อาศรมมิวสิก : เสียงไหกลวงกับไหถ่วงน้ำ เป็นเสียงใหม่ตามธรรมชาติ

เสียงไหกลวงกับไหถ่วงน้ำ เป็นเสียงใหม่ตามธรรมชาติ

เมื่อ 28 ปีมาแล้ว (พ.ศ.2538) มีฝรั่งคลั่งแคนและรู้จักกันดีคนหนึ่ง เขาชื่อ บิล คูเทีย (Bill Coutiar) เป็นชาวอเมริกันทำงานในโรงงานทำอะไหล่รถยนต์ เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งก็จะออกเดินทางเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ท่องเที่ยวเพื่อต้องการค้นหาชีวิต เมื่อมาถึงเมืองไทยก็ได้เรียนรู้และชอบการเป่าแคน ชอบแคนเป็นชีวิตจิตใจ แล้วได้ค้นพบว่าที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีเครื่องปั้นดินเผาอย่างดี บิล คูเทีย ก็ไปค้นหาที่บ้านปั้นหม้อปั้นไหที่เกาะเกร็ด เลือกไหซึ่งทำไว้ใส่น้ำ แล้วเปลี่ยนไหเอามาตีเป็นกลอง โดยจ้างให้ชาวบ้านเจาะรูไหเพิ่มด้านข้าง ทำให้ไหมี 2 รู คือที่ปากไห 1 รู และด้านข้างของไหอีก 1 รู รวมความเป็นไหที่มี 2 รู เผาไหแล้วก็เอามาทดลองตีเป็นกลอง ไห 2 รูไม่ได้ทำเพื่อใส่น้ำอีกต่อไป

บิล คูเทีย ใช้ไหเป็นกลอง เที่ยวเป่าแคนและตีไหโชว์อยู่ในเมืองไทยอยู่หลายเดือน เมื่อเที่ยวจนหมดเงินก็กลับบ้านในอเมริกา ไปทำงานในโรงงานทำอะไหล่รถยนต์ต่อ ขณะเดียวกันก็ได้สั่งไหจากเกาะเกร็ดไปขายผ่านอินเตอร์เน็ตในสมัยนั้น จากไหราคา 80 บาท เขาเอาไปขายเป็นกลองไห 500 เหรียญ (17,500 บาท) บิล คูเทีย ได้มอบไหไว้ให้เป็นที่ระลึก 2 ลูก แต้มสีลูกหนึ่งและเป็นไหดิบๆ ไม่แต้มสีอีกลูกหนึ่ง

เมื่อ คุณทยารัตน์ โสภณพงษ์ (ทอมมี่) นักกลองเครื่องเคาะวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องเครื่องจังหวะของท้องถิ่นไทย รวมทั้งกลองชาวบ้าน กลองอีสาน กลองไทย ก็ได้มาปรึกษาว่าจะมีทิศทางอย่างไรดี ก็ให้คำแนะนำไปว่า ให้เอาไหไปลองตีเป็นกลองเป็นจังหวะ เพื่อจะค้นหาเสียงใหม่ๆ ประกอบกับวงไทยซิมโฟนีออเคสตรามีโครงการจะไปเล่นดนตรีที่พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2566 นี้พอดี

Advertisement

เมื่อเดินทางไปสำรวจพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี ก็ได้เลือกแสดงที่พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง ขณะเดินเข้าไปในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง ก็รู้สึกว่าได้ยินเสียงไหแตกดังเต็มหูทีเดียว สมมุติว่า ถ้าหากเอาหมอลำ หมอแคน หมอพิณ และหมอไห เล่นด้วยกันโดยใช้เสียงธรรมชาติ แล้วเอาเสียงไปเปิดในพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง เพื่อให้ผู้เข้าชมดูไหแตกในพิพิธภัณฑ์ แล้วได้ยินเสียงเคาะไหในเวลาเดียวกัน ก็คงจะเกิดจินตนาการบรรเจิดขึ้นไม่น้อย

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ที่ห้องแสดงของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้ชวน หมอพิณ หนึ่งศรัณย์ ปรึกไธสง เยาวชนที่เคยชนะการประกวดของตลาดหลักทรัพย์ จากกาฬสินธุ์ ชวน หมอแคน นิรมิต สีหานู จากขอนแก่น ซึ่งนักดนตรีหมอพิณและหมอแคนทั้งคู่เป็นลูกศิษย์ของปรมาจารย์ครูดนตรีอีสาน ครูคำเม้า เปิดถนน (พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ) โดยมี หมอไห ทยารัตน์ โสภณพงษ์ จากวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา ซึ่งนักดนตรีทุกคนต่างมีประสบการณ์สูง มีฝีมือสูง และเป็นนักดนตรีมืออาชีพอยู่แล้ว เมื่อได้ให้โจทย์ไปทำการบ้านก่อนว่าจะบันทึกเสียงเพลงอีสานโดยใช้เสียงธรรมชาติดิบๆ

โจทย์ที่ให้เป็นการบ้านกับนักดนตรีไป โดยให้นำลายเพลงอีสานที่สำคัญ อาทิ ลำล่อง ลำผู้ไท ตังหวาย คอนสวรรค์ เต้ย ศรีโคตรบูรณ์ แมงตับเต่า ลำเพลินสังข์สินชัย ลำเพลินประยุกต์ และลายเซิ้งบั้งไฟ มาบันทึกด้วยเครื่องพิณ แคน ไห มาเล่นทำนองพื้นๆ ตามฝีมือของนักดนตรีที่มี เพื่อจะกลับไปค้นหาความรู้สึกที่เป็นรากของทำนองเพลงให้มากที่สุด แล้วค่อยๆ เติมฝีมือให้มีความวิจิตรพิสดารของเสียงดนตรีให้มากขึ้น

Advertisement

สำหรับไห 2 ใบนั้น ได้เอา “ยางในล้อจักรยานมาผูกที่ปากไห” เพื่อใช้ดีดเป็นเสียง เมื่อต้องการสีสันของเสียงไหให้แตกต่างไปจากการตีหรือเคาะ อีกใบหนึ่งให้เติมน้ำลงไปในไหเพียงครึ่งไห เพราะจะทำให้เสียงไหดังกังวานและมีความลุ่มลึกมากขึ้น ถ้าหากใส่น้ำไปในไหน้อย เสียงก็จะดังกังวานได้น้อย ถ้าเติมน้ำมากไปถึงค่อนไห (3 ใน 4 ส่วน) เสียงไหก็จะแน่นและอึดอัด เมื่อเติมน้ำลงเพียงครึ่งไห เสียงก็จะดังก้องกังวานดีมาก เพราะน้ำเป็นตัวนำคลื่นเสียงที่ดีที่สุดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

หมอพิณ คำเม้า เปิดถนน ครูดนตรีอีสาน

เมื่อบันทึกเสียงเพลงอีสานเสร็จ “พิณแคนไห” นักดนตรีทุกคนต่างรู้สึกตื่นเต้นกับเสียง “ไหกลวงและไหถ่วงน้ำ” มาก เพราะเป็นเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เป็นเสียงที่คาดไม่ถึง ที่สำคัญก็คือไหจะให้เสียงที่ลึกทะลวงเข้าไปข้างในหัวใจ ทั้งนี้เพราะเสียงไหกลวงและไหถ่วงน้ำนั้น คนในยุคปัจจุบันไม่มีประสบการณ์ในการฟังเสียแล้ว เนื่องจากเสียงไหที่เป็นเสียงตามธรรมชาตินั้นไม่ดังเพียงพอที่จะสู้กับเสียงที่มีอยู่รอบๆ ตัวในปัจจุบัน เสียงไหที่เป็นเสียงธรรมชาติได้ถูกทำลายไปกับเครื่องขยายเสียง เสียงจากเครื่องยนต์เครื่องจักร เสียงเครื่องขยายที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เสียงที่ดังอื้ออึงทำลายประสาทการฟังของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งทำให้หูของคนปัจจุบันไม่ได้ยินเสียงเบาอย่างเสียงของไห ไม่สามารถรับรู้เสียงที่ละเอียดจากธรรมชาติได้ จึงทำให้คนในปัจจุบันไม่ได้เรียนรู้ความไพเราะของเสียงจากธรรมชาติคือไม่รู้จัก

ยิ่งเด็กเล็กๆ ในปัจจุบันพวกที่ “ตาติดจอ” ก็ไม่สามารถพัฒนาหูให้ได้ยินเสียงธรรมชาติได้ ทั้งหูและตาก็ไปจดจ่อฟังเสียงจากจอมือถือ จอไอแพด หรือจอโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ฟังอะไรอีกต่อไป แต่จะเลือกฟังและเลือกได้ยิน ขณะเดียวกันก็จะปฏิเสธเสียงที่มาจากธรรมชาติและเสียงที่อยู่รอบตัว ทั้งๆ ที่หูเด็กไม่ได้ตึง แต่ฟังไม่ได้ยิน เพราะเลือกที่จะไม่ฟัง

เมื่อได้ปรับเสียงไหกับเสียงพิณและเสียงแคนลงตัวแล้ว ลำดับต่อไปคือการบันทึกเสียงลายเพลงอีสานที่เลือกไว้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ลายลำล่อง ลำผู้ไท ตังหวาย แมงตับเต่า คอนสวรรค์ เต้ย ศรีโคตรบูรณ์ ลำเพลินสังข์สินชัย ลำเพลินประยุกต์ และลายเซิ้งบั้งไฟ โดยบันทึกเสียงด้วยระบบเสียงในห้องไม้ธรรมชาติ

จากนั้นนำบทเพลงจากเสียงไห เสียงพิณ และเสียงแคน ไปเรียบเรียงใหม่ ใช้สำหรับวงเครื่องสายฝรั่ง มีไวโอลิน วิโอลา เชลโล เบส ซึ่งเป็นวงออเคสตราและเสียงไห ทำให้รักษาเสียงไหเอาไว้เพื่อต่อเติมบรรยากาศของเพลง

ลำดับสุดท้ายก็จะนำเอากลิ่น เสียง ลีลา วิญญาณเพลง และองค์ประกอบด้านไวยากรณ์เพลง ความเป็นเพลงเสียงอีสานมาเรียบเรียงใหม่ สร้างให้เป็นบทเพลงสำหรับวงซิมโฟนีออเคสตราและไห เท่ากับก้าวไปสู่เสียงใหม่ในมิติของอนาคต สู่โลกของความเป็นสากล ที่ต่อยอดออกมาจากเพลงของท้องถิ่น

งานทดลองเพลงเสียงใหม่ชุดนี้จะเปิดแสดงโดยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา แสดงที่พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2566 เวลา 18.00-20.00 น. โดยการสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่องเสียงใหม่จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการบันทึกการแสดงเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทั้งรายการ

มิตรรักแฟนเพลงที่สะดวกไปชมก็สามารถไปชมได้โดยไม่ต้องซื้อบัตรเข้าชม แต่ก็ต้องรับผิดชอบในการเดินทาง หาที่พัก อาหาร ซึ่งพิพิธภัณฑ์บ้านเชียงอยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานี 40 กิโลเมตร บ้านเชียงมีที่พักของชุมชน บ้านเมืองสะอาด เป็นการชมการแสดงสดกลางลานพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง ส่วนแฟนๆ ที่ไปชมสดไม่ได้ ก็ต้องคอยดูจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image