สุวรรณภูมิ-แผ่นดินใหญ่ ไม่เกี่ยวข้องหมู่เกาะอุษาคเนย์

สุวรรณภูมิแผ่นดินใหญ่ไม่เกี่ยวข้องหมู่เกาะอุษาคเนย์

พบจารึกในกัมพูชาระบุชื่อสุวรรณภูมิ เป็นจารึกภาษาสันสกฤตอักษรปัลลวะ มากกว่าพันปีมาแล้ว ยืนยันสุวรรณภูมิหมายถึงดินแดนภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ ไม่เกี่ยวหมู่เกาะ

จารึกวัดคีรีเสด็จคง พบครั้งแรกคำว่า สุวรรณภูมิ (ภาพจากเฟซบุ๊แฟนเพจ National Museum of Cambodia เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.. 2566)

สุวรรณภูมิ หมายถึงแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีป (โดยไม่เกี่ยวกับหมู่เกาะ) ของภูมิภาคอุษาคเนย์ พบหลักฐานยืนยันครั้งแรกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในกัมพูชา เมื่อ พ.. 2561 อยู่ในจารึกวัดคีรีเสด็จคง (K.1419) เกือบ 1,400 ปีมาแล้ว

Advertisement

ก่อนหน้านี้นักโบราณคดีไทยอธิบายแข็งแรงสืบเนื่องยาวนานว่าสุวรรณภูมิหมายถึงภูมิภาคอุษาคเนย์โดยรวมหมดทั้งภาคพื้นแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ ครั้งนั้นมีผู้คัดค้านว่าสุวรรณภูมิหมายถึงแผ่นดินใหญ่ ไม่หมู่เกาะ ถ้าจะเรียกหมู่เกาะมีคำเฉพาะต่างหากว่า สุวรรณทวีป ดังนั้น เมื่อพบจารึกวัดคีรีเสด็จดงในเขมร ทำให้คำอธิบายสุวรรณภูมิไม่เหมือนเดิม

สุวรรณภูมิ แปลว่าแผ่นดินทอง หมายถึงดินแดนบริเวณอุษาคเนย์ที่นักเสี่ยงโชคจากอินเดียทำการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรแล้วมีความมั่งคั่งทั้งนั้น พบในเอกสารโบราณมากกว่า 2,500 ปีมาแล้วของอินเดีย, กรีก, ตะวันออกกลาง ฯลฯ แต่ไม่เคยพบในเอกสารโบราณของอุษาคเนย์ แม้ในภาษาไทยก็ไม่พบ จนกระทั่งล่าสุดเพิ่งพบในเขมร

ข้อความที่จะเรียบเรียงต่อไปนี้ได้ข้อมูลจาก (1.) บทความเรื่อง จารึกวัดคีรีเสด็จคง (K.1419) (จารึกที่มีคำว่าสุวรรณภูมิ) ของนายกังวล คัชชิมา (อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) พิมพ์ในหนังสือ จารึกภาษาสันสกฤตที่สำคัญในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม 1 พิมพ์ครั้งแรก พ.. 2564 หน้า 59-67 และ (2.) บทความเรื่อง “พระเจ้าอิศานวรมันที่ 1 จักรพรรดิราชแห่งสุวรรณภูมิ ในจารึกสุวรรณภูมิของกัมพูชา” ของ นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (นักวิชาการเอกเทศ, อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร), พิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 3-9 กุมภาพันธ์ 2566 หน้า 69

Advertisement

สุวรรณภูมิ แผ่นดินใหญ่ ไม่หมู่เกาะ

จารึกวัดคีรีเสด็จคง กัมพูชา (K.1419) มีคำว่า สุวรรณภูมิ อักษรปัลลวะ (อินเดียใต้) ภาษาสันสกฤต ทำเมื่อ 1,390 ปีมาแล้ว หรือ พ.. 1176 พบที่วัดคีรีเสด็จคง จ. กำปงสปือ กัมพูชา ทุกวันนี้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พนมเปญ กัมพูชา

เนื้อหาโดยสรุปเริ่มด้วยการนอบน้อมพระศิวะและวิษณุ จากนั้นยอพระเกียรติพระเจ้าอีศานวรรมันที่ 1 และกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์แผ่กว้างขวางทั่วสุวรรณภูมิจรดทะเล

การที่บอกว่าอำนาจของพระเจ้าอีศานวรรมันที่ 1 ปกครองดินแดนสุวรรณภูมิ จนถึง มหาสมุทร เท่ากับยืนยันว่าสุวรรณภูมิเป็นแผ่นดินใหญ่ ไม่เกี่ยวกับหมู่เกาะ

ข้อความส่วนที่กล่าวถึง “สุวรรณภูมิ” ในจารึกวัดคีรีเสด็จคง มีดังนี้

ขอพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าศรีอีศานวรมัน ผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเหนือแผ่นดินสุวรรณภูมิไปจนถึงมหาสมุทร ผู้มีความกล้าหาญและความเจริญรุ่งเรือง ทรงมีอำนาจถูกรับไว้ด้วยเศียรเจ้าสามันตราชทั้งมวล จงทรงพระเจริญ

เพื่อเข้าใจง่ายๆ ต่อไปจะเรียก จารึกสุวรรณภูมิ เป็นจารึกยอพระเกียรติเพื่อยกย่องเฉพาะคุณงามความดีที่ล้นเกินของพระเจ้าอีศานวรรมันที่ 1 ดังนั้นเมื่อใช้งานวิชาการต้องไตร่ตรองและประเมินความน่าเชื่อถืออย่างเคร่งครัด เช่น พระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งรับรู้กันเป็นสากลว่าอำนาจจริงไม่มีในโลก เป็นต้น (คำว่า “วรรมัน” ถูกต้องตรงตามหลักฐานโบราณคดีจารึกในเขมร ส่วน “วรมัน” ถูกนักวิชาการไทยเขียนไม่ครบ แต่ใช้จนเคยชินนานแล้ว เลยเชื่อกันว่าถูกต้อง)

อีศานวรรมันที่ 1 คือใคร? มาจากไหน?

จารึกสุวรรณภูมิระบุมหาศักราชซึ่งตรงกับ พ.. 1176 อยู่ในแผ่นดินพระเจ้าอีานวรรมันที่ 1 แห่งกัมพูชา ผู้สถาปนาราชธานีนาม “อีศานปุระ” บริเวณชุมชนสมโบร์ไพรกุก อ. กำปงธม กัมพูชา มีความเป็นมา ดังนี้

(1.) เป็นโอรสพระเจ้ามเหนทรวรรมัน หรือ “เจ้าชายจิตรเสน” มีเครือข่ายอำนาจบริเวณที่ราบสูงโคราชทุ่งกุลาร้องไห้ อีสานใต้ และ โขงชีมูล ในไทยลาว

(2.) พระเจ้าอีศานวรรมันที่ 1 (โอรสพระเจ้ามเหนทรวรรมัน) เป็นกษัตริย์ผู้รวบรวมดินแดนเริ่มแรกของรัฐเจนละด้วยการขยายอำนาจเหนือรัฐฟูนัน มีศูนย์กลางอยู่เมืองออกแก้ว ปากแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของเวียดนาม

(3.) อำนาจของพระเจ้าอีานวรรมันที่ 1 ตามข้อความยอพระเกียรติในจารึกสุวรรณภูมิ จึงน่าจะหมายถึงบริเวณกว้างขวางตั้งแต่อีสานใต้และโขงชีมูล, พื้นที่รอบตนเลสาบ กัมพูชา [เมืองอีศานปุระ ราชธานี และเมืองบาเส็ต (ที่พบจารึกสุวรรณภูมิ)], จนถึงมหาสมุทรบริเวณปากแม่น้ำโขง ทางใต้ของเวียดนาม (คือเมืองออกแก้ว ของฟูนัน)

(4.) อีศานปุระ ศูนย์กลางอำนาจของอีศานวรรมัน มีชื่อในบันทึกจีนของพระถังซำจั๋งว่า “อีซานนาปู้หลอ” (เขตกัมพูชา) มีพื้นที่เชื่อมต่อกับ “โถโลโปตี” คือทวารวดี (เขตไทย ทางลุ่มน้ำลพบุรีป่าสัก)

ชุมทางการค้าคมนาคมสุวรรณภูมิ

สุวรรณภูมิเป็นชุมทางการค้าคมนาคมระยะไกลทางทะเลสมุทรระหว่างตะวันออกตะวันตก ราว 2,500 ปีมาแล้ว ที่ต้องมีสถานีการค้าอยู่ไม่ห่างทะเลสมุทร ซึ่งตามข้อมูลดั้งเดิมเชื่อว่ามีแห่งเดียวที่เมืองอู่ทอง (. สุพรรณบุรี) แต่ข้อมูลใหม่จากจารึกสุวรรณภูมิมีเพิ่มอีก 1 แห่งที่เมืองออกแก้ว (เวียดนาม) และอาจมีเพิ่มอีกก็ได้ในอนาคตเมื่อพบข้อมูลใหม่

เมืองอู่ทอง (. สุพรรณบุรี) อยู่ลุ่มน้ำแม่กลองท่าจีน มีเส้นทางด่านเจดีย์สามองค์ (. กาญจนบุรี) ไปออกทะเลอันดามัน อ่าวเมาะตะมะ พม่า

เมืองออกแก้ว (อยู่ปากแม่น้ำโขง เวียดนาม) น่าจะเป็นเมืองสถานีการค้าทางทะเลสมุทรของสุวรรณภูมิตามข้อความในจารึกสุวรรณภูมิว่า แผ่นดินสุวรรณภูมิไปจนถึงมหาสมุทร หมายถึงจากเมืองออกแก้ว เรือแล่นตัดอ่าวไทยไปบริเวณเขาสามแก้ว (. ชุมพร) แล้วขนถ่ายสิ่งของข้ามดินแดนคาบสมุทรไปออกทะเลอันดามัน แล้วแล่นเลียบชายฝั่งหรือตัดข้ามอ่าวเมาะตะมะ ถึงอินเดีย

สถานีการค้าหรือเมืองท่าชายฝั่ง ซึ่งพบหลักฐานเป็นโบราณวัตถุหลากหลาย จากบ้านเมืองทางตะวันตกตะวันออก อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว พบตามชายฝั่งทะเลบริเวณคาบสมุทรทั้งฟากอ่าวเมาะตะมะ หรืออ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเขาสามแก้ว (. นาชะอัง อ. เมืองฯ) . ชุมพร ซึ่งเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องราวทางการค้าของสุวรรณภูมิ [จากบทความเรื่อง “อู่ทองถึงเขาสามแก้ว : เมืองท่าสุวรรณภูมิฟากฝั่งทะเลจีน” ของ ศรีศักร วัลลิโภดม ในวารสาร เมืองโบราณ (ปีที่ 46 ฉบับที่ 1) มกราคมมีนาคม 2563 หน้า 28-33]

เมืองอู่ทองเมืองออกแก้ว พบหลักฐานโบราณคดีมีความเก่าแก่และสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์เริ่มแรกของอุษาคเนย์ ถึงขนาดมีแนวคิดของนักปราชญ์ฝรั่งเศส (ชอง บัวเซอลีเยร์ พ.. 2509) ว่าฟูนันอาจมีศูนย์กลางอยู่เมืองอู่ทอง เพราะมีหลักฐานโบราณคดีกว้างขวางมากกว่าเมืองออกแก้ว

ถึงแม้ไม่มีนักวิชาการนานาชาติเห็นด้วยกับแนวคิดนั้น แต่การที่กล่าวถึงความสำคัญร่วมสมัยทำให้เข้าใจย้อนกลับไปในอดีตว่าสุวรรณภูมิมีสถานีการค้าที่พบขณะนั้น คือ เมืองอู่ทองทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา และทุกวันนี้พบเพิ่มว่าเมืองออกแก้วทางลุ่มน้ำโขง ซึ่งต่อไปข้างหน้าอาจพบอีกก็ได้

ตะเกียงสำริด แบบโรมัน พบที่ ต. พงตึก อ. ท่ามะกา จ. กาญจนบุรี อายุราว พ.. 600-700 (ปัจจุบันแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) ที่ฝาปิดตะเกียงสลักเป็นรูปเทพเจ้าซิเลนุส (Silenus) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งไวน์องค์หนึ่งของพวกกรีก (เดิมเชื่อกันว่านำเข้ามาจากเมืองอเล็กซานเดรีย ในประเทศอียิปต์ แต่ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง โดยยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดว่าผลิตขึ้นที่ใดแน่)

สุวรรณภูมิเป็นชุมทางการค้าระยะไกลถึงกรีกโรมัน จึงพบเหรียญโรมันที่เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี (ด้านหน้า) มีรูปพระพักตร์ด้านข้างของจักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส (กษัตริย์โรมัน ครองราชย์ระหว่างปี พ.. 812-814) สวมมงกุฎยอดแหลมเป็นแฉก มีตัวอักษรล้อมรอบอยู่ริมขอบของเหรียญ IMP C VICTORINUS PF AUG ซึ่งเป็นคำย่อของ Imperator Caesar Victorinus Pius Felix Auguste แปลว่า จักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส ศรัทธา ความสุข เป็นสง่า (ด้านหลัง) ของเหรียญเป็นรูปเทพีอาธีนา (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือของกร,ศิลปากร)

(บน) บุรุษโรมัน (?) บนลูกปัดแก้ว (กลาง) ใบหน้าชาวโรมัน (?) บนตราประทับ (ล่าง) สตรีโรมันบนแผ่นหินคาร์นีเลียน พบที่ อ. คลองท่อม จ.กระบี่

สุวรรณภูมิ ชุมทางการค้าคมนาคมระยะไกลสมัยแรก

แผนที่แสดงบริเวณที่เชื่อว่าเป็นสุวรรณภูมิ ผืนแผ่นดินใหญ่ที่มีคาบสมุทรอยู่เกือบกึ่งกลางภูมิภาคอุษาคเนย์ ยื่นยาวลงทางใต้ขนาบด้วยทะเลจีนใต้ทางตะวันออกกับทะเลอันดามันทางตะวันตก (ซ้าย) เส้นทางการค้าจากอินเดีย (ขวา) เส้นทางการค้าจากจีน

สุวรรณภูมิถูกเรียกเป็นที่รู้กันตั้งแต่สมัยเริ่มแรก ราว 2,500 ปีมาแล้ว โดยนักเดินทางเสี่ยงโชคการค้าทางไกลจากอินเดีย มีความเป็นมาเบื้องต้นอย่างรวมๆ กว้างๆ ดังนี้

(1.) สุวรรณภูมิไม่เป็นอาณาจักร, ไม่เป็นรัฐ, ไม่เป็นอาณานิคมอินเดีย 

(2.) ไม่ใช่ชื่อพื้นเมืองหรือท้องถิ่นเพราะเป็นชื่อถูกเรียกจากคนภายนอก ต่อมาชนชั้นนำท้องถิ่นใช้ชื่อสุวรรณภูมิด้วย

(3.) เอกสารอินเดีย, กรีก, และจีน ระบุในทำนองเดียวกันถึงคำว่าสุวรรณภูมิแปลว่าดินแดนทอง หมายถึงดินแดนมีทองแดง (ซึ่งไม่ใช่ทองคำ) และมีเทคโนโลยีก้าวหน้าในการถลุงและหล่อแร่ธาตุเรียกทองสำริด ส่งผลให้นักเดินทางเสี่ยงโชคมีความมั่งคั่งจากการค้าทองแดงและทองสำริดเหล่านั้น 

สุวรรณภูมิเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าดินแดนทอง ซึ่งเป็นชื่อได้จากบริเวณที่มีบ้านเมืองระดับรัฐเริ่มแรกของผู้คนมากความรู้และประสบการณ์ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับทองสำริดเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ขณะเดียวกันก็มีแหล่งแร่ทองแดงและดีบุกเป็นทรัพยากรในดินตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาป่าสัก ต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำโขง

คำว่าทอง หมายถึง ธาตุโลหะมีค่าชนิดหนึ่ง มีสีเหลือง และหลอมละลายได้ด้วยความร้อน ได้แก่ ทองคำ, ทองแดง สำหรับชื่อสุวรรณภูมิเมื่อหลายพันปีมาแล้วน่าจะหมายถึงทองแดงมากกว่าทองคำ เพราะพบแหล่งทองแดงกว้างขวางตั้งแต่ดินแดนไทยและลาวต่อเนื่องขึ้นไปถึงมณฑลยูนนานในจีน ส่วนทองคำพบบ้างไม่มากนักและเท่าที่พบเป็นเกล็ดผงน้อยๆ ปนกับกรวดทรายซึ่งได้จากการร่อนตามฝั่งแม่น้ำ เช่น แม่น้ำโขง เป็นต้น

(4.) ความเป็นมาเริ่มแรกของชื่อสุวรรณภูมิไม่เกี่ยวกับกิจกรรมการเผยแผ่ศาสนาไม่ว่าพุทธหรือพราหมณ์ แต่มีขึ้นจากการค้าระยะไกลทางทะเลของนักเสี่ยงโชคทางการค้าจากอินเดียแล้วขยายไปจีน ซึ่งเป็นพลังกระตุ้นต่อไปให้มีการค้าโลก 

(5.) ส่วนการเผยแผ่ศาสนาพุทธสู่สุวรรณภูมิเป็นผลพลอยได้สมัยหลังที่พุทธศาสนาถูกใช้ทางการเมืองเพื่อการค้าระยะไกลสมัยนั้น กระตุ้นให้เกิดบ้านเมืองมั่งคั่งจากการค้าระยะไกล (ปัจจุบันนักโบราณคดีไทยเรียก “วัฒนธรรมทวารวดี”)

(6.) บ้านเมืองเก่าแก่ในประเทศไทยที่นับถือศาสนาพุทธนิกายจากลังกา ยกย่องนับถือสุวรรณภูมิเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ จึงอยู่ในความทรงจำสืบเนื่องในชื่อสมัยต่อมาว่า “สุพรรณภูมิ” และ “สุพรรณบุรี”

(7.) รัฐอยุธยาสืบมรดกตกทอดจากสุวรรณภูมิ

(8.) สุวรรณภูมิไม่มีขอบเขตแน่นอนในภูมิภาคอุษาคเนย์ เพราะในเอกสารและหลักฐานแวดล้อมมิได้ระบุตำแหน่งที่ตั้งอย่างจำเพาะเจาะจงตรงไปตรงมาแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่คำว่าสุวรรณภูมิหมายถึงบริเวณแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีป มีหลักฐานยืนยันเป็นจารึกระบุชื่อสุวรรณภูมิ พบในกัมพูชา เพราะหมู่เกาะมีคำเฉพาะต่างหากว่าสุวรรณทวีป


หลักฐานสำคัญ ได้แก่ แผนที่เก่าระบุตำแหน่งดินแดนทองอยู่บนแผ่นดินใหญ่

แผนที่เก่าพิมพ์ครั้งแรกตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น ระบุดินแดนทองอยู่แผ่นดินใหญ่ ไม่กลุ่มเกาะ

แผนที่แสดงบริเวณ “ดินแดนทอง” อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ที่มีแหลมยื่นลงไปทางใต้ระหว่างมหาสมุทรทางตะวันตกตะวันออก ตรงกับปัจจุบันเป็นดินแดน ไทย, มาเลเซีย (ไม่เกี่ยวข้องหมู่เกาะ)

พิมพ์ครั้งแรก พ.. 2083 (ราว 500 ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น) อยู่ในตำราภูมิศาสตร์  Cosmographia ของ เซบาสเตียน มึนสเตอร์ (นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน) จำลองจากบันทึกของปโตเลมี (นักภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวกรีก) ราว 1,800 ปีมาแล้ว (ตรงกับสมัยการค้าระยะไกลเริ่มแรกในสุวรรณภูมิ ระหว่าง พ.. 670-693)

ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.. 2171 ระบุชัดเจนว่า “ในราชอาณาจักรสยามเป็นที่ตั้งของแผ่นดินทอง ซึ่งเป็นแผ่นดินทองของปโตเลมี…ถัดลงมาคือแหลมทองซึ่งมีภูมิลักษณะเป็นคอคอดยาว” (แผนที่และคำอธิบายบางส่วนได้จาก ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image