แท็งก์ความคิด : ทัศนา‘ธนบุรี’

ทัศนา‘ธนบุรี’

ผ่านปีใหม่ไทยปีใหม่จีนมาด้วยความสดชื่น หลายคนไปท่องเที่ยว อีกหลายคนพักผ่อนหย่อนใจอยู่บ้าน

เปิดสัปดาห์หลังปีใหม่จีน เครือมติชนจัดสัมมนาใหญ่ มีผู้รู้มาให้ข้อคิดและชี้ให้เห็นอนาคตของประเทศไทย กระตุ้นให้รู้จุดดี และแนะให้แก้ไขจุดอ่อน เพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศ

ในปี 2566 นี้ คาดหวังกันว่า การลงทุน และการท่องเที่ยว จะเป็นตัวหลักในการเพิ่มรายได้ เพราะหลายปัจจัยเอื้อให้ทั่วโลกเริ่มลงทุนกันแล้ว และแต่ละชาติก็เปิดประเทศ

Advertisement

โอกาสจึงมองเห็น แต่จะเอื้อมคว้ามาได้หรือไม่นั้นต้องลองดู

สำหรับการท่องเที่ยว ไทยยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่น่ารู้และน่าทัศนา

สัปดาห์นี้มาชวนอ่านหนังสือที่สะท้อนคุณค่าของแผ่นดิน

Advertisement

หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี

หนังสือดังกล่าว ชื่อ “โบราณคดีกรุงธนบุรี” เขียนโดย กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมจัดพิมพ์ บริษัทงานดี จำกัด จัดจำหน่าย

เนื้อหาเกี่ยวกับฝั่งธนฯที่อยู่ตรงข้ามกับฝั่งพระนคร ซึ่งมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่นกลางอยู่

แม้ชื่อของหนังสือฟังแล้วจะวิชาการหน่อยๆ แต่การนำเสนอในเล่มกลับอ่านอย่างเพลิดเพลิน

โดยเฉพาะคนที่อยากรู้ที่มาที่ไปของแผ่นดินที่เราคุ้นเคย

ทั้งธนบุรีและบางกอก ซึ่งภายหลังคือกรุงเทพมหานครล้วนมีที่มาที่น่าติดตาม

คนฝั่งธนฯน่าจะได้ทัศนา เช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯที่น่าจะรู้

ส่วนคนจังหวัดอื่นๆ ที่สนใจประวัติศาสตร์เมืองหลวงก็น่าจะได้อ่าน เพราะมีหลายเรื่องที่เป็นความรู้ที่คนไทย “ควรรู้”

เช่นว่า ชื่อเดิมของแม่น้ำเจ้าพระยาคืออะไร แล้วทำไมจึงเปลี่ยนมาเป็นเชื่อ “เจ้าพระยา”

หรือความรู้อื่นๆ เช่น ที่มาของคำว่า “บาง” ได้แสดงถึงชุมชนที่อยู่ในพื้นที่แบบไหน

พร้อมกันนั้นยังมีการค้นหาที่มาของคำว่า “บางกอก” พร้อมข้อสันนิษฐาน

เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ บอกกล่าวถึงผืนดินที่เคยอยู่ใต้ทะเลในยุคก่อน แล้วต่อมากลายเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์หลังน้ำทะเลลด

เนื้อหายังบอกพัฒนาการของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการขุดคลองลัด

จากคลองลัดพัฒนาการไปเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่

การขุดคลองลัดมีผลสนับสนุนให้อยุธยาเหมาะสมกับการค้าขาย

อ่านแล้วเห็นวิสัยทัศน์ของกษัตริย์สมัยอยุธยาที่จัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อส่งเสริมความเจริญให้อาณาจักร

หนังสือเล่มเดียวกันยังนำเสนอข้อมูลจากการขุดค้นใต้ดิน เสาะหาหลักฐานทางโบราณคดี แล้วนำเสนอออกมาอย่างเข้าใจ

เท่ากับว่าผู้อ่านจะได้รับทราบความเป็นมาของธนบุรีทั้งจากเอกสารเก่าที่ใช้อ้างอิง และผลการขุดค้นพบหลักฐานใต้ธรณี

อ่านแล้วได้รับทราบทั้งเรื่องคลอง เรื่องกำแพงเมือง รวมไปถึงวัดวาอาราม

ประวัติศาสตร์เช่นนี้อ่านแล้วสร้างคุณค่าให้แผ่นดิน

ทุกตารางนิ้วที่เราดำรงอยู่ ก่อนหน้านี้ก็มีผู้ดำรงอยู่ แผ่นดินธนบุรีเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวา

รายละเอียดต้องติดตามในเนื้อหา และดูภาพประกอบ แล้วจินตนาการตามข้อมูลที่ได้ซึมซาบ

หนังสือเล่มนี้ควรมีไว้ติดบ้าน และใส่ไว้ในหิ้งของห้องสมุดทุกแห่งในประเทศ

ส่วนใครสนใจท่องเที่ยวท้องถิ่น การพกพาหนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือสัญจรฝั่งธนฯก็ดูดี

ตระเวนไหว้พระ ท่องเที่ยวชมคลอง แล้วรู้ที่มาที่ไป สามารถเพิ่มคุณค่าในการใช้เวลาว่างในวันหยุดได้

ความจริงสำนักพิมพ์มติชน สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม เคยทำหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กในทำนองนี้มาหลายเล่มแล้ว

แต่ละเล่มเมื่ออ่านแล้วจะตอกย้ำความภาคภูมิใจที่ไทยเรามีแผ่นดินเช่นนี้

เช่นเดียวกับการอ่าน “โบราณคดีกรุงธนบุรี” ที่วางบนแผงพร้อมให้เสพความรู้

ซึมซาบประวัติศาสตร์เมืองหลวง ที่ประกอบด้วยฝั่งพระนครกับฝั่งธนฯ

เก็บเกี่ยวความรู้จากการขุดค้นรากประวัติศาสตร์จากทะเลตมสู่กรุงธนบุรีบางกอก

ร่วมกันทัศนา “ธนบุรี” ด้วยการอ่าน

อ่าน “โบราณคดีกรุงธนบุรี” แล้วกระตุ้นความอยากท่องทัวร์เพื่อมองหาสรรพสิ่งที่บอกกล่าวเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image