คอลัมน์ แท็งก์ความคิด: “ธรรม” ที่ทุกคนพึงมี

เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับทราบจากคณะรัฐมนตรีเรื่องอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สืบราชสันตติวงศ์ แล้ว

พสกนิกรทั่วไทยล้วนปีติ เปล่งเสียงทรงพระเจริญกึกก้อง

แม้จะทราบล่วงหน้าว่าองค์พระรัชทายาทจะทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา แต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้เมื่อกาลเวลานั้นมาถึงจริง

หลังจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำความขึ้นกราบบังคมทูลอัญเชิญองค์พระรัชทายาทสืบราชสมบัติและพระองค์ทรงรับแล้ว

Advertisement

ต่อไปการเรียกขานพระนามของพระองค์ต้องเปลี่ยนไป

เปลี่ยนจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

Advertisement

จำได้ว่า ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความรู้ผ่านข่าว

บอกว่าช่วงนี้ยังเรียกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ไปจนกว่าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนไปเรียกเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ในวันที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดสัมมนาและเชิญอาจารย์วิษณุไปบรรยายเรื่อง “ทศพิธราชธรรม นำทางราษฎร์-รัฐ” เมื่อสัปดาห์ก่อน

อาจารย์วิษณุให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พราหมณ์จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 5 อย่าง

ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี (พัดวาลวิชนีและพระแส้จามรี) และ ฉลองพระบาทเชิงงอน

อาจารย์วิษณุอธิบายว่า เครื่องราชกกุธภัณฑ์แต่ละชนิดมีความหมาย

พระมหาพิชัยมงกุฎ มีนัยยะว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พระมหากษัตริย์ต้องแบกพระราชภาระเอาไว้หนักยิ่งกว่าพระมหาพิชัยมงกุฎที่ทรงสวมอยู่

พระแสงขรรค์ชัยศรี ให้หมายถึงความยุติธรรม ประหนึ่งเส้นตรงของรอยพระขรรค์ที่ฟันลงไป

ธารพระกร คือ คทาไม้เท้า มีความหมายว่ายึดหลักเกณฑ์

ขณะที่ วาลวิชนี มีพัดใบตาลและแส้จามรี ให้ความหมายถึงหน้าที่การบำบัดทุกข์บำรุงสุข

ส่วน ฉลองพระบาทเชิงงอน นั้น ประดุจราษฎร์ที่รองอยู่ใต้พระบาททุกย่างก้าวที่เสด็จพระราชดำเนิน

คอยปกป้องมิให้เสี้ยนหนามทิ่มแทงพระบาทได้

หลังจากพระมหากษัตริย์ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์แล้วจะมีพระปฐมบรมราชโองการ

ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

และนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเหมือนดั่งพระปฐมบรมราชโองการ

นั่นคือ “ครองแผ่นดินโดยธรรม”

นั่นคือ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

สำหรับคำว่า “ธรรม” อาจารย์วิษณุขยายความคำว่า “ธรรม” ว่ามีหลากหลาย

“ทศพิธราชธรรม” ตามหัวข้อที่บรรยายในวันนั้นก็เป็นหนึ่งในธรรมของพระมหากษัตริย์

ธรรม 10 ประการ ประกอบด้วย ทาน คือ การให้ ศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา และใจ

บริจาค คือ การเสียสละ อาชวะ คือ การสุจริตต่อหน้าที่การงานของตน ต่อมิตรสหาย ต่อองค์กร

มัทวะ คือ มีอัธยาศัยอ่อนโยน ตบะ คือ ความเพียร อักโกธะ คือ การไม่แสดงอาการโกรธ

อวิหิงสา คือ การดำเนินชีวิตไปตามสายกลาง ขันติ คือ รักษาสภาวะปกติของตนไว้

อวิโรธนะ คือ ความหนักแน่น ถูกต้อง เที่ยงธรรม

ธรรมทั้ง 10 ประการนี้ พระราชาทรงถือและปฏิบัติ

แต่ละข้อเป็นคุณธรรมความดีงามทั้งสิ้น

ในการปาฐกวันนั้น เห็นว่า “ความดี” ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำ

ทศพิธราชธรรม แม้จะมองกันว่าเป็นธรรมของพระราชา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความดีเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงมี

ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน พึงมีและปฏิบัติให้ครบถ้วน

ทั้งการให้ การประพฤติอยู่ในศีล รู้จักเสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต

ทั้งอ่อนโยน มีความเพียร ไม่แสดงความโกรธ เดินสายกลาง

ทั้งรักษาขันติ คิดและทำถูกต้อง มีความเที่ยงธรรม

ทุกข้อทุกถ้อยความคือคุณสมบัติของ “ความดี”

เป็น “ความดี” ที่พึงมีกันทุกคน

ดังนั้น ถ้าคนไทยยึดทศพิธราชธรรมในการคิดและการทำ

คุณความดีที่คิดและทำจะนำทางสู่ความงอกงาม

ทศพิธราชธรรมจะนำทางราษฎร์ ทศพิธราชธรรมจะนำทางรัฐ

ทศพิธราชธรรมจะนำทางไทยสู่ความสุขและความเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image