การเดินทางของ ‘ฟ้าสาง’ ศิลปินลูกอีสานสากลนิยม ‘มันตรงจริตผม’

การเดินทางของ ‘ฟ้าสาง’ ศิลปินลูกอีสานสากลนิยม ‘มันตรงจริตผม’
ฟ้าสาง นาวาอรัญ

การเดินทางของ ‘ฟ้าสาง’ ศิลปินลูกอีสานสากลนิยม ‘มันตรงจริตผม’

หากเราลองมองย้อนหลังถึงสิ่งที่เคยประสบและผ่านพ้นมา คงจะเห็นพัฒนาการที่ซ่อนอยู่ในทุกการก้าวย่าง

เช่นเดียวกับที่ชายวัย 55 ปีผู้นี้ ค้นพบจากงานชุดล่าสุดของเขา The Journey นิทรรศการเดี่ยว โดย ฟ้าสาง นาวาอรัญ ศิลปินที่ทั้งวาด ทํางานสื่อผสม และสร้างอินสตอลเลชั่นอาร์ต แนวแอ๊บสแตรกต์ มากว่า 30 ปี ผลงานกว่า 10 ชิ้นชุดล่าสุดนี้ สืบย้อนพัฒนาการไปได้ถึงยุคแรกเริ่มปี 2000 จวบจนปัจจุบัน จัดแสดงบนชั้น 9 อาคารปีเตอร์ซัน ถนนสุขุมวิท จนถึง 25 มีนาคมนี้ ภายใน ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต กรุงเทพฯ (RKFA) แกลเลอรี่แห่งใหม่ที่มุ่งผลักดันศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่แตกต่าง เฟ้นหาผลงานคลื่นลูกใหม่ มาสาดแสงให้ศิลปินไทยได้เติบโต

ก้าวแรกที่เห็นชิ้นงาน ความเรียบง่าย จริงใจ เผยให้เห็นจากการใช้วัสดุธรรมชาติ คือจุดเด่นที่ฉายออกมา จากผลงานแนว non-objective ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของอะไรเป็นพิเศษ

Advertisement

‘กล่องไปรษณีย์ กระดาษเหลือทิ้ง เศษผ้า สายกระเป๋า’ ถูกนำมาจัดเรียงอย่างเรียบง่าย ค่อยๆ ต่อเติมจนสมบูรณ์ ยกระดับขับเน้นให้สิ่งของเล็กๆ กลับมาเฉิดฉายศักยภาพ

ฟ้าสาง เรียกได้ว่าเป็นศิลปิน Y2K เกิดปี พ.ศ.2510 ผลงานรุ่งเรืองในปี ค.ศ.2000 สร้างสรรค์ด้วยความพากเพียรอันเปี่ยมล้น เพราะเคยศึกษาที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ในปี พ.ศ.2526 เพื่อลงลึกด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรม จากความสนใจส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญของงานศิลป์ ทั้งการผสมผสานของสี เส้น และรูปแบบ บ่อยครั้งจึงมักใช้รูปทรงเรขาคณิตและสีสันที่ฉูดฉาด อาจจะไม่ได้จัดวางตามลำดับแต่กลับมีองค์ประกอบที่กลมกลืนกัน เน้นย้ำถึงความงามที่พบได้ในสิ่งทั่วไป และวัสดุที่จับต้องได้ในชีวิตประจําวัน

ไม่ได้โดดเด่นในเมืองไทย แต่ไม่ธรรมดา ‘ฟ้าสาง’ เคยแสดงนิทรรศการทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยวมานับไม่ถ้วน ทั้งในไทยและต่างแดน อาทิ Form and Intent, Abstract-project, ปารีส, Message พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย, painting installations objects, Gallery Kierat, Szczecin โปแลนด์, Biennale Internationale d’Art Non Objectif ฝรั่งเศส, A moveable model หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC), ARTSingapore ฯลฯ ปัจจุบันยังทำงานที่บ้านใจกลาง อ.ด่านเกวียน จ.นครราชสีมา ทุกวันไม่หยุดหย่อน

Advertisement

‘คลี่คลาย’ ผ่านช่วงเวลา ตั้งคำถาม มีแค่นี้เป็นศิลปะได้ไหม?

อะคริลิคบนผ้าใบ (2565) ผลงานส่วนหนึ่งใน The Journey ที่ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต กรุงเทพฯ ถึง 25 มี.ค.นี้

ถามถึงแรงผลักดันสำหรับฟ้าสาง The Journey เป็นการเดินทาง เป็นประสบการณ์ เป็นบทสรุป ณ ช่วงเวลานั้นๆ ผสมกับผลงานย้อนหลังตั้งแต่ปี 2513 จนถึงวันนี้

“คล้ายๆ กับบทสรุปในช่วงเวลาหนึ่งของคน แต่ออกมาเป็นภาพแทน เป็นไดอารี่คลี่คลายเส้นทางการทำงานศิลปะ บันทึกว่าเราเคยผ่านอะไรมาบ้าง”

ใช่ว่า ‘แนวทาง’ จะค้นพบทันทีที่จับพู่กันตวัดเส้นสี ช่วงแรกของการทำงาน ‘ฟ้าสาง’ ก็คือหนึ่งในคนที่ไม่มีแนวทางชัดมาก่อน แต่ผลของการไม่หยุดทดลอง เกือบ 30 ปีที่ผ่านช่วงฝึกหัดจึงค้นพบวิถีของตัวเอง ปล่อยให้พัฒนาการเดินขนานไปตามช่วงวัยชีวิต

“มันคลี่คลายออกมาจากประสบการณ์ แรกๆ ก็ทำงานทดลอง ภาพวิวบ้าง พอร์ตเทรตบ้าง เหมือนศิลปินทั่วไปที่ต้องหัดเขียนรูป วิว เขียนหุ่น พอจับหลักได้ปุ๊บว่าเราชอบนามธรรม ก็ทำงานแนวนี้ยาว”

เจ้าตัวค่อยๆ ลงลึกถึงพัฒนาการ ที่ได้เรียนรู้เติบโตทั้งด้านเทคนิคและความคิด จากงานเพนติ้งเซตใหม่ ใช้สีอะคริลิควาดบนแคนวาส ย้อนไปช่วงแรกเป็นงาน มิกซ์มีเดีย คอลลาจ มีกล่องกระดาษทั่วไป เศษไม้ เอาประกอบกัน อย่างชิ้นปี 2513 คืองานยุคแรกๆ ถูกส่งไปร่วมแสดงงาน Biennale Internationale d’Art Non Objectif ที่ฝรั่งเศส ฐานเป็นเศษไม้ ข้างบนเป็นกล่องลังและเชือกผูกกระเป๋า

“การจัดวาง ก็พลิกแพลงฟอร์ม จับตะแคงบ้างอะไรบ้าง เน้นใช้วัสดุรอบๆ ตัว คิดต่อจากนั้นว่าควรมีอะไรมาเพิ่ม ‘ทำยังไงถึงจะเป็นงานศิลปะได้’ สิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวเรา ทุกอย่างสามารถเป็นงานศิลปะได้หมด แกะมันออกมา ผ่านกระบวนการความคิดนิดหน่อย ช่วงแรกผมเริ่มจากกล่องก่อน แล้วหยิบเศษไม้มา คิดว่า มีอยู่แค่นี้จะเป็นงานศิลปะได้ไหม เอามาคิดต่อ ค่อยๆ ทำ ไม้ไปเก็บมา จับมาประกอบกันดู มันจะเป็นไปในลักษณะไหน”

คือการตั้งคำถามถึงนิยาม พลิกผันของแนวทาง จากแลนด์สเคปกลายมาเป็น แอ๊บสแตรกต์ หรือ ‘นามธรรม’ แขนงหนึ่งของผลงานที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึง ซึ่งสำหรับศิลปินท่านนี้เปรียบเปรยไว้อย่างเรียบง่าย

“คล้ายๆ กับการฟังเพลงบรรเลง เพลงอะไรก็ได้ จะเป็นดนตรี ตั้งแต่พิณ ขิม เพลงไทย จนถึงแจ๊ซ เพลงคลาสสิก เวลาฟังเราจับอะไร ? ก็ความไพเราะ ท่วงทำนองของมัน งานศิลปะเป็นไปในลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ผมใช้สี ใช้สเปซ และช่องว่างพวกนี้แทน” ฟ้าสางเผย

คงเหมือนแคน ที่มีย่านเสียงคล้ายแซกโซโฟน เป็นลูกทุ่งแต่โกอินเตอร์

เรียบง่าย จริงใจ ทำเต็มที่

กระดาษลัง เศษไม้ และสายคล้องกระเป๋า (2513) ผลงานที่เคยจัดแสดงใน Biennale Internationale d’Art Non Objectif ฝรั่งเศส

แน่นอนว่า ‘สี แสง เส้น’ โดยเฉพาะกับงานที่ไม่มีชื่อเรียก ไม่ได้เล่าเรื่องแบบโต้งๆ ยิ่งมีความหมาย

ฟ้าสางบอกว่าทรงเรขาคณิต บ่งชี้อุปนิสัยของคนที่ทำงาน เส้นตรง อาจสื่อถึงความเป็นคนตรงไปตรงมา ศิลปินชอบสีอะไรจะแสดงออกด้วยสีนั้นได้ดี ส่วนตัวไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นสีอะไร แต่ขาดขาว-ดำไม่ได้ “ผมเบรกหมดทุกสี” เขาไม่ได้นิยามแม้กระทั่งชื่อผลงาน แต่เปิดพื้นที่ให้ ‘ตีความ’

“งานลักษณะนี้ไม่ได้เจาะจงอะไรมากมาย แล้วแต่คนจะจินตนาการออกไป มีโทนเย็น-ร้อน ธรรมชาติทั่วไปคงเป็นอย่างนี้ มีร้อนมีหนาว การเลือกสีก็มีส่วนกับอารมณ์ แต่จังหวะจริงๆ ในการทำงานจะเอาอารมณ์อย่างเดียวไม่ได้ มันคือสิ่งที่ต้องทำมากกว่า อารมณ์เป็นส่วนประกอบนิดหน่อย

“มันถูกจริตกับผม งานส่วนมากจะเป็นทรงเรขาคณิต ชอบทางนี้ รู้สึกว่ามันใช่ เป็นฟอร์มที่เรียบง่าย ผมจะเน้นมากคือ ในชั่วโมงปัจจุบันนี้ต้องการให้ผลงานออกมาเรียบง่ายที่สุด ผ่อนคลายที่สุด” คือเหตุผลที่ชอบพื้นที่ว่าง ไม่ขอยัดทุกอย่างเข้าไปบนเฟรม

ฟ้าสางได้แรงบันดาลใจจาก แฟรงก์ สเตลล่า ศิลปินชื่อดังที่อยู่ในหนังสือศิลปะร่วมสมัยเล่มเดียวในมหาวิทยาลัย ที่เขาเคยอ่าน ทั้งยังเชื่อว่างานศิลปะ ไม่ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อม จึงยกขึ้นยกลง วางพัก หยิบจับมาแก้ใหม่ปรับเปลี่ยนจนกว่าจะพอใจ

“ทำเต็มที่จนกว่ามันจะดีขึ้น”

“ขนาดคนเรา ยังมีความคิดที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา มันต้องมีการปรับปรุง แก้ไขกันอยู่ตลอด อะไรดีๆ ที่ผ่านเข้ามาก็เก็บเอาไว้ แก้ไขไปเรื่อยๆ นาทีนี้อาจจะจบ แต่ต่อไปมันก็จะต้องพัฒนาไปอีก สำหรับผมจุดที่พอใจ คือจุดที่รู้สึกพอดีแล้ว”

ด้วยงานที่เรียบง่าย คนบางส่วนอาจจะคิดว่า ฉันเองก็คงทำได้? ฟ้าสางหัวเราะก่อนตอบว่า ‘ใช่’ ใครก็ทำได้ แต่อย่างไรก็ไม่มีทางเหมือนงานของเรา เพราะผ่านกระบวนการความคิด ประสบการณ์ งานศิลปะที่ดีมีคุณค่าสำหรับฟ้าสางคือ งานที่ศิลปิน ‘ตั้งใจ’ ทำให้ดีที่สุดจนรู้สึกพึงพอใจ ที่สำคัญ ต้อง ‘จริงใจ’ กับผู้ชมด้วย

ผลงานสีน้ำมันยุคแรกเริ่มช่วงปี 2548 มีทรายเป็นส่วนประกอบ
นำเสื้อเก่าไปผสม

ชีวิตศิลปินบ้านนอก ทุนไม่หนา ต้องฝ่าฟัน

เบื้องหลังชิ้นงานคือพื้นเพที่ดูจะขัดกัน เจ้าตัวย้อนเล่าว่า รู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าชอบวาดรูป อยู่บ้านนอกนอนเฝ้าเถียงนาไม่มีอะไรทำ ป.1-ป.2 ก็ลองขีดเขียนเล่น มาเรื่อยๆ ตั้งแต่วิวทิวทัศน์ง่ายๆ เห็นอะไรก็เขียน

ก่อนจะมาหยุดที่ แอ๊บสแตรกต์เคยลองทั้งเพรสชั่นนิสม์ แต้มๆ สี เหมือนแวนโกะห์, เซซานน์

“เราก็ทดลองทำ (study) ลองเขียนวิวบ้าง แต้มๆ สีบ้าง ก็คลี่คลายมาเรื่อยๆ ที่มาจบกับงานแนวนามธรรม เพราะใช่ที่สุด”

ขุดลึกลงไป เงินที่ใช้อยู่กินมาจากไหน? ศิลปินบอกว่า เป็นช่างปั้นหาเลี้ยงชีพ และด้วยเหตุนี้จึงเคยใส่ดินเข้าไปในงานด้วย

“ผมปั้นดินที่ด่านเกวียน ตอนเด็กๆ ก็เล่นปั้นดินนั่นแหละ ใช้โคลนตามท้องนา เวลาเลี้ยงควายไม่มีอะไรทำ (หัวเราะ)”

แม้จะเคยมีปัญหาเรื่องทุนเรียน ช่วง 1 ปีก่อนจบ แต่ไม่หยุดเขียนงาน ส่วนช่วงนี้ขอมุ่งทำงานศิลปะอย่างเดียว ปลูกผักกินเอง พออยู่ได้ในต่างจังหวัด ใช้ซาเล้งเป็นยานพาหนะ แม้ลุคจะดูโมเดิร์น ทว่าระหว่างทำงานไม่ได้เปิดโมสาร์ท หรือโปรเกรสซีฟร็อก แต่ฟังลูกทุ่งเอาฟิลลิ่ง

ถามถึงที่จัดแสดงงานในโคราช ? ฟ้าสางบอกว่า มีบ้างแต่ไม่มาก ส่วนตัวมีเงินทุนไม่หนาจึงสะท้อนออกมาในงานบางช่วง เขาไม่ได้เลือกใช้สีซ้ำๆ แต่บอกว่า “มีแค่สีนี้ให้ใช้ ผมไปเจออะไรที่เขาทิ้งๆ เก็บได้ก็เก็บไว้ก่อน ถามว่างานที่มีเศษผ้ามาจากไหน ‘เสื้อผมเอง’ (หัวเราะ)”

“บางทีเราก็ต้องการรายได้ส่วนอื่นกลับบ้าน เป็นทุน จึงต้องอาศัยแกลเลอรี่และคิวเรเตอร์ให้เขาจัดการส่วนที่เราทำไม่เป็น จะได้มุ่งทำงานอย่างเดียว

“ถ้ามีที่จัดแสดงงานในพื้นที่ได้ก็คงดี แต่เรื่องการอยู่การกินก็สำคัญ ศิลปินในเมืองไทยต้องดิ้นรนอย่างมากในการหากิน เพราะเราแทบจะไม่มีการส่งเสริมส่วนนี้ ใครมีทุนอยู่แล้วก็ได้เปรียบไป ศิลปินไม่ได้มีรายได้ตลอด ต้องชอบจริงๆ และต้องมีความอดทน ฝ่าฟันมากพอสมควร ต้องพึ่งกันหลายฝ่ายเหมือนกัน” ฟ้าสางยอมรับ

ก่อนกระซิบบอกคนรุ่นใหม่ ถ้ายังหาแนวทางไม่เจอ ก็จำเป็นที่จะต้องค้นหาต่อไป

“ถ้ารักในงานศิลปะ คุณก็ต้องทำมัน ทำให้ดีที่สุด ถ้ายังไม่เจอทำไปเรื่อยๆ อย่าไปท้อเดี๋ยวก็เจอ ส่วนคำติชมสำคัญมาก ฟังคำติบ้างจะได้พัฒนาฝีมือ”

แล้วในอนาคตมีโอกาสในการเปลี่ยนแนวทางไหม? ฟ้าสางตอบไม่ลังเลใจ ชั่วโมงนี้ งานแนวนี้ยังไปได้อีกไกล ขอพัฒนาจากจุดนี้ไปเรื่อยๆ ไปอีกจุดนึง ถึงแม้จะเป็นฟอร์มง่ายๆ แต่สื่อสารกับคนได้อย่างสากลเหมือนกัน

ไม่หยุดสร้างสรรค์ ดึงมูลค่าวัตถุสามัญ

“พี่เขาเป็นศิลปิน แบบศิลปินจริงๆ เลย ทำงานอย่างเดียว ไม่ได้พยายามขายตัวเอง แต่ทำงานทุกวัน มีแรงขับเคลื่อนที่จะต้องทำ”

นิ่ม นิยมศิลป์

นิ่ม นิยมศิลป์ คิวเรเตอร์ที่เห็นแววในผลงานของฟ้าสาง ออกตัวว่า หลายคนอาจจะไม่คุ้นกับชื่อ ส่วนตัวก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่มีเพื่อนศิลปินแนะนำว่างานดีมาก

“ไปเห็นงานประมาณ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วที่สตูดิโอ อ.ด่านเกวียน ฟีลแรกคือประทับใจ เข้าไปเห็นงานติดเต็มผนัง เขาทำมาตลอดตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว เล่าให้ฟังถึงแต่ละชิ้น เราสนใจในการเลือกใช้วัสดุของเขา มีฟีลสถาปัตย์ มีเรื่องคอมโพส”

ภัณฑารักษ์ คุยย้อนความถึงจุดเริ่มต้นของการเลือกผลงานชุดนี้มาจัดแสดง ประทับใจการตั้งความหมายว่า ‘อะไรคืองานศิลปะ’

“มันเป็นสิ่งที่ฟ้าสางพยายามจะชาเลนจ์มาตลอด แม้จะไม่ได้มีคนมานั่งชื่นชม แต่มันคือสิ่งที่เขาเชื่อ แม้ไม่ได้แสดงก็ไม่หยุดทำ ทางยุโรปทำกันจริงจังมาก ซึ่งเขาก็ศึกษาหลายๆ ด้าน ตั้งแต่สมัยนั้นจนถึงสมัยนี้ คนทำงานแบบนี้มีไม่ค่อยเยอะ ทำให้เขาประสบความสำเร็จมาเรื่อยๆ

อะคริลิคบนผ้าใบ (2565)

“การจัดนิทรรศการในกรุงเทพฯ ทำให้เขาเริ่มมีตังค์ไปซื้อแคนวาส แต่จริงๆ เราค้นพบว่า บางทีการที่ไม่มีทุนมากก็ทำให้ศิลปินครีเอตในเรื่องวัสดุ บางงานเป็นเศษผ้า บางงานใช้ทรายผสม เอาสายยางมาทำ เริ่มทดลองมากขึ้น งานจึงอาจจะไปเร็วกว่าการรับรู้ของคนดู”

นิ่มเล่าว่า ช่วงหลังโซเชียลเริ่มมา ปี 2013 มีกลุ่มจากฝรั่งเศสมาเห็นงาน จึงเชิญไปร่วมแสดง ได้ขยับเขาเข้าหากลุ่มที่คล้ายกัน ได้แลกเปลี่ยนงาน ไปจัดแสดงโปแลนด์ แต่ศิลปะสไตล์นี้ไม่ได้เป็นที่นิยมนักในบ้านเรา จนมีโอกาสได้ทำโปรเจ็กต์ร่วมกับ MOCA เชิญฟ้าสางไป คนเริ่มสนใจว่ามีคนทำงานลักษณะนี้ด้วย

“เขาไม่ได้ต้องการจะพูดถึงว่า งานนี้คืออะไร ทำให้มันมีความบริสุทธิ์ ความซื่อ โฟกัสที่ตัววัสดุ คุณภาพของสีที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ผิวสัมผัส เส้น ฟอร์ม คือการทำงานตามธรรมชาติจริงๆ อย่างกระดาษที่วางอยู่ เขาเห็นความงามตรงนั้นแล้วหยิบยกสิ่งที่คนอื่นไม่สนใจขึ้นมาสร้างสรรค์ เลยกลายเป็นศิลปิน

เขาดึงแวลู่ให้กับของที่คนทั่วไปอาจจะได้ไม่ได้สนใจ ‘ฉันเกิดมาเป็นกล่องกระดาษ’ ฉันเป็นในสิ่งที่ควรจะเป็นแล้ว” คิวเรเตอร์มองฟ้าสาง

เหมือนชีวิตศิลปิน ที่มี Up and Down นิ่มบอกว่า สมัยที่ฟ้าสางเรียนอยู่โคราช หนังสือ Contemporary Art ทั้งมหา’ลัย มีอยู่เล่มเดียว เขาต้องขวนขวายเอง จนมีโอกาสเข้ามากรุงเทพฯ ทำความรู้จักกับอะไรมากขึ้น มีคอนเน็กชั่นกับศิลปินต่างประเทศ เป็นการเดินทางของเขา

“เขาคือภาพแทนของศิลปินที่มีความสามารถคนหนึ่งซึ่งชีวิตอาจจะต้องดิ้นรน แต่ก็ยังทำงาน เพราะคุณหยุดไม่ได้ ไม่เชิงเกิดใหม่ แต่เขาถึงเวลาเดินไปอีกสเตจของชีวิต มันเลยเป็นเหมือน ‘จุดสตาร์ต’ ที่อยากให้คนมาทำความเข้าใจศิลปินคนนี้” นิ่มทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image