คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว: ข่าวปลอม (จบ)

ประเด็น “ข่าวปลอม” จากเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อหารายได้ผ่านโฆษณาเน็ตเวิร์ก AdSense ของกูเกิล ระบาดบนโซเชียลมีเดียในสหรัฐ

กระทั่ง เฟซบุ๊ก และกูเกิล เตรียมจะ “เล่นงาน” เว็บไซต์ข่าวปลอมเหล่านี้ ด้วยการเขียนอัลกอริธึมให้ “กรอง” เข้มข้นขึ้น รวมทั้งอัพเดตอัลกอริธึมวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อใช้จัดการกับเนื้อหาข่าวปลอม

ความที่เว็บข่าวปลอม หรือลิงก์ข่าวปลอม ระบาดเป็นดอกเห็ด

ในประเทศที่มีความนิยมด้านอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ล้วนหนีไม่พ้นปัญหานี้

Advertisement

นั่นเพราะ “เม็ดเงิน” จากโฆษณาออนไลน์ที่วัดจาก “ยอดคลิก” เป็นสิ่งยั่วยวน จึงพยายามครีเอตคอนเทนต์ในแบบต่างๆ เพื่อให้คนคลิก จนมาสู่การ “กุข่าว” เพื่อล่อให้เราคลิกนั่นเอง

เม็ดเงินที่ว่าเยอะขนาดไหน?

ในต่างประเทศ “ข่าวปลอม” สร้างรายได้ให้เจ้าของเรื่องที่เขียนถึงเดือนละ 10,000 ดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบรายได้ของ “นักเขียนข่าวปลอม” กับ “นักข่าวจริง” แตกต่างกันลิบ นักข่าวปลอมทำเงินได้ปีละ 120,000 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนนักข่าว (สหรัฐ) ที่เขียนข่าวจริงๆ มีรายได้เฉลี่ย 45,560 ดอลลาร์ต่อปี

Advertisement

ตัวเงินขนาดนี้ จึงมีสาย “กล้ามั่ว” ทำข่าวปลอมออกมานั่นเอง

ส่วนมุมมองตอนทำนั้นคิดอย่างไร…

สื่อกระแสหลักอย่าง “บีบีซี” ไปสัมภาษณ์ผู้ผลิตเว็บ “ข่าวลวง” ที่ชื่อ Southend News Network แสดงความเห็นว่า “ไม่ได้ทำอะไรผิด คนอ่านแล้วไม่เช็กก่อนแชร์เอง”

ทั้งยังบอกว่า ต่อให้ขึ้นหัวไว้เลยว่านี่คือข่าวปลอม หากมีคนอ่านแชร์ไปอีกอยู่ดี…ถามว่านี่เป็นความผิดใคร?

ผู้ผลิตเว็บข่าวปลอม อ้างว่าการกระทำนี้เพื่อต้องการสร้างความบันเทิงทางข่าว…

มีอะไรต้องผิดหรือไม่กับกรณีนี้?

เขาบอกว่า… “มันเป็นเรื่องคนอ่านว่าเขาเลือกที่จะเชื่อสิ่งที่อ่านบนอินเตอร์เน็ตเท่าไหร่ และพวกเขาก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลที่ตามมาเอง”

แถมยังให้สัมภาษณ์ตอกกลับว่า “พวกเขา (สื่อหลัก) พิมพ์ข่าวที่เกิดขึ้นจริงแต่ใส่ความไร้สาระตลกขบขันเข้าไปในเรื่องพวกเขาด้วย และนั่นก็ได้พาพวกเขาเขยิบไปสู่รอยต่อของข่าวปลอม”

“ถ้าเฟซบุ๊กจะหาช่องจัดการลงโทษเว็บข่าวปลอมก็ควรจัดการกับเว็บข่าวจริงด้วย” ผู้ผลิตเว็บข่าวปลอมในอังกฤษระบุ

อย่างไรก็ดี บทสรุปของเรื่องนี้ จึงถูกโยนมาเป็นภารกิจของ “คนอ่าน”

กฎเหล็กของการอ่านข่าวเว็บประเภทที่ไม่ใช่เว็บสื่อหลัก จึงต้อง “สตรอง” “สติ” และ “สงสัย” ไว้ก่อน

เพราะเว็บข่าวปลอมมักพาดหัวสีสันเกินจริงไว้ลวง ส่วนใหญ่คนเห็นพาดหัวน่าตื่นเต้นก็รีบแชร์โดยยังไม่ได้อ่านข้างใน

อีกทั้งปัจจุบันบางเว็บยังรู้ทันขนาด “ดัก” คนอ่าน ด้วยการให้ข้อมูลเนื้อหาถูกต้องก่อน แต่อ่านไปสักพักใส่สีตีไข่ด้วยข้อมูลเท็จนั่นปะไร

ให้ดีก่อนแชร์อย่าอ่านแค่พาดหัว ควรตรวจสอบเนื้อใน ดูลิงก์ข่าว ดูที่มาของสื่อ ถ้าเวลาพอก็ตรวจสอบที่มาของข่าวว่าเผยแพร่มาจากแหล่งข้อมูลไหน

เพราะเราอยู่ในยุคที่การ “อ่านข่าว” ตามโซเชียลมีเดียต้อง “เหนื่อย” กันถึงเพียงนี้ (ฮา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image