อาศรมมิวสิก : เล่นดนตรีในสวน นำบทเพลงเก่าเกิน 50 ปีมาบรรเลง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูวิทย์ ยุระยง อธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้ชวนให้ไปเล่นดนตรีในสวนที่สะพานพระราม 8 หารือกันว่าน่าจะเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ ทั้งวงซิมโฟนีออเคสตราและวงดุริยางค์เครื่องลม บรรเลงเพลงสำคัญของชาติ เพลงของครูที่เสียชีวิตไปแล้ว (เกิน 50 ปี) นำเพลงมาเรียบเรียงเสียงขึ้นใหม่ เลือกเพลงที่หาฟังได้ยาก เปิดการแสดงดนตรีสด โดยเลือกวันอาทิตย์ของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ รวม 6 ครั้ง มี 6 วง ณ สวนหน้าสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา เวลา 17.30-19.00 น.

อธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนารับเป็นเจ้าภาพ ได้ชักชวนวงดนตรีของหน่วยงานต่างๆ มาร่วม ได้แก่ กองการสังคีต กรุงเทพมหานคร วงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร วงของกรมดุริยางค์ทหารบก และวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา

อาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ.2566 รายการ “เพลงของพ่อ” บรรเลงโดยวงดนตรีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ควบคุมโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูวิทย์ ยุระยง บทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9 อาทิ รัก, Still on My Mind, Love at Sundown, แผ่นดินของเรา, Oh I Say, เกาะในฝัน, พรปีใหม่, ศุกร์สัญลักษณ์, ลมหนาว, Kinari Suite, แสงเทียน, ความฝันอันสูงสุด, ดวงใจกับความรัก, ภิรมย์รัก

เพลงของทูนกระหม่อมบริพัตร เจ้าของวังบางขุนพรหม ที่ตั้งของธนาคารชาติปัจจุบัน วังบางขุนพรหมถูกเปลี่ยนเป็นธนาคารชาติครบ 80 ปี ความจริงธนาคารชาติเองควรจะรำลึกถึงเจ้าของวังบ้าง โดยนำเพลงของท่านมาบันทึกเสียงใหม่ ใช้วงซิมโฟนีออเคสตราก็น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญไม่น้อย

Advertisement

ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงพระนิพนธ์เพลงไว้ 75 เพลง อาทิ สาครลั่น, มณฑาทอง, มาร์ชบริพัตร, มาร์ชดำรง, มาร์ชภาณุรังษี, วอลซ์ประชุมพล, วอลซ์ปลื้มจิตร, สุดเสนาะ, วอลซ์โนรี, วอลซ์เมขลา, นางครวญ เป็นต้น

อาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2566 รายการ “เพลงครู” บรรเลงโดยวงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์สุรพล ธัญญวิบูรณ์ เลือกเพลงของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ อาทิ เมื่อไหร่จะได้พบ, ไม่อยากจากเธอ, คนึงครวญ, สิ้นรักสิ้นสุข, เพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน อาทิ มนต์เมืองเหนือ, ค่าน้ำนม, โลกนี้คือละคร, มนต์รักลูกทุ่ง, ฝนเดือนหก, กลิ่นโคลนสาบควาย, ชายสามโบสถ์, น้ำตาเทียน, เพชรร่วงในสลัม, ฝนซาฟ้าใส, บุพเพสันนิวาส, มนต์รักแม่กลอง, ยมบาลเจ้าขา, หนุ่มเรือนแพ เป็นต้น

เพลงครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่เกี่ยวกับชนบท ป่าไม้ภูเขา อาชีพกสิกรรม อาทิ แก้วกลางนา, กังวานไพร, ชมนก, กล่อมดอกไม้, ขอบฟ้าเขาเขียว, ขวัญใจบ้านนา, ขวัญใจลูกทุ่ง, คนสวยกำแพงแสน, ชมหมู่ไม้, โง่เหมือนควาย, ชะนีโหย, ซ่อนกลิ่น, ดอกตะแบกเริ่มบาน, ดอกไม้หน้าฝน, ดอกไม้ไพร, เดือนห้าน้ำแห้ง, เดือนสี่รักเศร้า, บุหงาลนไฟ, ถิ่นทองกวาว, น้ำลงเดือนยี่, น้ำท่วม, น้ำท่วมอีกแล้ว, บ้านไร่น่ารัก, ป่าเอ๋ยป่า, ผืนน้ำแผ่นฟ้า เป็นต้น

Advertisement

อาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ.2566 รายการ “เพลงรักชาติ” บรรเลงโดยวงดุริยางค์ทหารบก นำวงโดยพันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ เลือกเพลงสำคัญของกองทัพไทย บทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เพลงของครูนารถ ถาวรบุตร อาทิ
สยามานุสสติ, ไทยสามัคคี, ทหารของชาติ, เกียรติศักดิ์ทหารเสือ, สามัคคีสี่เหล่า, ไทยไม่ทำลายไทย, มหาอาณาจักรไทย, มาร์ชกองทัพบก, เพื่อผืนดินไทย, ดุจบิดามารดร, อยู่อย่างจงรักตายอย่างภักดี, ชายชาญทหารไทย, บ้านเกิดเมืองนอน, ทหารแห่งแผ่นดิน, เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย, รักเมืองไทย, ไทยรวมกำลัง, ต้นตระกูลไทย, ตื่นเถิดไทย, รักกันไว้เถิด, ใต้ร่มธงไทย, ทหารพระนเรศวร, หนักแผ่นดิน, แผ่นดินของเรา, อุดมการณ์กองทัพบก, ไร้รักไร้ผล, จากยอดดอย เป็นต้น

เพลงของวงดุริยางค์ทหารบกนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่นิยมเปิดเมื่อทหารในกองทัพปฏิวัติหรือยึดอำนาจ เพลงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของทหารเพื่อปฏิวัติ ความจริงแล้ว ครูนารถ ถาวรบุตร เป็นราชาเพลงมาร์ชไทย แทบจะไม่มีใครยกย่องหรือรู้จักท่าน เพราะทหารนำเพลงของท่านไปใช้ประกอบการปฏิวัติทุกครั้ง โดยไม่ใช้ความไพเราะของเพลง การแสดงครั้งนี้เป็นการนำเพลงของครูนารถ ถาวรบุตร มาบรรเลงเพื่อความไพเราะ

อาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ.2566 รายการ “เพลงชาวบ้าน” บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา บรรเลงเพลง อาทิ เพลงขอม, เครือญาติ, สาวสุโขทัย, คนไทย, กาเหว่า, เหน่อ, สิบสองภาษา, สาวมอเตอร์ไซค์, รุ้งพระจันทร์, โยสลัม, แขกกะเร็ง, การะเกด, วัดโบสถ์, บูบู, ทะเลชีวิต, แสงดาวแห่งศรัทธา, สุดใจ, สายสมร, เทพบันเทิง, เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ, หนุ่มสาวเสรี, เดือนหงายกลางป่า (ป่อง ต้นกล้า) เป็นต้น

อาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 รายการ “เพลงมรดกของชาติ” บรรเลงโดยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ดูแลโดยธนู รักษาราษฎร์ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร มีเพลงชาติฉบับขุนวิจิตรมาตราและนายฉันท์ ขำวิไล (ดั้งเดิม) เพลงของพระเจนดุริยางค์ เพลงของหลวงวิจิตรวาทการ ชุมนุมเผ่าไทย, ตื่นเถิดชาวไทย, แผ่นดินของเรา, บ้านเรา, ใต้ร่มธงไทย, บ้านเกิดเมืองนอน, รู้รักสามัคคี, ไทยรวมกำลัง, รักเมืองไทย, สามัคคีชุมนุม, รักกันไว้เถิด เป็นต้น ซึ่งบรรดาเพลงเหล่านี้จะหาฟังการแสดงสดยาก

อาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 รายการ “เพลงแห่งความรัก” บรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนี กรุงเทพมหานคร โดยกองการสังคีต กรุงเทพมหานคร เลือกเพลงรักของครูไพบูลย์ บุตรขัน อาทิ ขลุ่ยครวญรัก, ความรักเจ้าขา, ขี้เหร่ก็รัก, ขวัญใจคนจน, ความเอ๋ยความจน, คนอาภัพ, คอยเธอที่ป้ายรถเมล์, คอยเนื้อคู่, คนจนคนจร, คิดถึงบ้างไหม, ความรักครั้งสุดท้าย, ฆ่าฉันเสียเถิดที่รัก, เจ้าน้ำตา, เจ็บขั้วหัวใจ, ทาสทรมาน, น้ำค้างเดือนหก, น้ำลงนกร้อง, น้ำลงเดือนยี่, บุษบารำพันรัก, บุหงาลนไฟ, บ้านสาวโสด, บูชารัก เป็นต้น

ครูเพลงที่เสียชีวิตไปแล้วเกิน 50 ปี อาทิ ทูลกระหม่อมบริพัตร (พ.ศ.2424-2487) พระเจนดุริยางค์ (พ.ศ.2426-2511) หลวงสุขุมนัยประดิษฐ (พ.ศ.2447-2510) หลวงวิจิตรวาทการ (พ.ศ.2441-2505) ไพบูลย์ บุตรขัน (พ.ศ.2461-2515) จิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.2473-2509) สุรพล สมบัติเจริญ (พ.ศ.2473-2511)

ลิขสิทธิ์เพลงเป็นเรื่องที่ไม่ได้แพร่หลายนัก คนทั่วไปก็ไม่สนใจที่จะรู้ เพราะการนำเพลงมาบรรเลงให้ประชาชนฟังในสวนสาธารณะโดยวงดนตรีของส่วนราชการซึ่งก็มีเอกสิทธิ์ในการบรรเลงเพลงของชาติอยู่แล้ว การนำมาเผยแพร่เพื่อให้คนรำลึกถึงผลงานของครูเพลงคนสำคัญ ครูเพลงเหล่านี้คือประวัติศาสตร์ของสังคมที่ยังมีชีวิต สามารถบอกเรื่องราวและบรรยากาศของสังคมได้ด้วย

เพิ่มเติมความรู้เรื่องลิขสิทธิ์เพลงเล็กน้อย อายุลิขสิทธิ์เพลง (มาตรา 19) กรณีผู้สร้างสรรค์งานคนเดียว ทั้งเนื้อร้องและทำนอง ลิขสิทธิ์มีอายุตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอายุต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต หากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตก่อนที่มีการเผยแพร่ ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปีนับแต่มีการเผยแพร่

ลิขสิทธิ์เพลง เมื่อผู้แต่งเสียชีวิตไปแล้ว 50 ปี เพลงจึงจะตกเป็นสาธารณะ ส่วนเพลงที่เนื้อร้องกับทำนองเป็นคนละคนกัน ก็ให้ถือตามคนที่เสียชีวิตทีหลัง เมื่อครบ 50 ปี สิทธิจึงจะตกเป็นสาธารณะ หากมีบางเพลงที่ผู้แต่งเพลงเสียชีวิตไปแล้ว แต่เพลงยังไม่ได้ออกเผยแพร่ ก็ให้นับจากวันที่นำเพลงออกเผยแพร่ 50 ปี

เพลงไทยมีผู้ฟังในวงแคบเฉพาะที่เมืองไทย ผู้แต่งเพลงในอดีตมอบให้แก่สาธารณะอยู่แล้ว แต่เพิ่งจะคิดเป็นราคาในภายหลัง ผู้แต่งเพลงที่เคยขายเพลงให้เถ้าแก่ (3 เพลง 100) ครั้นเมื่อมีกฎหมายลิขสิทธิ์มาใช้ในปี พ.ศ.2538 ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงและฟ้องร้องขึ้นศาลกันไม่น้อย ในที่สุดเพลงดังของไทยก็ซบเซาลงและถูกทอดทิ้งไป นักดนตรีคนรุ่นใหม่ก็หันไปแต่งเพลงใหม่เสียเอง “แต่งเองเล่นเองและร้องเอง” เพื่อจะเลี่ยงการจ่ายลิขสิทธิ์ เพราะอาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย “หาค่ำกินเช้า” มีเงินไม่พอเลี้ยงชีพ จึงเกิดเพลงใหม่ที่ไม่ดังจำนวนมาก ปัจจุบันมีนักดนตรีนักร้องก็กลายเป็นศิลปินร้องเพลงของตัวเอง

การแสดงดนตรีในสวนทั้ง 6 สัปดาห์ มีศิลปินวาดภาพ “วาดเส้นตามเสียง” ดร.สุชาติ วงษ์ทอง มาวาดภาพดนตรีในสวนทุกครั้ง ตั้งใจจะหารายได้จากภาพมอบให้แก่มูลนิธิ เพื่อนำไปช่วยในการจัดการแสดงดนตรีในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ยังได้นำภาพที่วาดจากการแสดงดนตรีในสวนเมื่อปีที่แล้วมาจัดแสดงให้ชมด้วย

การแสดงดนตรีในสวนที่สะพานพระราม 8 ครั้งนี้ เป็นการนำเพลงเก่าที่ครูเพลงเสียชีวิตไปแล้วเกิน 50 ปีมาบรรเลง เป็นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติด้วยเพลง ถ่ายทอดบรรยากาศ ได้สัมผัสวิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมผ่านเพลง ซึ่งเพลงเป็นประวัติศาสตร์ที่เติมช่องว่างและความรู้สึกให้แก่สังคม ทั้งนี้เพลงก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์
ของการใช้

การเชิญชวนสถาบันดนตรีต่างๆ ที่มีบทบาทในสังคม นำวงดนตรีขนาดใหญ่มาบรรเลงเพื่อผู้ฟัง และมอบความอิ่มอุ่นให้แก่ทุกคน เป็นกิจกรรมที่ไม่ค่อยได้เห็นมากนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image