เริงโลกด้วยจิตรื่น : ใจเย็นๆ

เริงโลกด้วยจิตรื่น : ใจเย็นๆ

มีคำคำหนึ่งที่พบเจอในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และก๊อบปี้มาบันทึกไว้ ทีแรกคิดแค่ว่าเป็นประโยคที่น่าจดจำไว้เตือนใจ เพราะกระตุ้นให้นึกไปในทางตั้งสติดี เลยไม่ได้โน้ตไว้ว่ามาจากข้อเขียนของใคร ด้วยไม่ได้คิดว่าจะเอามาเผยแพร่ต่อ

แต่เมื่อมาเปิดเห็นอีกที จึงเกิดความคิดว่าเป็นถ้อยความที่น่าสนใจนำมาพิจารณา เลยเกิดความรู้สึกผิดแวบเข้ามาในความคิดตามประสาที่ถูกสร้างความเคยชินให้ระมัดระวังการละเมิดเอาความคิดของคนอื่นมาใช้ในสังคมยุคใหม่ที่เข้มงวดกับลิขสิทธิ์

เกือบจะล้มเลิกการนำพินิจถ้อยความนี้มาเขียนถึงไปแล้วด้วยเหตุดังกล่าว แต่มานึกอีกทีนั่นเป็นแค่จริตของผู้คนในสังคมยุคนี้ และเป็นจริตที่ทำให้เสียโอกาสในการนำมุมคิดดีๆ มาเผยแพร่ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า เหมือนกับที่คนสมัยโบราณคิดอ่านงานสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ไว้ แล้วพร้อมให้คนอื่นหรือคนรุ่นหลังนำไปใช้ได้โดยไม่มัวมานั่งหวงแหนเท่ากับยุคสมัยนี้ ก็เลยตัดสินใจเอาถ้อยความนี้มาลองแลกเปลี่ยนกัน

Advertisement

“ใช้ความใจเย็นนำความรู้สึกเสมอ”

คือถ้อยความนั้น

ประโยคสั้นๆ นี้หากพิจารณาแบบให้เห็นสภาวะ จะเป็นเรื่องซับซ้อนยิ่ง

Advertisement

เอาง่ายๆ เลย แบบที่ว่าถ้อยความนี้มี 2 สภาวะซ้อนกันอยู่ หนึ่ง ความใจเย็น, สอง ความรู้สึก

ความรู้สึกนั้นอาจจะเป็นอะไรก็ได้ รู้สึกรัก เกลียด โกรธ อยากได้ใคร่มี หวงแหน หรืออื่นๆ สารพัดที่เกิดขึ้นในใจด้วยเหตุต่างๆ กันไป

แต่ “ความใจเย็น” นั้นเป็นสภาวะคงที่

ที่อยากจะชวนแลกเปลี่ยนคือ แท้จริงแล้วความใจเย็นคืออะไร ว่าไปก็คือ “สติสัมปชัญญะ” นั่นเอง

ความตื่นรู้ที่มาพร้อมกับการพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ คือความหมายของ “ความใจเย็น” คือไม่มีอะไรมาทำให้ร้อนรุ่ม มีสติเห็นว่าอะไรเกิดขึ้นแล้วค่อยๆ พิจารณาให้เห็นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องราวนั้นอย่างเข้าใจ

นั่นเป็นสภาวะจิตที่มีคุณภาพนำไปจัดการเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ในทางที่เหมาะควร และมีประสิทธิภาพ

ผิดกับภาวะที่ “ไม่มีความใจเย็น” เข้าไปกำกับภาวะที่เป็น “ความรู้สึก”

ไม่ว่าใครก็ตามที่เกิดอาการกระโดดโลดเต้นไปตาม “ความรู้สึก” โดยสติที่จะระลึกรู้ตัวมาไม่ทัน จะหลีกเลี่ยงความยุ่งเหยิงได้ยาก

อย่างเช่น พอโกรธขึ้นมาแล้วใช้ความโกรธนั้นจัดการเรื่องราวที่เกิดขึ้น เรื่องราวอาจจะบานปลายขยายเป็นปัญหาใหญ่โตขึ้นไปอีก

ผิดกับการใช้ “ใจเย็นนำความโกรธ” อันหมายถึงการมีสติพอจะพิจารณาเรื่องที่ทำให้โกรธนั้น และคิดหาวิธีจัดการที่เหมาะสม

การใช้ “ใจเย็น” ทำงานแทน “ใจโกรธ” ย่อมเป็นความฉลาดกว่า

ด้วยเหตุนี้เอง ประโยคที่ว่า “ใช้ความใจเย็นนำความรู้สึกเสมอ” จึงควรระลึกไว้เตือนใจ

ใครที่ฝึกฝนให้มี “ความใจเย็น” เป็นสภาวะหลักในใจตัวเองได้

ย่อมเป็นผู้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image