เปิดใจเจ้าของแบบร่าง”พระเมรุมาศ” ก่อเกียรติ ทองผุด มือขวา “อาวุธ เงินชูกลิ่น”

วันที่ 28 พฤศจิกายนที่่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการเปิดเผยภาพแบบก่อสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เจ้าของแบบร่างไม่ใช่ใครอื่น “ก่อเกียรติ ทองผุด” ตำแหน่งนายช่างศิลปกรรม

ไม่เพียงเป็นลูกหม้อกรมศิลปากร ยังเป็นมือขวาของ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ในวัย 49 ปี ก่อเกียรติมีผลงานการออกแบบมากมาย อาทิ งานพระเมรุสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระที่นั่งกาญจนาภิเษก ในวาระฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ศาลาไทยที่มลรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา พระที่นั่งสันติชัยปราการ พระบรมราชานุสาวรีย์ที่แม่สาย จ.เชียงใหม่ พระพุทธมหามงคลเจดีย์ ที่อินเดีย ออกแบบลวดลายตกแต่งพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ฯลฯ เป็นอาทิ รวมทั้งเป็นผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าซึ่งใช้ไม้พะยูงในการก่อสร้างนับพันท่อน

Advertisement

ความที่ได้รับความไว้วางใจให้ช่วยงานในหลายๆ เรื่อง จาก พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ซึ่งถือเป็นบรมครูด้านสถาปัตยกรรมไทย เป็นหัวหน้าทีมก่อสร้างพระเมรุมาหลายครั้งหลายหน ล่าสุดคือ พระเมรุในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ในงานออกแบบพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเลือกแบบร่างพระเมรุมาศที่ก่อเกียรติออกแบบ เป็นสถาปัตยกรรมทรงบุษบกยอดปราสาท 9 ยอด

เป็นคนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นลูกคนที่ 7 ในบรรดาพี่น้อง 9 คน ของคุณพ่อพิน กับคุณแม่แย้ม ทองผุด

Advertisement

การศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านนาพรุ ก่อนจะมาต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนทุ่งสงวิทยา โดยเลือกเรียนศิลป์-คณิต

ความที่ครอบครัวไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไร ของเล่นจึงเป็นสิ่งที่หาประดิษฐ์เอง เช่น เก็บใบไม้มาตัดเป็นตัวหนัง (ตะลุง) เล่นตามประสา ทำว่าว สานข้อง

“ผมเองไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9”

ก่อเกียรติบอกเสียงเครือด้วยความตื้นตัน และเล่าว่า ความที่ตนเองเป็นคนเก่งวิชาคณิตศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้โควต้าเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช กระทั่งจบ ปวช. ซึ่งที่นี่เรียกได้ว่าเป็นเบ้าหล่อหลอมพื้นฐานความรู้ทางด้านศิลปะเบื้องต้น ที่เขาปักธงตั้งเป้าว่าจะต้องเข้าไปเป็นลูกศิษย์พระพิฆเนศให้ได้

แม้ว่าเอ็นทรานซ์ 2 ครั้ง 2 คราว ก็ยังพลาดหวัง แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้เขามุเรียนหนักขึ้น กระทั่งจบ ปวส.ที่โรงเรียนเพาะช่าง

ความที่มุ่งจะศึกษาต่อปริญญาตรี ก่อเกียรติบอกว่าตอนนั้นสอบได้ทุนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น แต่ก็ทิ้งโอกาสนั้นไป เพราะสอบได้ที่มหาวิทยาลัย มศว ประสานมิตร คณะศึกษาศาสตร์ เอกศิลปศึกษา

“พ่อมักสอนผมว่าการศึกษาจะช่วยให้ความยากจนหายไป ให้ตั้งใจเรียน ตอนนั้นผมไปปรึกษาอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ซึ่งท่านให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการเรียนผมมาตลอดระหว่างที่เรียนที่เพาะช่าง ท่านเห็นด้วยที่จะเลือกศึกษาต่อที่ มศว เพื่อจะได้เรียนรู้ระบบการคิด”

หลังจากสำเร็จปริญญาตรีแล้ว ก่อเกียรติสอบเข้าทำงานที่ศิลปากร ตำแหน่งนายช่างศิลปกรรม ตั้งแต่ปี 2539 และได้เรียนสรรพวิชามากมายทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติจาก พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ได้รับความไว้วางใจให้ช่วยงานต่างๆ เรื่อยมา

_DSC7962

มาอยู่กับท่านอาวุธได้อย่างไร?

วันแรกที่เข้ารายงานตัวที่ตึกแดง กรมศิลปากร ปี 2535 ท่านอาวุธ (ตำแหน่งผู้อำนวยการกองสถาปัตยกรรม) นั่งเขียนแบบอยู่ในห้อง เงยหน้าขึ้นมาบอกว่า “ยินดีนะ” ผมก็ถามว่าท่านทำอะไร อย่างไร เพราะผมเป็นคนที่ชอบถาม อยากรู้ก็จะถามตรงๆ ท่านอาวุธก็ไปหยิบร่างเดิมมาให้ดูและอธิบายให้ฟังด้วยความเมตตา ผมเป็นคนเดียวที่เก็บแบบร่างของท่านไว้ทั้งหมด รวมทั้งที่เป็นสเกตช์เล็กๆ เพราะพ่อบอกว่าจะทำอะไรต้องศึกษาลงไปถึงรากฐานความคิดว่าเป็นมาอย่างไร คือเราเป็นคนใจโต แต่ต้องดูกาลเทศะด้วย

ขอบข่ายงานของนายช่างศิลปกรรม?

เข้าไปทีแรกผมจะอยู่ในฝ่ายสำรวจพื้นที่ มีท่านเกรียงไกร สัมปัชชลิต เป็นหัวหน้า อย่างในงานบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเก่า เวลาที่มีการลงพื้นที่ไปสำรวจ ผมจะต้องไปสเก๊ตช์แบบ เขียนลวดลาย เรียกว่าการสำรวจรังวัด เพื่อใช้ประเมินราคาด้วย และใช้เป็นแนวทางในการบูรณะว่าต้องซ่อมตรงไหน อย่างไร ผมเองเวลาที่เข้าอาคารแล้วผมจะไปดูโครงสร้างอาคารทั้งหมด

เริ่มเดินตามหลังท่านอาวุธตั้งแต่เมื่อไหร่?

ต้องย้อนก่อนว่า ทำงานอยู่ปีกว่าก็สอบปริญญาโทได้ คณะครุศาสตร์ ศิลปศึกษา ที่จุฬาฯ ตอนนั้นคิดจะลาออก เพราะไม่มีเวลาเรียน แต่พี่สุวิชา เจริญทิพย์ (หน.งานเขียนแบบ ในขณะนั้น) ทักท้วงไว้ว่าอย่าเลยเจ้านาย (ท่านอาวุธ) ชอบคุณนะ ท่านเห็นฝีไม้ลายมือคุณ ฉะนั้นสัปดาห์หนึ่งเรียน 3 วัน พอกลับมาตอนเย็นจะทำงานจนดึกดื่น มีอยู่วันหนึ่งท่านอาวุธซึ่งทำงานกลับดึกเป็นประจำขับรถผ่านตึกแดงแล้วเห็นผมยังทำงานอยู่ ก็ทักทายและชมว่าผมขยัน ทำให้ผมบอกตัวเองว่าต้องขยันมากขึ้นไปอีก หลังจากนั้นได้รับโอกาสให้ช่วยเหลืองานเป็นประจำ

กระทั่งปี 2539 ผมได้รับผิดชอบงานเขียนแบบพระเมรุสมเด็จย่า ตอนนั้นผมอายุ 37 ปี ถือเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในการทำเมรุ โดยท่านอาวุธจะสเกตช์แบบคร่าวๆ ไว้ครึ่งหนึ่งแล้วให้ผมมาขึ้นทรงต่อ รวมทั้งเขียนรูปตัดด้วย ฉะนั้น ถ้าถามว่าท่านสอนเราตอนไหน ก็คือสอนระหว่างที่ทำงาน

ปี 2539 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ นอกจากได้โอกาสรับผิดอบออกแบบพระเมรุสมเด็จย่าแล้ว มีบริษัทข้างนอกจ้างทำรังวัดที่โน่นที่นี่อีกหลายงาน บางครั้งไปสอนนักศึกษาเพาะช่าง กระทั่งถึงเวลาที่เราต้องถามตัวเองว่า เราจะเลือกสายครูหรือสายสถาปัตย์ จะเรียนต่อหรือไม่เรียนต่อ เผอิญว่าได้รับโอกาสให้ออกแบบพระที่นั่งกาญจนาภิเษกจากท่านอาวุธ มีโอกาสได้ทำงานขยายแบบกับท่าน จึงค้นพบตัวเองและเลือกมาทางสายสถาปัตย์

การทำงานขยายแบบมีความสำคัญอย่างไร?

สำคัญมากครับ คนที่ไม่เข้าใจ ไม่มีพื้นฐานด้านศิลปะ ด้านสถาปัตย์จะทำไม่ได้ เพราะต้องเขียนในทุกรายละเอียดในสัดส่วนเท่าจริง ผมได้เขียนขยายแบบพระที่นั่งกาญจนาภิเษกเป็นงานแรก เขียน 3-4 แบบแล้วให้ท่านคัดเลือก โดยเทียบเคียงจากงานที่นั่นที่นี่ ผมจะเปิดหนังสือให้ดูเลย ไม่ว่าจะเป็นเล่มไหนผมมีหมด เพราะทุกครั้งที่ผมได้เงินจากการทำงานรังวัด 10,000 บาท ผมต้องเอา 1,000 บาทไปซื้อหนังสือก่อน ถือว่าหนังสือเป็นตัวเปิดให้เราเข้าใจได้เร็วขึ้น ที่ห้องหนังสือที่บ้านจึงเป็นสถานที่ที่ผมใช้ทำงาน เพราะสามารถวางแบบแล้วเวลาที่ติดขัดตรงไหนสามารถค้นหนังสือมาดูได้ทันที

กับงานออกแบบพระเมรุมาศครั้งนี้เข้ามารับงานได้อย่างไร?

หลังจากข่าวสวรรคต ท่านรอง (รองอธิบดีกรมศิลปากร) กิตติพันธ์ พานสุวรรณ โทรมาเรียกให้ไปพบไปคุยเรื่องพระเมรุว่าจะออกแบบได้อย่างไรบ้าง ผมให้ความเห็นไปว่าน่าจะเทียบเคียงได้กับพระเมรุในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 เท่านั้น ซึ่งตามราชประเพณีสืบทอดมาว่าถ้าเป็นพระมหากษัตริย์จะทำได้แค่เป็นบุษบกยอดปราสาทเท่านั้น

วันรุ่งขึ้นในที่ประชุมมีท่านอธิบดีเป็นประธาน ผมบอกว่าท่านอาวุธสอนไว้เลยว่าการออกแบบพระเมรุต้องออกแบบหลายแบบ อย่างเมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ จะมีออกแบบทั้งแบบยอดปรางค์ และยอดปราสาทให้เลือก ในที่ประชุมผมร่างขึ้นมา 3 แบบเลย เป็นบุษบกยอดเดียว บุษบก 5 ยอด และบุษบก 9 ยอด ที่ต้องร่างแบบเพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้ทรงมีบันทึกเลยว่าพระเมรุจะเป็นลักษณะอย่างไร

หลังจากประชุมครั้งแรก ท่านอธิบดีให้กลับไปร่างแก้ไขแบบ ปรากฏว่าคืนนั้นผมนั่งร่างแบบจนถึงตี 4 ขณะที่กำลังคิดร่างแบบบุษบก 9 ยอด หันไปเห็นภาพโปสการ์ดบนผนังเป็นภาพ “พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ” จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วได้ความคิดว่าที่คิดไว้ในใจจะให้เรือนยอดบุษบกเกาะกลุ่มกัน โดยให้เรือนยอดตรงกลางเป็นใหญ่เหมือนเป็นมุขอาคารแล้วเอาบุษบกอีก 4 ยอดมาขนาบข้างนั้น ไม่จำเป็นต้องให้รวมกันเป็นกลุ่มก็ได้ แต่เรือนยอดสามารถออกแบบให้แยกเป็นอิสระจากกันได้ เป็นที่มาของพระเมรุ 9 ยอดพิเศษ

เมื่อคำนวณจากพื้นที่ของสนามหลวง ซึ่งมีพื้นที่แค่ 90 เมตร แค่พระเมรุที่วางไว้ทีแรกที่ 80 เมตรใส่เข้าไปก็เต็มแล้ว ต้องค่อยๆ ลดสัดส่วนของลง กระทั่งลงตัวที่ ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร

แบบที่นำเสนอในที่ประชุมครั้งที่ 2 จึงมี 4 แบบ?

ครับ ขณะเดียวกันก็มีอีกทีมที่ร่างแบบเข้าเสนอในที่ประชุมด้วย คือ อาทิตย์ ลิ้มมั่น ณรงค์ฤทธิ์ ทองแสง และ นฤพร เสาวนิตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มสถาปนิก กรมศิลปากร

หลังการประชุมครั้งแรกแต่ละคนก็กลับมาแก้ไขใหม่ นฤพร เสาวนิตย์ ซึ่งเป็นสถาปนิกของกรมศิลปากร ก็ออกแบบบุษบก 9 ยอดเช่นกัน

คืนนั้นตอน 4 ทุ่ม ท่านอธิบดีโทรมาว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งให้เข้าเฝ้าฯเรื่องพระเมรุ รุ่งเช้า (วันที่ 15 ตุลาคม) ผมจึงนำแบบเข้าไปกราบบังคมทูล โดยท่านอธิบดีเป็นผู้นำแบบไปเสนอ ของผม 4 แบบ และของ ณรงค์ฤทธิ์ ทองแสง อีก 1 แบบ ปรากฏว่าสุดท้ายเหลือ 2 แบบที่เป็นงานออกแบบของผม

ตอนนั้นในใจผมมีความรู้สึกอิ่มใจ ปีติที่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นใฝ่ฝันมานาน นี่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เรามีโอกาสได้รับ เพราะแบบที่อยู่ในระหว่างการตัดสินพระทัยเป็นแบบของเรา แต่ไม่ได้ดีใจเลยนะ ไม่เคยคิดถึง ไม่ได้อยากให้งานพระเมรุเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป แต่มันเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรที่ต้องถวายรายงานการออกแบบ

ทรงมีรับสั่งอย่างไร?

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งหลายสิ่ง ผมจดไว้เลย ท่านรับสั่งว่า “ไม่ให้เหมือน” คือไม่ให้เหมือนแบบที่เคยผ่านมา และควรมีพื้นที่สำหรับ “เตาเผา” หลังจากท่านอธิบดีจะอธิบายรายละเอียดของแบบแล้ว ทีนี้ผมก็แนะนำตัว ท่านรับสั่งว่า “จำคุณได้” และท่านยังทรงถามว่า “ชอบแบบไหน” ผมทูลว่า ข้าพเจ้าชอบแบบ 9 ยอดครับ ซึ่งเป็นคำพูดที่ผิด ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ ยังบอกเลยว่า ตื่นเต้นล่ะสิถึงได้พูดผิด และอธิบายให้ฟังว่าเวลาพูดกับเจ้านายต้องใช้คำขึ้นต้นอย่างไร คำลงท้ายอย่างไร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเลือกบุษบก 9 ยอดแบบที่สอง รับสั่งว่า “ดูเป็นอิสระ ลดหลั่นสวยงาม” และยังสอดคล้องกับที่ท่านมีรับสั่งว่า “ไม่ให้เหมือนก่อน” ผมยังทูลถามถึงรูปแบบศิลปกรรม ท่านรับสั่งว่า ปล่อยให้เป็นไปตามจินตนาการของผู้ออกแบบ

บุษบก 9 ยอด มีนัยอะไร?

มี 4 นัยด้วยกัน โดยหลักการใหญ่ๆ แล้วการกำหนดรูปแบบมาจากเพื่อให้สมพระเกียรติ และมีอยู่ครั้งหนึ่งผมถามท่านอธิบดีที่ว่าตามหลักไตรภูมิ

เมรุครั้งนี้เป็นระดับพระมหากษัตริย์ ท่านบอกว่าเราจะไม่ใช้ของที่มีอยู่แล้ว เพราะฐานันดรศักดิ์ท่านสูงกว่า ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยทำแต่เมรุระดับเจ้าฟ้า ซึ่งเปิดความคิดไปอีก 3 ข้อ ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งคือ ไม่ให้เหมือน เปิดจินตนาการตามผู้ออกแบบ และเป็นเมรุสำหรับพระมหากษัตริย์ ระหว่างนั้นผมได้ความคิดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีสร้อยพระนามเป็น “รามาธิบดี” คือ รามาวตาล คือพระนารายณ์ อีกนัยคือ ในหลวงท่านทรงปกครองบ้านเมืองโดยใช้หลักทศพิธราชธรรม ก็คือหลักของพระพุทธเจ้า มาตีความว่า ท่านเป็นพระโพธิสัตว์อีกปางหนึ่ง เมื่อคิดได้อย่างนี้ความคิดก็หลั่งไหลออกมา อย่างเสาที่ประดับทั้งหมดเคยออกแบบเป็น “เสาหงส์” จะใช้เป็น “ครุฑ” ซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์

บนพระจิตกาธานออกแบบเป็น “หน้าพรหม”?

ทีแรกในใจผมคิดอยากจะออกแบบเป็นดอกไม้ถวายพระองค์ท่าน แต่เมื่อขอคำแนะนำไปที่ท่านมหาราชครู (พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ) ว่าควรจะเป็นหน้าพรหม เป็นดอกไม้ หรือเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านพระมหาราชครูแนะว่าควรเป็นหน้าพรหม เพราะเป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ เรื่องของพรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมของการปกครองคือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา และยังให้ข้อคิดว่า การออกแบบเมรุต้องมีหลัก 4 ข้อ ทำความคิดให้ออก คือ 1.ออกแบบ”เพื่อใคร” ใครเป็นคนใช้ 2.”ทำได้” เขียนแบบแล้วต้องเขียนออกมาได้ 3.”ทำถูก” คือทำถูกต้องตามราชพระเพณี เป็นงานลำลอง เรียบง่าย มีการลดบราลี ลดเพื่อให้งามให้ได้จังหวะลดหลั่นสวยงาม 4.”ทำสำเร็จ” ซึ่งข้อนี้ท่านอาวุธ เงินชูกลิ่น เคยพูดไว้ว่า “ทำงานดี ไม่ทันเวลา คุณค่าไม่มี” หมายความว่าต่อให้งานเลิศเลอแค่ไหน แต่ถ้าเลยเวลาที่ต้องการ ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว ทั้งสี่ข้อนี้ผมใช้เป็นหลักการในการทำงานที่ผ่านมา และใช้มาจนถึงทุกวันนี้

มีการนำโครงการพระราชดำริมาอยู่ในการออก แบบพระเมรุมาศ?

ในส่วนของการออกแบบพระเมรุมาศ ที่ผ่านมามีเพียง 2-3 ชั้น แต่ครั้งนี้ออกแบบเป็น 4 ชั้น ซึ่งนอกจากลานพื้นอุตราวรรต สำหรับการเดินเวียนซ้ายแล้วยังมีชั้นชาลาอีก 4 ชั้น แต่ละชั้นจัดวางงานประติมากรรมที่ไม่เหมือนกัน ส่วนชาลาที่ 4 เป็นชั้นที่ประดิษฐานพระจิตกาธาน จะมีฉากบังเพลิงเขียนภาพจิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 9 ฝีมือช่างสิบหมู่ เป็นเรื่องราวการกำเนิดพระนารายณ์สิบปาง แต่เลือกมา 8 ปาง โดยถือว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศคือนารายณ์ปางที่ 9 คือพุทธาวตาร

แต่ละปางเรื่องราวจะสอดคล้องกับผังพระเมรุ ซึ่งในส่วนนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระราชปรารภว่าอยากให้มีโครงการพระราชดำริอยู่ด้วย ซึ่งท่านพระมหาราชครูแนะนำว่าให้จัดวางเป็นหมวดหมู่ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เช่น ดิน-เป็นโครงการแกล้งดิน น้ำ-เป็นกังหันชัยพัฒนา ลม-โครงการฝนหลวง ไฟ-โครงการไบโอดีเซล เป็นต้น โดยเขียนอยู่บนฉากบังเพลิงด้านหน้า นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำชิ้นงานจริงวางอยู่ที่มุมทั้งสี่ของพระเมรุมาศ

ภาพนิ่ง 1

ความพิเศษของการออกแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้

ความใหญ่ของบุษบก และเป็น 7 ชั้นเชิงกลอน ซึ่งที่ผ่านมาเพียง 5 ชั้นเชิงกลอน บริเวณชั้นเหมเราปั้นพระพุทธรูปอยู่ตรงนั้น สื่อนัยว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ สื่อว่ากำลังสร้างสวรรค์ชั้นดุสิต นอกจากนี้ การออกแบบให้มีเตาเผาอยู่กึ่งกลางพื้นที่ สำหรับประดิษฐานหีบพระบรมศพเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีการก่อน

และชั้นที่จะขึ้นสู่พระเมรุจากเดิมเคยออกแบบเป็น 2-3 ชั้น แต่นี่ออกแบบให้เป็น 4 ชั้น เพราะมองจากด้านนอกถ้าต่ำเกินไปจะไม่สวย รวมทั้งการขุดสระน้ำเป็นความเหมือนจริงของเขาพระสุเมรุ จากเดิมที่ทำเป็นแค่สัญลักษณ์เขาพระสุเมรุ เป็นการเปลี่ยนความคิดของการออกแบบ และที่พิเศษจริงๆ คือ การใช้ “เสาครุฑ” ทั้งหมด แทนจากเดิมนิยมทำเสาหงส์ เพราะครุฑเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image