ขยับเรื่อง ‘ฝุ่นเมือง’ พลังหลังม่านในปีที่ PM 2.5 ทะยานสู่กรุง

ในวันที่คนกรุง ฟินกับลมหนาว ออกไปเดินชิลในเมืองรับอากาศ
แต่อาจจะลืมไปว่า กำลังสูดฝุ่นพิษเข้าไปด้วย
กุมภาพันธ์ปีนี้ ท้องฟ้าขมุกขมัวจนเห็นได้คาตา แน่ชัดแล้วว่า วันวาเลนไทน์ปีนี้คงต้องหันมาดูแลปอดของตัวเองกันก่อน เพราะล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนให้รัก (ษา) สุขภาพ
พยากรณ์โรคและภัยในช่วงนี้ PM2.5 จะทะยานเกินค่ามาตรฐาน!
นั่นหมายความว่าถ้าสูดเข้าไป เจ้าฝุ่นพิษจะก่อตัวสะสม รอวันทำลายอวัยวะที่เราใช้ “หายใจ” และแม้ยังไม่ส่งผลในวันนี้ แต่คุณหมอยืนยันแล้ว อนาคตได้เห็นดีแน่

⦁ปีนี้รุนแรงกว่า
งดกิจกรรมกลางแจ้งทั้งสัปดาห์

ฝุ่นจิ๋วที่ว่านี้ มักเกิดในช่วงรอยต่อฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ทว่า อากาศปิดเป็นฝาชีครอบ ไม่ยกตัวทำให้ระบายไม่ค่อยดี จึงนำมาซึ่งการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 ที่ยังทรงตัวยาวมาจนถึงปีนี้
ซึ่งจากการเฝ้าระวัง ของกรมควบคุมโรค พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2563-2566 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
หนุนด้วยข้อมูลของ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่ว่า ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจอ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ ทั้งเหนือ กลาง อีสาน มากพอที่จะเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์นี้ คาดการณ์ว่าแนวโน้มฝุ่นจะรุนแรงกว่าปี 2565 ด้วยสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ทั้งยังมีมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่เข้ามา
หนีไม่พ้น กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคเหนือ ที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

⦁ออกโรงเตือน อย่าประมาท
กรมควบคุมโรค ยังออกโรงเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคเหนือ เรื่องภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มสุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจขาดเลือด ตาอักเสบ และผิวหนังอักเสบ ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือหากมีความจำเป็นให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
ส่วนประชาชนทั่วไป ก็ควรเฝ้าระวัง ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมแมสก์ป้องกันเบื้องต้น ที่สำคัญ ต้องช่วยกันงดการเผาในที่โล่ง และเช็กคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน
ใครที่บ้านอยู่ใจกลางฝุ่น ควรเลี่ยงกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ แม้กระทั่งคนทำงานบนถนน อย่างตำรวจจราจร คนขับรถสาธารณะ คนกวาดถนน ก็อย่าประมาท
หากสูดฝุ่นเข้าสู่ร่างกายมากๆ จะส่งผลมากกว่าคนทั่วไป คือ 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ 1.โรคหัวใจและหลอดเลือด 2.โรคระบบทางเดินหายใจ 3.โรคผิวหนังอักเสบ และ 4.โรคตาอักเสบ ควรสวมหน้ากาก N95 ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ดูค่าฝุ่น PM2.5 ได้จากเว็บไซต์ คพ. http://air4thai.pcd.go.th/ หรือแอพพ์ Air4Thai หากมีอาการ ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจสั่น ระคายเคืองตา รู้สึกผิดปกติ ให้รีบไปพบหมอด่วน

⦁กทม.ปรับพยากรณ์ฝุ่น
ยังไม่ถึงขั้นสั่งปิด ร.ร. แต่ขอ WFH

ก่อนจะสิ้นมกราคม ฝุ่นยังทวีความรุนแรง แม้ กทม.จะตั้งวอร์รูมเพื่อดูเรื่องฝุ่นโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่เพียงพอ อากาศปิดบวกกับมีการเผาชีวมวลรอบนอก กทม. ทำฝุ่นพุ่งไม่หาย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกปาก ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตลอด 3 เดือน ที่ผ่านมาลุยตรวจต้นตอฝุ่นตลอด
“ตรวจสถานประกอบการ 4,028 แห่ง สั่งปิด 7 แห่ง แพลนต์ปูน 522 แห่ง ปรับปรุง 16 แห่ง ไซต์งานก่อสร้างที่ขึ้นตรงกับสำนักการโยธา 399 แห่ง ส่วนที่ขึ้นตรงกับเขต 773 แห่ง ปิดให้ปรับปรุง 26 แห่ง ท่าทราย ถมดิน 67 แห่ง ตรวจรถควันดำ 60,000 คัน ห้ามใช้ 1,245 คัน ตรวจรถเมล์ 9,269 คัน ห้ามใช้ 43 คัน ตรวจรถบรรทุก 31,072 คัน ห้ามใช้ 135 คัน” คือจำนวนที่จัดการไปได้
ล่าสุด ผู้ว่าฯกทม. เชิญผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น AirBKK พร้อมประสานงานกับจังหวัดต่างๆ รวมถึงต่างประเทศ เพื่อคาดการณ์การเผาชีวมวล เล็งปรับปรุงการพยากรณ์ฝุ่นให้แม่นยำยิ่งขึ้น
“1-2 กุมภาพันธ์ ยังมีสภาพอากาศปิดอยู่ หลังจากวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ สถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะลมเปลี่ยนทิศจากลมทิศใต้พัดขึ้นมา พาอากาศคุณภาพดีจากทะเลขึ้นมา คิดว่าน่าจะบรรเทาลง 2 วันนี้เป็นช่วงที่ต้องระวังนิดนึง” ชัชชาติเน้นย้ำ
แล้วระยะสั้นระหว่างนี้ กทม.จะมีมาตรการลดฝุ่น ช่วยคนกรุงเทพฯไหม?
ชัชชาติบอกว่า กทม.ขอความร่วมมือบริษัทเอกชนให้ทำงานที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม เพื่อลดการเดินทาง ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนให้ความร่วมมือแล้ว 33 แห่ง รวมถึงสำนักอนามัย ไปแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง 1 ล้านชิ้น เปิดคลินิกฝุ่นใน 5 โรงพยาบาล ตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่นรวมทั้งป้องกันการเผาใน กทม.และจังหวัดข้างเคียง แต่ยังไม่ถึงขั้นสั่งปิดโรงเรียน เพราะยังไม่ถึงเกณฑ์นั้น
“การขอความร่วมมือเวิร์กฟรอมโฮม เป็นประโยชน์ด้านสุขภาพของคนในบริษัท สุดท้ายอยู่ที่ว่าเขาให้ความร่วมมือหรือไม่ กทม.ไม่มีอำนาจไปบังคับ”
ผู้ว่าฯขยี้ต้นตอฝุ่น กทม.ว่ามาจาก 2 แหล่งสำคัญ คือ การเผาไหม้ของรถยนต์ และการเผาชีวมวล ซึ่งวิธีของ กทม. ควบคุมเข้มงวด เจอเผาชีวมวลจะเข้าไปดับทันที แต่เจอในต่างจังหวัดและต่างประเทศ ต้องขอความร่วมมือ
ส่วนควันดำจากรถ เรื่องนี้ต้องอาศัยหลายหน่วยงานร่วมมือ เพราะมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเป็นเรื่องระดับชาติ การเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า หรือ EV กทม.สนับสนุนได้ระดับหนึ่งซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาว จากนี้ไป ต้องวิจัยให้สาเหตุให้ชัด ส่วนตัวผู้ว่าฯเชื่อว่ามาจากทั้ง 2 ส่วน อย่าง เขตหนองจอก, มีนบุรี รถยนต์มีไม่เยอะ แต่ฝุ่นพุ่งจากการเผารอบข้าง
ที่ ส.ก.ร่วมเสนอไอเดีย อย่างการห้ามไม่ให้รถบรรทุกควันดำเข้า กทม. ที่ปรึกษาของชัชชาติบอกว่า ต้องให้แน่ใจว่าฝุ่นมาจากรถบรรทุก ไม่อย่างนั้น ไม่คุ้ม จะส่งผลรุนแรงทางเศรษฐกิจ การกำหนดมาตรการไม่ให้รถบรรทุกเข้ามา จึงต้องให้ตอบโจทย์จริงๆ ซึ่งมีนักสืบฝุ่นคอยวิเคราะห์ พร้อมหารือกับกรมควบคุมมลพิษอยู่ตลอด

Advertisement

⦁ลดต้นตอสำคัญสุด
เข้มแหล่งฝุ่น ไม่หยุด

รับลูกจากชัชชาติ ทันที พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ลงพื้นที่เขตหนองแขม ร่วมกับ ผอ.เขตหนองแขม ฝ่ายสิ่งแวดล้อม และฝ่ายเทศกิจ ส่องแพลนต์ปูน และโรงงาน ตรวจควันดำรถเมล์ ยันรถสองแถวแดง เมื่อ 30 มกราคมที่ผ่านมา
พบว่า พวกแพลนต์ปูน ทางบริษัทมีมาตรการป้องกันและตรวจคุณภาพปากปล่องเป็นประจำ แต่การลงตรวจควันดำรถเมล์และรถสองแถว พบค่าความทึบแสงของควันรถบางคัน เกินมาตรฐานเล็กน้อย (ค่ามาตราฐาน 30%) จึงสั่งเข้มให้รีบแก้ไข ก่อนกลับมาตรวจสอบอีกรอบ
ส่วนโรงเรียนในสังกัด กทม. ตอนนี้ใช้วิธี ให้นักเรียนเช็กแอพพ์ AirBKK แล้ว “ปักธงเตือนฝุ่น” เพื่อบอกเพื่อนๆ ในโรงเรียน ซึ่งได้ผ่านอบรมการปฏิบัติตัวในช่วงค่าฝุ่นหนาแน่นมาแล้ว
“เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขตหนองแขมเป็น 1 ใน 3 เขตพื้นที่เฝ้าระวังสูงเมื่อถึงฤดูกาลฝุ่น จากสถิติค่าฝุ่น PM2.5 (หน้าหนาว) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65-30 ม.ค.66 เขตหนองแขมมีจำนวนวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) คือ 28 วัน ด้วยปัจจัยความเร็วลมและเพดานอากาศ ที่ส่งผลให้ค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การพยายามลดที่ต้นตอก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการลด PM2.5 ในพื้นที่” พรพรหมเชื่อเช่นนั้น

⦁ฝุ่นพุ่ง ‘ไลน์’ เด้ง
จัดฟีเจอร์ใหม่ แจ้งภัยพิบัติร้ายแรง
ที่น่ายินดี คือตอนนี้เรากำลังจะมีการแจ้งเตือนภัยแบบอารยประเทศ
ประชาชนสามารถตรวจเช็กค่าฝุ่นผ่าน AirBKK ก่อนออกจากบ้าน และรับการแจ้งเตือนผ่าน LINE ALERT ได้แล้ว ซึ่งจะเด้งเตือนทันทีถ้าวันนี้มีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ตั้งแต่ 10 เขตขึ้นไป หรือ มีค่าเกิน 90 มคก./ลบ.ม. ใน 1 เขต
ประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และพิชญ์ หมื่นรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการ LINE ALERT ระหว่างกรุงเทพมหานคร และไลน์ เพื่อเพิ่มฟีเจอร์แจ้งเตือนค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนเท่าทันข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ ซึ่งยังรวมถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่อาจเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
นับเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร ให้คนไทยเท่าทันเหตุการณ์ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยภาครัฐอย่างทั่วถึงและทันเวลามากขึ้น เพื่อเตรียมวางแผนรับมือการเดินทางหรือการทำงานกลางแจ้ง รวมถึงดูแลตัวเองให้ปลอดภัย
วิธีง่ายๆ เพิ่มเพื่อน LINE ALERT เพียงค้นหาไอดี @linealert หรือ คลิก https://lin.ee/l40xtWN
สำหรับ LINE ALERT เป็นบัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง พัฒนาและดำเนินการโดย LINE ประเทศไทย ซึ่งได้ประสานการทำงานร่วมกับ กทม.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เชื่อมข้อมูลเตือนภัยให้ไร้รอยต่อ หวังเสิร์ฟข้อมูลที่เป็นประโยชน์
เตือนภัยธรรมชาติทั่วประเทศ ทำได้ทั้งการอัพเดตสถานะภัยพิบัติ (Disaster Update) มีเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน (Emergency Call) เช็กพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ (Risk Area) หรือแม้แต่หาข้อมูลโรงพยาบาลใกล้เคียง และดูวิธีการป้องกันตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ ในเบื้องต้น

⦁44 องค์กร ออกแอ๊กชั่น
ยัน อากาศบริสุทธิ์ คือสิทธิพื้นฐาน

“บางอย่างใช้ Hard Power ใช้กฎหมายได้ แต่หลายๆ เรื่องเป็นเรื่อง Soft Power เรื่องที่ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจกัน วันนี้ถือเป็นมิติที่ดีที่เราจะกระตุ้นทั้งในแง่ของเนื้อหาความรู้ ในแง่ของแต่ละคนที่ต้องตระหนักว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาร่วมกันของทุกคน ขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกท่าน และอนาคตเราจะขยายความร่วมมือนี้ออกไปให้ทุกคนรู้สึกว่า อากาศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ที่จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ”
คือคำกล่าวของชัชชาติกลางสวนเบญจกิติ ก่อนออกแอ๊กชั่นลดฝุ่น ในงาน Action Day PM2.5 BKK “กทม. ชวนภาคีขยับเรื่อง ฝุ่นเมือง ด้วยกัน” เมื่อ 28 มกราคม
ขนทัพศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่ข้องเกี่ยว มาสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง PM2.5 อย่างเต็มที่
ผู้ว่าฯถือเป็นอำนาจของประชาชน ที่จะกำหนดทิศทาง เพราะสิ่งนี้ กทม.ทำคนเดียวคงไม่ได้ผล 100% ต้องมีภาคีเครือข่ายช่วยกันหลายมิติ
Action Day PM2.5 BKK คือการปักธง จุดเริ่มต้นความร่วมมือของคนในทุกภาคส่วน มีตั้งแต่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมกับทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เครือข่ายอากาศสะอาด จัดขึ้นเพื่อร่วมกันแสดงพลังแก้ไขปัญหา PM2.5 รณรงค์ให้เกิดความตระหนักถึงปัญหานี้
ภายในงาน อัดแน่นเวิร์กช็อป ความรู้เรื่องฝุ่นจิ๋ว สอนทำเครื่องฟอกอากาศ DIY และหน้ากากกันฝุ่น มีทั้งคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 ให้บริการตรวจเช็กสภาพรถ คลินิกมลพิษทางอากาศ นิทรรศการสุขภาพ ปลอดฝุ่นปอดสะอาด “เมืองแห่งอนาคตเพื่อสิทธิของเด็กที่จะหายใจอากาศสะอาด” ตลอดจนเสวนา
44 องค์กร ในนาม Earth Hour ลั่นระฆัง เป็นส่วนหนึ่งของพลัง ความร่วมมือ สัญญาว่าจะช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากการเดินทาง โดยเข้าร่วมโครงการ Earth Month ร่วมลดฝุ่นละออง PM2.5 ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การ Work from Home การเหลื่อมเวลาทำงาน การส่งเสริมการใช้รถขนส่งสาธารณะมากขึ้น หรือทำกิจกรรมลดฝุ่นเท่าที่สามารถจะทำได้ ฯลฯ
สำหรับ 44 องค์กร ที่ร่วมเป็นหนึ่งพลังความร่วมมือ ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย, กองบัญชาการทหารบก, กองบัญชาการทหารอากาศ, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งเวดล้อม, กรมทางหลวง, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, กรมควบคุมมลพิษ, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้านครหลวง, การประปานครหลวง, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaipBs), สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3, สถานีโทรทัศน์ ช่อง 7HD, คลื่นวิทยุ กรีนเวฟ 106.5MHz, บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส จำกัด, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน), บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด, บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท อโกดา เซอร์วิสเซส จำกัด, บริษัท กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซี.พี.ทาวเวอร์ โกรท, นิติบุคคลอาคารชุด ดิ เอ็มโพริโอ เพลส, โรงแรม เดอะ สุโกศล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ถือเป็นก้าวแรก ที่ต้องตามต่อ ว่าผลลัพธ์หลังม่านฝุ่นจะแพ้พลังแห่งความร่วมมือหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image