เจ้านายสตรี ใน ปวศ.ไทย พระองค์ใด? เป็น ‘พระราชธิดา’ ที่รักยิ่ง

เจ้านายสตรี ใน ปวศ.ไทย พระองค์ใด? เป็น ‘พระราชธิดา’ ที่รักยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาในพระองค์กับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2411 ตั้งแต่ก่อนพระองค์เสวยราชสมบัติ (ภาพจากหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชโอรส พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2555)

 

เจ้านายสตรี ใน ปวศ.ไทย พระองค์ใด?

เป็น ‘พระราชธิดา’ ที่รักยิ่ง

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แม้เจ้านายสตรีในราชสำนักส่วนใหญ่อาจไม่ใช่กำลังหลักในกิจการของบ้านเมือง หากก็มีหลายพระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในกิจการราชสำนัก และเป็น “พระราชธิดา” ที่รักยิ่ง

Advertisement

ส่วนจะมีพระองค์ใด? เพราะเหตุใด? นั้น นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีให้อ่านกันถึง 3 เรื่อง 3 รส ด้วยกัน

เรื่องแรก คือ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ‘ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก’ ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง” โดย ผศ.ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโอรสและพระราชธิดา (ที่มีพระประสูติกาลรอดพระชนม์ชีพ) 76 พระองค์ แบ่งเป็นพระราชโอรส 32 พระองค์ พระราชธิดา 44 พระองค์ เหตุใดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี จึงเป็นพระราชธิดาอันเป็นที่รักยิ่ง

หนึ่งเพราะพระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ เป็นพระราชธิดาที่ทรงมีแต่วัยหนุ่มและเกิดจากพระมารดาที่ทรงรักใคร่เลือกด้วยพระองค์เอง นั่นคือ คุณแพ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอิ่ม นอกจากคุณแพจะเป็น “พระราชประดิพัทธ์ครั้งแรก” ของพระองค์แล้ว การที่ทรงเริ่มการมีครอบครัวตั้งแต่ก่อนเสวยราชสมบัติ จึงทรงมีวัตรปฏิบัติเช่นเดียวกับสามีภรรยาสามัญชน

กล่าวคือ เสด็จข้ามฟากมาทำราชการในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จกิจจากงานราชการก็เสด็จกลับตำหนักสวนนันทอุทยาน ริมคลองมอญ ที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้เป็นที่ประทับ จนกระทั่งมีพระราชธิดาพระองค์แรก-พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี ที่ประสูติ ณ พระตำหนักแห่งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2411 รัชกาลที่ 5 ตรัสเรียกพระราชธิดาองค์น้อยว่า “เจ้าหนู” เสมอมา และออกโอษฐ์ว่า พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์เป็น “ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก”

พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ ยังเป็นพระราชธิดาพระอิสริยยศพระองค์เจ้าเพียงพระองค์เดียว แต่รัชกาลที่ 5 ก็พระราชทานพระเกียรติยศในโอกาสต่างๆ เสมอด้วยพระราชธิดาที่มีพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งโสกันต์ หรือเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

(ขวา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ทรงฉายกับพระโสทรขนิษฐา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลยพรรณ (ซ้าย) (ภาพจากหนังสือราชพัสตราภรณ์. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์ พ.ศ. 2548)

เรื่องที่สอง คือ “กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ปิยราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ‘ความรักพิสูจน์ด้วยการกระทำ’” ของ ดร.ญาดา อารัมภีร

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส เป็นพระราชธิดารุ่นแรกเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 3 ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาบาง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2354 แม้รัชกาลที่ 3 จะไม่เคยเอ่ยพระโอษฐ์ว่าพระราชธิดาพระองค์นี้เป็นที่สนิทเสน่หา แต่ก็มีประจักษ์พยานหลายอย่างที่แสดงถึงความรักของพระองค์ที่มีต่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดา

รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกไว้ในเรื่องพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า

“พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบุตร พระราชบุตรี อันเกิดด้วยพระสนมตั้งแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติโดยมาก ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็มีพระราชบุตร พระราชบุตรี อีกเพียงห้าปีเปนกำหนด แล้วก็มิได้มีสืบไป พระราชบุตรองค์เปนประถม ทรงพระนามพระองค์เจ้ากระวีวงศ ถัดนั้นมาเปนพระราชบุตรียังไม่มีพระนาม เรียกแต่ว่าพระองค์เจ้าหญิงใหญ่ พระองค์เจ้าทั้งสองพระองค์นี้ มีพระชนม์พรรษาเพียง 9 ปี 10 ปีก็สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ที่ 3 เปนพระราชบุตรีทรงพระนามพระองค์เจ้าวิลาส เปนพระปิยราชธิดา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระราชบุตรีพระองค์ที่ 3 หรือพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่ยังมีพระชนม์ชีพมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมชนกนาถยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชย์ อีกทั้งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบางผู้เป็นที่โปรดปราน

นอกจากนี้ยังเป็นพระราชธิดาที่มีพระสิริโฉมงดงามยิ่ง ดังจะเห็นได้จากพระนามแต่ครั้งเป็นพระเจ้าลูกเธอ คำว่า ‘วิลาส’ หมายถึง งามมีเสน่ห์ งามสดใส หรือพระนามเมื่อทรงกรม ‘อัปสรสุดาเทพ’ สุดา คือ ลูกสาว รวมความคือ ลูกสาวผู้งดงามราวนางฟ้า บ่งบอกว่าทรงเลิศด้วยรูปลักษณ์มาแต่ทรงพระเยาว์ตราบเจริญพระชนม์

วัดเทพธิดาราม นามพระราชทานจากรัชกาลที่ 3 “อารามแห่งเทพธิดา หรือ อัปสรสุดาเทพ”

นอกจากนี้ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ยังมีพระสติปัญญาและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ถึงความเฉลียวฉลาด ความรอบคอบ ทำให้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 3 ทรงมอบหมายงานสำคัญเกี่ยวกับการเงินและการส่วนพระองค์ เช่น ทรงเก็บรักษากุญแจท้องพระคลัง, กำกับการจ่ายเบี้ยหวัดเงินปีฝ่ายใน ฯลฯ

วัดที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมสร้างกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเทพธิดาราม” (เดิมชื่อ วัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง)

เรื่องที่สาม “เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ และเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ จากพระราชธิดา สู่พระอัครมเหสี” โดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา

เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วาดตามจินตนาการโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส ภาพพิมพ์จากหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ คือ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระกนิษฐาภคินีในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทั้งสองพระองค์ต่างเป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงรักยิ่ง ดังนั้นสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ และทรงสถาปนาทั้งสองพระองค์เป็น “พระอัครมเหสีฝ่ายขวา-ซ้าย”

หากเมื่อสมเด็จพระเพทราชาจะเสด็จไปบรรทมด้วย ทั้งสองพระองค์กลับทรง “กล้า” บ่ายเบี่ยงกันไปมา พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียนก็ว่า

“…อยู่มาวันหนึ่งสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว เสดจ์พระราชดำเนีรจะไปเข้าที่พระบันธม ณ พระตำหนักตึกกรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งตั้งไว้เปนพระอัคมเหษีฝ่ายขวา กรมหลวงโยธาทิพให้ทูลพระอาการว่าประชวนอยู่ จึ่งเสดจ์พระราชดำเนิรไป ณ ตำหนักตึกกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งตั้งไว้เปนพระอัคมเหษีฝ่ายซ้าย กรมหลวงโยธาเทพไม่ยอม ตรัสตัดภ้อต่างๆ แล้วทรงพระแสงดาบพาดพระเพลาอยู่ สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็เสดจ์กลับมาพระราชมณเทียร ทรงพระกรุณาให้หาหมอทำเสน่ห์ ครั้นได้หมอมาแล้ว ก็ให้กระทำตามวิธิเสน่ห์ แลกรมหลวงโยธาเทพก็ให้คลั่งไคล้ไหลหลง…”

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนของทั้ง 3 บทความ เนื้อหาส่วนที่เหลือโปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ว่าพระประวัติเจ้านายแต่ละพระองค์ที่ได้ชื่อว่า “มหาปิยราชธิดา” แห่งราชสำนักสยาม เป็นอย่างไร

วิภา จิรภาไพศาล
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image