สัมภาษณ์พิเศษ : ส.ก.บางซื่อ ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย มนุษย์แก้ปัญหา ‘มันมาจากอินเนอร์’

ส.ก.บางซื่อ

ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย

มนุษย์แก้ปัญหา ‘มันมาจากอินเนอร์’

“เราเดินๆ อยู่ฟุตปาธหาย จะต้องตายตอนนี้ปะ แต่ กูจบโทมานะ จะตายอย่างนี้เหรอ”

Advertisement

คำอุทานหลังสิ้นคำถาม สบายอยู่แล้วทำไมมาลงการเมือง? แฝงไปด้วยอินเนอร์

เพราะดูข่าว เดินไปตามถนน ยังเห็นผู้คนดิ้นรนไขว่คว้าปัจจัย 4 เพราะเชื่อในคนเท่ากันและทุกอย่างดีได้กว่านี้ จึงขอพิสูจน์ด้วยการเดินเข้าสู่ระบบ แก้ที่ต้นตอ พลังจากวาจาของ ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล ทำให้อะไรหลายอย่างใน กทม. ถูกแก้ไขในไม่กี่พริบตา ทั้งไฟฟ้า ถนนหนทาง สารพัดเรื่องพื้นฐานที่จะเอื้อคุณภาพชีวิตชาวบ้าน

หญิงแกร่ง เท่ กล้างัดกับปัญหา เป็นทั้งรองโฆษกสภา กทม. ยิ่งน่าสนใจว่าเบื้องหลังลีลาการอภิปรายสุดฉะฉาน ดุเดือด เชือดเฉือนใจคนในพื้นที่ เธอผู้นี้ในวัย 34 ปีผ่านอะไรมาบ้าง นัดหมายตึก สภา กทม. ย่านดินแดง สวมรองเท้าบู๊ตคู่ใจเดินมาในลุคสุดคูล ไขประตูห้องทำงานนั่งตอบทุกข้อสงสัยในฐานะลูกหลานคนบางซื่อมาตั้งแต่กำเนิด

Advertisement

‘ภัทราภรณ์’ คือลูกสาวคนโตของ สมพงษ์ เก่งรุ่งเรืองชัย อดีต ส.ก.บางซื่อ ปี 2541-2549 เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน พ่อแซ่ล้อ แม่แซ่ตัน จบอิงลิชโปรแกรม ที่ ร.ร.โยธินบูรณะ ม.4 ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจึงได้ไปเห็นโลกใบใหญ่ในอเมริกา ก่อนกลับมาศึกษาเอกแฟชั่น ป.ตรี ภาควิชานฤมิตศิลป์ ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ในช่วงที่มีม็อบคนเสื้อแดง แยกราชประสงค์ เคยลงถนนเดินขบวนประท้วงกับ ‘ประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน’ จัดเสวนาให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยในรั้วสถานศึกษา ก่อนหันกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน 7 ปีเต็ม ก่อตั้งธุรกิจบ้านเช่าเหมาหลัง นั่งกรรมการผู้จัดการ บจก.ลูกอัดและเศษเหล็กไทย โรงงานเจ้าแรกๆ ของไทยที่ส่งไปขายต่างแดน ใช้ประสบการณ์ด้านแฟชั่นมาเสริมแบรนดิ้งยกภาพลักษณ์ ปรับปรุงการบริหารจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น จนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว คว้า ISO:9001 เมื่ออิ่มตัวในงานหันไปต่อปริญญาโท ด้านซัพพลายเชน ที่ University of Melbourne ออสเตรเลีย ระหว่างนั้นเจ้าตัวบอกว่ายัง‘บ้าพลัง’อยู่ จึงศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการนำ 3D Printing แบบโลหะมาใช้ที่บริษัท และลงเรียนคอร์สพิเศษอัพสกิลผู้บริหาร

ขัดกับบุคลิกส่วนตัวที่ดูเป็นสายชิล เลี้ยงแมว 3 ตัว ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ฟังร็อกแอนด์โรล แฟนตัวยงวง Arctic Monkeys, Maneskin

“วันที่มีความสุขคือนั่งเปลี่ยนดินต้นไม้ แต่วันเหล่านั้นมันไปหมดแล้ว” ส.ก.เนอสเล่าพลางหัวเราะ

แม้อยู่สบายดีบนชั้นสองของบ้าน คลุกคลีอยู่กับโรงงานเหล็กตั้งแต่เด็ก ทว่า สิ่งนี้ยังไม่ไม่ใช่ความหมายของชีวิต สำหรับหญิงสาวที่ชื่อเล่นมีความหมายว่า ‘พยาบาล’

⦁‘เหล็ก’ เป็นวัสดุแข็งแกร่ง คิดว่าสภาพแวดล้อมมีส่วนทำให้เป็นคนแข็งแกร่งไหม?

(หัวเราะ) ก็คิดว่าส่วนหนึ่งนะ ทุกวันนี้จริงๆ ยังเรียกตัวเองว่าเป็น ‘สาวโรงงาน’ อยู่มาตั้งแต่เด็ก โตแล้วก็ทำงานที่บ้าน ไปผลักดันเรื่องเซฟตี้ ทำให้เราได้คุยกับคน อย่างเช่นการที่จะให้คนที่เขาใส่รองเท้าแตะทำงานมาตลอดชีวิต เปลี่ยนเป็นรองเท้าหัวเหล็กได้ ต้องคุยแล้วคุยอีก หลายเดือนมากกว่าเขาจะยอมใส่ มันเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ แล้วเราก็เอ็นจอยกับงานที่ทำมาก

⦁เห็นปัญหาแล้วเข้าไปช่วยแก้ตั้งแต่เด็ก?

เหมือนมนุษย์แก้ปัญหาหรือเปล่าไม่รู้ (หัวเราะ) เป็นคนจริงจัง ต้องทำให้ได้ คือทุกอย่างเวลาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ก็จะต้องมีคนบอกว่า ‘ทำไม่ได้หรอก เขาทำกันมานานแล้ว อยู่ๆ จะให้ไปใส่หมวกเซฟตี้ได้ยังไง อากาศเมืองไทยมันร้อน’ แต่พอถึงเวลาเหล็กหล่นใส่หัว ‘เนี่ยพี่ อยากเป็นอย่างนี้เหรอ’ มีปัจจัยหลายอย่างที่จะโน้มน้าวให้เห็นว่าเราทำเพื่อเขาจริงๆ ไม่ได้เก็บตังค์เพิ่ม มันคือสวัสดิการ แต่เขาก็ไม่เอา บางทีอาจจะคล้ายๆ กับการเมือง เรามีสิ่งดีๆ แต่ถ้าสื่อสารไม่เป็น โน้มน้าวคนไม่ได้ มันก็ไม่ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาแล้วเราก็ต้องรู้จักเขาด้วย การที่จะโน้มน้าวให้ระดับหัวหน้าใส่ กับระดับลูกน้องใส่ ก็ไม่เหมือนกัน ‘คน’ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

⦁เรียกว่าไม่ได้มีจุดหมายชีวิตที่แน่ชัด เน้นลองทำไปเรื่อยๆ?

จริงๆ ชีวิตคนเรามันต้องลองบ้างถึงรู้ว่าชอบอะไร ถ้าอยู่ๆ บอกว่าอยากเป็นตำรวจ แต่พอเข้าไปจริงๆ เป็นแบบนี้เหรอ? ตอน ม.6 ชอบแต่งตัว คงอยากเป็นแฟชั่นนิสต้า ปรากฏว่าเรียนปุ๊บก็ไม่ได้อยากเป็น ก็ต้องลองไปเรื่อยๆ ป.โทก็ไปเรียน Supply Chain Management เพราะชอบสายโรงงาน กลายเป็นว่าเราได้ไปเรียนรู้ ไม่ใช่แค่การผลิต แต่เป็นความเชื่อมโยงของทุกอย่าง มันโคตรอะเมซิ่งเลย แค่การที่ลูกน้องไม่ทำงานอันนี้เป็นเพราะอะไร มันโยงไปได้หมดนะว่าเป็นที่บริษัทคุณไหม? เราสนใจเรื่องคนอยู่แล้ว ว่าคนแบบนี้ต้องคุยแบบนี้ เหตุการณ์นี้ ต้องทำแบบนี้ สนุกดี

⦁ที่บ้านค้าเศษโลหะกิจการรุ่งเรือง ทำไมมาลงการเมือง?

ตอนนี้ก็ถามตัวเองเหมือนกัน (หัวเราะ) ช่วงหลังๆ ทำธุรกิจบ้านเช่า สบายๆ อาทิตย์หนึ่งทำงาน 2-3 วัน พออยู่แบบนั้นมาสักปี ชีวิตมันต้องมีอะไรมากกว่านี้ ชีวิตดีมันคงเป็นอย่างนี้ แล้วไง? ออกไปข้างนอกเราก็ยังหงุดหงิดมาก เวลาที่เห็นมอเตอร์ไซค์ฝ่าไฟแดง หงุดหงิดว่าสังคมประเภทไหนกันที่ทำให้คนคิดว่าประหยัดเวลาแค่ 5 วินาทีคุ้มกับชีวิตที่เอาไปเสี่ยง บางทีมีลูกเล็กๆ เขาก็ยังจะเซฟ 5 วินั้น ไม่ได้โมโหเขานะ แต่โมโหว่าแบบ ‘กูอยู่ในที่แบบไหนเนี่ย’

⦁ในต่างประเทศไม่มีอย่างนี้?

ไม่มี มันมีคำว่า reverse culture shock ที่เขาบอกว่า คนประเทศโลกที่ 3 ไปอยู่ประเทศโลกที่ 1 พอกลับมาบ้านเกิดตัวเองจะมี culture shock อีกแบบ เหมือนเปิดตาเรา กลับมาปุ๊บ เดินๆ อยู่ฟุตปาธหาย ‘กูจะต้องตายตอนนี้ปะ แต่กูจบโทมานะ กูจะตายอย่างนี้เหรอ’ (หัวเราะ) เวลาเล่ามันขำ แต่เวลาจริงมันเจอเรื่อยๆ ชีวิตมันราคาถูกขนาดนี้เลยเหรอ เลยรู้สึกว่าถ้าเราทำอะไรได้สักอย่าง มีตังค์ มีเวลาก็ควรจะทำ ซึ่งการเป็น ส.ก.ตอบโจทย์นะ มันซับซ้อนกว่าที่คิดเยอะ แต่ทุกอย่างมันแก้ได้ แค่จะทุ่มเทแค่ไหน

⦁ปัญหาที่ค้างคาใจ เห็นมาตั้งแต่เด็กจนวันนี้ก็ยังไม่ถูกแก้ไข?

คาใจอยู่หลายอย่างนะ (หัวเราะ) อย่างตอนนี้ที่แยกเตาปูน หลังน้ำท่วมปลายปียางมะตอยหลุดเป็นหลุมเล็กๆ เต็มไปหมด แจ้งไปที่สำนักการโยธา เขาบอกว่าเป็นโครงการของการไฟฟ้าฯที่จะเอาสายไฟลงดิน ดังนั้นต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมา เราก็ติดต่อการไฟฟ้าฯ ก็ยังไม่ซ่อม กลับไปที่โยธาฯ ก็ ‘ครับๆๆ เดี๋ยวจัดการให้’ จนตอนนี้หลายเดือนแล้ว ฉันโดนด่าทุกวัน

⦁ปวดหัวรายวันกับเรื่องโยนกันไปมา?

ใช่ๆ แต่พอเราเป็น ส.ก.ก็ทำอะไรได้มากขึ้นเยอะกับการที่เขาโยนไปโยนมาพวกนี้ แต่ก็ยังไม่หยุดโยนนะ (หัวเราะ)

⦁แยกวงศ์สว่าง ขึ้นชื่อเรื่องไฟเขียว-ไฟแดง 5 วิ คิดว่า ‘ปัญหารถติด’ ควรจะแก้ตรงไหน?

‘มันยากมากเลยนะ ฉันไม่ได้เป็นผู้ว่าฯนะ’ (หัวเราะ) เป็นเรื่องที่พูดกันยากมาก ติดไปทุกเขต จะแก้แค่เขตเราก็ไม่ได้ อย่างบางซื่อเราก็ไปไฟต์ให้มีการกดปุ่มข้ามถนน จะได้เป็นเรื่องเป็นราว ปรากฏมีคำตอบมาว่า ถ้าจะกดกันตลอดเวลารถจะติดโคตร ถึง 2 ขยัก แล้วฉันก็ไปติดเอง ต่อรองกันหลายรอบนะว่า ถ้างั้นให้ไฟล้อไปกับสี่แยกได้ไหม กดไม่ได้ในชั่วโมงเร่งด่วน กลายเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก รถติดก็โดนด่า คนข้ามถนนไม่ได้ก็โดนด่า ต้องหาจุดตรงกลาง เป็นความท้าทายของงานนี้

⦁ถ้า ผอ.เขต เหมือนผู้ใหญ่บ้าน ส.ก.เปรียบเป็นอะไร?

ส.ก.เหมือนเป็นคนที่เอาข้อร้องเรียนของประชาชนมาปรึกษา ประสานงานกับทั้งผู้ว่าฯและสำนักงานเขต คือเขาเป็นสายข้าราชการ เราจะรับฟังเสียงจากชาวบ้านมาอีกทีหนึ่งว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ ถามว่าชาวบ้านเขาเคยสะท้อนไปกับเขตไหม เขาก็เคย ฉันก็เคย แล้วก็ไม่แก้ พอเรามาทำตรงนี้ก็รู้ว่ามันอึดอัดแค่ไหน เพราะเป็นคนที่เคยร้องเรียนมาก่อน ‘ฉันก็ตามให้สุดชีวิต เพราะฉันเข้าใจ’ (หัวเราะ) แต่หลังๆ แก้เร็วขึ้นมาก พอ Traffy Fondue ทำงานดี เราก็ทำงานน้อยลงตรงนี้

⦁ชีวิต ส.ก.ในแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง?

ช่วงนี้ประชุมเยอะ แต่ปกติจะลงพื้นที่ ช่วงไหนมีงานสภา ก็ต้องเตรียมอภิปราย แล้วก็ประชุมคณะกรรมการสามัญ 3 คณะ มีคณะอนุกรรมการสามัญ อีก 3 คณะ ประชุมอย่างบ้าคลั่ง แล้วก็มีคณะกรรมการวิสามัญอีก เราจะนั่งสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการศึกษา

⦁ปฏิรูปการศึกษาควรเริ่มจากอะไร?

‘โห ถามยากมาก เห็นฉันเป็นนายกฯเหรอ’ (หัวเราะ) คิดว่าเริ่มให้อิสระกับการทำงานกับ ผอ. อย่าง ร.ร.วัดเวตวันธรรมาวาส ที่มีครูสอนภาษาจีนได้เพราะ ผอ.อยากได้ เลยไปของบ แต่ กทม.วุ่นวายกว่าเยอะ ถ้าเราเป็น ผอ.ก็ไม่ต้องทำอะไรเยอะดีกว่าไหม เพราะทุกสเต็ปมันคือการไฟต์ จริงๆ ต้องปรับระบบให้เขาทำงานได้ง่ายขึ้นมากกว่า เอื้อให้เขาสามารถมีความคิดสร้างสรรค์ หรือทำอะไรใหม่ได้มากกว่านี้ แต่พออยู่ภายใต้ความเป็นข้าราชการปุ๊บ มันขยับอะไรไม่ค่อยได้

⦁สกิลการสื่อสารได้มายังไง ก่อนวันอภิปรายเคยซ้อมพูดหน้ากระจกไหม?

ซ้อมๆ จริงๆ พูดไม่เก่งเลย พอหาเสียงเหมือนถูกบังคับให้ต้องพูดบนรถแห่ เหงามาก ต้องหาอะไรพูดไปเรื่อยๆ ทางพรรคก็ให้ไปลองปราศรัยที่ตลาด คือแป้กเว่อร์ เงียบกริบ พอเอาคลิปให้พรรคดูปรากฏว่าให้ไปปราศรัยใหญ่ก่อนเลือกตั้ง แบกชีวิตเพื่อน ส.ก.ไว้ ฝึกทั้งวัน ผลออกมาก็ดันดี พรรคก็ให้พูดต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับ ‘ตกกระไดพลอยโจน’ พอพูดดีพรรคก็ให้เป็นโฆษก ส.ก.ก้าวไกล ก็งงมาเรื่อยๆ (หัวเราะ)

แต่พออภิปรายมันมีเป้าหมาย ‘ไฟกูต้องติด’ แล้วทำไมไม่ติด มันมีความอินด้วย ว่าแบบฉันตามทุกทางแล้วนะ มันไม่ติด ไม่เข้าใจ บอกหน่อยจะติดเมื่อไหร่ แต่ละครั้งที่อภิปรายจะเตรียมตัวเยอะมาก เพราะรู้ว่าเป็นคนพูดไม่เก่ง เตรียมมาแน่นเลยจะพูดอันนี้ แล้วพอถึงจุดนี้อารมณ์มาแน่ (หัวเราะ)

คือเนอสเป็นคนโคตรจริงจัง ตอนที่จะปราศรัยใหญ่นั่งดูยูทูบไปครึ่งวันเรื่องสปีช ต้องพูดอย่างไร เขียนอย่างไร ทุกอย่างมันมีโครงสร้างอยู่ อย่าง ‘มาร์ติน ลูเธอร์ คิง’ พูดอย่างนี้มันเลยจับใจคน ครึ่งวันเราก็ศึกษาก่อน แล้วครึ่งวันหลังนั่งเขียน อีกวันก็นั่งซ้อมไป พอเราเรียนรู้มันก็ติดตัวเราไป ครั้งต่อไปเริ่มเป็นธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

⦁ฟีดแบ๊กจากประชาชน ผลลัพธ์หลังอภิปราย?

ที่คนอินเป็นเรื่อง ‘อุโมงค์’ (บางซื่อ-จตุจักร-วัดเสมียนนารี) ซึ่งเป็นอันที่เรารู้สึกว่าเราพูดแย่ ตอนนั้นพูดๆ ไป จอช็อต รูปไม่ขึ้น (หัวเราะ) เราก็แบบ ‘เฮ้ย อะไรวะ’ แต่พอผลลัพธ์ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ ประชาชนแฮปปี้กับผลงานเรา ไม่คิดว่าจะเปิดได้ แต่ดันเปิดได้

⦁‘อุโมงค์บางซื่อร้างจนมีระบบนิเวศ’ คำนี้คิดได้ไง?

เพราะว่ามันมีจริงๆ ไง (หัวเราะ) งาน ส.ก.ในแง่หนึ่ง โคตรบ้านๆ เลยนะ อุโมงค์เราก็เดินลงไปดูเอง ‘มันมีปลา มีปลาเลยเหรอ’ (หัวเราะ) คือเราเองยังตกใจ ถ้าบอกคนอื่นคงตกใจเหมือนกันก็เลยเป็นที่มา

⦁ส.ก.คือประชาชนคนหนึ่งที่เสียงดังพอ?

ใช่ๆ เราลงพื้นที่เองมันเลยมีความอิน รู้จริง เนอสคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพูดของเรามีน้ำหนักด้วยนะ เพราะฉันไปไง คุณจะเถียงได้ไงว่ามันไม่มี ฉันไปเจอปลามา (หัวเราะ) คุณไปยัง ก็ต้องขอบคุณ รองฯวิศณุ (ทรัพย์สมพล) มากๆ

⦁เวลาลงพื้นที่เคยสบตากับนาฬิกาที่มีรูปคุณพ่อไหม?

คุณไปเอามาจากไหนเนี่ย (หัวเราะ) ที่บ้านฉันก็มี แต่มันอะเมซิ่งอยู่เหมือนกัน พ่อเนอสเป็น ส.ก.ปี 2541-2549 แล้วของที่เขาแจกๆ ไปก็ยังอยู่ สมัยก่อน ส.ก.สามารถมีงบแปรพวกนี้ได้ สมัยนี้มีไม่ได้แล้ว เดินไปเจอกล่องยา อ๋อ พ่อทำแจกประชาชนหรอ แค่รู้ว่าเป็นกล่องยาที่บ้าน (หัวเราะ) เสื้อ อสส. ก็มีชื่อพ่อเรา พี่ใส่มากี่ปีแล้วเนี่ย? (ยิ้ม)

⦁ภูมิใจไหมที่เห็นชื่อผลงานพ่อ?

ภูมิใจนะ ตอนพ่อเป็น ส.ก.ไม่ค่อยได้เจอ เราไม่รู้ว่า ส.ก.คืออะไร ชอบมีคนมาร้องเรียนที่บ้าน จะรู้แค่นี้ หรืออยู่ๆ พ่อก็มีสติ๊กเกอร์ แล้วเพื่อนก็เอามาล้อ กลายเป็นว่าตอนหาเสียงเรามารู้ว่าพ่อเคยทำอะไรบ้าง Appreciate พอย้อนกลับไปในตอนนั้น ถ้าเราไม่ลงมาสนามนี้ก็คงไม่รู้ว่าพ่อเราทำเยอะเนอะ อย่างทางวิ่งแอโรบิกประชานุกูลก็ทำในยุคพ่อ เออ คิดได้ไง (หัวเราะ) เป็นรูปเป็นร่างแล้วมันก็ใช้มาจนทุกวันนี้ รู้สึกว่าถ้าเราอยู่ 4 ปี เราก็ควรจะทิ้งอะไรอย่างนี้ไว้บ้าง ที่สุดท้ายแล้วอีก 20 กว่าปีก็ยังอยู่

⦁คิดว่าญัตติไหนของตัวเองแซ่บสุด กำลังเตรียมอะไรเข้าไปถกในสภา กทม.?

ที่แซ่บสุดน่าจะเป็นเรื่อง PM2.5 ข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต ไม่เข้าใจว่าจะปฏิเสธสิ่งนี้ได้ยังไง โลกเคลื่อนไปข้างหน้า รถไฟฟ้าต้องมาถึงแน่นอน แต่ไทยช้ากว่าประเทศอื่น เรื่องอากาศสะอาดมัน Universal มาก คุณจะไม่หายใจเหรอ? พอข้อบัญญัติเราไม่ถูกบรรจุในสภา กทม.ตอนนั้น เลยรู้สึกว่าการเมืองมันทำให้คุณไม่แคร์แล้วเหรอว่าลูกคุณจะสูดอากาศยังไง พอโดนอย่างนี้ก็รู้สึกว่า ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ยิ่งโดนสกัดเนี่ยชอบเลย มันส์มาก

⦁ชาวเขตบางซื่อร้องเรียนเรื่องอะไรเยอะสุด มีเรื่องแปลกๆ ไหม?

แปลกๆ ก็มีว่าท่ออยู่หน้าบ้านเหม็นมาก เป็นตะแกรงซี่ๆ ซึ่งจริงๆ ระบายน้ำดีนะท่อแบบนั้น เขาบอกเปลี่ยนฝาท่อปูนได้ไหม เราก็คิด ‘ต้องลอกท่อหรือเปล่า’ (หัวเราะ) อยากให้เปลี่ยนก็เปลี่ยน เขาก็แฮปปี้ งั้นเดี๋ยววางแผนลอกท่อต่อรู้แล้วท่อเหม็น ที่ร้องเรียนเยอะมากคือ เดินไปทุกซอยจะต้องมีคนบอกว่า ‘ไฟดับ’ แล้วก็จะต้องเดินไปดูไฟ อันนี้เป็นสเต็ปการลงพื้นที่ (หัวเราะ) จะต้องไปชี้ไฟแล้วเราก็ถ่ายรูปมาว่าเป็นเสาต้นนี้ๆ เรื่องไฟเป็นปัญหาใหญ่ เชื่อว่าเป็นทุกเขต

จะมีบางเคสที่คิดว่า บอกเราปุ๊บแล้ววันถัดไปแก้ได้เลย มันเป็นคาแร็กเตอร์ของแต่ละเขตด้วย บางเขตเขาก็ดีดนิ้วได้จริงๆ แต่สำหรับเนอสไม่ได้ไปจี้ขนาดนั้น พอมีข้อร้องเรียนเราก็ประสานงานไป ส่วนใหญ่ไม่เกินสัปดาห์ก็จัดการให้เรียบร้อย แต่บางคนก็จะว่าเรา ไม่มาเลย ‘พี่ใจเย็นๆ ค่ะ ทำให้ค่ะ’ (หัวเราะ)

⦁อาณาจักรบางซื่อในฝัน ถ้าดีดนิ้วแล้วได้เลย?

(หัวเราะ) อยากให้ฟุตปาธใหญ่ เดินสบายกว่านี้ ร้านค้าที่อยู่ในแนวคนเดินก็จะเฟื่องฟูไปด้วย แต่ตามกายภาพของ กทม.มันคับแคบ ต้องแก้กันไป ถ้าดีดนิ้วได้ก็อยากให้ฟุตปาธใหญ่ขึ้น และอยากได้เลนจักรยาน อาจจะทำได้บางจุด ถนนหลักคงยาก งั้นขอให้เรียบก่อน กำลังจะทำโครงการ

⦁อะไรที่ดีดนิ้วแล้วอยากให้หายไป?

เขตบางซื่อ เราไม่ได้อยากให้มันโมเดิร์น หรืออะไร แต่ถนนเรียบกว่านี้ได้ไหม หลุมๆ ไม่ต้องมีได้ไหม เดินไปไม่ต้องติดต้นไม้ แค่เป็นอย่างนี้แต่คุณภาพชีวิตดีกว่านี้ บางซื่อเป็นเมืองที่โอเค มีของกิน มีอะไรเยอะแยะ รถไฟฟ้าก็เดินทางสะดวกแล้ว ขอแค่สะอาดขึ้น ปลอดภัยขึ้น ไฟสว่างตลอดเวลา ข้อร้องเรียนก็จะออกแนวนี้ หรือบางอันก็แค่ขอทางม้าลายตรงนี้เพิ่มได้ไหม มองไม่ชัดทาให้เป็นสีแดงได้ไหม ค่อยๆ ปรับกันไป รถติดก็อาจจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าระดับเขต แต่มันดีขึ้นได้ พื้นที่สีเขียวทางเขตก็กำลังหาที่อยู่ มีหลายจุดที่ชาวบ้านนั่งพักกัน อาจจะต้องลงไปเวิร์กหน่อย

⦁คิดว่าอะไรที่ Y2K มาก ควรจะเปลี่ยนได้แล้ว?

‘รถเมล์’ ก็ยังคันเดิมนะ (หัวเราะ) วันนั้นดูกับคุณทิม พิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) และคุณพุทธิพัชร์ (ธันยาธรรมนนท์) ส.ก.ยานนาวา ที่ว่ารถเมล์ 60 กว่าปีแล้ว เผลอๆ เราก็เคยขึ้นตอนเด็กทุกวันนี้มันก็ยังคันเดิมขึ้นไปพื้นก็เป็นรูเห็นถนนข้างล่าง อะเมซิ่งมาก ไม่มีเลเยอร์อื่นเลยเหรอ (หัวเราะ) ถ้าไม้นี้หลุดคือตกเลยเหรอ? งงมากกับเทคโนโลยีนี้ พัฒนาได้ก็ดีนะ พวกอย่างนี้ไม่ต้องเก็บก็ได้

⦁ความหวังของ ส.ก.ในยุคผู้ว่าฯชื่อชัชชาติ มีมากกว่ายุคก่อนไหม?

มีมากกว่ายุคก่อนแน่นอน ผู้ว่าฯเขาทำงานเยอะมากนะ อะไรที่เป็นผลประโยชน์ประชาชน เขาโอเค พอที่ตั้งมันเป็นอย่างนี้ มันคุยกันง่าย อย่างเรื่องอาคาร-ลิฟต์ที่โรงเรียนวัดสร้อยทอง เพิ่งรู้ว่ามีลิฟต์ แล้วลิฟต์ก็แยกออกมา เนอสพูดไปเขาก็บอก ‘เพิ่งรู้ ถ้างั้นเดี๋ยวจัดการให้’ รู้สึกว่าแกก็มีความเป็นมนุษย์สูง ถ้าเราทำการบ้านมาดี สมเหตุสมผล ก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะไม่พัฒนาไปด้วยกัน

⦁วิธีผ่อนคลายตัวเองในเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาชวนปวดหัว?

จริงๆ ชอบอยู่บ้าน อยู่คนเดียว ปลูกต้นไม้ แต่ว่าตั้งแต่หาเสียงมาต้นไม้ตายหมดแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้เหี่ยวแห้งอยู่ในห้อง ยิ่งทำงาน ส.ก.เจอคนตลอด ประชุมก็เจอคน ต้องคิดตลอดเวลา ลงพื้นที่ก็เจอคน สภาก็ต้องโน้มน้าวคน พอถึงเวลาอยากอยู่บ้าน นั่งดูติ๊กต็อกไปเรื่อยๆ แมวขึ้นมาก็ดูๆๆ

⦁มองภาพบ้านเมืองตอนนี้ อยากเตือนสติอะไรผู้มีอำนาจ?

‘ต้องเล่นการเมืองให้มันน้อยๆ หน่อย’ คือบางทีมันชนะนะ แต่อย่างที่ว่า ‘ชนะบนซากปรักหักพัง’ ถ้าคุณมีจิตสำนึก ‘มาเอาหน้าด้วยกันได้ไหมละ ว่าเราทำเพื่อประชาชน’ คือทำไมต้องไม่อยากให้เราได้หน้าด้วยเนี่ย ไม่เข้าใจ (หัวเราะ) จริงๆ การเมืองที่ดีมันทำได้ แต่พอจะชนะให้ได้อย่างเดียวแล้วเอาประชาชนมาอ้าง ก็เศร้าเหมือนกันนะ ทำงานมาแค่ 7-8 เดือนเราเจอหลายช็อต แล้วรู้สึกเศร้า โห! มันขนาดนี้เลยเหรอ อะไรมันทำให้เป็นได้ขนาดนี้

ส.ก.ก้าวไกลเข้ามาแรกๆ แทบไม่ได้อภิปรายอะไรเลยในสภา เพราะว่ายังใหม่หมด ก็จะลงพื้นที่ตัวเองหนักมาก กลายเป็นว่า เราโฟกัสแต่ว่าจะแก้ยังไงให้ชาวบ้าน ก็เลยไม่ได้มองภาพใหญ่ ว่าจริงๆ สภาทำอะไรได้มากกว่านั้น บางที ‘การเมือง’ ที่แบบต้องชนะ ต้องอย่างนู้นอย่างนี้ เหมือนกับโฟกัสไปอยู่ที่ตรงนั้นจนมันลืมจุดอื่น ซึ่งข้อดีของพรรคก้าวไกลคือจะย้ำกันเรื่อยๆ พอเราเริ่มแบบ ‘มันต้องชนะ ต้องได้ ต้องอะไร’ ก็จะมีคนพูดว่า ‘มึงลืมเปล่าว่าเข้ามาทำไม’ เป็นเรื่องที่ดีมาก เราต้องการคนที่มาเตือนเราด้วยความจริงใจและห่วงใยว่า ‘มึงอย่าเป็นคนแบบนี้นะ’

การเป็นนักการเมืองที่ไม่โอเค จุดเล็กๆ มันเกิดจาก small decisions ไม่ได้มีมาตู้มเดียว ตัดสินใจอันนี้แล้วกลายเป็นคนแบบที่ตัวเองไม่อยากให้เป็น แต่มันเล็กๆ แล้วไต่ระดับไปเรื่อยๆ ต้องช่วยกันเตือนสติ

อธิษฐาน จันทร์กลม, พรสุดา คำมุงคุณเรื่อง

ยิ่งยศ เอกมานะชัยภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image