ผู้เขียน | นฤตย์ เสกธีระ |
---|
แท็งก์ความคิด : อ่านแล้วสนุก
วันนี้ที่มิวเซียมสยาม งาน Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ที่ มติชน จับมือกับ OKMD และองค์กรอื่นๆ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ ยังดำเนินการต่ออีกวัน
งานนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ ด้วยความเชื่อที่ว่าความรู้เป็นสิ่งที่ทุกคนกระหายอยากลิ้มรส เหมือนกับอาหารที่คนอยากลิ้มชิม
ความรู้ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ถ้าแปรเปลี่ยนความรู้เป็นรูปแบบต่างๆ ความรู้จะกลายเป็นของสนุกและสร้างความสุขให้ได้
รูปแบบการสร้างความรู้มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากการทัวร์ ความรู้จากการลงมือปฏิบัติ หรือแม้แต่การนั่งฟังสาระจากผู้ถ่ายทอดที่มีทักษะก็ทำให้เกิดความบันเทิงไปพร้อมๆ กับสาระได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หนังสือยังเป็นสื่อสำคัญในการนำความรู้มอบให้แก่ผู้อ่าน สำนักพิมพ์มติชนและหนังสือในเครือล้วนแล้วแต่ต้องการผลักดันความรู้
หนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วอยากให้บรรจุอยู่ในทุกห้องสมุดนั้นชื่อ “Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ และ โมโมทาโร่
โมโมทาโร่เป็นชื่อแมว และถือเป็นความแปลกที่ผู้เขียนเสนอให้เจ้า “โมโมทาโร่” ร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย
เหตุที่เป็นเช่นนั้นมีที่มา และผู้เขียนได้อธิบายความไว้อย่างน่าฟัง
จุดเด่นหนึ่งที่สัมผัสได้จากหนังสือเล่มนี้คือภาพประกอบที่หาดูได้ยาก
ส่วนเนื้อหาภายในเล่มนั้น หากอ่านแล้วจะพบว่าดินแดนอยุธยาเป็นแผ่นดินทองจริงๆ
ชาวต่างชาติจากทั่วโลกล้วนแวะเวียนมายังแผ่นดินแห่งนี้ โดยมีการค้าเป็นเป้าหมาย
แผ่นดินผืนนี้เป็นทำเลที่ดีต่อการค้า ทำให้นานาชาติต้องแวะเวียนเข้ามาเยือน
หนังสือเล่มนี้บอกเล่าที่มาที่ชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในอยุธยา
ไม่ว่าจะเป็น แขก ฝรั่งเศส จีน ลาว เขมร พม่า ญวน มลายู ได้ทยอยเข้ามาอาศัยแผ่นดินแห่งนี้
แม้แต่ชาวพม่าที่ดูเหมือนว่าจะเป็นคู่อริ แต่ก็ยังมีชุมชนอยู่ในแผ่นดินศรีอยุธยา
นานาชาติที่เข้ามาในแผ่นดินผืนนี้ ต่อมาได้ผสมกลมกลืนจนกลายเป็นมนุษย์อยุธยา
นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังบอกข้อมูลอีกสาเหตุที่ชาวต่างชาติบางชาติเข้ามาพึ่งโพธิสมภาร
เหตุเพราะพระมหากษัตริย์ไทยทรงใจกว้าง ต้อนรับทุกเชื้อชาติและทุกศาสนา ทำให้หลายชาวต่างชาติหลายคนที่อยู่ในบ้านเกิดตัวเองไม่ได้เนื่องจากมีความขัดแย้ง ได้เดินทางมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
แน่นอน การเข้ามาอาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้ ไม่ได้อยู่อย่างเรียบร้อยเสียทั้งหมด
คนบางชาติที่เข้ามาก็ก่อความวุ่นวายให้เกิดขึ้น
คนบางชาติส่งสายลับเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อรายงานกลับไปยังชาติตัวเอง
และบางชาติบางกลุ่มเล่นพรรคเล่นพวกกระทั่งเป็นเหตุปะทะโค่นล้มกัน
แต่ทุกอย่างคือสีสันของความเป็นมนุษย์ในประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินอยุธยา
หนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนหลายเล่มควรมีไว้ในห้องสมุด
ห้องสมุดในบ้าน ห้องสมุดในโรงเรียน ห้องสมุดประจำชุมชน อำเภอ และจังหวัด รวมไปถึงห้องสมุดอื่นๆ
เนื้อหาประวัติศาสตร์จากเครือมติชนทำให้ได้สัมผัสชีวิตผู้คนในประวัติศาสตร์ อ่านแล้วรู้ถึงวิถีชีวิตในสมัยนั้น
หนังสือเหล่านี้บอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนพื้นที่ที่อยู่ใกล้ตัวเรานี้เอง
“Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา” บอกพื้นที่ที่ชาวต่างชาติเคยเข้ามาอาศัยในสมัยอยุธยา
ตรงนั้นเป็นบ้านโปรตุเกส ตรงนี้เป็นบ้านญี่ปุ่น อีกที่หนึ่งเป็นบ้านอังกฤษ หรือชุมชนแขก ส่วนชาวจีนแทรกเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่มีการค้า
เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว เขมร พม่า ญวน มลายู แต่ละชนชาติมีที่อยู่อาศัยในอยุธยา
ใครที่ยังไม่ได้อ่าน ขอแนะนำให้ลองอ่าน รับรองว่าไม่ผิดหวัง
หรือใครที่เข้าไปเที่ยวงาน Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ที่มิวเซียมสยามแล้วแวะไปยังบูธของสำนักพิมพ์มติชนก็น่าจะหาพบ
เชื่อว่าไม่เพียงแค่หนังสือเล่มนี้เท่านั้น หากแวะไปยังบูธหนังสือ ยังจะพบกับสาระในหนังสืออีกหลายเล่มที่น่าอ่าน
อ่านแล้วเก็บไว้ให้คนอื่นได้อ่านต่อไป
หรือเก็บไว้เพื่อหยิบมาอ่านอีกครั้ง เพราะความรู้ที่ปรากฏในหนังสือเป็นอมตะ
อ่านแล้วคุ้มค่า และเพิ่มอรรถรสในชีวิต
อย่างน้อย หากใครได้อ่าน “Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา” แล้วไปอยุธยาอีกครั้ง
อยุธยาในสายตาของเราจะไม่เหมือนเก่า
ความรู้จากหนังสือทำให้เรามองเห็นคุณค่าของอยุธยาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
เห็นคุณค่าของผืนแผ่นดิน และบรรพบุรุษที่อยู่อาศัยในแผ่นดินผืนนี้มาก่อน
อยากให้ลองทดสอบ
อ่าน “Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา” แล้วได้ความรู้และความสนุก