วัตถุดิบชั้นเลิศ ส่วนผสมลงตัว ปรุงรส ‘อ่านเต็มอิ่ม’ สู่ความสำเร็จ

วัตถุดิบชั้นเลิศ ส่วนผสมลงตัว ปรุงรส ‘อ่านเต็มอิ่ม’ สู่ความสำเร็จ

วัตถุดิบชั้นเลิศ ส่วนผสมลงตัวปรุงรส ‘อ่านเต็มอิ่ม’ สู่ความสำเร็จ

ปิดโรงครัวอย่างงดงามสำหรับเทศกาล Knowledge Book Fair ‘อ่านเต็มอิ่ม’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง เสาร์ที่ 18-อาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ มิวเซียมสยาม

หลังเสิร์ฟอาหารสมองสุดเข้มข้นด้วยสาระ มากล้นด้วย (อรรถ) รสหลากหลาย ควบคู่เมนูเด็ดโดนใจจากร้านอร่อยทั่วไทยที่คัดสรรมาเป็นอย่างดี ตลอด 2 วันเต็มภายใต้การผนึกกำลังระหว่าง สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD, มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้, หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม, Spaceth.co, MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สมาคมป้ายยาหนังสือ, สมาคมการ์ตูนไทย, Sentangsedtee และศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC)

Advertisement

คึกคักและคับคั่งตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ลงทะเบียนร่วมวอล์กกิ้งทัวร์ประวัติศาสตร์ย่านท่าเตียน, หยิบช้อน-ส้อมพร้อมล้อมวงบุ๊กเทสต์, ตั้งแถวตอนเรียงหนึ่งจากหน้าห้องยาวเฟื้อยถึงประตูทางเข้า-ออก รอฟังเสวนาหลากหัวข้อครบรส ตั้งแต่ใต้ดินจนถึงอวกาศ

พูดคุยกับนักเขียน นักแปล นักวิชาการ นักชิม นักเล่น นักวิ่ง นักสร้างสรรค์ ช่างภาพ ฯลฯ หลายรายตั้งใจเดินทางมาจากต่างจังหวัด หวังพบ ‘ไอดอล’ ด้านวิชาความรู้

บูธพันธมิตรกว่า 15 สำนักพิมพ์ คลาคล่ำด้วยผู้อ่านทุกเพศทุกวัย

Advertisement

ช่วงเย็นย่ำจนถึงค่ำคืน ขับกล่อมด้วยเสียงดนตรีแว่วหวาน จากวง Roberto Uno และศิลปินรับเชิญพิเศษ ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ที่ปล่อยมุขชวนอมยิ้มว่ายังไม่ขอเป็นตำนาน แต่ขอเป็น ‘ปัจจุบัน’ ก่อนรัวเพลงซึ้ง พร้อมเปรียบเปรยความรักเสมือนหนังสือที่เป็นส่วนสำคัญในชีวิต

อัตราส่วนเหมาะสม สาระ-บันเทิง กระตุ้นความ (อยาก) รู้
ภายใต้บรรยากาศแห่งความอิ่มเอมเช่นนี้ โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้แห่ง OKMD มองว่า ผลตอบรับด้าน ‘การมีส่วนร่วม’ ของประชาชนต่อเทศกาล Knowledge Book Fair ‘อ่านเต็มอิ่ม’ ถือว่า ‘เกินความคาดหมาย’ ด้วยการผสมผสานทั้งกิจกรรมที่มอบองค์ความรู้และความบันเทิงด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม

“ด้วยความที่เทศกาลครั้งนี้ผสมผสาน ทั้งความรู้ต่างๆ การจัดกิจกรรม การเสวนา และอีเวนต์ ประกอบไปกับการขายหนังสือ ทำให้คนไม่ได้มาเพื่อซื้อหนังสืออย่างเดียว แต่มาเพื่อซึมซาบรับความรู้ เป็นการจัดอีเวนต์ที่แวดล้อมด้วยความรู้และดึงดูดคนเข้ามาทำให้เกิดความอยากรู้ นอกจากนี้ ยังใส่ความบันเทิงเข้าไปในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่น การแสดงดนตรีในช่วงเย็น หรืออาหารที่จัดเตรียมไว้พร้อมสำหรับคนที่มางานได้ซื้อหารับประทานด้วย” โตมรกล่าว

ถามว่า ภาพของผู้คนมากมายที่ตั้งใจเดินทางมาร่วมกิจกรรมและเลือกซื้อหาหนังสือในบูธสำนักพิมพ์ต่างๆ อย่างแน่นขนัด สะท้อนอะไรใน พ.ศ.ที่ข้อมูลหาง่ายผ่านปลายนิ้วเพียงสไลด์หน้าจอสมาร์ทโฟน

ผอ.สำนักยุทธศาสตร์ฯ แห่ง OKMD วิเคราะห์ลึก ว่าแนวโน้มในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้กล่าวกันว่า ผู้คนหาความรู้ผ่านโลกออนไลน์ ทว่า แท้จริงแล้ว ข้อมูลเหล่านั้น อาจยังไม่ได้ผ่านการ ‘ตรวจสอบ’ อย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น หนังสือที่เขียนและเรียบเรียงโดยผู้รู้ตัวจริง ทั้งยังผ่านระบบกองบรรณาธิการอันเข้มแข็ง ย่อมเชื่อมั่นได้มากกว่า กล่าวโดยสรุปคือ ‘ข้อมูล’ อาจหาง่าย แต่ ‘ความจริง’ อาจหาได้ยากขึ้นอีกหน่อย

“….ไม่รู้สิ จะไปแชต กับแชต จีพีที หรือเอไอ ก็ให้ความรู้ได้ แต่เรื่องหนึ่งที่เราน่าจะเห็นตรงกันคือ ความรู้ที่หาได้ง่าย จริงๆ แล้วอาจยังไม่ผ่านการตรวจสอบเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นหากเราได้รับความรู้โดยผ่านผู้รู้ หรือคนที่ได้ศึกษาเรื่องนั้นจริงๆ เช่น ควอนตัมฟิสิกส์ จากอาจารย์บัญชา ธนบุญสมบัติ ได้รู้ประวัติศาสตร์จากปากคำของคนที่ศึกษามาทั้งชีวิตอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ, อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ หรืออาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็เป็นความรู้ที่เชื่อมั่นได้แบบเดียวกับเรื่องของหนังสือ ซึ่งผ่านกระบวนการทำหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือเชิงความรู้ที่ฝรั่งเรียกว่า Brainy Books ซึ่งผ่านทั้งคนเขียนที่ค้นคว้าข้อมูล ผ่านทั้งบรรณาธิการที่คอยตรวจทานต้นฉบับ และจำนวนมากก็มีผู้รู้มาเป็นรีดเดอร์ ตรวจทานข้อมูลต่างๆ ให้อีกรอบหนึ่ง โดยได้รับการปรุงรสให้สนุกโดยคนเขียน และบรรณาธิการ เลยครบทั้งความรู้และอรรถรสในการอ่าน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมหนังสือถึงยังอยู่ได้”

โตมร บอกด้วยว่า หนังสือที่ผู้รู้ค้นคว้ามา อย่างน้อยอุ่นใจว่าย้อนกลับไปหาที่มาได้ ยังสามารถตั้งคำถาม ตรวจสอบ ทักท้วง และถกเถียง เช่นเดียวกับกิจกรรม Sujit’s Talk ชวนถกปม ‘จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณกรรมการเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ อักษรไทยมาจากอักษรเขมร’ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่โตมรบอกว่า ‘สนุกมาก’ โดยนั่งฟังแบบเต็มๆ ในขณะเดียวกัน ก็ร่วมเป็นวิทยากร BREWING FOR MASTERPIECE ที่มีคอกาแฟล้อมวงฟังอย่างอบอุ่น

นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ผู้นั่งเก้าอี้ ผอ.สำนักยุทธศาสตร์ฯ OKMD ในวันนี้ เผยด้วยว่า มีเสียงเรียกร้องต่อเทศกาลนี้อีก

“โดยภาพรวม งานนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ ถ้าจะมีเพิ่มเติม คือ เสียงเรียกร้องจำนวนหนึ่งที่บอกว่าจัดแค่ 2 วันน้อยไปหรือเปล่า วันแรก คนอาจจะ เอ๊ะ! มา-ไม่มา พอวันที่ 2 เริ่มคึกคัก ถ้ามีวันที่ 3 อีกสักวัน คิดว่าน่าจะสมบูรณ์ขึ้น” โตมรทิ้งท้าย

นักวิชาการชั้นครู สบตา ‘นักอ่านหน้าใหม่’ ดีใจ ‘เล่มคลาสสิก’ ไม่ถูกลืม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อได้ร่วมสัมผัสบรรยากาศอย่างเต็มอิ่มในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ได้พบปะคนรุ่นใหม่มากมายที่เข้าร่วมเทศกาล สะท้อนว่ามี ‘นักอ่านหน้าใหม่’ เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

“น่าดีใจ เพราะคนหนุ่มคนสาวไปเยอะ คนมาเดินซื้อหนังสือตั้งแต่ไก่โห่ สะท้อนว่า มีนักอ่านใหม่ๆ เกิดขึ้น มิวเซียมสยามก็เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน มีความขลังด้วยประวัติศาสตร์ของสถานที่ เหมาะสมสำหรับการพูดคุย พบปะของกลุ่มคนที่รักหนังสือ” อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์กล่าว ก่อนเล่าด้วยว่า มีเพื่อนคนไทยที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศเดินทางกลับมาเมืองไทย เมื่อได้ทราบข่าวเทศกาลอ่านเต็มอิ่ม จึงเดินทางเข้าร่วมฟังเสวนา และซื้อหาหนังสือมอบให้ห้องสมุดในออสเตรเลีย

“ผมมีเพื่อนคนไทยเป็นแพทย์ทั้งสามี-ภรรยามาจากชิคาโก เป็นกลุ่มที่เคยเรียกร้องทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เขาเห็นว่ามีเทศกาลนี้เลยมาฟัง อีกคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาจากออสเตรเลีย มาหาซื้อหนังสือให้ห้องสมุดที่นั่น”

ถามถึงกิจกรรมที่ถูกใจที่สุด ได้คำตอบว่า ‘ดีๆ ทั้งนั้น’ ที่สำคัญคือ ‘หลากหลาย’ ไม่เพียงเท่านั้น ยังกระซิบด้วยว่า มีคนกลุ้มอกกลุ้มใจ เพราะกิจกรรมดีๆ เยอะมาก จนเข้าร่วมไม่ครบ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เล่าด้วยว่า แวะไปเยี่ยมชมกิจกรรม Book Sharing เพื่อดูว่า หนังสือเล่มไหน เปลี่ยนชีวิตใครบ้าง ก่อนย้อนถามตัวเอง

“ลองมาคิดว่าหนังสืออะไรเปลี่ยนชีวิตเรา หรือครูคนไหนแนะนำให้เราอ่านแล้วมันเปลี่ยนชีวิต โดยส่วนตัว ผลงานของคนที่เปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองของผมคือ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และปฏิเสธไม่ได้ว่า งานเขียนของ ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ มีอิทธิพลกับผมมาก หรือถ้าย้อนไปก่อนหน้านั้น แน่นอนว่า คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”

นอกจากนี้ ไม่ลืมเอ่ยนาม เบน แอนเดอร์สัน เจ้าของผลงาน ชุมชนจิตรกรรมอันลือลั่น

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ยังขอคอมเมนต์ถึงจุดเด่นของ สำนักพิมพ์มติชน ว่า ไม่ทิ้งของเก่า ไม่ลืมเล่ม ‘คลาสสิก’ ในขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ จากนักเขียน นักคิด นักวิชาการหน้าใหม่ อย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม

สำหรับผลงานที่ตีพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราฯ เองก็พบว่า ผลงานเก่าๆ หนังสือแปลชุดที่เคยมีชื่อเสียงเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อนำกลับมาพิมพ์ใหม่ด้วยรูปเล่มที่สวยงาม ปกแข็ง แม้ราคาค่อนข้างสูง ก็ยัง ‘ขายได้’

อีกหนึ่งความประทับใจจากเทศกาลนี้ คือ มีแฟนหนังสือนำเล่มคลาสสิกมาขอลายเซ็น

“มี 3-4 คน เอาหนังสือเก่าๆ มาให้เซ็น ผมตกใจ และแปลกใจ ไม่นึกว่าจะยังมีคนเก็บไว้ คือพ็อคเก็ตบุ๊กชื่อว่า ส่วนหนึ่งของปัญหา ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ซึ่งคุณขรรค์ชัยและคุณสุจิตต์นำมาพิมพ์….เก๊าเก่า เก่าๆๆ” ทิ้งท้ายประโยคด้วยเสียงสูง ครั้นย้อนดูข้อมูลพบว่า ตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.2518 โปรยปกด้วยวาทะ ‘ถ้าท่านไม่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา’

เต็มอิ่มกับบรรยากาศและหนังสือหลากหลาย ไม่ถามไม่ได้ว่า ร่วมอิ่มอร่อยกับเมนูใดในเทศกาลบ้าง

“ไม่ได้กินอะไรเลย เพราะหมอห้ามกินหลายอย่างในโลกนี้ (หัวเราะ) ห้ามกินเค็ม ห้ามกินมัน ห้ามกินหวาน ห้ามกินเผ็ด”

เรียกได้ว่า เน้นการเต็มอิ่มกับหนังสือเป็นหลัก

“มันดีใจที่ได้เห็นหนังสือ ผมเป็นคนรักหนังสือ แปลกใจที่คนมาตามหาหนังสือหลายเล่ม บางเล่มยังไม่มีวางขายด้วยซ้ำ” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เล่าอย่างอารมณ์ดี

เหนือยอดขายคือได้เจอ ‘คอเดียวกัน’ ย้ำแนวโน้ม ‘สัปดาห์หนังสือฯ’ คนคึกแน่
จากมูลนิธิโครงการตำราฯ แวะทัก ‘สำนักพิมพ์แสงดาว’ ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง จรัญ หอมเทียนทอง อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า พอใจกับยอดขายในเทศกาลนี้อย่างมาก ทว่า เหนือสิ่งอื่นใดคือ ได้พบนักอ่านและคนคอเดียวกัน ที่สำคัญคือการตอกย้ำความมั่นใจว่างานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายนนี้ คึกคักแน่

“นักอ่านมาเยอะ มันเป็นตลาดหนังสือที่เป็น niche market เป็นงานทางวัฒนธรรม ยอดขายเราโอเค เทศกาลอ่านเต็มอิ่มเป็นงานโหมโรงที่ทำให้มั่นใจว่าสัปดาห์หนังสือฯ มีคนแน่ และใน พ.ศ.นี้ งานหนังสือยังพอไปได้” อดีตนายกผู้จัดพิมพ์วิเคราะห์แนวโน้ม

สำหรับบรรยากาศทั่วไป จรัญ เล่าด้วยน้ำเสียงสดชื่น ว่า ให้อารมณ์เหมือนเทศกาลในต่างประเทศ สุขทั้งคนซื้อ คนขาย คนร่วมกิจกรรม

“ชอบเอาต์ดอร์ เป็นธรรมชาติ แฮปปี้ทุกฝ่าย ผมชิมหลายเมนู กุยช่าย บางกรอบ กิน 2 รอบ แฮมเบอร์เกอร์เวียดนาม นมหมีปั่น สุกี้โรลก็ได้กิน แปลกดี มิวเซียมสยามเป็นสถานที่ที่ลงตัว ต้นไม้ใหญ่ที่เป็นฉากหลังให้วงดนตรีก็มีเสน่ห์มาก นั่งชิลชิล สบายๆ อากาศดีด้วย ห้องอินดอร์สำหรับเสวนาก็มี สรุปว่า ยกนิ้วโป้ง 2 นิ้วให้เลย”

ด้าน ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ แห่งสำนักพิมพ์ต้นฉบับ คืออีกหนึ่งพันธมิตรที่ขอย้ำความอร่อยของกุยช่ายบางกรอบที่จัดอย่างเต็มอิ่ม งานคราวหน้าขอให้มาอีก

“เต็มอิ่มทั้งอาหาร บรรยากาศ มีความสุขมาก ถึงมากที่สุด ได้เจอคนคอเดียวกัน อาหารก็อร่อย หนังสือก็ดีๆ ทั้งนั้นเลย เสวนาก็สนุก ที่ชอบเป็นพิเศษคือแนวประวัติศาสตร์ของคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ และพงศาวดารกระซิบ ของศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ”

นอกจากนี้ ยังเผยว่า พอใจกับยอดขายหนังสือ 2 วัน เพราะได้เจอกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญคือได้พบเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ และยังมีผู้อ่านรายใหม่ๆ กลุ่มใหม่ๆ เข้ามาปฏิสันถาร วันรุ่นเดินเยอะ ในฐานะคนรุ่นเก่ากว่า เมื่อมองเห็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมเทศกาล สะท้อนว่าหนังสือเล่ม ‘ยังไม่ตาย’ มันยังคงมีชีวิตอยู่ และรอให้จัดเทศกาลนี้ในครั้งต่อไป

ไม่ใช่แค่มุ่งขาย แต่สร้าง ‘คอมมูนิตี้’ ต่อยอดอ่านให้ยิ่งอิ่ม
จากพันธมิตรรุ่นใหญ่ ขยับลงมานิด พูดคุยกับ ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Bookscape ที่ขอสะท้อนมุมมองทั้งในฐานะผู้ร่วมจัดบูธ รวมถึงงานเสวนา ‘มองเมืองให้เห็นคน มองคนให้เห็นเมือง’ และในฐานะผู้เข้าร่วมงาน ว่าเป็นเทศกาลที่ชอบมาก เพราะไม่ใช่แค่การขายหนังสือ แต่เป็นการสร้างชุมชนแห่งการอ่านในบรรยากาศสบายๆ ชวนให้ประทับใจจนอยากให้จัดต่อไปเรื่อยๆ

“ก่อนหน้านี้เคยมีงานหนังสือในสวนมาก่อนแล้ว แต่เบรกไปในช่วงโควิด งานครั้งนี้เรียกบรรยากาศเหล่านั้นกลับมา ปกติการจัดงานหนังสือ คนก็มุ่งมาซื้อหนังสือเลย แต่งานแบบนี้เหมือนการสร้างคอมมูนิตี้การอ่าน ชวนให้คนมาเลือกซื้อหนังสือ พูดคุย ทำความรู้จักกัน ต่อยอดจากการอ่านหนังสือด้วย
วงเสวนาก็น่าสนใจมาก และหลากหลาย ถ้ามีมุมกิจกรรมเด็กอีกสักมุมหนึ่งเพิ่มเติมก็น่าจะดีเหมือนกัน เพราะมีคนมาเป็นครอบครัวเยอะ”

ถามถึงกิจกรรมฮิตอย่าง Book sharing บก.บห. Bookscape สารภาพว่า ไปร่วมไม่ทัน เพราะง่วนอยู่กับเสวนา แต่เพื่อนๆ ในสำนักพิมพ์พากันร่วมแชร์ หากได้ย้อนเวลากลับไปเขียนถึงหนังสือที่เปลี่ยนชีวิต ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ คือเล่มที่จะปรากฏบนกระดาษสีขาว

 

“บ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็นเล่มที่อ่านในห้องสมุดของโรงเรียนตั้งแต่ประถมเลย อ่านวันละนิดวันละหน่อย เป็นเล่มที่จุดประกายและจดจำว่าทำให้เรารักการอ่าน ถ้าให้เขียนได้อีกเล่มหนึ่ง จะขอเลือก WHY WE SLEEP นอนเปลี่ยนชีวิต ของสำนักพิมพ์ตัวเอง (หัวเราะ) ในฐานะคนทำงาน เรารักหนังสือเราอยู่แล้ว แต่เล่มนี้ มันว้าวเป็นพิเศษ เพราะพูดเรื่องการนอน ที่เราอยู่กับมันเรื่อยๆ แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เจอในเล่มนี้ คือเรื่องใหม่เต็มไปหมดเลย ทำให้รู้สึกว่า ที่ผ่านมาเราทำอะไรลงไปเนี่ย ในฐานะทั้งคนทำ และคนอ่าน เราเป็นแฟนของมันจริงๆ” ณัฏฐพรรณกล่าว

ปิดท้ายด้วยคอมเมนต์จาก จักรกฤต โยมพยอม ผู้บริหารสำนักพิมพ์อะโวคาโด้ ที่บอกว่า เทศกาลนี้มีความแตกต่างจากงานหนังสือขนาดใหญ่ เพราะเป็นงานเล็กๆ ที่มีชีวิตชีวา เดินเท้าไปมาหาสู่พูดคุยกับเพื่อนพี่น้องสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้ง่าย

“ชอบที่มีดนตรีในช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตก ได้ฟังเพลง เลือกดูหนังสือไป ทำให้งานมีชีวิตชีวา ได้ไปเดินอ่านชื่อหนังสือที่เปลี่ยนชีวิต พบว่าหลายๆ เล่มเป็นหนังสือใหม่ สะท้อนว่าคนเรามีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา แล้วแต่ว่าเป็นช่วงเวลาไหน”

ทั้งหมดนี้คือส่วนผสมที่ลงตัวขององค์ประกอบ ระหว่างความรู้ และความบันเทิง ความเข้มข้นของสาระ และความรื่นรมย์ ปรุงหลากเมนูสู่มือผู้อ่านผ่านวัตถุดิบคัดสรร ชงรสชาติแสนอร่อยให้ละเลียดอย่างเต็มอิ่ม

พรรณราย เรือนอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image