ข่าว ‘มโน’ ข้อมูล ‘นั่งเทียน’ ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ แพะชนแกะที่(ยังมี)คนเชื่อ

ข่าวลือเป็นสิ่งอยู่คู่สังคมมนุษย์มาตลอด ตั้งแต่เรื่องซุบซิบของคนข้างบ้าน ไปจนถึงองค์กรระดับโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือกระทั่งการไปเหยียบดวงจันทร์

วิเคราะห์แบบมีหลักการ อาจหาทฤษฎีร้อยแปดมาหาเหตุผลให้ปรากฏการณ์ จับคู่ตัวละครจนเกิดองค์กรเบื้องหลังที่สร้างปรากฏการณ์ให้เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมชาติ

ภายใต้ชื่อ “ทฤษฎีสมคบคิด”

ทฤษฎีสมคบคิดเป็นแนวความคิดที่ไม่ได้รับการยอมรับทางวิชาการ เหตุเพราะไม่มีการอ้างอิงถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อาจใช้หลักความเป็นไปได้ หรือยกหลักคิดอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการยอมรับในทางสากลมารองรับ เช่น การใช้คำสอนทางศาสนาหรือการพยากรณ์เหตุการณ์ในคัมภีร์ต่างๆ มาจับกับเหตุการณ์สำคัญ จนถึงการวิเคราะห์หรือตีความสัญญะ

Advertisement

ในต่างประเทศการอ้างทฤษฎีสมคบคิดพบเห็นได้ตามคอลัมน์ในแทบลอยด์ อ่านเอาสนุกเป็นส่วนใหญ่

ส่วนสังคมไทยเองก็มีอยู่บ่อยครั้งที่เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏในข้อเขียนวิเคราะห์การเมืองที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง และย้ายมาอยู่ในรูปของข้อความที่ส่งต่อผ่านไลน์ หรือแฟนเพจเฟซบุ๊กต่างๆ

แต่หลายครั้งการพูดถึงขบวนการเบื้องหลังเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็ปรากฏใน “พื้นที่ทางการ”

Advertisement

น้ำมันแพง ราคาข้าวตก รถติด เศรษฐกิจวูบ ล้วนต้องมีคนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ และในการอธิบายหลายครั้งมักจะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน

หลายคนอาจส่ายหัวแล้วมองข้ามไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนเชื่อและรับเอาสารเหล่านั้นบอกต่อ จนชุดความคิดนั้นกลายเป็นความเชื่อฝังหัว

ปรากฏการณ์ที่ไม่ทิ้งร่องรอย

ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ให้นิยามอย่างง่ายว่า ทฤษฎีสมคบคิด หมายถึง ปรากฏการณ์ที่สร้างโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกันร่วมกระบวนการ ติดต่อประสานทำงานไปในทิศทางเดียวกัน จนเกิดปรากฏการณ์ออกมาสอดรับไปในทิศทางเดียวกัน

“แต่ถ้าคนทำไม่รู้จักกัน ไม่ได้วางแผนร่วมกัน แต่บังเอิญผลปรากฏออกมาสอดรับกัน ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าทฤษฎีสมคบคิด อาจไม่ตรงซะทีเดียว”

การที่คนส่วนใหญ่มักมองว่าทฤษฎีสมคบคิดเป็นเรื่อง “มโน” นั้น นันทนาตอบพร้อมรอยยิ้มว่า เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่สอดรับกันและเบื้องหลังว่ามีการติดต่อสมรู้ร่วมคิดกันไหม แต่คนที่ติดต่อกันนั้นคงไม่ทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้

“เรื่องทฤษฎีสมคบคิดไม่ใช่การปล่อยข่าวลือ แต่เป็นการทำให้เห็นว่ามีกระบวนการสร้างปรากฏการณ์ให้สอดรับไปในทิศทางเดียวกัน สร้างเป็นกระแสและมีกระบวนการ ไม่ใช่แค่ปล่อยแล้วจบ ขณะที่การปล่อยข่าวลือเป็นการกระจายเพื่อดูปฏิกิริยาคนหรือให้เกิดความวุ่นวาย โดยเป็นไปได้ว่าข่าวนั้นเป็นข่าวจริงและข่าวลวง

“การสมคบคิดสันนิษฐานได้จากว่ากระบวนการไม่ได้หยุดแค่ที่ 1-2 คน แต่มีการพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหยุดไปต่อไม่ได้ อาจแปลว่าไม่ได้มีกระบวนการในการวางแผนจัดการต่อเนื่อง ก็เลยจบ วิเคราะห์ได้จากปรากฏการณ์” นันทนากล่าว

นันทนา นันทวโรภาส
นันทนา นันทวโรภาส

ปฏิบัติการจิตวิทยาแอบแฝง?

“คำว่าทฤษฎีสมคบคิดในบ้านเรา เป็นเรื่องปฏิบัติการจิตวิทยาของภาครัฐมากกว่า”

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ตอบคำถามถึงการใช้ทฤษฎีสมคบคิดที่ปรากฏอยู่ในแวดวงข่าวการเมืองไทย

“เราจะเห็นการให้ข้อมูลข่าวสารทั้งจากหน่วยงานของรัฐ เอกชน และพลเรือนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ เป็นการให้คำอธิบายเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นในสังคมซึ่งคนอยากได้คำอธิบาย ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าเป็นการให้ข้อมูลโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้เกี่ยวข้องมากกว่า

“คำว่าทฤษฎีสมคบคิด จริงๆ แล้วไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจง สังคมมีประเด็นที่คนสนใจ ก็จะมีคนบางกลุ่มสร้างคำอธิบายขึ้นมาว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นแบบนี้ เพราะคนนี้เป็นพวกเดียวกับคนนั้น แล้วคนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงก็พร้อมที่จะเชื่อ” ศิโรตม์กล่าว

ศิโรตม์กล่าวต่อไปว่า การใช้ทฤษฎีสมคบคิดในบ้านเราจะต่างจากต่างประเทศตรงที่ในต่างประเทศมีการอธิบายเรื่องต่างๆ ในเชิงทฤษฎีสมคบคิด แต่น้ำหนักที่สื่อกระแสหลักจะให้นั้นมีน้อย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจรัฐจะให้ความเชื่อถือกับเรื่องพวกนี้น้อย

“ในบ้านเราประหลาดที่การใช้ทฤษฎีสมคบคิดอธิบายเรื่องต่างๆ ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือเรื่องระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อน ได้รับความเชื่อถือ หรือได้รับพื้นที่ในสื่อกระแสหลักมากกว่า อาจมีผู้มีอำนาจรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐบางคนมีความเชื่อสอดคล้องไปในแนวทฤษฎีสมคบคิดแบบนี้”

กรณีจากข่าวเร็วๆ นี้ ที่มีคนจัดวิทยุพาดพิงบุคคลต่างๆ ว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ซึ่งข้อมูลหลายอย่างผิดจากความเป็นจริง

อ.ศิโรตม์เห็นว่า การพูดโดยไม่มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้แต่สื่อกระแสหลักในไทยกลับเอาไปเผยแพร่ต่อ เป็นปรากฏการณ์ที่ในต่างประเทศเราจะไม่มีทางเห็นสื่ออย่างซีเอ็นเอ็นหรือวอชิงตันโพสต์ เอาเรื่องแบบนี้ไปลงแน่นอน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ไม่มีหลักฐานแต่คนชอบฟัง

มีคนพูดก็ต้องมีคนฟัง แม้แต่การพูดที่ไม่มีหลักฐานหรือที่มาก็ยังมีคนพอใจรับฟังและบอกต่อ

นันทนา ให้ความเห็นว่า ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยขณะนี้ยังมีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงอยู่ มีการแบ่งฝ่ายชัดเจน

“ถ้าเห็นอีกฝ่ายพลาดพลั้งก็จะมีการตีรับกันเป็นลูกระนาด หรือเห็นว่าฝ่ายไหนได้รับการยกย่องเชิดชูก็มีแนวโน้มหาข้อมูลมาทำลาย เป็นภาวะไม่ปกติ ทำไมคนถึงเชื่อก็ในภาวะขัดแย้งทางความคิด คนมีแนวโน้มยืนอยู่ข้างตัวเอง มองฝ่ายตรงข้ามในเชิงลบ ลักษณะนี้เป็นทั้งสองฝ่าย เลยมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายใช้ทฤษฎีสมคบคิด เป็นสังคมที่อ่อนไหวเรื่องความคิดความรู้สึกมาก ถ้ามองเป็นปรากฏการณ์ปกติ ไม่ได้มองแยกฝ่ายแยกพวก อารมณ์แบบนี้จะลดลง ความพยายามคิดว่ามีการสมคบคิดก็จะลดลง” นันทนากล่าว

ขณะที่ ศิโรตม์ เห็นว่าเกิดจากการใช้อธิบายเรื่องราวซับซ้อน ในสังคมที่ไม่มีเสรีภาพในการพูด

“ผู้รับสื่ออยากได้คำอธิบายของเหตุการณ์หรือข่าวต่างๆ ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เมื่อสังคมไม่สามารถแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเปิดกว้างเสรี ความสงสัยที่คนมีต่อเรื่องต่างๆ จะถูกอธิบายโดยคนซึ่งใช้คำอธิบายแบบหยาบๆ ง่ายๆ ฟังแล้วเข้าใจง่ายสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

“เช่น ทำไมเมืองไทยน้ำมันแพง ก็จะบอกว่าเป็นเพราะมีคนไทยกับคนต่างชาติสมคบกันทำให้น้ำมันแพง จริงหรือเปล่าไม่มีใครรู้ แต่คนจำนวนหนึ่งก็พร้อมที่จะเชื่อ มาจากความอับจนของสังคมที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีความซับซ้อน”

ส่วนเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมอับจนทางปัญญา ศิโรตม์เห็นว่า เป็นเพราะการไม่มีเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการเผยแพร่ความคิดเห็นที่ดีพอ โดยเฉพาะในปัจจุบัน

“ยุคไหนก็ตามที่คนไม่สามารถพูดหรือให้ข้อมูลได้อย่างกว้างขวาง โอกาสที่จะเห็นการให้ข้อมูลในลักษณะทฤษฎีสมคบคิดแบบนี้ก็จะสูงเป็นปกติ” ศิโรตม์กล่าว

ระวังจินตนาการทำร้ายคนอื่น

จากการที่ตัวแทนภาครัฐมักอธิบายว่าหลายๆ เหตุการณ์ในสังคมเกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มคนเดิมๆ อยู่เบื้องหลัง นันทนา บอกว่าเป็นความพยายามของรัฐในการวิเคราะห์ว่ามีกระบวนการสมคบคิดอยู่

“ต้องดูว่าคนที่วิเคราะห์เชื่อมโยงปรากฏการณ์ออกมาจนกลายเป็นภาพชัดเจนหรือเป็นเพียงจินตนาการแต่งแต้มเอง ถ้าเป็นจินตนาการของคนบางคน อันนี้น่ากลัว แค่เห็นคนบางคนพูดออกมาสอดรับกันแล้วบอกว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด น่ากลัวว่าใช้จินตนาการมากไปหรือเปล่า และถ้าจินตนาการนั้นไปละเมิดเขา กล่าวหาเขาว่าทำนี่ทำนั่น โดยที่หลักฐานความเป็นจริงอาจไม่มีอยู่เลย อันนี้อันตราย

“ต้องพยายามวิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นฐานที่เป็นจริง ไม่อย่างนั้นจะสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนได้” นันทนากล่าว

‘กลุ่มอำนาจเก่า’ ตัวร้ายในหน้าการเมืองไทย?

คำหนึ่งที่ปรากฏบ่อยครั้งในพื้นที่ข่าวการเมืองไทยคือ “กลุ่มอำนาจเก่า”

ศิโรตม์ เห็นว่า การอ้างเรื่องกลุ่มอำนาจเก่านั้นเป็นความตั้งใจโจมตีกันทางการเมืองมากกว่า

“ที่ผ่านมามีการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับเรื่องกลุ่มอำนาจเก่าแทบทุกเรื่อง โดยมากเป็นเรื่องชายแดนใต้ การเมือง เศรษฐกิจ แม้กระทั่งเรื่องราคาข้าว ที่มีการอธิบายว่ากลุ่มอำนาจเก่าสมคบกับโรงสี ผมคิดว่าเป็นเรื่องหวังผลทางการเมือง มีการใช้กันมาเยอะมาก แต่เมื่อเรื่องคลี่คลายก็จะเห็นกันว่าที่อ้างเรื่องกลุ่มอำนาจเก่าอยู่เบื้องหลังนั้นไม่เป็นความจริง

“เคสบ้านเราเรื่องกลุ่มอำนาจเก่าเป็นการสร้างแพะหรือใช้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตัวเอง คือ 1.การโจมตีฝ่ายตรงข้าม 2.การปัดความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของคนกลุ่มต่างๆ”

สำหรับเหตุการณ์ที่มีการอ้างถึงกลุ่มบุคคลเบื้องหลัง ศิโรตม์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือ เรื่องระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้

“ในช่วงแรกทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าเป็นเรื่องกลุ่มอำนาจเก่า จากนั้นเริ่มมีการให้ข้อมูลว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบในชายแดนใต้ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องระเบิด 7 จังหวัดอีกเลย ผมคิดว่าตอนนี้การจับมือระเบิดยังไม่มีความคืบหน้าด้วยซ้ำไป เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด เราไม่ควรลืมว่าการอ้างเรื่องกลุ่มอำนาจเก่าในบ้านเรานั้นเปะปะ ใช้เป็นประโยชน์ทางการเมืองมากขนาดไหน

“อย่าลืมว่า การใช้ลักษณะนี้คือการหลอกประชาชนด้วย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image