‘เสรีทรงผม’ ต้อง ‘มูฟออน’ ไม่ใช่ถอยหลัง

‘เสรีทรงผม’ ต้อง ‘มูฟออน’ ไม่ใช่ถอยหลัง
กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ กางป้ายผ้าหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันการให้โรงเรียนออกกฎเอง ไม่เท่ากับ ‘เสรีทรงผม’

ฟังดูคล้ายส่งสัญญาณประกาศชัยชนะ ทว่า อาจไม่ใช่เช่นนั้น สำหรับกรณี ‘เสรีทรงผม’ ซึ่งเมื่อ 16 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องทรงผม พ.ศ.2563

ก่อนที่ 24 มกราคม พ.ศ.2566 ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกเลิกระเบียบดังกล่าวเป็นข่าวตามสื่อช่องทางต่างๆ

ตามด้วยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ ลงวันที่ 16 มกราคม

ทันทีที่ประกาศดังกล่าวถูกเผยแพร่ สิ่งที่ตามมา ไม่ใช่เสียงเฮลั่น หากแต่เป็นกระแสวิพากษ์สนั่น จากถ้อยคำที่ถูกมองว่าคือการสร้าง ‘สุญญากาศ’ เปิดช่องโหว่ให้ผู้มีอำนาจในสถานศึกษาหนักกว่าเก่า

Advertisement

นำมาซึ่งแรงต้านถึงขนาดยื่นเรื่องค้านต่อสภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภา เกียกกาย โดยกลุ่ม ‘นักเรียนมูฟออน’ ยังไม่นับความคิดความเห็นในโลกออนไลน์ที่ไม่เห็นพ้องกับประกาศดังกล่าวเช่นกัน

เปิดราชกิจจาฯ

อ่านประกาศเจ้าปัญหา ว่าด้วยทรงผมนักเรียน

Advertisement

ก่อนอื่น มาดูต้นทางยังราชกิจจานุเบกษาที่เผยแพร่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 พ.ศ.2566
ความว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 พ.ศ.2566

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563

ประกาศ ณ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2566
ตรีนุช เทียนทอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

จากเนื้อหาข้างต้น กลุ่ม ‘นักเรียนมูฟออน’ มองว่า จะก่อปัญหาในอนาคต หากถูกใช้อย่างเป็นทางการ ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ สิทธิเสรีภาพของนักเรียน ในประการใดๆ ปัญหาที่อาจจะตามมาในภายหลัง เช่นอำนาจการออกระเบียบทรงผมถูกส่งต่อไปที่โรงเรียนอย่างไม่มีขอบเขตหรือการกำกับดูแล หรือการเปิดช่องโหว่ในการออกระเบียบ ให้ลงโทษนักเรียนด้วยการกล้อนผม หรือ การใช้อำนาจของสถานศึกษาบีบบังคับ ตัดตอนขั้นตอนวิธีการรับฟังความคิดเห็น ของนักเรียน ทำให้ไม่ได้รับความคิดเห็น ของนักเรียนอย่างแท้จริง

ตอนหนึ่งของแถลงการณ์คัดค้าน ณ รัฐสภา ระบุว่า

“นักเรียนมูฟออน จึงต้องการส่งข้อเสนอเพื่อเรียกร้องให้ตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องทรงผม พ.ศ.2566 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1) ให้มีการยกเลิก “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 พ.ศ.2566

2) ออกคำสั่งห้ามมิให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบทรงผมของตนเองขึ้นโดยทันที เพื่อคุ้มครองนักเรียนจากการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน นั่นคือสิทธิในการไว้ทรงผมของตนเอง

3) ให้กระทรวงออกกฎระเบียบเรื่องทรงผมของนักเรียนใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทุกโรงเรียนโดยกฎทรงผมนั้นจะต้องมาจากความสมัครใจของนักเรียน
4) เพิ่มบทลงโทษให้บุคลากรที่ลงโทษนักเรียนเกินระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียน

ทั้งนี้ ดังข้อเรียกร้องที่กล่าวมาล้วนเห็นแก่ชีวิตสิทธิเสรีภาพ และความเป็นอยู่ของนักเรียนที่ควรมีสิทธิคิดและตัดสินใจในร่างกายของตนเอง ที่ไม่ควรถูกใครละเมิดหรือย่ำยีในตัวตนในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงร้องขอให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องจากเสียงของนักเรียนที่พึงนำเสนอ”

‘นักเรียนเลว’ ยัน ไม่ใช่ชัยชนะ

กระทรวงศึกษาฯ แค่ ‘ปัดความรับผิดชอบ’

ประเด็นนี้ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘นักเรียนเลว’ มองไปในทิศทางเดียวกัน ว่าประกาศยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ไม่ใช่ชัยชนะของนักเรียนอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นความเสื่อมถอยด้านสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน กล่าวคือ แม้ว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 เป็นระเบียบที่ยังคงลิดรอนสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนอยู่ แต่ก็เป็นระเบียบที่รับประกันสิทธิเสรีภาพบางส่วนของนักเรียนด้วยเช่นกัน ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 นี้ อนุญาตให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ แต่ยังคงจำกัดความยาวของเส้นผม รวมทั้งห้ามย้อมผม ดัดผม ไว้หนวดเครา และอนุญาตให้โรงเรียนออกกฎทรงผมเองได้ตราบเท่าที่ไม่แย้งกับระเบียบของกระทรวง โดยต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นก่อน ดังนั้น การยกเลิกระเบียบกระทรวง ฉบับนี้ไป จึงอาจทำให้การออกกฎทรงผมของแต่ละโรงเรียนเป็นไปโดยตามใจชอบ และไม่มีความจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของใครอย่างที่เป็นมา

กลุ่ม ‘นักเรียนมูฟออน’ ยื่นค้านต่อสภาผู้แทนราษฎร กรณียกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องทรงผม พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์

กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ระบุด้วยว่า ทรงผมถือเป็นสิทธิในร่างกาย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกยอมรับในระดับสากล แต่ทำไมนักเรียนไทยถึงไม่เคยมีสิทธิในทรงผมของตัวเองเลยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การยกเลิกระเบียบดังกล่าวจึงเป็นการปัดความรับผิดชอบจากกระทรวงให้กับโรงเรียน หากนักเรียนคนใดถูกบังคับให้กลับไปตัดผมสั้น นักเรียนคนนั้นก็ไม่สามารถร้องเรียนกับกระทรวงได้ เพราะกระทรวงจะอ้างว่าอำนาจในการออกกฎอยู่ที่โรงเรียน หากนักเรียนจะเรียกร้องเสรีทรงผม ก็ต้องเรียกร้องกับโรงเรียน การกระทำของตรีนุชเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว โยนภาระไปให้โรงเรียนและนักเรียน แทนที่จะทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพนักเรียนโดยห้ามไม่ให้โรงเรียนออกกฎทรงผมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่แรก

เกิดภาวะ ‘สุญญากาศ’ ย้อนประวัติศาสตร์ ปี’56

อีกมุมมองน่าสนใจที่กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ หยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญ คือการมองว่า ในปัจจุบัน สถานการณ์ทรงผมของนักเรียนตกอยู่ใน ‘สภาวะสุญญากาศ’ กล่าวคือ เมื่อระเบียบกระทรวงถูกยกเลิกไปแล้ว และกระทรวงก็ไม่ได้มีการออกระเบียบเพื่อควบคุมการออกกฎทรงผมเองของโรงเรียน มีเพียงแนวทางในการปฏิบัติตามเท่านั้น โรงเรียนจึงอาจจะทำหรือไม่ทำตามแนวทางนี้ก็ได้ เพราะไม่ใช่กฎที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

“เหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ในช่วงแรก สถานศึกษาจะบังคับใช้ระเบียบสถานศึกษาฉบับเก่าของตนไม่ได้ในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กระทรวงก็ไม่สามารถบังคับให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติตามระเบียบทรงผมของกระทรวงได้ ประกอบกับความไม่ชัดเจนของกฎหมาย โรงเรียนต่างๆ จึงปฏิบัติแตกต่างกันไปจนกระทั่งเกิดปัญหาต่อนักเรียน ในเวลาต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือภายในให้โรงเรียนงดออกกฎทรงผมที่ต่างไปจากระเบียบกระทรวงไว้ก่อน แต่จุดจบก็เหมือนเดิม คือไม่มีโรงเรียนไหนยอมปฏิบัติตามกระทรวงเลย ทำให้เรายังเห็นนักเรียนถูกบังคับให้ตัดผมมาจนถึงทุกวันนี้ นี่คืออันตรายของสภาวะที่กฎหมายไม่ชัดเจน ไม่รู้ได้ว่าจะเป็นการควบคุมหรือคุ้มครองมากกว่ากัน” กลุ่มนักเรียนเลวระบุ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการย้อนประวัติศาสตร์ระยะสั้นเกี่ยวกับปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแนวทางการปฏิบัติเรื่องทรงผม ในปี พ.ศ.2556 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ต้องการให้นักเรียนสามารถไว้ทรงผมยาวได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น จึงได้ใช้มาตรการอ่อน คือการใช้หนังสือภายในด้วยหัวข้อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน แต่สุดท้ายผู้อำนวยการสถานศึกษาหลายแห่งกลับค้านแนวคิดการยกเลิกทรงผมสั้น และไม่ทำตามแนวทางของหนังสือซักซ้อมนั้น ผลคือ ผู้อำนวยการเหล่านั้นไม่มีความผิดอะไร และทรงผมสั้นก็ยังคงปรากฏในกฎระเบียบของหลายโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน

ปลายทางไม่ใช่ทรงผม ‘เสรี’

แต่ให้อำนาจ ‘โรงเรียน’ เต็มที่ ซ้ำร้อง ศธ.ไม่ได้?

จากข้อมูลข้างต้น กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ จึงมองว่า ปลายทางของการยกเลิกระเบียบกระทรวง ฉบับนี้จึงไม่ใช่เสรีทรงผม แต่เป็นการให้อำนาจโรงเรียนอย่างเต็มที่ในการออกกฎทรงผม เพราะเมื่อไม่มีระเบียบกระทรวง ที่ห้ามไม่ให้โรงเรียนออกกฎที่ขัดกับระเบียบกระทรวงแล้ว เท่ากับว่าโรงเรียนจะกำหนดเกณฑ์ทรงผมของนักเรียนอย่างไรก็ได้ โดยที่เด็กก็ไม่สามารถร้องเรียนไปยังกระทรวงศึกษาธิการได้เลย จะทำให้เกิดความวุ่นวายและภาระเกินจำเป็น และทำให้ความเป็นนิติรัฐนิติธรรมในสังคมไทยลดลงไป เพราะรัฐไม่สามารถประกันในสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 รับรองไว้ได้

ด้วยเหตุนี้ 24 มกราคมที่ผ่านมา จึงมีการยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ไขสภาวะสุญญากาศทางกฎหมายจากการยกเลิกกฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะมารับหนังสือ ซึ่งมีใจความสำคัญ ดังนี้

1.กระทรวงศึกษาธิการต้องหยุดสภาวะสุญญากาศทางกฎหมายนี้ ด้วยการออกคำสั่งห้ามมิให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบทรงผมของตนเองขึ้นโดยทันที เพื่อคุ้มครองนักเรียนจากการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน นั่นคือสิทธิในการไว้ทรงผมของตนเอง

2.คณะรัฐมนตรีต้องเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หรือแก้ไขกฏกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ให้มีการคุ้มครองและประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน และกำหนดหลักการดำเนินงานอย่างชัดเจนมากขึ้น หรือออกมาตรการทางกฎหมายใดๆ ให้ที่จะมั่นใจต่อสังคมได้ว่าโรงเรียนจะไม่มีการบังคับนักเรียนตัดผมอีกต่อไป และสามารถรับรองได้ว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนเป็นสำคัญ

3.คณะรัฐมนตรีต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ โดยให้การคุ้มครองและปฏิบัติตามสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญมากขึ้น เช่น ให้ทุกคณะกรรมการโรงเรียนต้องมีสัดส่วนของนักเรียนอยู่ด้วย เพื่อเป็นหลักประกันในการดุลอำนาจของฝ่ายนักเรียนต่อฝ่ายอื่นๆ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในเด็กและเยาวชนในการบริหารสถานศึกษา

ครูจุ๊ย จี้วางหลักการ ‘ประกันสิทธิ’

กลไกร้องเรียนต้องเข้าท่า อย่าปล่อยแค่ ‘คุยกันเอง’

สำหรับมุมมองของครูรุ่นใหม่ อย่าง กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย แห่งคณะก้าวหน้า ต่อประเด็นดังกล่าว คือ กระทรวงศึกษาธิการต้องวางหลักการเพื่อประกันสิทธิแก่นักเรียนว่า กฎระเบียบใดๆ ของโรงเรียนจะไม่ละเมิดสิทธิของพวกเขา และถ้าเกิดการละเมิดสิทธิ กระทรวง ต้องมีกลไกร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ จะปล่อยให้คุยกันเองโดยปราศจากหลักการนี้ไม่ได้เด็ดขาด โดยหลักการที่ต้องเคารพ คือ สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้เรียน

เมื่อถึงตรงนี้ ลองมาดูแนวทางตามที่ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ระบุไว้ว่า

ศธ.ได้ยกร่างแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาไว้ ได้แก่

ตัวแทนกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ไขภาวะสุญญากาศทางกฎหมายจากการยกเลิกกฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยมี พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รับหนังสือ เมื่อวันที่ 24 มกราคม

1.การไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ. จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา

2.สถานศึกษาในสังกัด ศธ.และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ.อาจดำเนินการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนได้ โดยการวางระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษา และควรระบุบทอาศัยอำนาจของกฎหมายเฉพาะมาตรา 39 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546

จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลักการมีส่วนร่วม เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือ ผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นใดที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร เป็นต้น และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนแล้วแต่กรณี ก่อนการประกาศใช้

นอกจากนี้ ควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนไว้ในระบบสารสนเทศ หรือบริเวณของสถานศึกษา และดำเนินการแจ้งให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสถานศึกษาทราบเป็นการทั่วไป เพื่อให้การปฏิบัติตนของนักเรียนมีความถูกต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา

“ระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีข้อต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผมว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย และมีข้อต้องห้ามปฏิบัติตน ดังนี้ ดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย แต่ต่อไปหลังจากมีการประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนทั้งหมดจะอยู่ที่สถานศึกษา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย” ตรีนุชกล่าว

เอาเป็นว่า นับจากนี้ ทรงผมจะเสรีโดยมีอุปสรรคขวากหนามในทางปฏิบัติดังเช่นข้อกังวลของนักเรียนกลุ่มต่างๆ หรือไม่ ยังเป็นประเด็นต้องจับตาอย่าให้แย่ไปกว่าประวัติศาสตร์บนคราบน้ำตาของเด็กและเยาวชนไทย

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image