกันในโบสถ์พวกอเมริกันดำเท่านั้น แต่ยังเป็นเพลงที่นิยมบรรเลงกันในพิธีศพของคนดำทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกชาวเมืองนิวออร์ลีนส์ อันเป็นบ้านเกิดของคุณทวดหลุยส์

นิวออร์ลีนส์ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของดินแดนดิ๊กซี เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐลุยเซียนา ฝรั่งเศสเคยปกครองดินแดนดิ๊กซีมาก่อน คนแถบนี้จึงพูดฝรั่งเศสได้

ด้วยความที่เป็นเมืองท่าอันรุ่งเรือง ธนบัตร 10 เหรียญซึ่งมีคำว่า DIX พิมพ์อยู่ตรงกลางแพร่สะพัดราวเป็นของธรรมดาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว (dix เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า 10) ต่อมารัฐทางใต้ของสหรัฐจึงได้ชื่อเล่นว่า “ดิ๊กซีแลนด์” ไปทั้งหมด

Advertisement

Dixieland jazz แท้จริงไม่ใช่อื่นไกล คือนิวออร์ลีนส์แจ๊ซ อย่างที่แยกกันแทบไม่ออกทีเดียว

คนส่วนใหญ่เชื่อว่านิวออร์ลีนส์เป็นแหล่งกำเนิดของแจ๊ซและนักดนตรีแจ๊ซชั้นยอด จึงไม่ต้องแปลกใจที่พิธีศพในเมืองนิวออร์ลีนส์จะเต็มไปด้วยเสียงดนตรี

เมื่อต้นๆ ศตวรรษที่ 20 นักดนตรีแจ๊ซที่นั่นมักเคยหากินโดยร่วมบรรเลงในพิธีศพมาก่อน รวมทั้งคุณทวดหลุยส์ อาร์มสตรอง เมื่อครั้งยังเป็นนักดนตรีรุ่นเยาว์ด้วย

เวลานำศพไปสุสาน เขาจะบรรเลงเพลงช้าๆ ที่โศกเศร้า อย่างที่เรียกกันว่า dirge เพลง The Saints ก็เคยเป็น “เดิร์ช” มาก่อน ท่วงทำนองที่เขาบรรเลงกันจึงเนิบนาบเซื่องซึม เข้ากับอารมณ์แห่งความสูญเสีย แบบเดียวกันกับ “ธรณีกรรแสง” ของเรา

แต่สำหรับ “พญาโศก” นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่หก เคยมีรับสั่งว่า ท่วงทำนองที่เศร้าสร้อย ทำให้เหมาะที่จะเป็นเพลงโศกประจำสยามประเทศ และใช้นำศพชาวสยามทุกผู้ทุกนาม ตั้งแต่พระบรมศพตลอดไปจนถึงศพสามัญชน แบบเดียวกับ Funeral march ของฝรั่ง

Funeral march คือการเรียก dirge อย่างโอ่อ่า เพลง “พญาโศก” หรือ “ธรณีกรรแสง” ของไทยเรา เป็นเดิร์ชที่จับใจได้ยินแล้วน้ำตาถึงพรั่งพรู

การแห่ศพในนิวออร์ลีนส์เป็นเรื่องใหญ่ ไม่จำกัดเฉพาะครอบครัวและญาติมิตรของผู้ล่วงลับ ชาวบ้านอื่นๆ ที่มีเวลาก็ยินดีไปร่วม ไม่ผิดกับงานศพในท้องถิ่นห่างไกลในประเทศแถบเอเชียของเรา และเมื่อได้ยินเพลง “เดิร์ช” ที่บรรเลงเป็นชุด ผู้คนในขบวนแห่ก็มักอยู่ในอารมณ์โศกเศร้าร่วมกันจนไปถึงสุสาน

การฝังศพที่นิวออร์ลีนส์ เรียก “ฝัง” ไม่ค่อยถนัดปาก เพราะหลุมไม่เป็นหลุม แต่เป็นแท่นที่ยกสูง เพื่อไม่ให้ศพลอยขึ้นมาเวลาน้ำท่วม เนื่องจากนิวออร์ลีนส์เป็นเมืองที่น้ำท่วมประจำ เหมือนอ่างทอง อยุธยา ฯลฯ ของเรา โชคดีที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้วิธีเผามากกว่าฝัง

เมื่อบรรจุศพเสร็จเรียบร้อย ก็ยกขบวนกลับ พวกนักดนตรีจะเปลี่ยนลีลาเพลงให้รื่นเริงขึ้น ราวจะเตือนว่า สำหรับผู้อยู่ข้างหลังชีวิตยังต้องดำเนินไป อีกทั้งยังควรคำนึงว่าผู้ที่จากไปได้ไปสู่สวรรค์ เช่นที่เนื้อเพลงของ The Saints บอกไว้…

เมื่อใดที่มวลเทวา (นักบุญ)

ยาตราเข้า (ประตูสวรรค์)

ฉันก็อยากจะเป็นหนึ่งในนั้น

Oh, when the saints go marching in / Oh, when the saints go marching in / Oh, how I want to be in that number / When the saints go marching in!!

ที่เพลงเว้นไว้ให้เข้าใจเอง คือเข้าประตูสวรรค์หรือที่เรียกว่า Pearly Gate “ประตูมุก” ซึ่งตามตำนานว่าสลักจากไข่มุกเม็ดเดียว ผู้ถือกุญแจไขเข้าประตูนี้คือ Saint Peter หรือท่านนักบุญปีเตอร์ ซึ่งชาวคาทอลิกนับถือว่าเป็นพระสันตะปาปาองค์แรก

ท่านนักบุญปีเตอร์ผู้มีกุญแจเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เป็นเทวดาซึ่งมีชื่อเสียงไม่น้อยไปว่า Archangel Gabriel หรือท่านอัครเทวาเกเบรีล (บางครั้งเรียกเทวทูต) ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นแตร หรือทรัมเป็ต ซึ่งจะใช้เป่าก่อนที่ท่านจะประกาศโองการแห่งสวรรค์ อัครเทวาเกเบรียลเป็นที่เคารพของนักดนตรีแจ๊ซในดินแดนดิ๊กซี มีบางคนถือว่าท่านเป็นเทวดาผู้คุ้มครองนักดนตรีแจ๊ซ (แต่นักดนตรีที่นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่จะถือว่านักบุญเซซิเลีย หรือ Saint Cecilia เป็นผู้คุ้มครองนักดนตรี คีตกวี รวมทั้งกวีด้วย)

The Saints กอสเปลซึ่งมีอายุกว่าร้อยปี ด้วยการบรรเลงของเหล่านักดนตรีแจ๊ซ สะท้อนความรู้สึกของคนนิวออร์ลีนส์ถึงการผ่านความเศร้าโศกจากการพลัดพราก

จากไปสู่สรวงสวรรค์

ยาตราไปพร้อมกับเหล่าเทวา


เข้า YouTube ไปดูและฟัง WHEN THE SAINTS GO MARCHING IN ได้ที่

ฟังการประสานเสียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image